อันธิฌา แสงชัย กับ ร้านหนังสือบูคู ชีวิตที่เป็นไปในปัตตานี : ชีวิตที่เป็นไปในปัตตานี

อันธิฌา แสงชัย กับ ร้านหนังสือบูคู ชีวิตที่เป็นไปในปัตตานี

ร้านหนังสือบูคู

 

7 ปีกว่าที่ อันธิฌา แสงชัย ใช้ชีวิตอยู่ในปัตตานี เธอก้าวมายังดินแดนแห่งนี้ในห้วงสถานการณ์คุกรุ่นในปลายปี 2549 ด้วยการเป็นอาจารย์สอนสาขาปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) และยังคงใช้ชีวิตอยู่ ณ ที่แห่งนี้ ควบคู่ไปกับการเปิดร้านหนังสือทางเลือกที่รู้จักกันดีของคนชายแดนใต้คือ ร้านหนังสือบูคู และตั้งใจอยู่ ณ ปัตตานีไปอย่างไม่มีกำหนด

อันธิฌา เป็นชาวเชียงใหม่ จบป.ตรีและป.โทด้านปรัชญาจากม.เชียงใหม่ ก่อนหน้ามาเป็นอาจารย์ที่ ม.อ.ปัตตานี เธอเคยมาเยือนปัตตานีเมื่อปี 2545 และเห็นว่าเป็นเมืองที่น่าอยู่ หลังจากนั้นเมื่อลงมาอยู่จริง ชีวิตช่วงแรกของเธอจึงอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยเพราะเห็นว่าด้านนอกมีบรรยากาศน่ากลัว เพียงสองสามทุ่มในเมืองก็เงียบแล้ว ไม่เหมือนเชียงใหม่ที่มีสีสันทั้งกลางวันและกลางคืน บวกกับงานวิชาการและงานสอนที่ต้องรับผิดชอบ ชีวิตของเธอจึงอยู่ในรั้วศรีตรังและคนในแวดวงเดียวกัน

 

ร้านหนังสือบูคู

 

“ด้วยบรรยากาศตอนนั้นดูน่ากลัว ไม่ค่อยได้ออกไปไหน จนถึงปี 2552 ไปเรียนต่อ ป.เอกที่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และกลับมาเปิดร้านหนังสือบูคูปลายปี 2554 ด้วยความที่อยู่ที่เชียงใหม่คุ้นกับบรรยากาศที่มีร้านหนังสือให้นั่งอ่านเกือบทั้งเมือง ไปเรียนที่กรุงเทพฯก็หาอ่านง่าย แต่ที่ปัตตานีมีร้านหนังสือที่เราชอบน้อยมาก บวกกับรู้จักกับหุ้นส่วนคือ คุณปลา ที่ทำงานและอยู่กับร้านหนังสือมาเป็นสิบปี เมื่อชวนมาเปิดร้านที่ปัตตานีเขาก็ตกลง จึงเป็นความลงตัวพอดี”

ร้านหนังสือบูคูของอันธิฌาจึงเปิดเมื่อปลายปี 2554 ในซอยข้างแขวงการทางปัตตานี หนังสือของบูคูเป็นหนังสือทางเลือกที่หาได้น้อยมากจากร้านหนังสือทั่วไป เป็นร้านที่คอหนังสือรู้จักกันดีว่าสามารถหาหนังสือที่ต้องการได้จากที่นี่

จากความตั้งใจแรกที่อยากทำร้านหนังสือตามแนวทางที่อยากทำ กลายมาเป็นที่รู้จักของคนชายแดนใต้จากแนวทางที่ชัดเจนของร้าน เป็นสิ่งที่อันธิฌาบอกว่า เกินความตั้งใจ

