หนึ่งทศวรรษ โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่ งานวิจารณ์ กับมุมมองของชมัยภร แสงกระจ่าง : เติบโตและต่อยอดงานวิจารณ์อย่างไรในยุคที่ AI เข้ามามีบทบาท

หนึ่งทศวรรษ โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่ งานวิจารณ์ กับมุมมองของชมัยภร แสงกระจ่าง

      ก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 สำหรับ โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่ งานวิจารณ์ จัดโดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ผ่านการสนับสนุนของธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) เพื่อให้เยาวชนเพิ่มพูนประสบการณ์การอ่านหนังสือควบคู่ไปกับพัฒนาทักษะการคิดการเขียนเชิงวิเคราะห์และวิจารณ์ ซึ่งเปิดให้นักเรียนและนักศึกษาชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 4 – 6  และ ระดับอุดมศึกษา ไม่จำกัดสาขาจากทั่วประเทศ ร่วมเขียนบทวิจารณ์หนังสือ และทำการคัดเลือกเยาวชนจำนวน 40 คน ร่วมกิจกรรมการอบรมในค่ายวิจารณ์ เพื่อรับทุนรางวัลจำนวนทุนละ 20,000 บาท

     ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรชื่อดังชั้นครู และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการอ่าน การเขียน และวิจารณ์ร่วมให้ความรู้ หนึ่งในนั้นคือ อาจารย์ชมัยภร แสงกระจ่าง ศิลปินแห่งชาติ ซึ่งถือว่าเป็นครูใหญ่ของค่ายวิจารณ์ ที่ร่วมสร้างรากฐานตั้งแต่ปีแรกจนถึงปัจจุบัน

     ประพันธ์สาส์นขอพาไปนั่งพูดคุยกับอาจารย์ชมัยภรถึงความแตกต่างของเยาวชนในตลอดระยะ 10 ปีที่ผ่านมา สู่ การต่อยอดและพัฒนางานวิจารณ์อย่างไรในอนาคตข้างหน้า

 


 

ในฐานะที่เป็นวิทยากรตั้งแต่ปีที่ 1 สู่ ปีที่ 10 สังเกตุการเปลี่ยนแปลงของเด็กรุ่นใหม่ ที่มีต่อการวิจารณ์ กวีนิพนธ์ สารคดี เรื่องสั้น อย่างไรบ้าง

     รุ่นแรกเป็นรุ่นที่มีเด็กมัธยมเยอะ เด็กก็ยังไม่ค่อยเก่ง เด็กก็ยังเหมือนกับว่าตั้งตัวยังไม่ติด ข่าวสารยังถึงระดับมหาลัยน้อย ปีแรกก็เลยเป็นปีที่คุณภาพที่ทางเรายังเป็นกังวลเป็นห่วงอยู่ แต่ว่าหลังจากนั้นพอประกาศออกไปมีเด็กมหาวิทยาลัยมากขึ้น เด็กที่มัธยมก็เตรียมตัวมากขึ้น คุณครูก็รู้ว่ามีทุนการศึกษาเค้าก็ฝึกและพัฒนาเด็ก เพราะฉะนั้นปีหลังๆ เด็กมัธยมน้อยลงก็จริงแต่เด็กมัธยมก็จะดีขึ้น ในขณะเดียวกันเด็กมหาวิทยาลัยก็มีมากขึ้น ก็คุณภาพของเด็กที่มาวิจารณ์งานในค่ายก็ดีขึ้น

     แม้จะคนละรุ่นทุกปี แต่ละรุ่นมันไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันก็จะเป็นไปตามรุ่นของเด็ก คือถ้าเราไปพิจารณาจากสภาพของสังคมด้วย เราว่ามันจะมีเด็กบางรุ่นที่สังคมกดดันเค้าไปในลักษณะนั้น หลักสูตรการศึกษาเป็นแบบนั้น เวลาเค้ามาเข้าค่ายเรามันก็จะมีผล อย่างเช่นช่วงที่เป็นโควิด เราก็ทำค่ายไม่ได้ น้องก็มีปัญหาเรื่องการเรียนเพราะว่าอาจจะไม่เต็มที่ เพราะฉะนั้นเวลาเค้ามาอยู่ในค่ายในลักษณะออนไลน์คุณภาพก็จะตกลง แล้วแต่สภาพสังคมด้วย แล้วแต่สภาพของเด็กๆแต่ละรุ่นด้วย

     หลังจากโควิดแล้วเหมือนกับข่าวสารเรื่องการได้ทุนมันเข้าไปสู่ระบบการศึกษามากขึ้น เด็กๆที่มาก็น่าจะเป็นเด็กที่มีคุณภาพมากขึ้น ช่วงสองสามปีหลัง เราจะรู้สึกได้ว่า "เอ้ย เด็กเขียนเก่งขึ้น"

 

น้องๆ รุ่นที่ 10 (ปี พ.ศ. 2567) เป็นยังไงบ้างครับ

     คือมันจะมีระดับมหาวิทยาลัย มีระดับมัธยม ก็จะมีหัวกะทิมา มหาวิทยาลัยก็มีน้องที่มาสมัครเอง ก็ต้องรู้ว่าตัวเองเก่งในด้านไหน เพราะฉะนั้นคุณภาพจะปรากฎ แต่แน่นอนเด็กมหาวิทยาลัยก็จะต้องมีความสามารถหรือมีความรู้มากกว่าเด็กมัธยมเพราะว่าเค้าเรียนวิชาวรรณกรรมวิจารณ์ลึกกว่า

