สนุกนึก : แต่ง – ต่อ– เติม จินตนาการจากกิ่งก้านเดียวกัน

สนุกนึก

วงการเรื่องสั้นบ้านเรามีนัดรวมกลุ่มกันอีกครั้งกับ ‘สนุกนึก : วรรณกรรมแตกกิ่ง’ จากฝีมือนักเขียน 12 คน ได้แก่ ศรีดาวเรือง, สุชาติ สวัสดิ์ศรี, แดนอรัญ แสงทอง, อุทิศ เหมะมูล, อนุสรณ์ ติปยานนท์, นิวัติ พุทธประสาท, ภู กระดาษ, โมน สวัสดิ์ศรี, อุเทน มหามิตร, วิวัฒน์ เลิศวิวัฒนาวงศา, นฆ ปักษนาวิน และสมุด ทีทรรศน์ โดยมี ‘สนธยา ทรัพย์เย็น’ บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์บุ๊คไวรัส เป็นผู้จุดประกายความคิดแตกกิ่งวรรณกรรมเล่มนี้

ออล แม็กกาซีน ขอนำผู้อ่านไปพบกับสนธยา ทรัพย์เย็น ผู้ริเริ่มแนวคิดการแตกกิ่งวรรณกรรมจากภาพยนตร์โดมิโน่ในเทศกาลภาพยนตร์ 15 / 15 ของนักสร้างหนังสั้นแต่ละประเทศ ซึ่งต้องผลิตภาพยนตร์ให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 15 ชั่วโมง และเขายังได้แรงบันดาลใจจากนักเขียนชาวอังกฤษที่ร่วมใจกันแต่ง – ต่อ นิยายเรื่องเดียวในแบบวิ่งผลัด โดยการส่งไม้ต่อไปยังนักเขียนท่านอื่น ๆ ทีละทอดจนกว่าผลงานจะเสร็จสมบูรณ์แดนอรัญ แสงทองนักเขียนเรื่องสั้นรางวัลศิลปาธรที่ นักอ่านหลายคนยึดถือเป็นแบบอย่างการเขียนเรื่องสั้นที่ดี ได้มาร่วมลงแขกวรรณกรรมครั้งนี้ด้วยเช่นกัน และต่อมานิวัติ พุทธประสาท ผู้ก่อตั้งเว็บ thaiwriter.net ในปัจจุบันถือเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางวรรณกรรม และสุดท้ายนฆ ปักษนาวินแพทย์หนุ่มผู้หลงใหลการเขียนหนังสือ เราได้เชิญพวกเขาเหล่านี้ มาร่วมตกผลึกแตกกิ่งเรื่องสั้นจาก ‘ผู้ไม่ยอมแพ้’ ของ ‘ศรีดาวเรือง’แล้วมา แต่ง – ต่อ – เติม ‘จินตนาการ’ ตามแบบฉบับของตนเองอย่างสุดฝีมือ ‘นัดพบนักเขียน’ จึงขอเปิดผลึกความคิด ท้าทายความสามารถของนักเขียนเรื่องสั้นทั้ง 4 ท่านแบบเต็มอิ่มกันในฉบับนี้

จุดประกายความคิด ‘สนุกนึก : วรรณกรรมแตกกิ่ง’ : สนธยา ทรัพย์เย็น

สนุกนึก แต่ง – ต่อ– เติม จินตนาการจากกิ่งก้านเดียวกัน

สนุกนึก : วรรณกรรมแตกกิ่ง ที่เหล่านักอ่านได้ผ่านตามาบ้าง เกิดจากไอเดียของสนธยา ทรัพย์เย็น เขามองว่าการเขียนเรื่องสั้นก็เหมือนการทำงานศิลปะสมัยใหม่ สามารถเปิดให้ผู้ชมมีส่วนร่วม โดยไม่ยึดตัวศิลปินเป็นหลักเพียงอย่างเดียว ผู้อ่านคงได้เสพงานศิลป์เพื่อเกิดแรงบันดาลใจ แล้วแตกกิ่งก้านสาขาเป็นผลงานชิ้นต่อไปอย่างไม่มีขีดจำกัดทางความคิด

