คุยนอกรอบกับผู้จัดละคร 'หน่อง' อรุโณชา : เปิดเบื้องหลังความสำเร็จของละครไทยสู่ซอฟต์พาวเวอร์

คุยนอกรอบกับผู้จัดละคร 'หน่อง' อรุโณชา

     ทีมงานกองบรรณาธิการจาก Elite+ magazine ในเครือของสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น มีโอกาสได้ไปเยือนอาณาจักรของ บริษัท บรอดคาชท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด ก่อตั้งโดย ดร. หน่อง อรุโณชา ภาณุพันธุ์ และเพื่อน บรรยากาศการต้อนรับอบอุ่น จากเจ้าของบ้าน ผู้เป็นมืออาชีพด้านผลิตรายการทีวีและภาพยนตร์ในงานอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อย่างแท้จริง บทความนี้จะพาไปรู้จักตัวตนและเคล็ดลับความสำเร็จของผู้จัด ผู้ปลุกกระแสละครไทย จนกลายเป็น Soft Power ไปทั่วโลก 

 

แบคกราวน์ด้านการศึกษา และด้านความชอบแต่วัยเด็ก

      “ เป็นคนที่จบตรงมาสายอาชีพปัจจุบันนี้เลยค่ะ เริ่มที่นิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอกด้านสาขาด้านทีวีมา และเลือกไมเนอร์ด้านพีอาร์ แต่พอทำงานมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ จบ ก็ได้รับการยอมรับจากที่ทำงาน จากคนที่ช่วยกำกับงานที่เวที ก็ได้รับสนับสนุนให้ช่วยผู้กำกับรายการ จนถึงเป็นผู้กำกับรายการเอง จากทางช่องสามที่ให้โอกาส ตั้งใจทำงานมาเรื่อยด้วยใจรักจนจบการศึกษา   ได้รับจากเกียรติมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต และมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ให้รับปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขา วิทยุโทรทัศน์และสื่อดิจิทัล ประจำปีการศึกษา 2558  และ ปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาบริหารธุรกิจ ประจำปีการศึกษา 2561 ทั้งสองแห่ง ถือว่าเป็นปริญญาที่ได้รับการยอมรับจากการมุมานะทำงาน ก็ต้องขอขอบคุณ  ทั้งสองมหาวิทยาลัยดังกล่าวด้วยนะคะ

หน่องเองตั้งแต่เด็กๆแล้วเราเป็นคนรักการอ่านมาก รักการอ่านหนังสือทุกประเภทเลยนิยาย สารคดี หนังสือธรรมะ หนังสือการ์ตูน ฯลฯ พอมาถึงจุดนี้ก็ต้องอ่านบทโทรทัศน์ อ่านและวิเคราะห์ว่าเป็นอย่างไร ต้องปรับแก้ไหม เพื่อให้งานออกมาดีที่สุด เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ทำให้เราทำงานอย่างมีความสุข และรู้สึกว่าเรามีใจรักตั้งแต่เรียน เราได้ทำงานในสิ่งที่เรารัก การทำงานของหน่องในฐานะบัณฑิตจากคณะนิเทศศาสตร์  จึงรู้สึกว่าได้ทำสิ่งที่รัก  และรักในสิ่งที่เรียน และได้ทำมาตลอดจนถึงวันนี้

 

การตัดสินใจก่อตั้ง Broadcast Thai Television ปี 2532 พัฒนาการยั่งยืนมาถึงทุกวันนี้ รวมทั้งวิกฤตโรคระบาดโควิด

เส้นทางเดิมทำให้เราอยู่กับละครนานๆ ทำให้เรารู้สึกว่าเรารักในการทำละคร ตอนนั้นเราทำทุกอย่าง ตั้งแต่ถ่ายทำเป็นผู้กำกับ และก็ได้เป็นผู้กำกับรายการดีเด่น รางวัลเมขลา ได้จากละครเรื่อง แต่ปางก่อน พอทำมาได้ประมาณ 11 ปีที่สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3

