เหมืองแร่ที่ไม่มีตะแกรงกรองความเหลื่อมล้ำทางเพศ : บทวิจารณ์โดย จิราเจต วิเศษดอนหวาย

เหมืองแร่ที่ไม่มีตะแกรงกรองความเหลื่อมล้ำทางเพศ

เหมืองแร่ที่ไม่มีตะแกรงกรองความเหลื่อมล้ำทางเพศ : บิดาผู้ทรงธรรม (Benevolent patriarchy) กับหญิงสาวผู้ไร้ผลิตภาพ (unproductive housewife)

 

         ในเหมืองแร่มีมนุษยธรรม เป็นเรื่องสั้นจากหนังสือรวมเรื่องสั้น เหมืองแร่ เขียนโดย อาจินต์ ปัญจพรรค์ เป็นเรื่องราวของชาวหนุ่มในโลกของชีวิตการทำงาน ความเรียบง่ายในการใช้ภาษาของเขาทำให้งานเขียนชิ้นนี้มีถึงเลือดถึงเนื้อ เราสามารถอ่านแล้วสัมผัสได้ถึงความเป็นธรรมชาติทั้งของตัวละครเองและสภาพแวดล้อม เรื่องราวเริ่มต้นจากตัวหลัก (ข้าพเจ้า) เป็นผู้สังเกตการณ์ จากนั้นตัวละครก็ค่อย ๆ ปรากฏตัวเนื้อเนื้อนั้นดำเนินไปอย่างเรียบง่าย อาจจะกล่าวได้ว่ามีความคล้ายนิทานสอนใจลูกผู้ชายตามขนบเก่าอยู่ไม่น้อย เพราะหากมองด้วยมุมของเศรษฐศาสตร์สตรีนิยมจะพบว่า ความเป็นธรรม ที่อดีตหัวหน้างานเหมืองเมืองเหนือได้รับจากนายฝรั่งและตัวละครผู้เล่าเรื่องนั้นเป็นความเป็นธรรมที่มองด้วยแว่นเศรษฐศาสตร์ปิตาธิปไตยซึ่งไม่ได้ให้ความเป็นธรรมจากแรงงานทุกเพศอย่างแท้จริง จากบทสนทนาเราจะทรายภูมิหลังของตัวละครหญิงที่เป็นเมียของอดีตหัวหน้างานเหมืองเมืองเหนือว่าเธอน่าจะทำอาชีพอะไรบางอย่างที่มีมูลค่าจนสามารถเลี้ยงตนเองและสามีได้ ตามคำบอกเล่าของผู้เป็นสามีของเธอ

 

คำถาม : เมื่อถูกปลดแล้ว ท่านมีอาชีพอะไร

คำตอบ : ไม่มี

คำถาม : เมื่อท่านไม่มีอาชีพ ทำไมท่านถึงมีเมียได้

คำตอบ : (อึกอัก) ฉันอาศัยเมียกิน

คำถาม : แล้วทำไมจึงไม่อาศัยเมียกินต่อไป

คำตอบ : เมื่อเมียฉันท้อง เขาก็เลิกอาชีพของเขา เราจึงไม่มีรายได้แล้วฉันก็ต้องหางานทำ

 

        นอกจากนี้เธอยังคงมีความกังวลต่ออนาคตโดยกล่าวว่า “พี่เขาตกงานมาหลายเดือน แล้วฉันก็ท้องเสียด้วย ถ้าฉันไม่ท้อง เราก็คงไม่ลำบาก” ในฐานะผู้อ่านจึงอยากชวนตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดแรงงานผู้หญิงจึงถูกลดคุณค่าลงเมื่อเธอตั้งท้องจนต้องพึ่งพาแรงงานชาย ทั้งที่การเลี้ยงลูกการดูแลสามารถต่างเป็นแรงงานที่ถูกมองไม่เห็น สังคมได้ปรับตำแหน่งแห่งที่ของเธอในสังคมเป็นหญิงสาวผู้ไร้ผลิตภาพ(unproductive housewife) รอคอยให้สามีผู้ถูกสังคมคาดหวังให้เป็นบิดาผู้ทรงธรรม (Benevolent patriarchy) เลี้ยงดูเธอและลูกอย่างดีทั้งที่ความเป็นจริงแล้วเพศหญิงในบทบาทเมียก็เป็นแรงงานในบ้านได้เช่นเดียวกัน แนวคิดนี้ถูกตอกย้ำด้วยประโยคสุดท้ายของเรื่องสั้นนี้คือ “ผู้นี้เป็นชายที่มีเมียตามกฏหมายและเมียกำลังมีลูกที่เขาจะต้องหาเลี้ยงเขาเป็นคนละคนกับชายโสดนักสไตรค์คนเก่า” นายฝรั่งได้ส่งต่อชุดความคิดบิดาผู้ทรงธรรม (Benevolent patriarchy) ให้กับอดีตนายเหมืองทางเหนือคนนี้ หากดูผิวเผินแล้วเราอาจจะดูใจไปพร้อมกับตัวละครที่เล่าเรื่องและตัวละครคู่ผัวเมียที่ได้งานทำในที่สุด แต่หากใช้แว่นของความเท่าเทียมทางเพศแล้วนั้นผัวเมียคู่นั้นยังคงถูกกดทับด้วยระบบเศรษฐศาสตร์แบบปิตาธิปไตยอยู่นั่นเอง

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