ข้าวเม็ดน้อย : “ข้าวเม็ดน้อย” สู่ปรัชญาที่ยิ่งใหญ่ของชีวิต

ข้าวเม็ดน้อย

เปิบข้าวทุกคราวคำ จงสูจำเป็นอาจิณ เหงื่อกูที่สูกิน จึงก่อเกิดมาเป็นคน

คำประพันธ์ที่คุ้นเคยจากบทกวีที่ชื่อ “คำเตือน...จากเพื่อนเก่า” ของจิตร ภูมิศักดิ์ หวนทำให้ผมนึกขึ้นมาได้ เมื่อแรกเห็นปก “ข้าวเม็ดน้อย เรื่องเล่าและถ้อยธรรม” บทประพันธ์ของศิลปินแห่งชาติ อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ชายผู้มีชะตาชีวิตพลิกผันหลังจากวิกฤตการณ์ทางการเมือง ราวปี 2516 ทำให้เขามีประสบการณ์ที่นำมาถ่ายทอดผ่านปลายปากกา ซึ่งล้วนแต่เป็นงานเขียนทางด้านจิตวิญญาณและปรัชญา

“ข้าวเม็ดน้อย เรื่องเล่าและถ้อยธรรม” เป็นหนังสือรวมความเรียง ประกอบด้วยเนื้อหา 2 ภาค โดยภาคแรกมีชื่อว่า ถ้อยธรรม เป็นความเรียงกึ่งร้อยแก้วกึ่งร้อยกรองมีทั้งหมด 15 เรื่อง และภาคที่สองชื่อว่า เรื่องเล่า เป็นบันทึกประสบการณ์บางส่วนของผู้เขียนในช่วงวัยปลายกลางคนต่อกับวัยต้นชราของผู้เขียน มีทั้งหมด 18 เรื่องด้วยกัน

ผมยอมรับว่างานเขียนในภาคแรก ทำให้ต้องอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า เนื่องจากมีความลึกซึ้งของบทประพันธ์ทำให้ผู้อ่านทั่วๆไป ที่ไม่ค่อยได้อ่านงานเขียนแนวนี้ เข้าใจเนื้อหาที่จะสื่อได้ยากนัก อย่างเช่น

เธอสั่นสะท้านเมื่อเห็นทะเลร่ำไห้ จึงวอนเมฆมาห่มคลื่นไล่หนาว แต่เธอไม่รู้ว่าทะเลกับก้อนเมฆดำรงอยู่คู่เคียงมานานเนิ่น... (ทะเลในสายฝน : หน้า 17)

จะเห็นได้ว่าผู้เขียนได้ใช้ถ้อยความที่ลึกซึ้ง มีการใช้สำนวนอุปมา ทำให้ภาษาดูสละสลวย แต่กลับทำให้ผู้อ่านไม่เข้าใจเนื้อเรื่องว่าจะสื่อถึงอะไร ซึ่งความเรียงทั้ง 15 เรื่องจะมีเนื้อหาเช่นนี้ แต่สิ่งที่กลับทำให้ผมประทับใจในเนื้อหาภาคแรก คือการยกบทประพันธ์ที่เด่นๆ ขึ้นมาไว้ในหน้าก่อนที่จะเข้าความเรียง ส่งผลให้เกิดความน่าสนใจในเรื่องและยังเป็นจุดเด่นที่ทำให้นักอ่านที่ใช้สังคมออนไลน์ในปัจจุบันสามารถ นำบทประพันธ์นี้มาเป็นข้อคิดเผยแพร่ตามสื่อออนไลน์ได้อีกด้วย

หัวใจของหนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นความเรียงเรื่องข้าวเม็ดน้อย (หน้า 49 – 53) ซึ่งมีชื่อเรื่องตรงกับชื่อหนังสือและมีเนื้อเรื่องที่สอนให้รู้จักความรัก และรู้คุณค่าของชีวิต ดังความสรุปเรื่องว่า

การเดินทางของเม็ดข้าวจะจบลงด้วยเลี้ยงคน การเดินทางของตัวตนจะสิ้นสุดเมื่อสืบสาน สืบทอดมหาปณิธาน...ซึ่งสรรพสัตว์เป็นหนึ่งเดียว การเดินทางของตัวตน จะสิ้นลงเมื่อองค์รวม (ข้าวเม็ดน้อย : หน้า 53)

อีกทั้งยังมีการใช้วลีที่มาจากบทกวี “คำเตือน...จากเพื่อนเก่า” ยิ่งทำให้ผมมั่นใจได้แน่ชัดว่าผู้เขียนมีแรงบันดาลใจมาจากบทกวีเรื่องนี้ ดังความว่า

ฉะนั้น เมื่อ ‘เปิปข้าวทุกคราวคำ’มิเพียงต้องจดจำผู้ลงแรง หากต้องรู้ว่าเม็ดข้าวยังสำแดง ความสำเร็จแห่งมหาวิญญาณ (ข้าวเม็ดน้อย : หน้า 50)

