'สิทธารถะ' หนังสือที่ไอซ์ รัชนกรีวิว : สิทธารถะ จะพบความหมายของชีวิตได้ ต้องออกไปใช้ชีวิต

'สิทธารถะ' หนังสือที่ไอซ์ รัชนกรีวิว

        ขอแสดงความยินดีกับว่าที่ ส.ส. น้องไอซ์รัชนก หลังจากที่เราได้เห็นเธอรณรงค์ทำกิจกรรมการเมืองมายาวนาน วันนี้เธอก็ได้ก้าวขึ้นมาอยู่เบื้องหน้างานการเมืองในสภาแล้ว

        ในคอลัมน์นี้ เรามาดูกันว่าน้องไอซ์รัชนก แนะนำหนังสืออะไรให้อ่านกันใน TIKTOK

 

        หากชื่อ 'สิทธารถะ' ฟังคุ้นหูคนไทย นั่นไม่แปลก เพราะเป็นชื่อในคำสันสกฤตของ 'สิทธัตถะ' ชื่อต้นของพระพุทธเจ้าที่รู้จักกันดีของคนไทย แต่ที่ผิดคาดคือคนเจนฯรุ่นหลังอย่างน้องไอซ์รัชนก ให้ความสนใจกับหนังสือเล่มนี้เป็นพิเศษ เพราะเป็นหนังสือของนักเขียนรุ่นเก่า เก่าแบบเก่ามาก อายุผลงานที่ประพันธ์ขึ้นก็ปาไปตั้งร้อยปีแล้ว(ปี 1922) แถมชื่อฟังดูก็ชวนให้มีกลิ่นอายศาสนาจนรู้สึกขรึมขลัง การที่คนเจนรุ่นหลังให้ความสนใจกับหนังสือเล่มนี้ ก็เป็นเรื่องน่าสนใจว่า 'สิทธารถะ' มีอะไรชวนให้ค้นหา

        ทำไมเฮอร์มาน เฮสเส (ผู้ประพันธ์) จึงเลือกใช้ตัวเอกชื่อเดียวกับสิทธัตถะ ตรงนี้ขอตีความเอาเองว่าเฮสเสคงอยากสื่อความเป็นพระพุทธเจ้าในมุมมองของตัวเขาเอง เป็นพระพุทธเจ้าที่เป็นโลกียชนอย่างเรา ๆ ซึ่งมีความเป็นมนุษย์ใกล้เคียงกับอุดมคติของพุทธมหายาน ซึ่งใช้คัมภีร์สันสกฤตดังในชื่อตัวเอก ไม่ใช่พระพุทธเจ้าในอุดมคติของพุทธเถรวาทไทยที่เราคุ้นเคย ซึ่งลักษณะงานประพันธ์ของเฮสเสโดยมากก็มักจะถ่ายทอดถึงความเป็นโลกียชนลึกสุดโต่ง และทุกเรื่องก็มักจะเกี่ยวข้องกับการตีความทางศาสนาด้วย กล่าวอย่างง่ายเข้าว่า ก็คือ ประเด็นโดดเด่นในผลงานของเฮสเสคือเรื่องศาสนากับจิตวิญญาณของโลกียชน ก็ว่าได้

         และ 'สิทธารถะ' ก็เป็นเรื่องราวการแสวงหาจิตวิญญาณของโลกียชนผ่านการตีความแบบพุทธในมุมมองของเฮสเสนั่นเอง

         ดังนั้น ก่อนจะอ่านเรื่องนี้ ขอให้เข้าใจตรงกันว่า 'สภาวะตื่นรู้' ในหนังสือ 'สิทธารถะ' ห่างไกลจากความเข้าใจของพุทธไทยหลายโยชน์เลยทีเดียว แต่ใกล้เคียงกับความเข้าใจของพุทธนิกายเซนมากกว่า

         สิทธารถะ เป็นบุตรในวรรณะพราหมณ์ มีฐานะดี หน้าตาดี มีสติปัญญา เรียกว่าเป็นคนที่สมบูรณ์เพียบพร้อมทุกอย่าง รวมไปถึงพลังทางจิตวิญญาณในการแสวงหา 'ความจริง' มีความกระหายและตื่นรู้ต่อการแสวงหาเฉกเช่นผู้มีปัญญาทั้งหลายในสมัยพุทธกาลที่ชอบถกเถียงกันถึงประเด็นเหล่านี้