 

 

คำแนะนำสำหรับเยาวชนที่ผ่านการร่วมกิจกรรม โดยที่ไม่ทิ้งกรอบวรรณกรรมวิจารณ์

    เราไม่ควรจะจบแค่ค่าย คือน้องๆที่อยู่ในค่ายของเรา พอแต่ละรุ่น พอได้ทุนไปแล้วเค้าควรจะพัฒนางานของตัวเองต่อเนื่องเช่นควรจะไปดูว่าในแวดวงนี้มันมีเรื่องของการประกวด บทวิจารณ์ หรือเราสามารถเขียนบทวิจารณ์ได้ที่ไหนบ้าง มีพื้นที่ที่ไหนที่เค้าเปิดรับเรื่องวิจารณ์ ถ้าน้องสนใจน้องก็ไปทำอีก มันก็จะพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ

     แล้วครูบาอาจารย์เค้าอยู่ในแวดวง เพราะฉะนั้นโอกาสที่เจอกันก็ยังมีอยู่ แล้วก็โครงการที่ทำเกี่ยวกับเรื่องวิจารณ์ มันมีอยู่สองกลุ่ม คือกลุ่มของประพันธ์สาส์นกับธนาคารกรุงเทพ มันเป็นเรื่องของทุนการศึกษา ยังมีอีกโครงการวิจารณ์ซึ่งเป็นโครงการที่ให้โชว์ฝีมือเลย น้องสามารถไปส่งประกวดที่งานนั้นได้เลย สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเด็กๆก็ทำแบบนั้น น้องๆที่ผ่านค่ายมาหลายๆคนก็ไปต่อยอดที่ดวงใจวิจารณ์ ก็คือไปส่งประกวด แล้วก็ไปได้รางวัลที่นั่น ก็จะได้รับการยกย่องชื่นชม

 

สิ่งที่ประทับใจในการรับหน้าที่วิทยากรในครั้งนี้ 

     เด็กๆมีความสนใจงานกวีนิพนธ์ บางทีเราเด็กๆจะมีความกลัวกวีนิพนธ์ แต่ว่าเด็กค่ายชุดนี้รู้สึกตั้งใจ เราไม่ได้ชักนำอะไรมากแค่บอกว่าใครอยากวิจารณ์กวีนิพนธ์ ขอยกมือ ก็มียกมาสิบกว่าคน ซึ่งก็ถือว่าความสนใจเค้ามันชัดเจน พอเค้าเข้ามาเรียนเค้าก็ฟัง แล้วก็ใส่ใจดี รอบนี้มีคนมาวิจารณ์กวีนิพนธ์ 13 คน รอบนี้มาเองเลย ไม่ได้ชักชวน

    และมีเด็กคณะอื่นๆนะ มีมาจากคณะวิทยาศาสตร์ อันนี้ครูสนใจเด็กที่เรียนวิทยาศาสตร์ เพราะว่าเด็กที่เรียนวิทย์ฯ น่าจะมีไอเดียที่ดี มีน้องคนนึงเค้าเคยได้รางวัลกวีนิพนธ์มาทุกปี ได้รางวัลตั้งแต่เรียนมัธยม ตอนนี้เค้าอยู่มหาวิทยาลัยแล้ว แล้วเค้าก็มาเข้าค่ายเราเค้าก็โดดเด่นมาก

 

 

อาจารย์เห็นบทบาทวรรณกรรมในการหล่อหลอมรุ่นต่อๆไปยังไง โดยเฉพาะบริบทที่มีเทคโนโลยี AI เข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ

    พื้นฐานค่ายเรา มันเป็นพื้นฐานเรื่องการคิด เป็นพื้นฐานเรื่องการฟัง เราพร้อมที่จะฟังความเห็นคนอื่นและก็แสดงความคิดเห็นของเราเอง เราฟังซึ่งกันและกัน เราพูดและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากกันและกันได้ ฐานนี้มันเป็นฐานที่แน่นอยู่แล้ว การคิด การวิจารณ์ ก็ดีอยู่แล้ว

     ทีนี้พอมันผสมเข้ากับโลกสมัยใหม่ที่มีเทคโนโลยี มี AI มีอะไรทั้งหลาย น้องๆที่มีฐานที่ดี ก็ต้องมีสติที่จะตั้งตัวได้ว่า เราจะใช้ AI ยังไง เราจะไปใช้โลกออนไลน์ยังไง เราจะไปใช้เทคโนโลยีอย่างไร คือ AI มันใช้ได้ แต่ว่าคนใช้ต้องเก่ง คนใช้ก็ต้องทัน AI คือถ้าไม่ฉลาด AI ก็ไม่ฉลาด AI ก็คือตัวเรา เพราะฉะนั้นน้องจะได้ประโยชน์มากๆจากค่ายนี้ ซึ่งตั้งฐานได้ดีแล้วก็ไปอย่างมีสติ

 

ทิ้งท้าย

     อยากให้น้องไม่หยุดทำงาน ไม่หยุดพัฒนาความคิดตัวเอง ไม่หยุดที่จะอ่าน เพราะว่าถ้าอ่านแล้วก็จะพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ไม่ว่าเราจะอยู่ในสายของการเป็นนักพูด นักคิด นักฟังที่ดีในสังคมไทยได้ เราก็จะมีชีวิตที่มั่นคงในอนาคต

 

Writer

Pairat Temphairojana

นักเขียนผู้รักการสะสมงานศิลปะและการจิบกาแฟ