ในส่วนของภาคที่ 2 เรื่องเล่า หากผู้อ่านลองสังเกตจากเล่มหนังสือ สีกระดาษถ้ามองจากสันหนังสือจะแตกต่างจากภาคแรกอย่างเห็นได้ชัดนั่นคือเป็นสีที่อ่อนกว่าภาคแรก ซึ่งนับว่าเป็นการตีพิมพ์ที่ช่วยให้ผู้อ่านสามารถเปิดภาคที่ 2 ได้ทันที

เรื่องเล่าเรื่องแรกที่ปรากฏในภาคเรื่องเล่า คือ จริงบ้าง ฝันบ้าง(หน้า 125 -131) ซึ่งผู้เขียนเขียนขึ้นในราวเดือนสิงหาคม พ.ศ.2549 เป็นเรื่องเกี่ยวกับประสบการณ์ที่ผู้เขียนเคยพบเจอและนำมาเล่าเรื่องผ่านมุมมองของผู้เขียนเอง บางครั้งก็มีการเสียดสีสังคมเล็กน้อย ทำให้ผู้อ่านเกิดความตระหนักขึ้นมา อย่างเช่น

...ผมนึกไม่ออกว่าทำไมชาวนาผิวคล้ำอย่างชายผู้นี้จึงถูกจับมาแต่งเสื้อแขนยาวผูกเน็ทไท และถูกสั่งให้เฝ้าดูสนามฟุตบอลตั้งแต่เช้าจนเย็นราวกับว่ามันอาจถูกขโมยใส่ท้ายรถไปได้(จริงบ้าง ฝันบ้าง : หน้า 125)

กลวิธีการสรุปเรื่องในภาคเรื่องเล่านั้น ผู้เขียนใช้วิธี 2 แบบ คือสรุปตอนต้นเรื่องเลย แล้วค่อยๆ เผยรายละเอียดของเรื่องทีละน้อย ดังปรากฏว่า

“บาดแผลที่ผู้อื่นทำกับเรานั้น ถึงอย่างไรก็พอหาทางรักษาได้ แต่บาดแผลที่ได้มาจากการทำร้ายผู้อื่น อาจต้องอยู่กับเราตลอดไป” (แผลบางประเภท : หน้า 147)

อีกวิธีหนึ่ง คือสรุปตอนท้ายเรื่องดังเช่น ถึงวันนี้ไม่ว่า ‘เขา’ จะเคยสั่งฆ่าผมหรือเปล่าล้วนไม่มีอะไรแตกต่างกัน ใช่หรือไม่ว่าบางคำถามในชีวิตไม่จำเป็นต้องมีคำตอบ เพราะถึงวันหนึ่งมันจะหมดความสำคัญไปเอง (อีกหนึ่งสายน้ำ: หน้า 160)

และทั้งสองวิธีดังกล่าวต่างให้ข้อคิดแก่ผู้อ่านได้อย่างดี อีกทั้งยังทำให้ผู้อ่านเข้าใจเนื้อความได้ดีขึ้นกว่าภาคแรก

เรื่องที่จะดูโดดเด่นและสะท้อนความเป็นตัวตนของผู้เขียนมากที่สุด ในภาคเรื่องเล่า คือเรื่อง คนเป็นครู (หน้า 191 – 199) ใจความสำคัญของเรื่องนี้คืออุดมการณ์ ความหวังของคนเป็นครู หรือแม้กระทั่งปัญหาที่พบจากเด็กรุ่นใหม่จากมุมมองของคนเป็นครู มีความตอนหนึ่งที่แสดงความรู้สึกนึกคิดของผู้เขียนได้มาก ดังความว่า

ถึงตอนนี้เขาเริ่มรู้ชัดแล้ว การเป็นครูมิได้หมายถึง การสอนหนังสือเพียงอย่างเดียว หากรวมเอาความอดทนระดับพิสดารไว้ด้วย นักศึกษารุ่นหลัง ๆ ของเขาไม่เพียงชอบหวีผมในห้องเรียน ลูบไล้แฟนไม่เลือกที่ หรือก้าวร้าวเอาแต่ใจเท่านั้น ประเภทกะล่อนไปวัน ๆ ก็มีอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน (คนเป็นครู : หน้า 196-197)

หนังสือเรื่อง “ข้าวเม็ดน้อย” นี้ สำหรับผมแล้วไม่เป็นเพียงหนังสือที่รวมเรื่องเล่าและถ้อยธรรม หากแต่เป็นหนังสือที่สั่งสมประสบการณ์ที่หาจากที่ไหนไม่ได้ของอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล แล้วนำมาถ่ายทอดให้ผู้อ่านได้แง่คิด และสามารถนำข้อคิดมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ อีกทั้งยังหนังสือเล่มนี้ยังแฝงไปด้วยปรัชญาแห่งการดำรงชีวิต อุดมการณ์อันยิ่งใหญ่ ที่จรรโลงใจให้ผู้อ่านเกิดแรงบันดาลใจในการดำรงชีวิตต่อไป

 

ทิฆัมพร บุญมี

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