วันที่ 11 กันยายน 2566 องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) จัดงานอภิปราย “๕๐ ปี ๑๔ ตุลา กับบทเรียนสังคมไทย” กล่าวเปิดงานโดย สมชาย หอมลออ ที่ปรึกษาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ณ ห้องประชุม จิตติ ติงศภัทร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)
สมชาย หอมลออ กล่าวถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของทีมงานขบวนนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เรียกร้องให้รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร ปล่อยตัว “13 กบฏ” ซึ่งนำโดยธีรยุทธ บุญมี และในที่สุด ขบวนนักศึกษาและประชาชนหลายแสนคนสามารถกดดันให้จอมพลถนอมและจอมพลประภาส เดินทางหลบหนีออกจากประเทศ และเกิดการจัดตั้งรัฐธรรมนูญขึ้นได้สำเร็จตามข้อเรียกร้อง
"ก่อนอื่น ขอขอบคุณ ครป. ที่ให้มาเสนอข้อเท็จจริงและมุมมองเกี่ยวกับบทเรียน ในวาระครบ 50 ปี หรือครึ่งศตวรรษของเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 นี้ ผมเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 14 ตุลา ในฐานะที่เป็นทีมงานที่ได้รับมอบหมายจากนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือคุณพีรพล ตริยเกษม ให้ทำหน้าที่ร่วมกับอีกหลายท่าน ตั้งเป็นคณะทำงานด้านการข่าว โดยใช้ห้องทำงานของ อ. อึ้งภากรณ์ คณะบดีคณะเศรษฐศาสตร์ เป็นที่ทำการ เพื่อประเมิน วิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ จากข้อมูลข่าวสารที่ได้รับจากนักข่าวสายประชาธิปไตยและแหล่งอื่นๆ แล้วเสนอแนะประเด็นและการเคลื่อนไหวต่อแกนนำในการชุมนุม โดยเฉพาะคุณเสกสรรค์ ประเสริจกุลที่คุมเวทีการชุมนุม ณ สนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เหตุการณ์ 14 ตุลา แม้เกิดขึ้นเพียงประมาณ 10 วัน ในช่วงวันที่ 6 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นวันที่นักศึกษาประชาชนได้เริ่มชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แห่งนี้ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจรและจอมพลประภาส จารุเสถียร ปล่อยตัว “130กบฏ” ที่มีคุณธีรยุทธ บุญมี เป็นผู้นำ เรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญและเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง กระทั่งในวันที่ 15 ตุลาคม จอมพลถนอม จอมพลประภาส และพันเอกณรงค์ กิตติขจร ซึ่งเป็นลูกชายของจอมพลถนอม ลูกเขยของจอมพลประภาส หรือ “3 ทรราชย์” ต้องเดินทางหนีออกไปต่างประเทศ แต่ 14 ตุลา มีที่มา ที่เป็นและที่ไป อันเป็นเรื่องราวการต่อสู้ของกลุ่มคนในยุคนั้น ที่อาจเรียกกว้างๆได้ว่า “คนเดือนตุลา” ซึ่งมีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี
กว่า ๑10 ปี ของที่มา ที่เป็นและที่ไป ของ คนเดือนตุลา (1) นับแต่ช่วงที่ขบวนการนักศึกษาทำกิจกรรมเพื่อสังคมภายใต้คำขวัญ ลงสู่ชนบทช่วยเหลือชาวนา ลงสู่โรงงานเพื่อช่วยเหลือกรรมกร สู่การเรียกร้องประชาธิปไตยและการกระชุมนุมขับไล่รัฐบาลเผด็จการทหารถนอม-ประภาศ (2) การร่วมกับชาวนา กรรมกร และพี่น้องประชาชน ต่อสู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยที่แท้จริงในช่วง 3 ปี หลังเหตุการณ์ (3) จบลงด้วยการถูกล้อมปราบ อย่างโหดเหี้ยม ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ณ สถานที่แห่งนี้ ซึ่งเป็น (4) อันจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธในเขตป่าเขา ที่ คนเดือนตุลาจำนวนมากได้เข้าไปร่วมเป็นพลพรรคขบวนการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือ พคท. หรือหลบภัยการเมืองอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านขและเมื่อการเมืองของโลกเปลี่ยนแปลงไป ทำให้กองกำลังอาวุธเสื่อมถอยไป ทำให้คนเดือนตุลาได้ต้องกลับคืนสู่เมือง ซึ่งอาจถือเป็นการปิดฉากการต่อสู้ในฐานะคนเดือนตุลา