พอดีเพื่อนที่ช่อง 3 ก็ชวนมาตั้งบริษัท รายการแรกที่ Broadcast ทำเป็นรายการสุขภาพ ชื่อว่า Health Show หรือ ก้าวทันโรค ถามว่าเราทำละครมาแล้วทำไมเลือกทำรายการของ Broadcast Thai Television เป็นรายการสุขภาพ เพราะตอนนั้นเราคิดว่าน่าจะมีรายการสักรายการหนึ่งที่ให้ความรู้สุขภาพกับประชาชน แทนที่จะไปเสียเงินรักษา เสียเงินค่ายาทีหลัง ถ้าเราให้ประชาชนคนไทยมีความรู้ที่จะสามารถป้องกันตัวเองก่อนจะสายเกินไป จะเป็นการประหยัดงบประมาณตนเองรวมถึงประเทศชาติด้วย แทนที่จะไปรักษาตัวปลายทางเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยจริงจังแล้ว ก็เลยทำรายการนี้ขึ้นมา โดยคิดว่าทำอย่างไรให้ไม่น่าเบื่อ สนุกสนานและคนดูติดตาม ก็เลยทำรายการแนวที่ไม่เครียด และน่าดีใจที่ ก้าวทันโรค ได้รับรางวัลรายการดีเด่นต่อเนื่องหลายปีเลยค่ะ พอเราเลิกจัดรายการสุขภาพ ก็มีผู้ชมถามว่ามาจากละคร ทำไมถึงไม่สร้างละคร เราก็เลยคิดว่า Broadcast น่าจะผลิตละคร แต่ในยุคที่เราเริ่มครั้งแรก ก็จะมีคนซื้อบทประพันธ์ไปค่อนข้างเยอะ และบทประพันธ์ใหม่ๆ ค่อนข้างหายาก ก็คิดว่าถ้าเราจะผลิตละคร เราก็ดูตลาดว่าเวลานั้นละครทำอะไรกันบ้าง ปรากฏว่าช่วงนั้นเป็นละครแนวครอบครัว ชีวิตดราม่า เราก็คิดจะฉีกแนว เราก็ทำละครแนววัยรุ่นครั้งแรก ก็คือหวานมันส์ฉันคือเธอ ก็ทำให้เกิด Talk of the town ฮิตถล่มทลาย ทั้งเรตติ้ง กระแสความนิยม ทำให้เราสร้างภาค 2 จากนั้นสร้าง “ซึมน้อยหน่อย กะล่อนมากหน่อย” และ ฉลุย นับเป็นแนววัยรุ่นทั้งหมด ซึ่งประสบความสำเร็จ เป็น top rating ของปี ก็น่าดีใจและเป็นขวัญกำลังใจของทีมงาน ตอนเปิดตัวก็ได้สร้างความสำเร็จในการสร้างละครแนวใหม่ในตอนนั้น

จากนั้นพอทำละครแนววัยรุ่นไปสักพัก เราก็มาทำแนวดราม่า เรื่อง ขมิ้นกับปูน ก็ชิงรางวัลเยอะมาก ในตอนนั้นคุณจรัล มโนเพ็ชร ร่วมแสดงด้วย มีการเติบโตในเรื่องการผลิตละครอย่างต่อเนื่อง จนมาเป็น ดอกส้มสีทอง นางเอกชื่อ “เรยา” ตอนที่สร้างก็ขอบคุณช่อง 3 ซึ่งให้โอกาสเสมอมา ดอกส้มสีทอง ได้สร้าง Phenomenon หรือ Talk of the town กระแสดังสนั่นเมือง ทุกคนจะเรียกหากันแต่เรยา น้องชมพู่นักแสดงนำหญิงดังมาก กลายเป็นละครที่กระแสร้อนแรงมาก จนมาถึง แรงเงา ก็เป็น Phenomenon อีกเช่นกัน เกิดเป็น “วันแรงเงาแห่งชาติ” ช่วงละครออกอากาศแต่ละวันนี่ถนนโล่งเลย จนกระทั่งมา บ่วง จริงๆก็มีเรื่อง สาปภูษา เจ้าสีเกด ซึ่งพูดกันทั้งบ้านทั้งเมือง ที่คุณธัญญ่านำแสดง ทุกฝีเข็มที่ปักไปด้วยความแค้นและหยดเลือดลงไป กลายเป็นฮิตทั้งบ้านทั้งเมือง

