หากการอ่านกวีนิพนธ์ต้องอ่านแล้วเกิดอารมณ์สะเทือนใจ แล้วตัวกวีล่ะต้องแต่งจากความสะเทือนใจด้วยหรือไม่ กวีนิพนธ์น้ำตาสร้างบทกวีของชมัยพร แสงกระจ่าง ได้ประกอบสร้างความสำคัญของกวีนิพนธ์ในแง่ของผู้แต่งและในแง่ของผู้อ่านอย่างน่าสนใจ ซึ่งภายใต้ความหมายเหล่านั้นยังเห็นบริบทของสังคมไทยในปัจจุบันที่เศรษฐกิจกำลังถึงจุดต่ำสุดในรอบหลายปีทำให้น้ำตาของประชาชนท่วมประเทศ ไม่แพ้อุทกภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ผ่านมา กวีนิพนธ์บทนี้เริ่มจากความสุข ซึ่งขัดแย้งกับความสะเทือนใจและบริบททางสังคม ดังนี้
ตั้งใจจะเขียนบทกวีสักสามบท
หยิบปากกาจ้องๆ จดๆ จนหมดฝัน
จิ้มแล้วค้างค้างแล้วจิ้มยิ้มทั้งวัน
บทกวีไม่ผายผันไม่หันมา
คำประพันธ์ข้างต้นเป็นข้อสนับสนุนคำกล่าวว่า “กวีนิพนธ์มักเกิดจากความสะเทือนใจในอะไรบางอย่างของกวี” มิใช่จู่ๆ จรดปากกาลงบนกระดาษแล้วเกิดเป็นกวีนิพนธ์ ความสะเทือนใจมิอาจเกิดจากความสุขได้ ในสองบทข้างต้นปรากฏอาการยิ้มทั้งวัน ยิ้มระรัวหัวเราะร่าเก็บความสุข ภาพอาการดังกล่าวเป็นภาพแทนของคนไม่มีหัวใจกวีหริอเป็นภาพแทนของคนที่ไม่รู้สึกเดือดร้อนกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ เพราะมองแค่ตนเอง
เมื่อเราหันกลับมาสังเกตแม่ที่บ้าน ความรู้สึกจะตรงกันข้ามกับบทก่อนหน้านี้โดยสิ้นเชิง เพราะเกิดความเงียบ ความหนาวเย็น เสียงร้องเข้ามาแทนที่ ซึ่งความหนาวเย็นนี้มิใช่ความหนาวเย็นของอากาศที่สัมผัสร่างกาย แต่เป็นความหนาวเย็นที่จับขั้วหัวใจของแม่แทน ซึ่งความหนาวเย็นเป็นสัญลักษณ์ของความทุกข์ ดังบทที่ว่า
เห็นน้ำใสหยดหล่นลงบนตัก
แม่สะอื้นกระอึกกระอักน้ำตาปรี่
ความทุกข์ล้นทับท้นเทวษทวี
พลันวลีก็แล่นพล่านสารพันคำ
“น้ำตาแม่” มิใช่แม่คนใดคนหนึ่ง แต่เป็นภาพแทนของแม่อีกหลายๆ คนในประเทศที่พยายามประคับประคองความเป็นอยู่ของครอบครัวอย่างถึงที่สุด ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่มีแต่จะตกต่ำลงทุกวันๆ ซึ่งคนละความหมายกับคำว่า “แผ่นดินแม่”
แผ่นดินแม่โศกซ้ำระกำพูน
บทกวียิ่งปานปูนทะเลริน
คำว่า “แผ่นดินแม่” เป็นภาพแทนของประเทศไทยทั้งประเทศ ซึ่งกำลังประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำดังที่กล่าวข้างต้น กวีนิพนธ์จึงทำหน้าที่ปลอบประโลมมนุษย์ให้คลายทุกข์ได้ดังบทที่ว่า
ไหลมาเทมาเถิดคำเอ๋ย
มาล้างทุกข์ปลอบชดเชยด้วยงานศิลป์
ปลอบคนเศร้าเร้าคนหวังทั้งแผ่นดิน
ปลุกดวงจินต์ให้ตื่นรู้สู่ความจริง
คำประพันธ์ข้างต้นเฉลยความสำคัญของกวีนิพนธ์อีกข้อหนึ่ง คือช่วยปลอบประโลมความทุกข์ได้ กวีนิพนธ์เกิดได้จากความสะเทือนใจแต่ก็ทำหน้าที่เป็นน้ำทิพย์ชะโลมใจมนุษย์ได้เช่นกัน
เราจึงได้คำตอบจากกวีนิพนธ์น้ำตาสร้างกวีแล้วว่า กวีนิพนธ์ที่มีพลังจะต้องมีความสะเทือนใจจากเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งอาจก่อให้เกิดบทกวีขึ้นพร้อมกันจนเป็นกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มกวี 14 ตุลาคม 2516 กลุ่มกวี 6 ตุลาคม 2519 รวมถึงกลุ่มกวีโศกาลัยในเหตุการณ์ที่ร.9 เสด็จสู่สวรรคาลัย เป็นต้น ซึ่งงานดังกล่าวเกิดความสะเทือนใจทั้งผู้แต่งและผู้อ่าน ซึ่งพลังแห่งความสะเทือนใจนั้นจะเป็นแรงขับให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ และนั่นเป็นเป้าหมายสูงสุดของการแต่งกวีนิพนธ์
ทำไมน้ำตาสร้างกวี ทำไมกวีมีน้ำตา
บทวิจารณ์โดย วาสนา เส็งประยูร
โครงการ “ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ” ปีที่ 5