ร้านเยี่ยมวิไลเป็นร้านขายหนังสือในจังหวัดปราจีณบุรี ก่อตั้งมากว่า 50 ปีแล้ว คุณแม่และคุณพ่อของคุณบุปผา สุวนิตย์ เป็นผู้ก่อตั้งร้านนี้ได้ตั้งแต่คุณบุปผาอายุ 7 ขวบ จนตอนนี้คุณบุปผามีลูก 6 คนแล้ว คุณแม่อายุ 80 ปีปลายๆ ส่วนคุณพ่อเป็นอดีตครูใหญ่โรงเรียนประถม(ในสมัยนั้นยังไม่มีตำแหน่ง ผ.อ.โรงเรียน) ได้เสียชีวิตไปแล้ว
คุณพรนิภา วงษ์เลิศ ลูกจ้างผู้ภักดีของร้านเยี่ยมวิไล(ทำงานกับที่ร้านมากว่า 40 ปีแล้ว)ซึ่งเป็นธุรกิจประเภทเจ้าของคนเดียว ฟื้นความหลังให้ทีมตลาดประพันธ์สาส์นฟังเมื่อพวกเราไปถึง ร้านนี้ขายวัสดุสำนักงานประเภทสิ้นเปลืองต้องซื้อใหม่อยู่เรื่อยๆ กับแบบเรียนหนังสือที่มีใบอนุญาต(อ.ญ.)จากกระทรวงศึกษาธิการ และหนังสือเสริมการศึกษาประเภทต่างๆที่ไม่มีอ.ญ.
ปัจจุบันนี้ ลูกคนที่สองของคุณบุปผาที่จบโทที่ม.รังสิต(จบตรี-วิทย์ ที่จุฬา) ได้แยกส่วนที่ขายเครื่องเขียนส่วนหนึ่งไปเปิดร้านใหม่เพิ่มเติมชื่อว่าร้านนิวโฟลเดอร์ โดยจะตั้งอยู่ตรงหัวมุมถนนใกล้เคียงกับร้านคุณแม่และการที่ขยายมาขายของขวัญของที่ระลึกเพิ่มเติมจากไลน์ธุรกิจการศึกษา ก็เพราะความที่เป็นลูกสาว ก็ต้องชอบทำธุรกิจ Gift-Shop ด้วยเป็นธรรมดา
ทีมงานถามว่าขายของเข้าโรงเรียน แล้วขายครุภัณฑ์(ประเภทโต๊ะ-เก้าอี้-คอมพิวเตอร์)ด้วยหรือไม่ คุณพรนิภาผู้ให้สัมภาษณ์บอกว่าทำน้อย เพราะว่ากำไรส่วนต่างที่ได้มีน้อยไม่คุ้ม
“ขายแบบเรียนนี้ดีอย่างนะ ขายกัน Lot ใหญ่ๆ ก็เทอมต้นครั้งหนึ่ง ส่วนที่เหลือเทอมสองก็ขายกันไปเรื่อยๆ ประเภทเด็กมัธยมทำหนังสือเรียนหายก็มาซื้อให้นะคะ พวกโรงเรียนหลวงมักซื้อหนังสือตามกรอบที่ศ.ธ.กำหนดไว้ให้คือต้องมีใบอ.ญ.พิมพ์ไว้ปกด้านหลัง ส่วนหนังสือเด็กประถมก็ขายได้เรื่อยๆทั้งปี ส่วนหนังสือเสริมประเภทมีใบความรู้และใบงานรวมอยู่ในเล่มเดียวกันก็ขายเรื่อยๆ กลุ่มสังคมฯของส.น.พ.อักษรเจิญทัศน์(อ.จ.ท.)ขายได้ดีกว่าไทยวัฒนาพานิช หนังสือเรียนของอ.จ.ท.กับของกระทรวงฯขายได้พอๆกัน ปัญหาคือครูอยากใช้หนังสือกระทรวงฯ แต่เมื่อพิมพ์ออกมาขายช้า ก็จำต้องใช้หนังสือของเอกชนที่มีพร้อม”