ยังมีเรื่อง ผีอีแพง ก็ประสบความสำเร็จ คุณนุ่น ศิรพันธ์ ก็ได้รับรางวัลทุกรางวัลในสาขานักแสดงนำหญิง รู้สึกดีใจ ได้ผู้ร่วมงานที่ดีและนักแสดงที่ดีอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด จนกระทั่งมาถึงบุพเพสันนิวาส เป็นละครแนวย้อนยุค แต่ก็มีความทันสมัยอยู่ในเนื้อเรื่อง ซึ่งเราได้บทประพันธ์ของคุณรอมแพงมา บทประพันธ์นี้ก่อนที่เราจะสร้างเป็นละคร ก็มีคนบอกว่าสนุกมาก ถูกโหวตว่าอยากให้สร้างเป็นละครอันดับ 1 ทุกคนรอชม เราก็เลยมาอ่านดู แล้วก็สนุกจริงๆ เราก็ได้เรื่องที่ดีของคุณรอมแพง และเราก็ได้อาจารย์แดง “ศัลยา” ซึ่งท่านก็เป็นปรมาจารย์ในการเขียนบทโทรทัศน์ ทำให้สามารถถ่ายทอดได้สนุกสนานจากบทประพันธ์ของ “รอมแพง” และอาจารย์แดงเขียนมาก็มีรายละเอียด มีบริบทของสมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่ง บุพเพสันนิวาส  ถือเป็นครั้งแรกที่นำเรื่องราวในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งถือเป็นยุคทองของกรุงศรีอยุธยามาสร้างเป็นละครออกสู่สายตา ถามว่าเครียดไหม ตอนนั้นก็รู้สึกมันทำยาก จะออกอากาศไปคนดูจะชอบหรือเปล่า เพราะมันไม่ค่อยมีเรื่องอิจฉาริษยาเหมือนอย่างที่ละครเรื่องอื่นมี  พอตอนออกอากาศมา ปรากฏว่ากระแสตั้งแต่วันแรกถือว่าถล่มทลาย คีย์เวิร์ด “โป๊ป” “เบลล่า” “ออเจ้า” ได้รับความสนใจ ในช่วงยุคดิจิทัลหาเรตติ้งเลขตัวเดียว เกิน 5 ก็เก่งแล้ว แต่ไม่น่าเชื่อว่าเรตติ้งของ บุพเพสันนิวาส ไปถึง 18 ตัวเลขของกรุงเทพฯก็สูงกว่า 20 คือประมาณ 23 และเกิดเป็นกระแสทั้งไวรัล ออนไลน์ และทวิตเตอร์ มีการรับรู้เรื่องของ บุพเพสันนิวาส มีการเข้าถึง 8.3 billion ถือว่าสูงมาก มีการค้นหาคำว่า “บุพเพสันนิวาส” “พี่หมื่น” “ออเจ้า” “การะเกด” “มะม่วงน้ำปลาหวาน” ทำให้อาหารไทย ชุดไทย เกิดกระแสอย่างมากมาย และในต่างประเทศ คนไทยก็ใส่ชุดไทยไปถ่ายรูป ไม่ว่าจะโตเกียวหรืออเมริกา ซึ่งเรารู้สึกภูมิใจที่คนไทยได้นำชุดไทยไปใส่ในต่างประเทศและถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย นี่คือสิ่งที่เราในฐานะผู้ผลิต ก็รู้สึกดีใจ ทางทีมทุกคนที่อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นพี่โป๊ป พี่เบลล่า ตอนนั้นรู้สึกดีใจที่กระแสออกไปและความเป็นไทยของเรา ก็เรียกว่า Soft power ได้ใช่ไหมคะ ก็มีทั้งชุดไทย อาหารไทย ประวัติศาสตร์ไทย มีการค้นคว้าคำไทยอย่างมากมาย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ บุพเพสันนิวาส ออกอากาศ และกระแสการท่องเที่ยวด้วย ไม่ว่าจะเป็นอยุธยา ลพบุรี ทำให้เกิดเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า วัดไชยวัฒนารามหัวบันไดทัวริสต์เยือนไม่แห้ง  และยังมีอาชีพอีกมากมาย อาชีพให้เช่าชุดไทย และแต่งหน้าทำผมให้ถ่ายรูปที่อยุธยา เกิดเป็นกระแสที่สนุกสนาน มีความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่ดี สำหรับละคร บุพเพสันนิวาส ก็เป็นปรากฏการณ์อีกปรากฏการณ์หนึ่งให้กับวงการละครไทย

จริงๆ แล้วสิ่งที่น่าดีใจคือ บุพเพสันนิวาส นอกจากในประเทศไทยแล้ว ตอนนี้ก็ไปทั่วทั้งเอเชีย หลายๆคนหลายๆประเทศที่ได้ชม บุพเพสันนิวาส ก็ทำให้พี่โป๊ป เบลล่า ได้รับกระแสและการตอบรับที่ดีมากๆ ละครออกอากาศในปี2561 พอปี 2562-2563 ทาง GTH ก็ติดต่อ อยากสร้างภาพยนตร์ เราก็เลยร่วมมือกันสร้างเป็นภาพยนตร์ บุพเพสันนิวาส 2 และทางประเทศเกาหลีก็ซื้อลิขสิทธิ์ไปทำใน Webtoon,  KAKAO ก็ได้ทำการ์ตูนออกมาเป็นเรื่อง บุพเพสันนิวาส และสำหรับประเทศไทยถือเป็นครั้งแรกที่ละครไทยได้ไปออกอากาศใน TV ของประเทศเกาหลี ถือเป็นเรื่องแรกเราทุกคนดีใจกันมากๆ ถือเป็นการเปิดตลาดอีกด้านหนึ่ง เพราะปกติเราจะต้องชมซีรีส์เกาหลี แต่อันนี้เกาหลีก็ได้นำ บุพเพสันนิวาส ไปออกอากาศในสถานีทางเขาด้วยค่ะ


