จำเนียร : สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้เราจะพูดถึงการทำงานของหนังสือสองเล่ม เล่มแรกคือ "ปั่นไปเที่ยวไปตามใจฝัน" และอีกเล่มหนึ่งคือ "ผจญไพรสุดขอบฟ้า" นะครับ เวลาค่อนข้างที่จะสั้นอยู่เหมือนกัน เราก็จะมาคุยถึงหนังสือเล่มแรกก่อนนะครับ คือ "ปั่นไปเที่ยวไปตามใจฝัน" ก่อนอื่นขอแนะนำผู้เขียนสักเล็กน้อย คุณยรรยงเป็นนักเขียนหน้าใหม่ในแวดวงของงานเขียนเป็นเล่ม แต่จริง ๆ แล้วมีงานเขียนลงตามหน้านิตยสารเกี่ยวกับเรื่องจักรยานมาเหมือนกัน คุณยรรยง เจริญพงศ์ จบบริหารธุรกิจจากออสเตรเลีย ปัจจุบันทำธุรกิจส่วนตัว แต่ว่ามีอาชีพหลักคือการเป็นนักปั่นจักรยาน และขี่แบบจริงจังมาประมาณ 10 ปี ร่วมแข่งขันจักรยานเสือภูเขามาแล้วกว่า 150 ครั้งทั่วประเทศไทย ได้ถ้วยมาจนนับไม่ถ้วน งานเขียนชุดนี้เป็นงานที่เขียนรวมเล่มขึ้นมาเลยไม่ใช่เป็นงานที่เก็บมาจากบทความ ต้องให้คุณยรรยงเริ่มเล่าตรงนี้ครับ
ยรรยง : จากประสบการณ์ที่ขี่จักรยานมานี้ เริ่มต้นคือว่ามีความชอบจักรยานมาตั้งแต่เด็กแล้ว ประสบการณ์เหล่านี้ขาดหายไปตอนที่เราเป็นผู้ใหญ่ จนกระทั่งระยะหลังจักรยานเสือภูเขาเกิดขึ้นมาในแวดวงจักรยาน แล้วผมก็พบว่าจักรยานเสือภูเขาเป็นสิ่งที่ผมคอยอยู่ ผมเริ่มหาซื้อจักรยานเสือภูเขามาเพื่อออกกำลังกาย สำหรับจักรยานเสือภูเขา การหาประสบการณ์ของผมก็คือการลงแข่งเพื่อศึกษาเทคนิค แต่เมื่อหลายสิบปีก่อนการศึกษาเรื่องเทคนิค ยังไม่แพร่หลายเหมือนทุกวันนี้
จำเนียร : จักรยานเสือภูเขามีมากี่ปีแล้วครับ
ยรรยง : ประมาณ 10 ปีที่แล้ว คืออยากจะเป็นเรื่องสุขภาพ เรื่องออกกำลังกาย
จำเนียร : แล้วมาหลงเสน่ห์ของจักรยานตรงไหน
ยรรยง : เสน่ห์ของจักรยานอยู่ตรงที่ว่าเป็นเครื่องมือสำหรับออกกำลังกายเพื่อสุขภาพแล้วยังสามารถเป็นอุปกรณ์ที่พาเราไปท่องเที่ยวได้ และกิจกรรมจักรยานยังทำให้เราเห็นโลกกว้างมากขึ้นด้วย เวลามีแข่งก็ได้ไปตามต่างจังหวัด ตามอำเภอ และตามป่าเขา เป็นความชอบในการท่องเที่ยวอยู่แล้ว
จำเนียร : คุณยรรยงบอกว่านอกจากเสน่ห์แล้วอย่างหนึ่งของจักรยานคือสามารถซอกซอนไปตามตรอกเล็กซอยน้อยได้ซึ่งรถยนต์ รถใหญ่หรือแม้แต่มอเตอร์ไซค์อาจไปไม่ถึง นอกจากนั้นก็ยังมีความเงียบที่เป็นเสน่ห์ ที่ได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับตัวเอง และเวลาพูดถึงจักรยานที่ท่องเที่ยวไปทางไกล ในบางครั้งเราอาจจะไม่คุ้นเคย จึงมีคำถามที่ว่าไม่กลัวอันตรายบ้างหรือครับ
ยรรยง : อันตรายมันย่อมมีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะสามารถควบคุมได้หรือไม่ แต่อันตรายที่เกิดจากถนนจะมากกว่าอย่างอื่น เวลาเราเลือกเส้นทางริมถนนต้องพยายามหาเส้นทางที่ไม่ใช่ถนนใหญ่ หลบหลีกจากรถที่เป็นอันตราย
