การให้ความหมายของ พื้นที่ ที่แตกต่างกัน : บทวิจารณ์โดย กฤษณะ ชนะภัย

การให้ความหมายของ พื้นที่ ที่แตกต่างกัน

            “ในเหมืองแร่มีมนุษยธรรม” เป็นหนึ่งในเรื่องสั้นชุด “เหมืองแร่” ของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับพื้นที่เหมืองแร่ และใช้ฉากเหมืองแร่เป็นเหตุการณ์สำคัญในการดำเนินเรื่อง เล่าเรื่องผ่านตัวละครที่มีความหลากหลายอันแสดงถึงทัศนคติ ความซับซ้อนในจิตใจ นำไปสู่การดำเนินเรื่องและเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ  นอกจากนี้ยังเห็นถึงปัญหา ความขัดแย้ง อำนาจ หรือแม้แต่ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นที่ปรากฏในพื้นที่เหมืองแร่ โดยแก่นเรื่องเน้นไปที่ความเข้าอกเข้าใจเพื่อนมนุษย์ เห็นถึงความมีมนุษยธรรมอย่างชัดเจนของตัวละครที่ปรากฏ

 

            ในยุคสมัยนั้นการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ถือว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ หากไม่ได้นำมาใช้ก็จำเป็นต้องซื้อจากต่างประเทศ ซึ่งต้องซื้อในราคาสูง เมื่อนำมาแปรรูปหรือเพิ่มมูลค่าเป็นสินค้าต่าง ๆ ราคาสินค้านั้นก็ย่อมสูงไปด้วย จึงเกิดการทำเหมืองแร่ขึ้น ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำเหมืองแร่นั้นเป็นการรุกล้ำพื้นที่ทางธรรมชาติ เพราะได้รุกล้ำพื้นที่เพื่อทำการขุดเจาะต่าง ๆ แต่ถึงอย่างไรก็ตามหากปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัดก็นับเป็นการทำเหมืองที่ดี

 

            “เหมืองแร่” ที่ปรากฏถือเป็นฉากสำคัญในเรื่อง โดยเรื่องสั้นดังกล่าวได้ให้ความสำคัญกับความหมายของ “พื้นที่” ที่แตกต่างกัน ไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ที่หมายถึง ขอบเขตหรือที่ที่อาศัยอยู่เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงความหมายอื่น ๆ ที่อาศัยการตีความ หนึ่งคือเป็น “พื้นที่” ในการสร้างมูลค่าให้กับพื้นที่ว่างเปล่า โดยมีตัวแปรสำคัญในการทำให้เกิดมูลค่านี้คือ“เงิน”เพราะหากนายทุนทราบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีแร่อยู่ใต้ดิน เหมาะแก่การทำเหมืองแร่ราคาก็ย่อมสูงกว่าพื้นที่ธรรมดาว่างเปล่าทั่วไปไม่สามารถสร้างมูลค่าได้ เนื่องจากการตีค่าราคาของพื้นที่เหล่านี้ไม่ได้ตีราคาเพียงแค่สิ่งที่เห็นบนหน้าดินเท่านั้น แต่ได้เจาะลึกไปยังชั้นใต้ดินซึ่งเป็นแหล่งรวมแร่ต่าง ๆ มากมาย หากมองไปในอนาคตแล้วแร่เหล่านี้เป็นสิ่งที่สร้างเม็ดเงินได้อย่างมหาศาล

 

            การสร้างมูลค่าเช่นนี้ยังสะท้อนระบบสังคมทุนนิยม ที่ให้คุณค่ากับมูลค่าและราคาของสิ่งของต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดจากความสมัครใจของทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย และเห็นว่าเงินเป็นตัวแปรสำคัญในการตัดสินใจซื้อขายต่าง ๆ ระบบทุนนิยมนี้ได้แทรกซึมเข้าไปในวิถีชีวิตของคนทุกชนชั้น และตัวแปรสำคัญอย่าง “เงิน” ก็ยิ่งเป็นตัววัดในการแบ่งชนชั้นนั่นเอง ดังข้อความ

 

                        “มันเป็นวันบรมสุขผูกขาดเฉพาะพวกทำงานในออฟฟิศเท่านั้น คนงานกลางแจ้ง กองถางป่า ซ่อมถนน ขนแร่ ล้างแร่ ก็ยังต้องคลี่สายป่านแห่งชีวิตของเราเรื่อยไปไม่มีการหยุด”

 

