“ชรากาล ที่น่ารัก” กวีนิพนธ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไปของชีวิตช่วงวัยชราที่ชมัยภร บางคมบาง (แสงกระจ่าง) ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2557 ถ่ายทอดออกมาผ่านภาษาที่วิจิตรงดงาม แต่เต็มไปด้วยความเป็นธรรมชาติ ซึ่งภาษาที่ถ่ายทอดออกมานั้นได้ฉายภาพชัดในความรู้สึกของผู้อ่าน และทำให้ผู้อ่านต่างแย้มยิ้มไปกับความน่ารักของกวีนิพนธ์บทนี้
ความชราเป็นเรื่องที่คนแทบทุกคนต้องพบเจอ เพราะเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นสัจธรรมความจริงที่เราไม่สามารถจะหลีกเลี่ยง หรือกำหนดได้ สิ่งที่เราทำได้คือการยอมรับ และอยู่กับมันอย่างมีความสุข เพราะในชีวิตมนุษย์ทุกคนย่อมพบเจอกับความสุขและความทุกข์เป็นเรื่องปกติธรรมดาเนื่องจากเมื่อเราพบเจอกับความทุกข์ ทั้งหลายเรื่องราวทั้งหมดก็เปรียบเสมือนเครื่องมือสะท้อนให้เห็นว่าความสุขนั้นเป็นอย่างไรหากเราไม่เคยพบเจอ หากเราไม่เคยพบเจอกับความทุกข์ในชีวิต เราก็จะไม่มีทางได้สัมผัสกับความสุขที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกันกับความชรา เพราะเมื่อเราได้สัมผัสกับความชราแล้ว สิ่งนี้ก็จะเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นความหนุ่มสาวของช่วงชีวิตที่ผ่านมาเป็นเช่นไร มีผู้คนมากมายที่ต่างโศกเศร้าไปกับความชรา เพราะสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงตามวัยนั้นได้ส่งผลถึงความรู้สึกภายในจิตใจ เพราะมนุษย์ต่างอ่อนไหวเป็นกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิตทุกช่วงขณะนอกจากนี้ความชรา ยังเป็นสิ่งที่ป้องกันไม่ได้ แม้มีโรคร้ายมากมายที่อาจคร่าชีวิตเราไปไม่ได้ แต่โรคเหล่านั้นก็ยังมีแนวทางการป้องกันและการรักษา แต่โรคชราเป็นโรคเดียวที่ไม่สามารถป้องกันหรือรักษาได้ ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ คือ การยอมรับและอยู่ความชราอย่างมีความสุข เพราะอย่างน้อยความชราก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรารู้และเข้าใจชีวิตมากยิ่งขึ้น ซึ่งกวีนิพนธ์“ชรากาล ที่น่ารัก” ได้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับวัยชราที่เราสามารถบันดาลความสุขให้กับตนเองได้
“ชรากาล ที่น่ารัก” นำเสนอแนวคิดหลักสำคัญของชีวิตมนุษย์ คือ ความชรา หากแต่เป็นความชราที่น่ารักและงดงาม ซึ่งผู้เขียนได้ถ่ายทอดผ่านภาษาที่อ่านง่าย และสามารถเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้อ่านได้เป็นอย่างดี โดยเริ่มแรกนั้นผู้เขียนเปิดบทกวีโดยการใช้ภาษาที่ทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปอย่างค่อยๆ ประหนึ่งกำลังเคลื่อนไหวอยู่ในทุกขณะ จากตัวบทที่ว่า
เธอค่อยค่อยลีลามาทีละเส้น
เธอค่อยค่อยหลีกเร้นมาทีละสาย
มาเตือนตรงมาเตือนอ้อมมาล้อมราย
จนชัดฉายแน่นหนักบนพักตรา