 

ร่วมกับ GDH สร้างภาพยนตร์ บุพเพสันนิวาส

        จริงๆแล้วโจทย์ในการทำภาพยนตร์ค่อนข้างยาก ตั้งแต่ตอนทำละครก็ยากอยู่แล้ว พอมันย้อนยุค ทั้งคนเขียนบทประพันธ์ คุณรอมแพง ต้อง research ข้อมูลเยอะ พอมาถึงอาจารย์แดงก็ต้อง research ข้อมูลเพื่อเขียนให้ละครมีความยาว ก็ต้องอ่านหนังสืออ้างอิงเยอะมากๆ  ต้องศึกษาประวัติศาสตร์ ถึงจะเขียนบทโทรทัศน์ออกมาได้ และตอนผลิตก็ต้องศึกษาข้อมูลในเรื่องเสื้อผ้า ความเป็นอยู่ จัดอุปกรณ์ประกอบฉากให้มีความสมจริงมากที่สุด  ฉะนั้นการทำการบ้านของละครก็ค่อนข้างละเอียดและพิถีพิถันในการทำงาน แต่ละครมีความยาว 20 กว่าตอน หรือตอนออกอากาศ เราออกอากาศ 15 ตอน

       พอจะทำเป็นภาพยนตร์ โจทย์ก็คือว่าคนดูจะ เอ๊ะ ภาพยนตร์กับละครมันจะเหมือนกันไหม ซึ่งหน่องไม่อยากให้เหมือนกัน การเป็นภาพยนตร์มันต้องมีความแตกต่าง ผู้เขียนบทและผู้กำกับก็เลยตีความ มันมีบรรทัดหนึ่งในหนังสือเขียนว่า “บุพเพสันนิวาสจะพบกันทุกภพทุกชาติ และรักกันทุกภพทุกชาติ”  ก็เลยตีความตรงจุดนี้ ทำให้เหตุการณ์ บุพเพสันนิวาส ของภาพยนตร์มาเกิดในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และ ภพ ได้พบ เกสร ก็คือมาเกิดใหม่ แต่ความรักที่มีมาแต่เดิมยังอยู่

      ฉะนั้นโจทย์ของภาพยนตร์ก็คือเอาเค้าโครงมาแล้วตีความใหม่ และเกิดคนละยุคสมัย เกิดความแตกต่าง ทำให้คนที่ดูละครแล้วมาดูภาพยนตร์รู้สึกว่ามันไม่เหมือนกันนะ อันนี้เป็นโจทย์ที่ยากมาก ก็เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง Broadcast และ GDH กว่าจะออกมาเป็นบทได้ก็ทำการบ้านกันเยอะมาก เรื่อง พรหมลิขิต ที่เป็นภาคต่อของซีรีส์ละคร บุพเพสันนิวาส พรหมลิขิต ก็ยากไม่แพ้ บุพเพสันนิวาส เพราะในเรื่อง พรหมลิขิต เราจะมีกษัตริย์ถึง 5 พระองค์ ใน บุพเพสันนิวาส จะมีสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระเพทราชา พระเจ้าเสือ ซึ่งพอมาเป็น พรหมลิขิต ก็จะมีสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระเพทราชาที่ขึ้นครองราชย์ พระเจ้าเสือที่ขึ้นครองราชย์ พระเจ้าท้ายสระ และพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แต่หลักๆ เหตุการณ์จะเกิดขึ้นที่สมัยพระเจ้าท้ายสระ  ซึ่งเรื่องราวต่อกันและมีความสนุกสนานไม่แพ้กัน สำหรับคนทำก็ยาก ต้องค้นคว้าเพิ่มเติมด้วย ไม่ว่าเสื้อผ้า อุปกรณ์ที่จะทำให้สมจริง ฉากพระราชวังต่างๆ และมีซีนใหญ่ๆ ที่ต้องบอกว่าอลังการฟอร์มยักษ์

 

อะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จ ในการสร้างละคร

ขั้นตอนของการผลิตสำหรับคนเบื้องหลัง หากพูดให้ฟังง่ายๆมีอยู่ 3 ขั้นตอน ก็คืองานพรีโปรดักชั่น (pre-production), production และ post production