            แสดงให้เห็นว่าชนชั้นกรรมกรไม่ได้สุขสบายอย่างอาชีพอื่น เพราะเมื่อถึงวันอาทิตย์ตนจะไม่ได้หยุดงาน แต่ต้องคลี่สายป่านแห่งชีวิตและต้องผูกปมไปเช่นนี้ หากไม่ทำเช่นนี้ปมชีวิตจะถูกมัดจนใหญ่ขึ้น สายป่านแห่งชีวิตก็จะพันยุ่งเหยิงยากเกินแก้ ทั้งนี้อาชีพกรรมกรต้องใช้แรงงานในการแลกเงิน ซึ่งคนมักมองว่าเป็นอาชีพล่างสุดของบรรดาอาชีพทั้งหมด ต้องขายแรงเลี้ยงชีวิต ไม่มีเงินมากพอที่จะลืมตาอ้าปากได้ แต่นายทุนกลับเป็นผู้มิเงิน มิหนำซ้ำยังเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งขัดกับความเป็นพื้นที่จริง ๆ ว่านั่นคือพื้นที่ของชาวบ้านท้องถิ่น แต่กลับมีคนที่ไม่ใช่ชาวบ้านท้องถิ่นเป็นผู้ร่วมตัดสินใจหรือสร้างมูลค่าบนพื้นที่แห่งนี้

 

            การให้ความหมายของ “พื้นที่” อีกความหมายหนึ่งนั้นคือพื้นที่ทางสังคม กล่าวคือเป็นภาพทับซ้อนของพื้นที่เหมืองและพื้นที่สังคม เพราะในสังคมจริง ๆ นั้นต่างมีการแบ่งชนชั้นอย่างชัดเจนในเหมืองก็เช่นกัน ชนชั้นที่ว่าคือการแบ่งหน้าที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น นายฝรั่ง (นายทุน) หัวหน้าช่างแผนกต่าง ๆ หรือแม้แต่กรรมกร ดังข้อความ

 

                        “และหากว่าอาทิตย์ไหนฝนมันเกิดขยันขึ้นมาเป็นพิเศษ มันก็จะเนรมิตให้ลำธารอันเคย เกียจคร้านอ่อนแอกลายเป็นท่อยักษ์มหึมาพ่นน้ำป่าอย่างบ้าคลั่ง ... วันนั้นแหละสำคัญนัก นายฝรั่งจะต้องเผ่นมาจากบังกะโลในชุดเสื้อนอนห่มด้วยเสื้อฝนมาบงการให้ทุกคนสุมหัว กันตัดต้นไม้”

 

            เห็นได้ว่านายฝรั่งเป็นคนที่เหนือกว่าทุกคน ใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย หลับนอนเป็นเวลา คอยบงการหรือสั่งให้ผู้น้อยทำอะไรก็ได้ ในขณะที่กรรมกรต้องทำงานตลอดเวลา อดหลับอดนอน และรับคำสั่งต่าง ๆ จากนายฝรั่งซึ่งเปรียบเสมือนนายทุน การตัดสินใจและผลประโยชน์ก็ย่อมตกไปที่นายทุนเป็นหลัก ส่วนอาชีพผู้น้อยไปจนถึงชนชั้นกรรมกรก็ได้รับผลประโยชน์ลดหลั่นกันไป เมื่ออาชีพเหล่านี้มาอยู่ร่วมกัน จึงเกิดเป็นชนชั้นในพื้นที่เหมืองแร่ซึ่งทับซ้อนกับพื้นที่สังคมอย่างชัดเจน

 

            “ในเหมืองแร่มีมนุษยธรรม” เป็นเรื่องสั้นที่มุ่งเสนอแนวคิดเกี่ยวกับความมีมนุษยธรรมของเพื่อนร่วมโลก แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการให้ความหมายของ “พื้นที่” ที่แตกต่างกัน เป็นทั้งพื้นที่ทางการค้า คือการสร้างมูลค่าให้พื้นที่ในระบบทุนนิยม และพื้นที่ทางสังคมที่ซ้อนทับกับภาพพื้นที่เหมืองจนเป็นภาพเดียวกัน เกิดเป็นความแตกต่างของชนชั้น ซึ่งเป็นการเสนอ “พื้นที่” ในแง่ความหมายอื่นที่ไม่ได้มองเป็นเพียงที่อยู่อาศัยเท่านั้น แม้ว่าการใช้ภาษานั้นจะดูราบเรียบ แต่ก็สมจริงในบทบาทของตัวละครที่อยู่ในพื้นที่นั้น ๆ ประกอบไปด้วยฉากและเหตุการณ์ที่เสริมทรรศนะของตัวละครอย่างสมจริง ควรค่าแก่การอ่านเป็นอย่างยิ่ง

 

ในเหมืองแร่มีมนุษยธรรม: การให้ความหมายของ “พื้นที่” ที่แตกต่างกัน
บทวิจารณ์โดย กฤษณะ ชนะภัย
โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่ งานวิจารณ์ ปีที่ 6

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