ตัวบทข้างต้นได้คืบคลานเข้ามาเปลี่ยนแปลงความรู้สึกของผู้อ่าน ผ่านการเปลี่ยนไปของลักษณะทางกายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ โดยการกล่าวถึงหงอกที่ค่อย ๆ งอกมาบนเส้นผมทีละเส้น รวมถึงร่องรอยของความชราที่เกิดขึ้น และฉายชัดเป็นใบหน้าซึ่งทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ถึงแนวคิดหลักของกวีนิพนธ์บทนี้ที่ต้องการกล่าวถึงความชรานอกจากนี้การเริ่มต้นตัวบทที่ให้ภาพความเคลื่อนไหวนั้นยังเป็นกลวิธีที่ดีในการเขียนกวีนิพนธ์ เพราะจำทำให้ ผู้อ่านค่อย ๆ ปรับความรู้สึกจากจุดเริ่มต้นที่เป็นไปอย่างช้าๆ ก่อนนำเข้าสู่ใจความสำคัญของเรื่องที่ต้องการแสดง ให้เห็นถึงการยอมรับในความชรา และเลือกที่จะมองในมุมที่น่ารัก ทั้งนี้ยังมีการซ้ำคำในการขึ้นต้นวรรคเพื่อย้ำความหมาย และย้ำความรู้สึกว่ายอมรับในความชราที่เกิดขึ้น จากตัวบทที่ว่า
ยอมเป็นใครคนหนึ่งซึ่งเดินช้า
ยอมเป็นคนอ่อนล้าซึ่งหลังค่อม
ยอมเป็นคนผมขาวเป็นเงาย้อม
ยอมเป็นคนที่พร้อมจะเอนล้ม
ตัวบทข้างต้นได้ใช้กลวิธีการประพันธ์เรื่องของการซ้ำคำในบทเดียวกันขึ้นต้นแต่ละวรรค โดยใช้คำว่า “ยอม” เพื่อย้ำความรู้สึก และย้ำความหมายที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอให้เห็นว่ายอมรับในสิ่งที่ ความชรา ไม่ว่าจะเป็นเป็นการยอมเป็นคนที่เดินช้า อ่อนล้าอ่อนแรง มีผมหงอกเกิดขึ้น ซึ่งการใช้คำว่า“ยอม” ยังทำให้ผู้อ่านเข้าใจถึงน้ำเสียงของสารที่ต้องการจะสื่อในบทกวีที่อ่อนละห้อย ยอมรับกับความเป็นเศร้าสุข นอกจากจะตอกย้ำให้ลึกในความรู้สึกแล้ว ยังมีนัยแฝงให้เห็นว่าเป็นการยอมที่ต้องยอมมิใช่การยอมด้วยความเต็มใจ เพราะไม่มีใครบนโลกนี้ที่จะยอมรับการเกิดขึ้นของความชราอย่างมีความสุขได้ และไม่มีใครที่จะพึงพอใ ร่างกายที่เหี่ยวแห้ง และอ่อนแรงลงได้ เพียงแต่ต้องยอม เนื่องจากไม่มีผู้ใดจะขัดขวางการคืบคลานเข้ามาของความชราได้ อันจะเห็นได้จากตัวบทที่ว่า
เป็นวันวัยวันดีเป็นศรีศักดิ์
เป็นประสบการณ์แห่งรักอันสูงค่า
รักชีวิตรักเจ้าความเก่าชรา
เพราะเจ้ามายืนยันว่าฉันยอม
ตัวบทข้างต้นมีความสอดคล้องการใช้คำว่า “ยอม” เพื่อย้ำความหมาย เพราะชีวิตมนุษย์ที่กำลังก้าวเข้า ความชรานั้นไม่มีผู้ใดจะปฏิเสธได้ สิ่งที่ทำได้เพียงอย่างเดียวคือ การยอม ทั้งนี้บทกวียังเผยมุมมองชีวิตที่งดงามว่า ที่ผ่านมาเราต่างผ่านเรื่องราวที่มีความสุข และความชรายังถือได้ว่าเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงเรื่องราวดีรวมถึง การผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ มากมาย จนทำให้เกิดความรัก รักที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป รักในความชราของตนเอง เพราะความชราเป็นสิ่งเดียวที่มายืนยันว่าเราต้องยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น และยอมรับในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความชราอย่างแท้จริง นอกจากนี้บทกวียังทำให้เห็นถึงความงดงามของความชรา ซึ่งแม้ผู้อ่านไม่เคยได้สัมผัส กับความชราโดยตรง แต่มุมมองความงดงามเหล่านี้อาจทำให้ผู้อ่านยอมรับในความชราที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ จากตัวบทที่ว่า
นี่คือกาลชราผู้น่ารัก
นี่คือความแน่นหนักเป็นสัดส่วน
นี่คือความแน่วแน่ไม่แปรปรวน
ที่ประมวลประมาณจากนานมา