การทำหนังสือวรรณกรรมแตกกิ่งมีหลักง่าย ๆ ด้วยการโยนโจทย์ให้กับศิลปินต่างคน ต่างแนวทางเพื่อสร้างงานที่มีจุดกำเนิดจากรากฐานเดียวกัน แต่สามารถทำให้มองย้อนกลับมาหาจุดเริ่มต้นได้ในจุดยืนที่แตกต่างออกไป ซึ่งอาจจะได้ภาพรวมที่แปลกตา กว่าการมองจากจุดเดียวกัน และการทำงานในลักษณะนี้ ไม่มองถึงความสมบูรณ์แบบขององค์รวม แต่เพื่อต้องการกระจายความคิดให้เหมือนใยแมงมุม และนักเขียนทุกคนต้องเลือกโจทย์ 12 อย่าง ได้แก่ รถไฟ, มีดโกน, สเต๊ก, ผี, เด็ก, แสง, เท้าดอกบัว, อุกกาบาต, คอมพิวเตอร์, โรงหนัง, เบียร์สิงเต้า, ทะเล โดยยึดโยงจากเรื่อง ‘ผู้ไม่ยอมแพ้’ ของ ‘ศรีดาวเรือง’ “ผมเลือกศรีดาวเรืองให้เขียนคนแรก เพราะว่า ศรีดาวเรือง เป็นนักเขียนที่มีชีวิตเรียบง่าย สมถะ เธอเป็นคนที่ใช้ชีวิตคุ้มค่า มีความพอเพียง ไม่เรียกร้อง ไม่มีอีโก้ เธอมีฝีมือและมุมมองที่น่ารักกับชีวิต และมีความเป็นมนุษย์นิยมสูง สมบูรณ์แบบในความเป็นศิลปินติดดิน เธอควรจะเป็นรากฐานที่มั่นคง และเรื่องที่เขียนไม่ควรเป็นเรื่องโลดโผน หรือทดลองสไตล์การเขียนแบบพิสดารเข้าใจยาก เพราะจะทำให้นักเขียนท่านอื่น ๆ ต่อกิ่งได้ยากลำบาก”

‘กติกา’ ถือเป็นความท้าทายในการสร้างสรรค์ผลงานครั้งนี้ และเวลา 1 เดือนก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่นักเขียนต้องเผชิญ แต่เนื่องจากวรรณกรรมชุดนี้ให้อิสระทางความคิดอย่างเต็มที่ และสร้างสรรค์งานของตัวเองอย่างไม่มีขีดจำกัด ผลงานที่ออกมาค่อนข้างมีคุณภาพ และแฝงมุมมองผ่านตัวอักษรได้หลากหลายมิติ “ผมแจ้งกติกาให้นักเขียนทุกท่านทราบและต้องเลือกโจทย์ 12 อย่าง ใครชอบโจทย์ไหนก็เลือกใส่ในเรื่องของตัวเอง ถ้าไม่ชอบก็วางไว้ เมื่อผมเลือกให้คุณศรีดาวเรืองเริ่มต้นแต่งคนแรก นักเขียนท่านอื่นก็แค่รออ่านงานของคุณศรีดาวเรือง จากนั้นก็แยกย้ายกันไปแต่งเรื่องของตัวเอง นักเขียนท่านอื่น ๆ สามารถดิ้นหนีได้ในระดับหนึ่งตราบเท่าที่อยู่ในกติกา นั่นคือมีสิทธิ์ในการสร้างตัวละครใหม่ สร้างโครงเรื่องใหม่ จบเรื่องในตัวเอง เปลี่ยนยุคสมัย เปลี่ยนฉาก เปลี่ยนแนวดราม่าเป็นตลก เขย่าขวัญ หรือเปลี่ยนโลกปัจจุบันเป็นโลกอนาคต และอ้างอิงถึงตัวละครหลักสักตัวหรือเนื้อเรื่องบางส่วนจากต้นเรื่องเดิมของศรีดาวเรือง”

‘สนุกนึก : วรรณกรรมแตกกิ่ง’ ถือเป็นอีกหนึ่งความคิดสร้างสรรค์ ที่กระตุ้นให้วงการเรื่องสั้นบ้านเราได้มีกิจกรรมท้าทายความสามารถของนักเขียน และผลิตงานคุณภาพออกสู่สายตาผู้อ่าน แม้ว่ากิจกรรมจะไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในวงกว้างสักเท่าไหร่ แต่ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่น่าทดลอง “ผมหวังว่าการรวมเล่มจะกระตุ้นให้คนอยากอ่านวรรณกรรมมากขึ้น บางทีภาพพจน์วรรณกรรมเครียด ๆ อาจทำให้คนหวาดกลัว ยุคนี้มันอาจจะลำบากมาก ถ้าจะทำให้คนสนใจหนังสือที่มีแต่ตัวหนังสือล้วน ๆ แต่เราก็สามารถหาวิธีคิดต่างในมุมมองของการเขียนได้ การอ่านก็น่าจะสนุกสนานและหลากหลายขึ้น สำหรับผมมีคนพูดถึงวรรณกรรมแตกกิ่งบ้างก็ดีใจแล้ว ในสมัยนี้ แค่หวังให้คนมีโอกาสเห็นหนังสือที่วางขายตามร้านก็ยากพอสมควรแล้ว และตามนิตยสารหรือเว็บไซต์ก็ไม่มีคนแนะนำหนังสือแบบในสมัยก่อน ดังนั้นความสำเร็จคงเป็นเรื่องที่ห่างไกล ต้องปล่อยวางและทำความเข้าใจกับสิ่งนี้อยู่เสมอ”