เวลากว่า 10 ปี เป็นเวลาที่ไม่ นานนัก แต่ก็เป็นเวลาพอสมควร ช่วงกว่า 10 ปี คนเดือนตุลาได้เสียชีวิตท่ามกลางการต่อสู้หลายร้อยคน บาดเจ็บพิการนับพัน ปัจจุบันคนเดือนตุลากระจัดกระจายไปคนละทิศ ทาง อยู่ในวงการต่างๆ บ้างก็ยังมีความสัมพันธ์กันฉันทร์มิตร แต่ก็มีไม่น้อยที่ได้กลายเป็นศัตรูคู่แข่งกัน โดยเฉพาะศัตรูคู่แข่งในทางการเมือง คนเดือนตุลา ได้รับบทเรียนและได้ให้บทเรียนอะไรต่อสังคมไทยบ้าง? โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อชนรุ่นหลัง ที่กำลังต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย ทั้งบทเรียนของความสำเร็จและความล้มเหลว ความปิติยินดีและความเจ็บปวด
50 ปีของเหตุการณ์ 14 ตุลา กำลังจะผ่านไป แต่ยังไม่การสรุปบทเรียนที่ชัดเจนของคนเดือนตุลา นี่นับว่าเป็นสิ่งที่น่าท้าทายยิ่ง
ข้อคิดเห็นที่จะเสนอ เกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลา คนเดือนตุลา และบทเรียน เป็นเพียงส่วนเสี้ยวเล็กๆ ในฐานะที่เป็นเพียงคนหนึ่งในจำนวนคนนับแสนนับล้าน ที่มีส่วนร่วมเท่านั้น เช่นเดียวกับ ข้อเท็จจริงและมุมมองของบางท่าน ที่แม้ได้รับการยอมจากประชาชนว่า เป็นสัญลักษณ์ของหรือผู้นำ ก็ไม่อาจถือได้ว่าข้อเท็จจริงและมุมมองของผมและพวกเขา สามารถอธิบายเหตุการณ์ได้อย่างครบถ้วน พวกเราเป็นเพียงกลไกเล็กๆของ เหตุการณ์เท่านั้น 14 ตุลาเป็นจุดหนึ่งของพัฒนาการของสังคมไทย ที่มี ที่มา ที่เป็น และที่ไป โดยตัวของสังคมเอง อีกทั้งข้อเท็จจริงและมุมมองของผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งที่จะเสนอในวันนี้ ยังอาจปะปนไปด้วยความคิด ความเชื่อ และอคติส่วนตน ไม่มากก็น้อย จึงต้องอาศัยการประมวลเหตุการณ์อย่างรอบด้านจากทุกๆฝ่าย
ที่มาของ เหตุการณ์ 14 ตุลา มีที่มาจากเหตุปัจจัยหลายประการประกอบกัน ทั้งเหตุปัจจัยทางสากล ที่คนหนุ่มสาวส่วนหนึ่งในประเทศได้รับแรงบันดาลใจ จากขบวนการซ้ายใหม่ (New Left) และขบวนเยาวชนการต่อต้านสงครามเวียดนาม (สงครามอินโดจีน) ที่ได้แพร่ขยายไปทั่วทุกทวีป อิทธิพลที่เสื่อมถอยลงของอเมริกา ทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ และเหตุปัจจัยความขัดแย้งภายในไทยประเทศ ระหว่างระบอบเผด็จการทหารของสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส ที่สนับสนุนโดยมหาอำนาจตะวันตกภายใต้นโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็น ที่ประเทศไทยกลายเป็นด่านหน้าของนโยบายดังกล่าวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “พลังประชาธิปไตย” โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงก่อนเหตุการณ์ และกรรมกร ชาวนา ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์ นักการเมืองที่ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพในระบบเลือกตั้งเป็นเวลากว่าสิบปี ประกอบกับความขัดแย้ง แก่งแย่งอำนาจกันระหว่างกลุ่มชนชั้นนำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จอมพลสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส ที่ครองอำนาจต่อเนื่องกันมายาวนาน กลุ่มผู้นำสถาบันอนุรักษ์นิยม ที่ต้องการแบ่งปันอำนาจจากบรรดาขุนทหาร และความขัดแย้งแตกแยกในบรรดาขุนทหารด้วยกันเอง รวมทั้งสถานการณ์ตกต่ำทางเศรษฐกิจของประเทศในขณะนั้น ล้วนประกอบเป็นเหตุปัจจัยในการเกิดเหตุการณ์ทั้งสิ้น