จำเนียร : ประสบการณ์ของคุณยรรยงที่ได้ขี่จักรยานท่องเที่ยวทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ นอกจากไปปั่นที่เขมรมาแล้ว ล่าสุดก็ไปจีนมา แต่หนังสือเล่มที่เราจะพูดถึงเป็นการปั่นไปทางฝั่งยุโรปที่ออสเตรีย มีการวางแผนอย่างไรครับ
ยรรยง : การขี่จักรยานสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การเตรียมตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราขี่จักรยาน แบบไม่ได้ซื้อทัวร์ ดังนั้นการเตรียมตัวทุกสิ่งทุกอย่างต้องเริ่มจากเรา กรณีนี้มีการไปขี่ที่ยุโรป คือ ออสเตรีย เลียบแม่น้ำดานูบ ดังนั้นการเตรียมการก็คือว่าจะต้องมีการวางแผนเส้นทางให้ดีที่สุด เพราะจักรยานเรื่องหลงเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด สิ่งที่ผมเตรียมตัวสิ่งแรกคือเรื่องเดินทาง แล้วก็แบ่งระยะทางตามความสามารถในการขี่ ที่พักจะพักที่ไหน จะกินอย่างไร พบพาอุปกรณ์หรือสิ่งของอะไรบ้างให้เหมาะกับสภาพอากาศ และวันเวลา
จำเนียร : การเตรียมเรื่องสุขภาพล่ะครับ
ยรรยง : เรื่องสุขภาพและจักรยานต้องมาก่อน ถ้าเราจะไปท่องเที่ยวทางไกลร่างกายต้องพร้อม จักรยานต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ต้องฟิตอย่างดี ถ้าไปเสี่ยงเอาดาบหน้าจะเป็นปัญหา เพราะฉะนั้นอะไรที่เตรียมตัวได้เราจะทำเป็นอย่างดี เรื่องร่างกายเนื่องจากผมขี่จักรยานเป็นประจำอยู่แล้ว ก็เลยไม่ได้เตรียมตัวอะไรมาก
ดวงดาว : พร้อมตลอดปี ขอโทษนะคะถามอายุนิดหนึ่ง พี่ยรรยงอายุเท่าไรแล้วคะ
ยรรยง : หกสิบแล้วครับ
ดวงดาว : คิดดูนะคะคนใกล้หกสิบขี่จักรยานเป็นว่าเล่น จะว่าไปแล้วดิฉันก็รู้จักคุณยรรยงจากการเป็นสมาชิกของ นิตยสาร NATURE EXPLORER ที่เราออกมาทำจากการท่องเที่ยว เราจะทำหนังสือเกี่ยวกับท่องเที่ยวธรรมชาติผจญภัย แต่อยากจะไปสำรวจเส้นทางนครวัดโดยขี่จักรยานแบบไพโอเนียเป็นชุดแรกก็ว่าได้
จำเนียร : ครับ ที่ตีพิมพ์ใน NATURE EXPLORER
ดวงดาว : ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ปีที่แล้ว ก็เริ่มมาจากรวบรวมสมาชิกพอประกาศไปก็เห็นเจ้าเก่าอีกแล้ว คุณยรรยงผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการจักรยานอยู่แล้ว และก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ เพราะต้องขี่จักรยานทางไกลกว่า 100 กิโล จะไปนครวัดจากเมืองไทยจากอรัญประเทศ
ยรรยง : เส้นทางตรงนั้นเรียกว่าเป็นเส้นทางย้อนยุคจริง ๆ เป็นถนนที่เคยดีเมื่อ 10 ปีก่อน มันเป็นลูกรังและไม่มีทางเลียบเลย เป็นหลุมทั้งนั้น
ดวงดาว : เมื่อก่อนระเบิดลงว่าอย่างนั้นเถอะ เส้นทางจากอรัญประเทศไปเสียมเลียบ ผ่านศรีโสพล ซึ่งตอนนี้เป็นไปได้จริง ๆ ตอนแรกดิฉันว่า พอไปได้ครึ่งทางจะเอารถปิกอัพตามไปเก็บดีไหม พี่ยรรยงจะมองว่าพวกเราทำอะไรเกินความจำเป็น
