“จนกว่าชีวิตจะนิทรา” คือชื่อผลงานรางวัลชนะเลิศ ประเภทกลอนสุภาพ ระดับประชาชนในการประกวดรางวัลวรรณศิลป์อุชเชนี ครั้งที่ 3 ของ ผศ.ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ กวีมือรางวัล ผู้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในวงการวรรณกรรมไทย
‘จนกว่าชีวิตจะนิทรา’ อาจเรียกได้ว่าเป็นวรรณกรรมคำสอนชิ้นหนึ่ง ที่มีแนวคิดหลักคือความปรวนแปร ไม่แน่นอนที่เป็นความจริงของชีวิต โดยกวีได้ใช้อุปลักษณ์ “เปลชีวิต” มาเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินเรื่อง และได้สร้างตัวละคร “แม่” ขึ้นมาเป็นผู้ถ่ายทอดคำสอนอันเป็นแก่นของเรื่องอย่าง
“ลูกเอ๋ย...เช่นนี้แหละชีวิต เจ้าอย่าพร่ำพินิจเพียงบาดแผล
ศิโรราบซ้ำซ้ำความอ่อนแอ ลั่นกุญแจคุมบังความหวังใด”
ซึ่งการใช้ตัวละครและความเป็น ‘เรื่องแต่ง’ นี้ ได้ช่วยทำให้ผู้อ่านไม่รู้สึกว่าถูก ‘ยัดเยียด’ มากจนเกินไป... ซึ่งความรู้สึกว่าถูกยัดเยียดของผู้อ่านนี่เอง ที่เป็นจุดอ่อนที่สำคัญของวรรณกรรมคำสอน จึงนับได้ว่ากวีรู้จักเลือกใช้กลวิธีการเล่าเรื่องเข้ามาแก้ปัญหาข้อนี้ได้อย่างชาญฉลาด
ในส่วนของโครงสร้าง กวีได้สร้างจุดเด่นให้กับกวีนิพนธ์ชิ้นนี้ด้วยวิธีการแบ่งตัวเรื่องออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. ชีวิตในวัยเยาว์ที่เต็มไปด้วยความสุข และ 2. ชีวิตจริงที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และจึงสร้างภาพที่ขัดแย้งระหว่าง 2 ส่วนนี้ด้วยชุดคำชุดเดียวกัน ได้แก่ “ดูดอกบัวสีหวานเพิ่งออกฝัก” กับ “อาจพบบัวดอกด่างและร้างสี”, “ดูปุยเมฆปั้นรูปเป็นลิง, ยักษ์” กับ “หม่นเมฆครึ้มทึมเทา-เท่าเมฆมี”, “ดูผีเสื้อทายทักดอกรักบาน” กับ “และดอกไม้ปรานีผีเสื้อนัก”, และ “มีรักวางในอู่นอน...เจ้าผ่อนพัก” กับ “ไร้อู่นอนผ่อนพักหัวใจแพ้” หรือการที่กวีได้ขยายคำว่า “เปล” และ “นิทรา” เป็นความหมายที่กว้างขึ้นในเชิงอุปลักษณ์ด้วยการเปรียบชีวิตเป็น “เปลชีวิต” ที่แกว่งไกวไปมามีขึ้นมีลง และ “นิทรา” ในตอนท้ายของเรื่องที่กวีได้ทิ้งไว้ให้ผู้อ่านคิดต่อใน “กว่าชีวิตสนิทนิ่งในนิทรา” ซึ่งอาจหมายถึงการหลับ...ครั้งสุดท้ายของชีวิต และการที่กวีใช้ข้อความล้อกันระหว่างบทแรก – “เปลเก่ายังโยนไกวไปช้าช้า กล่อมนิทราชีวิตใหม่ในอู่อุ่น” กับบทสุดท้าย – “และเปลเก่ายังโยนไกวในเร็วช้า กล่อมหัวใจเหว่ว้าและไหววิ่ง” ที่ช่วยทำให้เนื้อเรื่องจบลงได้อย่างสวยงามและสมบูรณ์
ในด้านกลวิธีทางวรรณศิลป์ กวีตั้งใจที่จะใช้จังหวะที่ไม่สม่ำเสมออย่างกลอนของสุนทรภู่ในบางจุดเพื่อผลทางเสียง เช่น “‘ชอบ’ อาจหลับใหลอยู่ใน ‘ชัง’”, “โศกร่ำปรีดีมิอาจหยั่ง”, “โยนหน้า-โยนหลังอย่างสมดุล” ทั้งยังมีการใช้เครื่องหมาย “...” เพื่อให้ ‘เสียง’ ที่ช้าลง เช่น “ลูกเอ๋ย...เช่นนี้แหละชีวิต” นอกจากนี้ กวียังเลือกใช้คำซ้ำมารับสัมผัสกับคำซ้ำเพื่อสร้างสมดุลทางเสียง ใน
“..... แม่ร้องเพลงเบาเบาอยู่ข้างข้าง
เป็นเพลงโปรดประโลมใจไปพลางพลาง .....”
ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงความสามารถทางภาษาและความเข้าใจในฉันทลักษณ์ของกวีได้เป็นอย่างดี
บทกวี “จนกว่าชีวิตจะนิทรา” ของ ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ จึงนับว่าสมบูรณ์ด้วยความงามทางวรรณศิลป์และคุณค่าทางความคิด มีกลวิธีการนำเสนอที่สร้างสรรค์และควรค่าต่อการอ่าน ศึกษา วิเคราะห์ และวิจารณ์ในวงการวรรณกรรมไทยต่อไป
จนกว่าชีวิตจะนิทรา
บทวิจารณ์โดย กิตติพิชญ์ เชาวน์ไวย
โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ปีที่ 5