เริ่มโปรดักชั่นคือเราจะเลือกเรื่อง (story) ก่อน เราจะทำละครที่ดี เราต้องเลือกเรื่อง(story) ที่ดีด้วย พอเราได้เรื่องที่ดีแล้ว เราต้องได้ casting หรือนักแสดงที่ใช่กับ character ในเรื่องนั้นๆ และต้องเลือกผู้กำกับที่มีความชำนาญในละครแนวที่เราจะทำ แนวดราม่าอาจจะเป็นผู้กำกับคนนี้เก่ง  แต่พอมาละครตลก ต้องเปลี่ยนผู้กำกับที่เขามีความชำนาญอีกทางหนึ่ง เพราะฉะนั้นการคัดเลือกตั้งแต่บทประพันธ์ คัดเลือกนักแสดง ผู้กำกับ พอเราได้จุดนี้มาแล้ว สำคัญอีกส่วนคือเราต้องได้คนเขียนบทที่ดี เพราะฉะนั้นคนเขียนบทก็สำคัญมากที่จะถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวอย่างไรให้สนุก น่าสนใจ ก็เป็นขั้นตอนที่สำคัญ 

พอการทำงานในขั้นตอนของ production(การถ่ายทำ) คิดว่าขั้นตอนนี้ยาก คนดูอาจจะมองว่าถ่ายออกมาดูสวยๆ แป๊บเดียว แต่ไม่ง่าย ยกตัวอย่าง บุพเพสันนิวาส ฉากใหญ่ของเรา สมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ราชทูตมาถวายสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ฉากนั้นเราต้องเอาภาพวาดที่เราเคยเรียนประวัติศาสตร์มาวาง และเซ็ตทุกอย่างให้เหมือนกับในภาพ เราจะทำอย่างไรให้ภาพที่เราเห็นในบทเรียนมาเป็นของจริงและมีชีวิต ฉะนั้นการจัดวางแค่นั้นออกมา 2 นาที เราถ่ายกันทั้งวันเลย แค่แต่งตัว หมอบกราบ จัดวางลำดับ ดูว่าลำดับตามตำแหน่งเรียงกันอย่างไร แต่งตัวให้เหมือนในประวัติศาสตร์ กระทั่งภาพพระราชสาส์น นักแสดงทุกคนในวันนั้นบอกว่าขลังมากๆ ไม่รู้สึกเลยว่ากำลังแสดง เหมือนเกิดขึ้นจริง เป็นเหตุการณ์จริงๆ นี่คือความรู้สึกของนักแสดง แต่ภาพที่ออกมาคือความพยายามของทีมงาน ผู้กำกับ นักแสดง นี่คือสิ่งที่ผู้ชมอาจไม่ทราบว่าภาพที่เห็นเพียง 2-3 นาที จริงๆเราใช้เวลาถ่ายทำกันทั้งวัน 

หากถามถึงเบื้องหลัง-เคล็ดลับ ตอบว่าความยากในการทำละครนั้นยากทุกแนวทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นละครแนวประวัติศาสตร์อย่าง บุพเพสันนิวาส หรือ พรหมลิขิต หรือที่กำลังถ่ายทำ คือ สายลับลิปกลอส ก็เป็นแนวสนุก ตลก คอมเมดี้ แอ็คชั่น บู๊ ฉะนั้นในการทำก็ต้องวางแนวและทำให้ถึงในจุดนั้น เพราะคนก็ทำกันเยอะ แต่จะทำอย่างไรให้สนุกและน่าติดตาม อันนี้เป็นโจทย์ที่ยากมากๆของผู้ผลิตละคร

 

การ casting คัดเลือกนักแสดงที่เหมาะสม

ความเหมาะสมพูดยากมาก อย่าง ดอกส้มสีทอง เป็นเรื่องแรกที่คุณโป๊ปมาร่วมงานกับช่อง 3 และได้มาเล่นละครของพี่หน่อง โป๊ปเล่นละครวันนี้ พอออกอากาศคืนต่อมาก็คือดัง ดังแบบชั่วข้ามคืน การ casting ความเหมาะสมเป็นสิ่งที่ยากจริงๆ นักแสดงบางเรื่องเราอาจจะปั้นนักแสดงหน้าใหม่ โดยดูว่านักแสดงคนนั้น cast ออกมาแล้ว character ตรงไหม ก็อาจจะสร้างคนคนหนึ่งขึ้นมาเลยก็ได้ แต่อย่าง บุพเพสันนิวาส ก็รู้สึกดีใจที่ casting ลงตัว ได้พี่โป๊ป พี่เบลล่า พอเล่นกันแล้วเคมีเข้ากันได้ดีมาก ทำให้คนดูอินไปกับความรักของคนทั้งสอง สมกับคำว่า บุพเพสันนิวาส