ยรรยง : จริง ๆ แล้วเส้นทางนี้น่าจะทำได้ภายในวันเดียว แต่เนื่องจากตอนที่ผ่านด่าน กว่าจะผ่านได้มันก็จวนเที่ยงเข้าไปแล้ว เราก็ต้องพักกันกลางทาง จึงใช้เวลาสองวัน
จำเนียร : ระยะทางประมาณกี่กิโลเมตรครับ
ยรรยง : ประมาณ 150
จำเนียร : ในวันหนึ่งนักปั่นจะพยายามทำให้ได้กี่กิโลเมตรในระยะทั่ว ๆ ไป
ยรรยง : ผมว่าประมาณ 100 กิโลเมตร ถือว่าปกติ
ดวงดาว : ต่อวันหรือคะ
ยรรยง : ขึ้นอยู่กับเส้นทางว่าเป็นภูเขาหรือเปล่าหรือว่าเป็นทางเลียบ อันนี้ก็เป็นตัวแปรอีกอย่างหนึ่ง บางทีระยะที่เราพักมันอยู่ห่างเกินไป แต่ในบางครั้งก็ประมาณ 80 กิโลเมตร
จำเนียร : อยากให้ลองเล่าประสบการณ์มันส์ ๆ ที่ไปเลียบดานูบ
ยรรยง : ดานูบเป็นเส้นทางที่ไม่ถึงกับยากลำบาก เป็นเส้นทางที่มีความสุขในการปั่น เพราะว่าดานูบหรือประเทศออสเตรีย มีทุกอย่างสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นวิว บรรยายกาศ อากาศ สิ่งแวดล้อม ต้นไม้และผู้คน
ดวงดาว : เส้นทางนี้ถือว่าเป็นเส้นทางสำหรับนักปั่นโดยเฉพาะเลยใช่ไหมคะ
ยรรยง : ในอดีตดานูบเป็นเส้นทางสัญจรและเขาก็ใช้ม้าลากเรือใหญ่ มีทางข้าง ๆ เลียบแม่น้ำ พอมาในยุคสมัยใช้เครื่องยนต์ขับเคลื่อนได้ ม้าก็หายไปแต่ทางยังอยู่ เขาก็เอามาปรับเป็นทางจักรยาน ที่ผมไปขี่นี้ก็เป็นทางจักรยานโดยเฉพาะ ห้าหกร้อยกิโลเมตรไม่มีพาหนะอื่นมาเกี่ยวข้องเลย ทำให้มีความสุขในการปั่นมาก
จำเนียร : เส้นทางจากเมืองเลยไปหนองคาย น่าจะมีสิทธิ์อยู่นะครับ
ยรรยง : ตรงนั้นปั่นได้ครับ
ดวงดาว : เนื้อหายังคงเดิม เพราะเนื้อหาจะทันสมัย มันเป็นตำนานไพรที่เปลี่ยนไปแล้วเมื่อเทียบกับปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร ตอนที่เราเขียนเรื่องนกกระเรียน ปัจจุบันนี้ก็ยังมีอยู่ เราสามารถเลี้ยงนกกระเรียนที่ภูหลวงได้แล้ว
จำเนียร : ตรงนี้นับเป็นเสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้ นอกจากนั้นแล้วคุณดวงดาวยังได้เขียนคู่มือการเดินทางสำหรับท่านที่ต้องการจะไปเที่ยวตามสถานที่ในหนังสือเล่มนี้
ดวงดาว : เนื่องจากหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือท่องเที่ยว ดังนั้นคู่มือจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ให้คนสามารถไปท่องเที่ยวได้ด้วย จะมีประจำทุกเล่ม
จำเนียร : มากล่าวถึง "ผจญไพรสุดขอบฟ้า" กันบ้าง ตรงนี้จะเป็นซีรี่ส์ชุดต่อไป เป็นเรื่องราวในต่างประเทศมากขึ้น