ที่เป็น ของเหตุการณ์ 14ตุลา เริ่มขึ้น ในวันที่ 6 ตุลาคม 2516 เมื่อผู้นำนักศึกษา นักวิชาการ นักคิด นักเขียนและนักการเมืองที่แจกจ่ายข้อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ที่พวกเขาเหล่านั้น 100 คนลงชื่อ ถูกรัฐบาลทหารของจอมพล ถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร จับกุม รวม 13 คน ในข้อหากบฏ ทำให้นักศึกษาประชาชนในวงการต่างๆ ลุกฮือขึ้นประท้วงโดย เริ่มชุมนุมกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัว “13 กบฏ” จัดทำรัฐธรรมนูญและจัดการเลือกตั้ง การชุมนุมมีศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) เป็นแกนนำ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) เป็นผู้จัด โดยมีคุณเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ผู้นำนักศึกษาคนหนึ่งของมหาวิทยาลัยเป็นผู้นำ. การชุมนุมได้ขยายตัวไปในขอบเขตทั่วประเทศ มีนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนเข้าร่วมหลายแสนคน เมื่อรัฐบาลทหารไม่ตอบสนองข้อเรียกร้จึงต้องเพิ่มความกดดันรัฐบาลโดยเคลื่อนตัวออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปตามถนนราชดำเนินจนถึงลานพระบรมรูปทรงม้า เช้ามืดของวันที่ 14 ตุลาคม โดยสภาพร่างกาย คุณเสกสรร และแกนนำไม่อยู่ในสภาพที่จะดูแลการชุมนุมต่อไปได้ จึงประกาศสลายการชุมนุม แม้ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ อาจรูสึกผิดหวัง แต่ก็ปฏิบัติตามด้วยดี ในการสลายตัว มีผู้ชุมนุมส่วนหนึ่ง ได้เดินไปทางถนนราชวิถี ซึ่งมีตำรวจปราบจลาจลตั้งแถวรักษาการณ์อยู่ โดยมีอธิดีกรมตำรวจเป็นผู้บัญชาการ สั่งให้ใช้กระบองตีนักศึกษา จนหลายคนได้รับบาดเจ็บ ตกหรือหนีลงไปในคูน้ำของสวนจิตรลดา เป็นชนวนของการรวมตัวและลุกฮือต่อต้านรัฐบาลอีกครั้ง แม้แกนนำผู้ชุมนุมส่วนหนึ่ง มีคุณจิรนันท์ พิศปรีชาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแลคุณเสาวนีย์ ลิมมานนท์ จะได้ตั้งเวทีที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อดูแลการชุมนุม แต่ก็ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ ได้ ผู้ชุมนุมบางส่วนที่โกรธแค้น ได้เริ่มเผาสถานที่ราชการเช่น กองบัญชาการตำรวจนครบาลที่สะพานผ่านฟ้า กองสลาก รัฐบาลได้ใช้กำลังทหาร ประกอบด้วยรถถัง เฮลิคอปเตอร์และอาวุธสงคราม ปราบปราบผู้ชุมนุม ในที่สุดจอมพลถนอม จอมพลประภาส และพันเอกณรงค์ กิติขจร ลูกชายของจอมพลถนอม และลูกเขยของจอมพลประภาส ที่เรียกว่า “สามทรราชย์” ต้องเดินทางไปต่างประเทศ เหตุการณ์จึงเริ่มสงบลง มีผู้เสียชีวิต ๗๗ คน และบาดเจ็บ 857 คน
ที่ไป ของเหตุการณ์ 14 ตุลา เมื่อกล่าวถึง 14 ตุลา โดยเฉพาะเมื่อจะกล่าวถึงบทเรียนของสังคมไทย อาจหมายถึงเพียงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม 2516 แต่หากกล่าวถึง “ขบวนการ 14 ตุลา” หรือที่เรียกกันว่า “คนเดือนตุลา” คงต้องหมายถึง กลุ่มคนหนุ่มสาว กรรมกร ชาวนา และประชาชน ที่ได้เคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเนื่องเพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ในช่วงปี 2516 จนถึงเหตุการณ์สังหารหมู่เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 การหลั่งไหลกันเข้าป่าร่วมกับ พคท. และการกลับคืนสู่เมืองในช่วงปี 2529-2526 กล่าวคือ หลังจากนั้น หลังจากการโค่นล้มรัฐบาลทหารของจอมพลถนอม-ประภาส