         'สิทธารถะ' แบ่งเป็นสองภาค ภาคแรกบอกเล่าถึงความกระหายในการแสวงหาของสิทธารถะ จำใจหักอกพ่อเพื่อออกเดินทางไปแสวงหาอาตมันด้วยตนเอง ไปกับเพื่อนรักชื่อโควินทะ ต่อมาได้พบพระพุทธเจ้า สิทธารถะและโควินทะเกิดเลื่อมใสในตัวพระพุทธเจ้า โควินทะขอบวชเข้าเป็นสงฆ์ แต่สำหรับสิทธารถะ เขาต้องการมากกว่านั้น เขาอยากเป็นอย่างพระพุทธเจ้าที่ค้นหาความจริงด้วยตัวของตัวเอง จึงแยกทางกับโควินทะ ออกเดินทางแสวงหาเพียงลำพัง มีความเชื่อมั่นว่าสักวันตนเองจะได้พบ

         ในภาคสอง เล่าถึงชีวิตของสิทธารถะที่ไถลออกนอกเส้นทางการแสวงหาทางจิตวิญญาณ มันเป็นการเดินทางที่พลัดหลงเข้าไปสู่เส้นทางแห่งโลกียชนเต็มขั้น จนหลงลืมจิตวิญญาณของตนเองไปในที่สุด ผ่านไปกระทั่งเขาอายุมากขึ้น เกิดสำนึกเสียใจและละอายต่อตนเองที่ไม่สามารถทำตามสิ่งที่ตนปรารถนาได้ จึงกระโดดน้ำตาย แต่ก็ไม่ตาย หลังฟื้นขึ้นมาบนชายฝั่งแม่น้ำ เขาก็ตั้งต้นชีวิตใหม่ของตนเอง เพื่อแสวงหาความจริงอีกครั้ง เขาได้รับครูทางจิตวิญญาณผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นเพียงชายชรานักแจวเรือรับจ้าง

         ในตอนของหนังสือเล่มนี้คือจุดพีคสูงสุด คือตอนที่สิทธารถะได้พบกับสมณะโควินทะอีกครั้งโดยบังเอิญ และบทสนทนาในช่วงนี้เอง ผู้เขียนได้กล่าวถึงการแสวงหาไว้อย่างลุ่มลึก และเปี่ยมไปด้วยข้อคิดหลายประการเกี่ยวกับการใช้ชีวิต ทำให้หนังสือเล่มนี้ได้รับการกล่าวขานมาจนกระทั่งปัจจุบัน

         และผลงานการค้นหาทางจิตวิญญาณแห่งโลกียชนที่เขาเขียนไว้หลายสิบเล่ม ส่งผลให้เขาได้รับรางวัลโนเบลในปี 1946 ดังใจความประกาศเกียรติคุณว่า "งานเขียนอันเปี่ยมด้วยแรงบันดาลใจ ได้เป็นตัวอย่างให้เห็นถึงอุดมคติของความเป็นมนุษย์แบบคลาสสิก ซึ่งเจริญไปสู่ความอาจหาญและความเฉียบแหลม ด้วยงานประพันธ์คุณภาพสูง"

          การตกผลึกและแนวความคิดเกี่ยวกับความตื่นรู้ของเฮอร์มาน เฮสเส ที่ส่งผ่านมาในหนังสือ 'สิทธารถะ' อาจกล่าวได้ว่าเป็นที่เข้าใจกันอย่างกว้างขวางแล้วสำหรับคนรุ่นหลัง อาจจะด้วยอิทธิพลความคิดทางปรัชญาที่ส่งผ่านมาทางสื่อต่าง ๆ โดยอ้อม หรืออาจจะด้วยการทำความเข้าใจโดยตรงจากการอ่าน ซึ่งความตื่นรู้ในแนวคิดของเฮสเสนั้นไม่ใช่สิ่งที่เข้าใจยากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับนักอ่านเมื่อร้อยปีที่เขาประพันธ์ 'สิทธารถะ' เล่มนี้ขึ้น ยิ่งสำหรับคนที่คุ้นเคยกับพุทธเซนแล้ว หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือที่เข้าใจยากแต่อย่างใดเลย อย่างไรก็ตาม ความลุ่มลึกในแง่การนำเสนอภาพนามธรรมเกี่ยวกับตื่นรู้ของเฮสเสนั้น ต้องเรียกว่าชั้นบรมครูทีเดียว

 

 

 

@nanaicez แนะนำหนังสือ สิทธารถะ จะพบความหมายของชีวิตได้ ก็ต้องออกไปใช้ชีวิต part 1 #สิทธัตถะ #สิทธารถะ #รีวิวหนังสือ ##หนังสือเล่มโปรด ##ไอซ์รักชนก#ไอซ์อ่าน ♬ original sound - Rukchanok Srinork - ไอซ์ รักชนก (Nanaicez)

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