ความอับจนของกวีนิพนธ์ไทย : ความอับจนของกวีนิพนธ์ไทย

ความอับจนของกวีนิพนธ์ไทย

‘กวีนิพนธ์’ เป็นศัพท์บัญญัติใช้แทนคำว่า poetry ในพจนานุกรมวรรณกรรมอังกฤษ – ไทยได้ให้ความหมายไว้ว่า คำประพันธ์ที่กวีเรียบเรียงเพื่อใช้แสดงความคิด ความเข้าใจที่เกิดจากจินตนาการ มองเห็นสัจธรรมลึกซึ้ง หล่อหลอมเป็นความงาม และความสัมพันธ์ระหว่างโลกกับมนุษย์ด้วยรูปแบบ การลำดับความ และใช้ภาษาวรรณศิลป์ที่ก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ

‘บทกวี’ หนึ่งบทจึงต้องมีนักสร้างสรรค์หรือที่เราเรียกว่า ‘นักกวี’ มีองค์ประกอบของ ‘ภาษา’ เป็นตัวกลางในการสื่อสารความรู้สึกนึกคิดของกวีต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น โดยมี ‘รูปแบบ’ หรือกลวิธีที่กวีเลือกใช้ เช่น กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ ร่าย ฯลฯ ‘กวี’ เปรียบเสมือนผู้สร้างงานศิลปะที่ต้องหยั่งรู้ มีความละเอียดอ่อน ลุ่มลึก กว้างไกล

งานศิลปะถือเป็นอาหารของจิตวิญญาณ แม้ไม่ใช่ปัจจัย 4 ที่จำเป็นต่อชีวิต แต่ก็เป็น ‘ความงดงาม’ หรือสุนทรียภาพ ที่มนุษย์ได้สร้างวัฒนธรรมในการ ‘เสพ’ ผู้สร้างต้องมีฐานของชีวิตที่แตกต่าง มีพื้นฐานและประสบการณ์เพื่อความเข้าใจรูปแบบที่เรียกว่า ‘กวีนิพนธ์’ เข้าถึงความหมายที่ซ่อนอยู่ในตัวอักษร การบ่มเพาะจากสถานศึกษาและผู้เชี่ยวชาญถือเป็นตัวกลางที่สำคัญในการร่วมถ่าย ทอดทักษะการอ่านการเขียนอย่างถูกวิธี สภาวการณ์ความอับจนของกวีนิพนธ์ไทยอาจมาจากผู้คนไม่รู้จักบทกวี มีภาษาที่ยากต่อการเสพ เพราะอ่านไม่รู้เรื่องและไม่ได้อรรถรส ตัวตนของกวีก็แปลกกว่านักเขียนทั่วไป ส่งผลให้หนังสือกวีนิพนธ์ขายไม่ได้ ก่อเกิดเป็นสถานการณ์ที่เรียกว่า ‘บทกวีตายแล้ว’

‘นัดพบนักเขียน’ ฉบับนี้ขอพาผู้อ่านมาร่วมเปิดผลึกความคิดของ อังคาร จันทาทิพย์, ไพวรินทร์ ขาวงาม, ศักดิ์สิริ มีสมสืบ, พนม นันทพฤกษ์ (สถาพร ศรีสัจจัง) ในประเด็น ‘ความอับจนของกวีนิพนธ์ไทย’ ผ่าน สายตาการมองสังคมไทยในยุคที่การเมืองเข้มข้น ไปจนถึงเรื่องโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน วงการกวีนิพนธ์บ้านเราจะเป็นไปในทิศทางไหน และในอนาคตจะเป็นอย่างไร ขอเชิญสัมผัสมุมมองของกวีทั้ง 4 ท่านได้ในบรรทัดไป

‘อังคาร จันทาทิพย์’ กวีซีไรต์คนล่าสุดจากเรื่อง ‘หัวใจห้องที่ห้า’ ร่วมสนทนาว่าด้วยปรากฏการณ์หรือสภาวะของ ‘กวีนิพนธ์’ ในสังคมไทย

 

ความอับจนของกวีนิพนธ์ไทย

 