ในยุคของรัฐบาลพลเรือน ที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือฉบับปี 2517 ภายใต้โครงสร้างอำนาจที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง การล่าถอยของอเมริกาในสงครามอินโดจีน ขบวนการนักศึกษา กรรมกรและชาวนา ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมและประชาธิปไตย ถูกมองว่าเป็นการบงการของคอมมิวนิสต์ ทำให้เกิดความหวาดกลัวว่าประเทศไทย ในที่สุด จะตกอยู่ในเงื้อมมือของพวกคอมมิวนิสต์ ทำให้กองทัพและสถาบันจารีตนิยมผนึกกำลังกันอย่างเหนียวโดยการสนับสนุนของประเทศมหาอำนาจตะวันตก ได้สร้างขบวนการขวา พิฆาตซ้ายขึ้น ในช่วง 3 ปี คือ 2516-2519มีผู้นำชาวนา กรรมกร นักศึกษาและนักการเมืองฝ่ายซ้ายถูกลอบสังหารหลายสิบคน และจบลงด้วยเหตุการณ์สังหารหมู่เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งไม่ปรากฏชัดว่ามีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนเท่าใดแน่ หลังจากนั้น คนเดือนตุลาจำนวนมากได้เข้าไปร่วมเป็นเพื่อเป็นพลพรรคขบวนการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของ พคท. หรือหลบภัยในประเทศเพื่อนบ้านของไทย และเมื่อการเมืองของโบลกเปลี่ยนแปลง ประเทศใน “ค่ายเสรีนิยม” ได้หันมาจับมือกับ “ค่ายสังคมนิยม” ขบวนการต่อสู้ของ พคท. ถึงกาลลดบทบาทลง คนเดือนตุลาได้ต้องกลับคืนสู่เมือง ภายใต้นโยบาย 66/2523 ของรัฐบาลและการสั่นคลอนและล่มสลายของขบวนการต่อสู้ด้วยอาวุธของ พคท.
บทเรียนของสังคมไทย
1. ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลา มีที่มา ที่เป็น และที่ไปอย่างไร ยังขาดข้อเท็จจริง ขาดการประมวล และวิเคราะห์เกี่ยวกับเหตุการณ์ และคนเดือนตุลาอย่างจริงจังและเป็นระบบ จึงอยากจะเชิญชวนพี่น้องคนเดือนตุลา นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ รวมทั้งเยาวชนรุ่นต่อๆมา แม้ไม่ได้ร่วมในเหตุการณ์ หรือมิใช่คนเดือนตุลา ได้ร่วมส่วนในกระบวนการการรวบรวมดังกล่าว แทนที่จะฉลองเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์เพียงปีละครั้ง
2. 14 ตุลา ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นผู้นำหรือคนเดือนตุลา แต่เป็นของชาวไทยทุกคน แม้แต่ข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ 10 วัน ซึ่งเป็นเพียงระยะสั้นๆ แต่ยังมีข้อเท็จจริงที่ลึกลับซับซ้อนอยู่อีกมาก เช่น ทำไมขบวนผู้ชุมนุมจึงเคลื่อนไปที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เป้าหมายที่สวนรื่นฤดีหรือสวนจิตรลา ทำไมขณะที่ผู้ชุมนุมประกาศสลายการชุมนุมและเริ่มทยอยกลับบ้านหรือมหาวิทยาลัยแล้ว แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังเข้าโจมตีผู้ชุมนุม ใครเป็นผู้สั่งหรือไม่อย่างไร จอมพลถนอม-ประภาส ขัดแย้งกับพลเอกกฤษณ์ สีวะรา ที่ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงจน 3 ทรราชย์ ต้องเดินทางหนีไปต่างประเทศจริงหรือไม่ ใครเป็นผู้ทำให้คนทั้งสามต้องเดินทางออกนอกประเทศ และมีสัญญาอะไรกันหรือไม่ ผู้นำนักศึกษาแตกคอกันจริงไหม มีใครเป็นมือที่สามก่อความรุนแรงหรือไม่ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย บงการการชุมนุมหรือไม่ ทั้งยังมีมุมมองที่แตกต่างๆ ทั้งการให้คุณค่า เป็นวันมหาวิปโยค วันมหาปิติ เป็นต้น