ดวงดาว : เล่มแรกจะเป็นเรื่องธรรมชาติ ส่วนเล่มที่สองจะไกลเลยเป็นผจญไพรสุดขอบฟ้า คือการเดินทางตั้งแต่สมัยอยู่อสท. เนื่องจากเป็นคนอยู่เฉย ๆ ไม่เป็น เวลาเขาส่งไปประชุม สมมุติว่าให้อยู่สัก 7 วัน จะไม่กลับจะอยู่ต่อ ต้องเที่ยวต่อ ดูเรื่องท่องเที่ยวหรือสัตว์ป่าให้สามารถดูแลจัดระบบอย่างไร เวลาเขียนเรื่องท่องเที่ยวในอสท.ยังเขียนได้ไม่ดี เพราะไม่มีนโยบาย แต่งานจะแตกต่างจากหนังสือท่องเที่ยวทั่วไป อีกอย่างหนึ่งถ้าเราจะเขียนเรื่องท่องเที่ยวเราจะต้องรู้สึกอยากเขียน เพราะฉะนั้นเวลาเขียนต้องค้นลึกถึงธรรมชาติสิ่งแวดล้อมของต่างประเทศ ซึ่งเราจะต้องทำงานหนักขึ้นเป็นเท่าตัว
จำเนียร : สำหรับชื่อหนังสือเล่มนี้ อาจจะสังเกตดูว่า ไพร ไม่ได้ใช้ ภ.สำเภา ย.ยักษ์ เป็นไพรที่แปลว่าธรรมชาติ
ดวงดาว : สำหรับไพรตัวนี้นั้นเราต้องการความหมายที่แสดงถึงป่าดงพงไพร คือคำนี้ให้เป็นสัญลักษณ์ส่วนตัว ไม่ว่าจะใช้อะไรก็จะใช้ตัวนี้ตลอด มันเป็นเรื่องของการเดินทางที่ไร้พรมแดนและไร้ขอบเขต มาจากเรื่องหนึ่ง จะว่าไปหนังสือชุด "ผจญไพรสุดขอบฟ้า" มาจากการเดินทางสุดขอบฟ้าสุดดินแดนแชงกรีลา เอามารวมอยู่ในหนังสือเล่มนี้ เรื่องนี้เป็นจุดสุดยอดของการเดินทาง 20 ปี ตอนนั้นอยู่ที่ ททท. มีอยู่ครั้งหนึ่งท่านผู้ว่า ททท.ส่งไปสำรวจดินแดน เชื่อมการท่องเที่ยว สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ ในดินแดนจีน สำรวจการเดินทางไปคุนหมิงเป็นคาราวาน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวภูมิภาคนี้ พวกเราคือคณะ ททท. มีรถสองคัน เดินทาง 16 วัน จากกรุงเทพฯไปคุนหมิง และต้าลี่, ลี่เจียง หลังจากกลับมาก็จัดคาราวานที่ถือว่ายิ่งใหญ่ของประเทศก็ว่าได้ ที่ขับรถ 50 คันจากประเทศไทยไปคุนหมิง ตลอดข้างทางจะมีคนจีนออกมาดูเหมือนแขกบ้านแขกเมืองเพราะคนจีนไม่เคยเห็น แล้วไกด์ก็ชี้ให้ดูว่านี่เป็นภูเขาหิมะมังกรหยก ต่อไปก็จะเป็นทิเบต ซึ่งเป็นการเดินทางที่ถือว่าสุดขอบฟ้าในขณะนั้น เป็นแรงบันดาลใจที่เราไปถึงได้ตั้ง 3,000 กิโล จากนั้นคุนหมิงก็กลายเป็นเส้นทางที่สนิทแนบแน่นกับเมืองไทย เป็นการเปิดการท่องเที่ยวแบบมหัศจรรย์
จำเนียร : จะว่าไปก็เหมือนคุณดวงดาวเป็นผู้เปิดเส้นทางการเดินทางจากคุณหมิง เรื่องนี้เป็นเหตุการณ์ที่ไปแชงกรีลา
ดวงดาว : เรื่องนี้ที่เล่าไม่ใช่ไปที่แชงกรีลา เรื่องของเรื่องก็คือว่าเราออกจาก ททท.แล้วก็ได้มาทำงานเกี่ยวกับการเดินทาง ซึ่งกลับไปอีกครั้งหนึ่งทาง ททท. ก็ไปเป็นหัวหน้าคาราวาน สักประมาณ 2 ปีที่แล้วมีการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่มีนักท่องเที่ยวจากเมืองจีนมาเที่ยวเมืองไทยมากขึ้น พอเราจัดไปครั้งที่สองห่างจากครั้งแรกประมาณ 3-4 ปี จุดมุ่งหมายของเราคือเชิงเขาหิมะมังกรหยก เราก็กลับมาสืบค้นข้อมูลว่าถ้าจากตรงไหนสามารถเดินทางต่อไปที่ทิเบตได้ ก็กลายมาเป็นเรื่องนี้เดินทางสุดขอบฟ้า ตอนนั้นเราไปกับสมาชิก NATURE EXPLORER ไปกันยี่สิบชีวิต แต่ไปไม่ถึงทิเบตไปติดที่แชงกรีลา คำว่า แชงกรีลา ชาวจีนเขากำหนดขึ้นมาว่าคือดินแดนในฝันเหมือนกับเมืองลับแล ผู้คนจะไม่มีวันแก่ จำเนียร มันเหมือนกับนิยาย ของนักเขียนที่ชื่อ James Hilton ในเรื่อง Lost Horizon เป็นเมืองสมมุติที่สงบสุข ที่ใครก็อยากไปดินแดงแห่งแชงกรีลา