“ย้ายร้านมาอยู่ที่ใหม่เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว ทำเลดี บรรยากาศและสถานที่สามารถทำอะไรได้มากขึ้น ตอนนี้ลงตัวและอยากปรับปรุง การตอบรับถือว่ามากเกินความตั้งใจไว้ คนรู้จักทั้งในพื้นที่และที่อื่น คนที่สนใจเรื่องชายแดนใต้ก็จะมาที่นี่ เป็นร้านทางเลือกในพื้นที่นี้ รวมทั้งไปออกบูธตามที่ต่างๆ เลือกหนังสือให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมายของงานก็เข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น ส่วนที่ร้านเนื่องมีกลุ่มเพื่อนเอ็นจีโออยู่ก่อนนี้ มาจัดเสวนา ทำกิจกรรมเล็กๆ กัน ได้รู้จักเพื่อน คนในท้องที่มากขึ้น ทำให้มีกิจกรรมที่ร้านต่อเนื่อง สถานที่ก็เอื้อ เหนื่อยบางครั้งแต่สนุกที่ได้พบเจอกันมากกว่า ได้เรียนรู้ผู้คนหลากหลายเป็นเรื่องที่ท้าทาย เป็นประสบการณ์จริงที่เข้าใจมิติความขัดแย้ง มีความน่ารักหลายแง่มุมของคนในพื้นที่ให้สัมผัสได้”

 

ร้านหนังสือบูคู

 

ร้านบูคูปิดวันจันทร์วันเดียว โดยมีคุณปลาเป็นคนดูแลเป็นหลัก ส่วนอันธิฌากำลังจะเรียนจบและกลับมาสอนแล้ว จากการที่ต้องใช้ทุนอีกหลายปีทำให้เธอไม่คิดไปไหน และคิดทำอีกหลายอย่างในพื้นที่นี้ “ในมิติของการทำงานยังต้องอยู่เกือบสิบปี เป็นเวลาที่สามารถทำงานวิชาการได้เยอะ หลายเรื่องที่ยังไม่ได้เรียนรู้และศึกษา ที่นี่เป็นขุมทองของวิชาการ ร้านก็ไปได้ดี ทำให้ไม่มีปัญหาในการใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ ไม่ได้กังวลในเมืองที่เราคาดเดาอะไรไม่ได้ ไม่ได้เป็นเป้าหมายของฝ่ายไหน ใช้ชีวิตอยู่ได้และรักที่จะอยู่กับวิถีเช่นนี้ ชีวิตที่อยู่อย่างสงบ สบาย ไม่ต้องรีบเร่งเหมือนในเมืองใหญ่ ไม่รู้สึกรื่นรมย์กับชีวิตในกรุงเทพ เราไม่เหมาะกับตรงนั้น อยู่เพื่อเรียนรู้สั้นๆ แต่ไม่ใช่ชีวิตที่เราต้องการ อยู่ที่นี่ใช้เวลาไปทำอย่างอื่นได้มากมาย เข้าใจมิติของชีวิตและพื้นที่มากขึ้นที่ไม่ได้มีแค่ความกลัว มองในมิติที่ซับซ้อน มีความไม่เป็นธรรม ความเป็นพวกเป็นกลุ่ม ความรุนแรงจากสาเหตุต่างๆ เป็นสถานการณ์ที่น่าสนใจ ทำให้ชีวิตแข็งแรงและชัดเจนขึ้น พร้อมที่จะรับปับปัญหาและอุปสรรคที่จะเข้ามาในชีวิตได้”

จากเหนือมาสู่ชายแดนใต้ ชีวิตของอันธิฌาในวันนี้ ยังคงปักหลักมั่นอยู่ที่นี่ ปัตตานี จนกว่าจะมีสิ่งใดมาทำให้ความตั้งใจของเธอเปลี่ยนไป หากนั่นคือในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง

 

ร้านหนังสือบูคู

 

ขอบคุณที่มา : http://www.fatonionline.com/index.php/news/detail/2254 ภาพจาก www.bukubooks.com http://www.pataniforum.com/single.php?id=274 ongpadipat.wordpress.com

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