ตังค์ทอน (เรื่องไม่สุภาพสักเท่าไหร่เรื่องหนึ่ง) : แดนอรัญ แสงทอง

สนุกนึกแต่งต่อเติมจินตนาการจากกิ่งก้านเดียวกัน

หากเอ่ยชื่อ เสน่ห์ สังข์สุข คงไม่คุ้นหูนักอ่านเท่า แดนอรัญ แสงทอง เขาเป็นหนึ่งในผู้เข้ารอบ 6 เล่มสุดท้ายของรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2557 กับเรื่องสั้น‘อสรพิษ’ และยังเป็นหนึ่งในผู้เขียน ‘สนุกนึก : วรรณกรรมแตกกิ่ง’ โดยใช้ชื่อเรื่องสั้นว่า ‘ตังค์ทอน (เรื่องไม่ค่อยสุภาพสักเท่าไหร่เรื่องหนึ่ง)’ เราจึง ‘นัดพบ’ ชายคนนี้ พร้อมกับเริ่มคำถามแรกเลยว่า ทำไมถึงรับข้อเสนอที่จะทำงานร่วมกับ ‘บุ๊คไวรัส’ และแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์มาจากอะไร

“ผมในฐานะคนทำงานหนังสือคนหนึ่ง เมื่อทางบุ๊คไวรัสมาเล่าถึงแนวคิดในการทำหนังสือชุดนี้ ก็เลยรับข้อเสนอที่จะเขียนงาน โดยมีโจทย์และกติกาตามแบบที่‘สนธยา ทรัพย์เย็น’ เสนอมา เมื่ออ่านเรื่องของศรีดาวเรืองจบ ก็เลือกโจทย์จาก 12 อย่างคือเรื่อง ‘เด็ก’ เพราะเด็กเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องสั้น ด้วยความบริสุทธิ์และความคิดแบบใสสะอาด เหมือนน้ำเปล่าที่ไม่ได้รับการเจือปนด้วยสิ่งสกปรก มีความไร้เดียงสา มีชีวิตชีวา ผมจึงชอบอยู่กับเด็กและอยากรู้ว่าเด็กคิดอะไร ก็คงจะเหมือนอย่างที่ ‘จอร์จ ออร์เวลล์’ พูดเสมอว่า ‘ผู้ใหญ่ไม่ค่อยมีความหวัง อนาคตจึงต้องฝากไว้กับเด็ก’ ในเรื่อง ‘เจ้าการะเกดของผมเขียนถึงหลวงพ่อเทียนซึ่งเป็นตัวละครในเรื่อง ไม่ค่อยชอบคุยกับผู้ใหญ่ ชอบคุยกับเด็ก ๆ เพราะจิตใจของผู้ใหญ่นั้นหนาราวกับ ส้นตีน’ คือมันเปลี่ยนแปลงได้ยากมาก หมายถึงไม่มีความหวังใด ๆ ในชีวิตแล้ว ผมจะมีสไตล์การเขียนที่ไม่เหมือนใครโดยเล่นกับวิธีการเขียนแบบกระแสสำนึกอย่างเต็ม ๆ แม้ว่าการเขียนครั้งนี้จะมีความเป็นอิสระทางความคิด แต่ก็ต้องควบคุมตัวเอง เรื่องสั้นชุดนี้จึงมีสำนวนภาษาแปลก ๆ มากมายให้นักอ่านได้ครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา”