“ร้านนี้ขายหนังสือประเภทเข้าห้องสมุดไม่ค่อยดี แต่ถ้าเป็นสารานุกรมของคุรุสภา(ฉบับเสริมการอ่านนอกห้องเรียนสำหรับเยาวชนเล่มละ 80 บาท ชุดหนึ่งมี 4 เล่ม)ก็พอขายได้บ้างค่ะ”
ทีมงานตลาดสนใจหนังสือเรียนและหนังสือเสริมของอ.จ.ท.เป็นพิเศษ จึงพยายามคาดคั้นแกมขอร้องพี่พรนิภาให้ข้อมูลเพิ่มเติมซึ่งก็สำเร็จ พี่พรนิภาพูดเกี่ยวกับอ.จ.ท. “หนังสือของอ.จ.ท.จะขายได้ทุกกลุ่ม ในกลุ่มภาษาอังกฤษที่ได้อ.ญ.ก็มี Smart Kid ของนักเรียนประถม ส่วนของนักเรียนมัธยมก็จะมีชุด U-Turn ที่พอขายได้ ถ้าเป็นชุดแม่บทมาตรฐานฯ(หนังสือเสริมการเรียนรู้)กลุ่มภาษาอังกฤษของเขาก็จะมีชุด A-HA ก็พอขายได้เช่นกันค่ะ อ.จ.ท.นี่นะคะเขาส่งหนังสือมาให้ประมาณต้นมีนาคมของทุกปี พอขายได้เดือนกว่าๆสิ้นเดือนพฤษภาคมเปิดเทอมแล้วก็เก็บกลับหมด”
พอทีมงานแอบถามเรื่องส่วนลดที่อ.จ.ท. มอบให้ร้านค้า พี่พรนิภาทำท่ารักษาความลับไม่บอก บอกแต่เพียงว่าทางร้านเยี่ยมวิไลนี้ให้ส่วนลดโรงเรียนหนังสือทั้งอ.ญ.และไม่อ.ญ. 20% เท่ากันเสมอเหมือนกันหมด แถมบอกว่าหนังสือเรียนกลุ่มสังคมฯ สำนักพิมพ์พัฒนาวิชาการ(พ.ว.)ขายดีกว่าส.น.พ.ไทยวัฒนาพานิช(ท.ว.พ.) แถมให้อีกนิดหน่อยด้วย
พอถามเรื่องบทบาททางการศึกษาของอ.บ.ต.ต่อโรงเรียนและชุดหนังสือสำหรับเด็กปฐมวัย พี่พรนิภาบอกว่าที่นี่เทศบาลซื้อหนังสืออนุบาลพ.ว.แจกโรงเรียนตลอด บางโรงเรียนมาคัดเลือกของสำนักพิมพ์อื่นๆเองที่ร้านก็มีพอสมควร แต่อ.บ.ต.และโรงเรียนเทศบาลที่นี่สนับสนุนเรื่องการศึกษามาก บางทีอ.บ.ต.ซื้อหนังสือเรียนแจกไม่เฉพาะอนุบาล สำหรับโรงเรียนสังกัดเทศบาลอ.บ.ต.ซื้อตั้งแต่ประถม 1-6 และมัธยม 1-3 เลยทีเดียว
“คู่มือครูของสำนักพิมพ์พัฒนาศึกษา(พ.ศ.)ก็ดีนะคะ เขาทำลอกแบบตามหนังสือเรียนของกระทรวงฯเลย ตอนหลักสูตรเปลี่ยนใหม่เขาขายดีมาก แต่ตอนนี้ก็ชักซาๆลงแล้วค่ะ”
ทีมงานกราบขอบพระคุณทางร้านเยี่ยมวิไลเป็นอย่างยิ่งที่กรุณาให้สัมภาษณ์และข้อมูลตลาดหนังสือแก่ผู้อ่านเว็บของเราไว้ ณ ที่นี้เป็นอย่างสูง