 

 

เรื่องเทคโนโลยีการถ่ายทำในปัจจุบัน เครื่องมือเครื่องใช้เปลี่ยนไป ช่วยลดต้นทุนหรือเพิ่มต้นทุนอย่างไร

จริงๆแล้วต้องบอกว่าหน่องอยู่กับ TV ทุกระบบหมดเลย คิดว่ามีสองอย่างในการสร้าง/ผลิตงานละคร หรือกระทั่งภาพยนตร์ก็ตาม คือเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ที่สำคัญคือผู้บริโภคหรือผู้ชมก็มีการเปลี่ยนแปลง ทั้ง lifestyle ความชอบต่างๆ มันพัฒนาไปด้วยกันทั้งคนดูทั้งตัวเทคโนโลยี เพราะฉะนั้นเรามีหน้าที่ต้องตามเทคโนโลยีให้ทัน ไม่ว่าจะเป็น platform ใด หรือช่องทางในการรับชมต่างๆ  มันเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตต้องก้าวเท่าทันโลกและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น  แต่ในการสร้างละครถามว่ายากขึ้นไหม ก็จะยากขึ้นโดยลำดับ แนวที่เกิดขึ้น ไม่ว่าซีรีส์เกาหลีหรือภาพยนตร์ต่างประเทศ รวมทั้งของไทยก็มีสื่อที่เยอะขึ้น ฉะนั้นการปรับตัวก็ต้องปรับทั้งในเรื่องของคุณภาพและเข้าใจผู้บริโภคหรือผู้ชม ว่าเขาเปลี่ยนไปแค่ไหน เราทำตรงนี้เขาจะชอบอยู่ไหม บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่ต้องเดาใจเหมือนกัน อย่าง Broadcast จะทำละครเปลี่ยนแนวไปเรื่อย ๆ แนวตลกก็มี แนวผีก็มี ย้อนยุคก็มี ประวัติศาสตร์เราก็ทำ เช่น บางระจัน  ฉะนั้นจะเห็นว่าเราพยายามพัฒนาและเปลี่ยนแนวไม่ให้ซ้ำทาง จะเห็นว่า Broadcast ผลิตละครค่อนข้างหลากหลาย รวมทั้งดราม่า อย่างดราม่าที่เราคิดว่าเป็น Talk of the town คือ ดอกส้มสีทอง และ แรงเงา ซึ่งเป็นแนวของละครที่เราต้องเลือกและคัดบทประพันธ์ที่มีคุณภาพ และผู้ที่ร่วมสร้างงานต่างๆก็ต้องเลือกในฝีมือและคุณภาพมาทำให้องค์ประกอบสมบูรณ์ ก็จะเป็นละครที่เข้าไปอยู่ในใจคนและประทับใจไปนานแสนนาน

 

 

การแข่งขันกับกระแสความนิยมในปัจจุบัน

อย่างเช่น กระแสซีรีส์วาย มีกระแสเยอะจริง ก็เลยคิดว่าในยุคปัจจุบันซึ่งละครแข่งขันกันและออกอากาศไปเยอะ ก็ต้องเลือกเรื่องที่ไม่ซ้ำทางกับคนที่เขาทำกันและประสบความสำเร็จอยู่แล้ว ฉะนั้นก็เป็นโจทย์ที่ยาก แต่ถ้าไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะเราก็ทำละครมาหลายแนวแล้ว วายก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ท้าทาย ของเรามีที่ออกอากาศไปเมื่อปลายปี พ.ศ. 2565 คือเรื่อง พี่จะตีนะเนย เป็นวายใสๆ วัยรุ่น น่ารักๆ ช่วงห้าทุ่มหลังข่าว 3 มิติ และเราก็มีผลิตออกทาง AIS platform  ก็สามารถดูได้อีกช่องทางหนึ่ง ทีวีเหมือนเป็นสื่อหลัก แต่ช่องทาง platform online ตอนนี้คนก็ตามดูทั้งสองช่องทาง ฉะนั้นเราก็เลยคิดว่าการทำละครต้องออกสองช่องทางแน่ ๆ แต่จะเป็น platform ไหน อย่าง สายลับลิปกลอส ก็ออกทาง Netflix ด้วย เมื่อกี้เราพูดเรื่องการพัฒนา จริงๆ มีอีกประเด็นที่สำคัญ อย่าง บุพเพสันนิวาส ไปออกอากาศครั้งแรกในสถานีโทรทัศน์เกาหลี นำเสนอในเรื่องการพัฒนา จริงๆหน่องมีการไปประชุมกับทางต่างประเทศ ประเทศเกาหลี ประเทศญี่ปุ่น มานานนับ 10 ปี ได้แลกเปลี่ยนมุมมอง ได้เห็นถึงพัฒนาการของละครหรือซีรีส์ ไม่ว่าจะของเกาหลี ญี่ปุ่น ในเอเชีย หน่องก็เข้าประชุมต่อเนื่องมายาวนาน

สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้เราเห็นมุมมองและพัฒนาการว่า trend จะไปทางไหน  เขามีการวิเคราะห์เจาะลึก ทางเกาหลีก็ทำการบ้าน และมาดูว่าซีรีส์ในอนาคตอีก  2-3 ปีข้างหน้า คนดูอยากดูอะไร trend ของโลกไปทางไหน จริงๆการทำละครในประเทศเราจะมองมุมมองหนึ่ง แต่การได้ที่หน่องได้มีโอกาสไปประชุมที่ต่างประเทศเรื่องเกี่ยวกับ Drama Conference เลยทำให้เห็นถึงวิถีในการคิดหรือการพัฒนางานในประเทศต่างๆ รวมถึงเกาหลี ซึ่งถือว่าเป็นผู้ผลิตซีรีส์ชั้นนำส่งตลาดโลก เขาก็ไม่หยุดนิ่ง เขาก็พัฒนา  แท้จริงแล้ว  ทางเกาหลีก็สนใจพล็อตหรือบทประพันธ์ที่ดีของไทยด้วยนะคะ ตอนนี้ไม่ใช่แค่ว่าจะเอาบทประพันธ์ในบ้านเมืองของตัวเองเท่านั้น เนื่องจากว่าในเอเชีย แม้กระทั่งญี่ปุ่นก็ดีพยายามที่จะมองหาพล็อตที่ดีๆ ในต่างประเทศ

ฉะนั้นในอนาคตก็อาจจะเห็นต่างประเทศทำละครทำซีรีส์ที่มีคอนเทนท์บนแพลตฟอร์ม จากประเทศไทยก็ได้ มันเริ่มมีการเชื่อมต่อกัน อย่างเวทีล่าสุดที่กำลังจะเกิดขึ้น คือเวทีของประเทศจีน ซึ่งหน่องก็จะไปร่วมเสวนาด้วย เป็นเวทีต่างประเทศ ซึ่งให้ความสนใจในเรื่องการผลิตละคร ตอนนี้ก็จะมีการแลกเปลี่ยนแนวความคิด เนื้อเรื่อง ฯลฯ อีกหน่อยในอนาคตอันใกล้อาจจะเป็นนักแสดง ซึ่งนักแสดงไทยข้อดีคือได้รับการชื่นชมว่าเราสวยหล่อและมีฝีมือ การพัฒนาของหน่องคือได้มีโอกาสร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์มากๆ ในการทำให้เรากลับมาพัฒนางานของเราด้วย

 

Work-Life Balance อย่างไร

ส่วนตัวเป็นคนชอบทำงานมาก ถามว่าทำงานหนักไหม ก็คิดว่าทำงานหนัก แต่ถ้าทำ production หรือทำละครเป็น Heavy duties เป็นงานที่ต้องทุ่มเทด้วยใจรัก เพราะฉะนั้นหนักแค่ไหนก็รู้สึกโอเคอยู่ แต่การใช้ชีวิตจริงๆแล้วพี่หน่องทำบุญเยอะ เรียกว่าสายธรรมะ ก็จะเดินทางสายกลาง ทั้งชีวิตการทำงาน ครอบครัว และทำบุญ ก็เป็นสิ่งสำคัญ แต่ว่าออกกำลังกายอาจจะน้อย แต่ว่าเราใช้ชีวิตในส่วนที่มีความสุข และ support กับงานของเรา อย่างเช่น ดูหนัง เราต้องดู เพื่อการพัฒนางานที่เรารัก ต้องดูละครของต่างประเทศ นั่นคือสิ่งที่งานอดิเรกกับความชอบของเรามันเกี่ยวข้องกับงานที่ทำตลอด เพราะฉะนั้นการอ่านหนังสือ เนื่องจากเป็นคนรักการอ่าน  จะอ่านนิยายเรื่องแปลกๆใหม่ๆที่เอามาทำเป็นละครได้  ก็เป็นสิ่งที่เราต้องให้เวลากับสิ่งเหล่านี้ รวมทั้งเราต้องติดตามสื่อต่างๆด้วยไม่ให้ตกเทรนด์ ตามอ่านข่าวโซเชี่ยล ข่าวสารบ้านเมือง ที่มันมีความสำคัญ มีผลกระทบอะไรไหม เราก็คิดที่จะเอามาสอดใส่ละครให้มีความทันสมัยเสมอ คิดว่าน่าจะ balance ได้ประมาณหนึ่ง ก็ทำในสิ่งที่ชอบค่ะ คือมัน support กับตัวงาน