‘ตังค์ทอน’ ตัวละครในเรื่องสั้นของ ‘แดนอรัญ แสงทอง’ เป็นเด็กน้อยบริสุทธิ์ทางความคิด เขาจึงเลือกกลวิธีการเขียนที่เล่นกับกระแสสำนึกถึงความหมายของการตาย แล้วลาก ‘ผู้หญิง’ ในเรื่องสั้น ‘ผู้ไม่ยอมแพ้’ ของศรีดาวเรืองมาเป็นตัวเดินเรื่อง แล้วใช้ฉากสังคมชนบทบรรยายให้เกิดสีสัน ‘ตังค์ทอน (เรื่องไม่ค่อยจะสุภาพสักเท่าไหร่เรื่องหนึ่ง)’ จึงเป็นเรื่องราวความน่ารัก ใสซื่อของเด็ก และเป็นเรื่องราวสนุกสนานชวนติดตามด้วยสำนวนที่ต้องอาศัยการตีความจากนักอ่านในหลากหลายมุมมอง

หลุมพรางชื่อความรัก : นิวัติ พุทธประสาท

สนุกนึกแต่งต่อเติมจินตนาการจากกิ่งก้านเดียวกัน

นิวัติ พุทธประสาท นักเขียนชาวกรุงเทพฯ เจ้าของรางวัลช่อการะเกดเรื่อง ‘ความเหลวไหล’ ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระผลิตผลงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นนิยายเรื่องใบหน้าอื่น, ไปสู่ชะตากรรม เรื่องสั้นขอบฟ้าเหตุการณ์, ลมหายใจอุบัติซ้ำแสงแรกของจักรวาล ฯลฯ นิวัตคือหนึ่งในผู้ที่รับข้อเสนอจาก ‘บุ๊คไวรัส’ โดยใช้ชื่อเรื่องสั้นว่า ‘พลุมพรางชื่อความรัก’ เขาได้แรงบันดาลใจมาจากไหน เรามาฟังคำตอบกันเลยดีกว่า

“จริง ๆ ก็อยากจะร่วมงานกับบุ๊คไวรัส กับสนธยา ทรัพย์เย็น และกลุ่มนักเขียนที่เราชื่นชอบอยู่แล้ว เพราะนักเขียนเหล่านั้นก็เป็นเพื่อนของเราด้วย แถมยังได้เขียนงานที่แตกมาจากเรื่องสั้นของศรีดาวเรือง ถือเป็นโปรเจ็คต์ที่น่าสนใจอย่างมาก ตอนที่คุณสนธยาเขียนอีเมลมาหาก็ตอบรับข้อเสนอทันที โดยไม่คิดอะไรมาก เพราะเราสามารถทำงานด้านนี้ได้อยู่แล้ว และก็เลือกโจทย์เป็น ‘คอมพิวเตอร์’ เพราะงานเขียนของผมมันยุ่งเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ยุ่งเกี่ยวกับโซเชียลเน็คเวิร์คมานานแล้ว และเป็นโจทย์ที่เราสามารถตีให้แตก แล้วเล่นกับมันได้ตลอดทั้งเรื่อง”

หลุมพรางชื่อความรัก มีระยะเวลาในการสร้างสรรค์งานภายใน 1 เดือน เมื่อได้รับโจทย์ สัปดาห์แรกก็เริ่มคิดพล็อต วางโครงเรื่อง และต่อมาเขาก็ลงมือ ‘แตกกิ่ง’ จินตนาการตามความคิด กลายเป็นเรื่องราวชีวิตคู่ของผู้คนแห่งยุคสมัยนี้ที่มีสื่อโซเชียลเน็คเวิร์คเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล แม้ว่าเราจะมีความมั่นคงทางจิตใจเพียงใดก็อาจจะพ่ายแพ้ แก่สิ่งยั่วยุภายนอกได้

“เรามองเห็นว่าความรักเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ทุกคนมีประสบการณ์ไม่มากก็น้อย ตัวละครในเรื่องเป็นคนที่มีความซื่อสัตย์กับครอบครัวมาก แต่พอมาเจอแรงสั่นสะเทือนจากภายนอก ศีลธรรม ความดีงามในตัวเขา ก็กลายเป็นความท้าทายที่ต้องเผชิญ ทำให้เขาเกิดต้องตระหนักมากขึ้น แต่เมื่อบางสิ่งบางอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน ก็ทำให้สิ่งที่เขารักษามาทั้งชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัว การงาน ซึ่งเขาคิดเสมอว่า เอามันอยู่ แต่สุดท้ายเขาก็ยอมจำนนต่อความต้องการเพียงชั่ววูบอย่างง่ายดาย”