ดวงดาว : มันเคยเป็นภาพยนตร์ ดังมากเขียนมาจากนิยายของ James Hilton เรื่อง Lost Horizon ซึ่งแปลว่า ดินแดนสุดขอบฟ้า คือที่แชงการีลา แชงกรีลา คือภาษาทิเบต จำเนียร นี่เป็นเรื่องแรกจากหนังสือเล่มนี้ที่คุณดวงดาวเล่าให้ฟัง ที่จริงยังมีอีกมากมาย ซึ่งเป็นเรื่องราวสนุก ๆ อีก
ดวงดาว : ทุกเรื่องที่มารวมอยู่ในหนังสือเล่มนี้ "ผจญไพรสุดขอบฟ้า" คือเรื่อง จิตวัน โกสี และบาเดีย ผืนป่าใต้ฟ้าเนปาล ลองคิดดูว่าเราขี่ช้างไปดูแรด มันตื่นเต้นขนาดไหน ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ไม่ยากเลย แล้วก็เรื่องราวในศรีลังกา, ทัสมาเนีย จนปิดท้ายเล่มนี้ เป็นการย้อนรอยมาร์โค โปโล เส้นทางสายไหม ไม่ได้เป็นแค่การตามรอยวัฒนธรรมหรือทางสายไหม แต่เป็นการผจญภัยกันจริง ๆ
จำเนียร : นี่เป็นการเดินทางที่ไปโดยรถยนต์ ซึ่งจะแตกแยกกับหนังสืออีกเล่มของคณยรรยง ที่เดินทางโดยจักรยาน เวลาก็ใกล้จะหมดแล้วอยากจะให้คุณยรรยง กล่าวถึงประสบการณ์ท่องเที่ยวให้เพื่อนนักอ่านฟังบ้าง
ยรรยง : หนังสือที่ผมเขียนนี้เป็นหนังสือเกี่ยวกับจักรยาน ซึ่งในบ้านเรายังมีน้อยมาก จึงอยากจะเผยแพร่กิจกรรมเกี่ยวกับจักรยานให้คนหมู่มากรับทราบ ว่ามีประโยชน์ และเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ หลายคนไม่กล้าขี้จักรยาน หรือแต่งตัวเหมือนคนขี่จักรยาน หลายครั้งที่ผมไปเที่ยวจะมีคนถามว่ามันอันตรายไหม ในโลกกว้างของจักรยานมีคนท่องเที่ยวมากมาย ไม่มีอะไรน่ากลัวหรอกครับ ผมจึงอยากให้คนไทยหันมาขี่จักรยานกัน เพราะสามารถช่วยรักษามลภาวะ และประหยัดพลังงานด้วยครับ
จำเนียร : ถ้าหลายท่านที่อยากจะเริ่มต้นก็ลองมาอ่านหนังสือเล่มนี้ก่อนเพื่อเป็นแนวทาง มาถึงในส่วนหนังสือเรื่อง "ผจญไพรสุดขอบฟ้า" ที่เราพูดถึงไปแค่เรื่องสองเรื่องเท่านั้นเองนะครับ เวลาเราสั้นเกินไปสักนิด
ดวงดาว : หนังสือชุดตำนานไพร และ "ปั่นไปเที่ยวไปตามใจฝัน" เกิดจากความร่วมมือของสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นกับ NATURE EXPLORER ซึ่งครั้งนี้ประพันธ์สาส์นเป็นผู้จัดพิมพ์ อย่างไรก็ฝากฝังไว้ด้วยค่ะ สำหรับหนังสือที่เป็นแนวอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวแบบใหม่ ไว้ให้เยาวชนที่สนใจเรื่องราวเหล่านี้หูตากว้างไกล ก็คิดว่ามีแค่นี้ สวัสดีค่ะ
จำเนียร : สวัสดีครับ