 

 

จัดการอย่างไร หากมีกระแสโจมตีกับละครที่กำลังสร้าง

       กรณีช่วงละครเรื่อง ดอกส้มสีทอง คือละครมันแรงมาก และเกิดกระแสคนดูยุคนั้นยังไม่เห็นละครแนวเสียดสีสังคมหรือสะท้อนขนาดนั้น ก็จะมีหน่วยงานและองค์กรต่างๆเข้ามาแสดงความคิดเห็น และมีเวทีที่เราต้องออกไปเชิญสัมมนาว่าหัวข้อนี้กับสังคมเป็นอย่างไร ตอนนั้นยังไม่เสร็จจริงๆ ปรับไปออกอากาศไป และสังคมก็มีกระแสทุกด้านเลยค่ะ เราก็ต้องมีธรรมะในใจ ต้องมีความมั่นคงในจิตใจว่างานของเราต้องชัดเจนว่าบทเรามาดีแล้ว อาจารย์แดงเขียนบท ดอกส้มสีทอง และนักแสดงก็ทำดีแล้ว แต่สังคมยังไม่เคยเห็นละครซึ่งจับเหตุการณ์ตรงนี้มาเล่าเรื่องตรงนี้พูดยากที่เราจะอธิบายให้กับคนในสังคมเข้าใจในเวลาเดียวกัน พอเวลาผ่านไปก็จะเห็นว่าจริงๆแล้วมันได้อะไรกลับไป แต่ในขณะที่งานยังไม่เสร็จมันถูกตัดสินไปแล้ว แต่เราก็พูดอยู่เสมอว่าขอให้ดูจนจบ มันมีบทสรุป มันมีข้อคิดมันมีสิ่งดีๆที่ซ่อนไว้ ตอนนั้นเราพูดก็ไม่มีใครฟังเราเลย เพราะว่ามันแรงเกิดเป็นกระแส เป็น phenomenon เป็นปรากฏการณ์ของสังคม ซึ่งเกิดอย่างนี้ในละครของเราเรื่อยๆ บางเรื่องพอจบแล้วทุกคนถึงเข้าใจ เพราะฉะนั้นถึงต้องมีความอดทนที่จะต้องเข้าใจสังคมด้วยว่าเขารู้สึกแบบนี้ แต่ต้องให้เวลา ทุกอย่างต้องมีเวลาและมันจะพิสูจน์เองว่างานมันมีคุณค่าอย่างไร

 

อยากให้ฝากเกี่ยวกับละครไทย

จริงๆแล้วในฐานะผู้ผลิตละคร นอกจากในประเทศแล้วและขณะนี้ก็ยังชมทุกสื่อและไปต่างประเทศ เรามองว่า บุพเพสันนิวาส เป็นตัวอย่างอันหนึ่งที่ให้เห็นว่าวัฒนธรรมไทยของเรามีคุณค่าและมีความโดดเด่นในเอเชีย ไม่ว่าอาหาร การแต่งกาย หรือมวยไทย ประวัติศาสตร์ไทย  ฯลฯ  ซึ่งอยู่ใน บุพเพสันนิวาส ด้วย ตรงนี้ทำให้เห็นว่าเราทำงานให้ดีที่สุด ที่จะนำเสนอสิ่งดีๆ

เพราะฉะนั้นถ้าตรงนี้เราทำออกมาได้ มันจะกลายเป็น soft power ของงานวัฒนธรรมของประเทศไทย หรือละครของไทยเรา คิดว่าเราจะมีผู้ผลิตอีกจำนวนมากที่มองในจุดนี้ ถ้าเราทำอะไรทำให้มันถึง ทำให้มันสุด คือสร้าง soft power ของไทยที่โดดเด่นอยู่แล้ว ให้มันชัดเจนขึ้น ให้มันกลายเป็น soft power ที่จะเกิดผลดีกับการพื้นที่งดงามทางภูมิศาสตร์ไทย และส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์  ทำให้เกิดกระแสหลายๆ มิติ สู่ระดับนานาชาติได้ หน่องขอฝากตรงนี้ ขอบคุณมากค่ะ

 

Writer

The Reader by Praphansarn