เมฆแผ่นดินไหว : นฆ ปักษนาวิน

สนุกนึกแต่งต่อเติมจินตนาการจากกิ่งก้านเดียวกัน

นายแพทย์มารุต เหล็กเพชร หรือที่เรารู้จักในนาม นฆ ปักษนาวิน แพทย์หนุ่มผู้หลงใหลงานเขียน ตั้งแต่ยังศึกษาอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ได้ผลิตผลงานเล่มแรก ‘เมฆเสกคลื่น’ เป็นหนังสือทำมือเล็ก ๆ ที่ทำให้เขาก้าวเข้าสู่วงการวรรณกรรม ชายหนุ่มแห่งเกาะยาวหนึ่งในผู้ร่วมสร้างสรรค์ผลงาน ‘สนุกนึก : วรรณกรรมแตกกิ่ง’ โดยใช้ชื่อเรื่องว่า ‘เมฆแผ่นดินไหว’ เราไม่พลาดที่จะสนทนาถึงแรงบันดาลในการ แต่ง – ต่อ – เติม จินตนาการร่วมกับนักเขียนท่านอื่น ๆ อย่างสนุกสนานตามแบบฉบับตนเอง

“ผลงานชิ้นนี้ถือเป็นเกียรติอย่างมากกับคนเขียนหนังสือแบบผม แม้ว่าการทำงานค่อนข้างกระชั้นชิด เพราะผมต้องออกแบบปกด้วย และกำลังอยู่ในช่วงที่เขียนอะไรไม่ออก หลังจากมีรวมเรื่องสั้นเล่มแรกออกไป (ออกไปข้างใน) การทำงานชิ้นนี้จึงเป็นเรื่องท้าทายมาก โจทย์ที่ผมเลือกจาก 12 อย่างคือ ‘เบียร์สิงเต้า’ เพื่อเลือกมาแตกกิ่งร่วมกับ ‘อุกกาบาต’ โจทย์อีกหนึ่งข้อที่เลือก เพราะผมอยากจะรู้เหมือนกันว่าเบียร์สิงเต้าจะปรากฏอยู่ในเรื่องที่มีอุกาบาตได้อย่างไร และแรงบันดาลใจจากการ พลิกผัน เรื่องเล่าของศรีดาวเรือง ที่ผู้หญิงถูกอำนาจของผู้ชายเป็นใหญ่กระทำ โดยผมเล่าใหม่ว่า แท้จริงแล้วผู้หญิงไม่ได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของผู้ชาย ซึ่งไม่ใช่ความจริงแบบที่เห็นและเป็นความจริงแบบกลับกันอีกอย่างหนึ่ง หรือตรงข้ามกับสิ่งที่เห็น ผมอยากให้ผู้อ่านมองในมุมที่แตกต่างจากมุมเดิม และความจริงบนโลกนี้อาจจะไม่จริงเสมอไปก็ได้”

เมฆแผ่นดินไหว หนึ่งในเรื่องสั้นชุด ‘สนุกนึก : วรรณกรรมแตกกิ่ง’ การท้าทายความสามารถนักเขียน คือความไม่สอดคล้องที่แฝงมุมมองอันแปรเปลี่ยนได้ในหลากหลายทิศทาง สะท้อนตัวตนของผู้สร้างสรรค์ ที่พยายามตีความปรากฏการณ์ทางสังคมในมิติต่าง ๆ เพื่อให้ผู้อ่านเห็นความจริงที่ซ้อนอยู่ในตัวคน

‘สนุกนึก’ จากฝีมือของนักเขียน 12 คน ถือเป็นความพยายาม ‘ลงแขก’ ทางวรรณกรรมที่ท้าทายความคิด และการทำงานเป็นทีมของกลุ่มเรื่องสั้น ซึ่งไม่ได้มองถึงความสอดคล้องของเนื้อหา เหมือนเช่นการเขียนนิยาย เสน่ห์ของคนละทิศทางคนละทางก็สามารถรวมเป็นความคิดต่างมุมมองได้อย่างน่าสนใจ โดยผู้เขียนนำเสนอ ‘ความจริง’ จากกิ่งก้านเดียวกัน ซึ่งอาจถูกบิดเบือนจากภาพที่เห็น และถือเป็นการรวมกลุ่มสร้างสรรค์ความแปลก แบบไม่แยกทิศทางอย่างลงตัว ‘สนุกนึก : วรรณกรรมแตกกิ่ง’ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมของวงการเรื่องสั้นในบ้านเรา ที่อยากจะพานักอ่านไปพบกับความสนุก แล้วแตกกิ่งแห่งจินตนาการต่อไป เพียงเท่านี้ก็คงเป็นความสุขสำหรับนักเขียนแล้ว วงการเรื่องสั้นบ้านเราก็คงไม่ตายจากไปอย่างแน่นอน

 

ขอบคุณที่มา : http://www.all-magazine.com

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