ตัวบทข้างต้นได้ฉายภาพความงดงามที่แน่นหนักในความรู้สึกของผู้อ่านเพราะมีการซ้ำคำ คือ คำว่า“นี่” ขึ้นต้นแต่ละวรรค เพื่อย้ำให้ผู้อ่านสนใจถึงสิ่งที่เป็นอยู่ และถือได้ว่าเป็นการใช้กลวิธีที่ดีเพื่อเรียกความรู้สึกของผู้อ่านให้มาเพ่งพินิจเนื้อความหรือสารที่ต้องการนำเสนอ นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่าความชราเป็นสิ่งที่น่ารัก เพราะในปั้นปลายของชีวิตามชรา คือความแน่นอนที่ถูกจัดระเบียบ และสรรค์สร้างมาเป็นสัดส่วนอย่างดี เนื่องจากความชราเป็นผลของการใช้ชีวิตที่ผ่านมากวีนิพนธ์บทนี้ได้จบลงด้วยการกล่าวถึงความชราที่ร่ายรำ อยู่ในทุกพื้นที่ชีวิตของมนุษย์ และยังคงเด่นชัดเหนือกาลเวลา อันเป็นความจริงที่มนุษย์ทุกคนต้องยอมรับ ซึ่งปรากฏในตัวบทตอนจบที่ว่า
เธอลีลาร่ายรำตามชีวิต
เธอสถิตสู่สถานมหันต์มหา
เธอยืนเด่นมหัศจรรย์กาลเวลา
เธอนามว่า ชรากาล บันดาลใจ
เธอนามว่าชรากาลบันดาลจริง
จากตัวบทข้างต้นกล่าวถึงความงดงาม และน่ารักของความชราที่เกิดขึ้นประหนึ่งว่าเป็นสิ่งที่ควรค่าแห่ง ชีวิต รวมถึงผู้แต่งมีการใช้กลวิธีการแต่งที่ดี เพราะบทกวีบทนี้มีเสียงที่ไพเราะ งดงาม และสอดคล้องกับสารที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอและมีการใช้คำว่า “เธอ” ที่เป็นสรรพนามแทนในที่นี้หมายถึงความชรา ซึ่งเปรียบประหนึ่ง ว่าความชราเป็นสิ่งมีชีวิตและเพื่อนที่อยู่เคียงข้างติดตัวมนุษย์ทุกคนเสมอ นอกจากนี้ตัวบทยังมีความพลิ้วไหวอย่าง ง่ายงามในด้านการใช้คำที่ตรงประเด็น และกระชับความ ให้ภาพที่ฉายชัดในความรู้สึกของผู้อ่านได้เป็นอย่างดี ซึ่งถือได้ว่าเป็นการจบบทกวีที่ตรึงในดวงตาและประทับตราในดวงใจ
“ชรากาล ที่น่ารัก” เป็นกวีนิพนธ์ที่มีความงามพร้อมในด้านวรรณศิลป์ทั้ง คำ ภาพ และเสียง รวมถึงงาม พร้อมในด้านเนื้อหาหรือสารที่ต้องการนำเสนอให้ผู้อ่านเห็นถึงความงดงามของชีวิต แม้บัดนั้นร่างกายอาจไม่พิลาสงดงามอย่างที่เป็นมา ซึ่งสิ่งที่มนุษย์ทุกคนควรทำและต้องทำ คือ การยอมรับกับความเป็นไป และมองให้เห็นถึง ความน่ารัก ความงดงามที่เกิดขึ้น เพราะอย่างน้อยความชราก็เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นถึงความแข็งแกร่ง ที่สามารถผ่านเรื่องราวต่าง ๆ มาได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีผู้คนมากมายที่ไม่ได้สัมผัสกับความชรา เพราะต้องลับลาไปด้วยเหตุผลประการทั้งปวง รวมถึงแม้ความชราจะเป็นสิ่งหนึ่งที่หลายคนไม่ต้องการ แต่ก็ไม่มีใครสามารถปฏิเสธมันได้ เพราะความชราคือสัจธรรมอย่างหนึ่งของชีวิตที่เป็นความจริงเหนือกาลเวลาอันไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งกวีนิพนธ์บทนี้ได้หยิบยกความเป็นไปส่วนหนึ่งของชีวิตมานำเสนอให้ผู้อ่านมีความเข้าใจในชีวิตมากยิ่งขึ้น บทกวียังมีการใช้ภาษาที่งดงามเรียบง่ายอันมีอิทธิพลต่อความรู้สึกที่ค่อย ๆ คืบคลานและครอบคลุมเข้าไปในหัวใจ ของผู้อ่านได้อย่างดียิ่ง
ชรากาลเหนือกาลเวลา
บทวิจารณ์โดย วรรณภา สินศรชัย
โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่ งานวิจารณ์ ปีที่ 6