3. การเดินทางของคนเดือนตุลา สำหรับข้อเท็จจริงและประสบการณ์ของการเดินทางของคนเดือนตุลา ในช่วง นั้นกว่า 10 ปี ยิ่งมีความซับซ้อนยิ่งนัก สมควรที่จะช่วยกันคลี่ออกมาเพื่อให้เปิดเผยออกมาสู่ประชาชนและคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นประเด็น บทบาทของกองทัพและสถาบันอนุรักษ์นิยมในทางการเมือง การต่อสู้รียกร้องโดยสันติวิธีหรือความรุนแรง การจัดตั้งและการนำโดยพรรคการเมือง ทั้งใต้ดินและบนดิน ความขัดแย้งของชาติมหาอำนาจและอิทธิพลที่ส่งผลต่อขบวนการประชาชนและชนชั้นนำในสังคมไทย
4. การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย แม้ว่าในบางช่วง บางครั้ง จะมีสีสัน อื่นใดเจือปนอยู่บ้าง แต่ 14 ตุลาเป็นการต่อสู้ ในรูปแบบต่างๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง หรือเชิงระบบ เพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยจากระบอบอำนาจนิยม ที่แสดงออกในรูปแบบต่างๆ ไปสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน กล่าวคือเมื่อ 50 ปี ก่อนโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เป็นเช่นใด ในปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนั้นอยู่ มีเยาวชน คนรุ่นใหม่จำนวนมาก ได้ลุกขึ้นมา เรียกร้องในสิ่งเดียวกันกับที่คนเดือนตุลา เคยเรียกร้องมา แม้คนเดือนตุลาจำนวนหนึ่งหันเหเปลี่ยนแปลงไป แต่เชื่อว่ายังมีอีกจำนวนมากยังต้องการการเปลี่ยนผ่านนี้อยู่ แต่ทำไม ช่องว่างระหว่างวัย เป็นอุปสรรคของการประสานความร่วมมือในการต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงนี้เล่า
จึงอยากเรียกร้องให้คนเดือนตุลาประสานความร่วมมือกับคนรุ่นใหม่ เพื่อร่วมกันผลักดันให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่าน จากระบอบอำนาจนิยมไปสู่ประชาธิปไตยที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพ ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิมนุษยชนและความเข้มแข็งของนิติรัฐ นิติธรรม.
ในที่ประชุม ยังมีผู้ร่วมอภิปรายจากหลากหลายองค์กร เช่น ตัวแทนองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ (อบจ.) ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล (อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), สันติสุข โสภณสิริ (กรรมการสถาบันปรีดี พนมยงค์) วีระ สมความคิด (นักกฎหมาย, อดีต ป.ป.ช.) สุณี ชัยรส (อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนชุดแรก สำนักงานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) ชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ (นักจัดรายการวิทยุ สภาความคิด) สมยศ พฤกษาเกษมสุข (นักเคลื่อนไหวอิสระ) กษิต ภิรมย์ (อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ, อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ) สุนทรี เซ่งกิ่ง (สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน - สสส.) รสนา โตสิตระกูล (กรรมการมูลนิธิสุขภาพไทย, อดีต ส.ว.) ฯลฯ จากตัวแทนจากอีกหลายองค์กร
ประเด็นหลักของการอภิปรายนั้นเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หาข้อสรุปบทเรียนที่ชัดเจนจากเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่มีต่อสังคมไทย โดยระยะเวลาผ่านมาถึงปีที่ 50 แล้ว ประชาธิปไตยของไทยคืบหน้าไปมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ ยังแลกเปลี่ยนหารือถึงความจำเป็นและสาระสำคัญของงานรำลึก 50 ปี 14 ตุลา รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อประสานความร่วมมือระหว่างคนเดือนตุลากับนักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ ช่วยกันผลักดันประเทศให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่เป็นของคนไทยโดยแท้จริง