“การที่คนส่วนใหญ่คิดว่า บทกวียากต่อการเสพ เป็นของสูง ต้องขึ้นหิ้งเขียน ต้องปีนบันไดอ่านนั้น ส่วนตัวคิดและเชื่อว่า มันหมดยุคสมัยไปแล้ว จึงเป็นภาพจำที่ค่อนข้างน่าแปลกใจ เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีกวีจำนวนไม่น้อยได้เปลี่ยนแปลงลักษณะการนำเสนอบทกวีไปมากทีเดียว เช่น มีการนำรูปแบบของพล็อตเรื่องเล่า เข้ามารองรับประเด็น เนื้อหา เรื่องเล่าก็เป็นภาพและเรื่องราวของผู้คนธรรมดาสามัญที่เห็นกันอยู่ทั่วไปใน สังคมเมือง สังคมชนบท ความขัดแย้ง ความเปลี่ยนแปลง ความไม่ลงตัวของวิถีชีวิต เพื่อให้ง่ายแก่การสื่อสารต่อผู้อ่าน แต่ไม่ได้หมายความว่าคนเขียนจะละเลยหรือมักง่ายนะครับ เพราะเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นงานศิลปะ ก็ยังมีความจำเป็นที่ต้องมีรูปแบบ วิธีการนำเสนอ มุมมอง ประเด็น และเนื้อหาให้ลงตัวมากที่สุด”

สภาวะของกวีนิพนธ์โดยภาพรวม ไม่ค่อยมีคนสนใจอ่านบทกวี เพราะเป็นงานวรรณกรรมที่ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร แต่ยังมีผู้อ่านอยู่บ้าง เพราะคอลัมน์บทกวีในสื่อสิ่งพิมพ์เป็นอีกหนึ่งในช่องทางที่เปิดให้กวีสื่อ สารกับผู้คนในวงกว้างถึงสภาพของสังคมและการเมือง อีกทั้งมีช่องทางอื่น ๆ เช่น โซเชียลมีเดียหรือสื่อออนไลน์มาดึงดูดความสนใจได้มากกว่างานวรรณกรรมหรือบท กวี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้คนจะอ่านบทกวีน้อยลง ปรากฏการณ์นี้ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะบ้านเราเท่านั้น ยอดพิมพ์ ยอดจำหน่าย หรือพื้นที่นำเสนอบทกวีตามสื่อสิ่งพิมพ์ในที่อื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศก็ลดลงเช่นกัน

‘ไพวรินทร์ ขาวงาม’กวีซีไรต์ประจำปี 2538 จากรวมบทกวี ‘ม้าก้านกล้วย’ เขามีชีวิตที่ดิ้นรนตามหาความฝันและด้วยความรักในการอ่าน จึงเลือกเข้าสู่วงการวรรณกรรม สร้างสรรค์ผลงานอยู่เรื่อย ๆ เช่น รวมบทกวีคือแรงใจและไฟฝัน, ถนนนักฝัน (รวมบทกวีประกอบภาพ), กลอนกล่อมลูก ฯลฯ ซึ่งเขาได้เปิดมุมมองต่อวงการกวีนิพนธ์ไทยในยุคปัจจุบันว่า

 

ความอับจนของกวีนิพนธ์ไทย

 

“ลักษณะของบทกวีที่ดีต้องมีความเหมาะสมในตัวของมัน แล้วแต่ผู้อ่านชอบหรือไม่ชอบ ถ้าเป็นการประกวด การคัดเลือก คัดสรร ย่อมต้องมีหลักของฉันทลักษณ์ รูปแบบและเนื้อหา หรือท่วงทำนองวรรณศิลป์ อย่างกลอนเปล่าก็ต้องมีภาษาและเนื้อหา หรือท่วงทำนองวรรณศิลป์ กลอนเปล่าคือรูปแบบการประพันธ์ชนิดหนึ่ง มิใช่ไร้รูปแบบ มิใช่ไร้ฉันทลักษณ์ มิใช่ไร้ลักษณะอันน่าพึงพอใจ เพียงแต่ไม่ใช่ฉันทลักษณ์แบบดั้งเดิมเท่านั้นเอง ในการอ่านกลอน พิจารณากลอน ควรมีขนบพื้นฐานที่รับรู้ร่วมกันในระดับหนึ่ง เช่น รูปแบบภาษาดีแต่เนื้อหาด้อย ก็มีปัญหา เนื้อหาดีแต่รูปแบบภาษาไม่ถูกต้อง ก็มีปัญหา ฉะนั้นความเหมาะสมลงตัวหรือความสมดุลพอดีนั่นแหละ เป็นสิ่งที่คนเขียนกลอนต้องพยายามสร้างและผู้อ่านพยายามตามเสพ”

กวีนิพนธ์ในยุคปัจจุบัน มีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนไปตามสภาพของผู้เขียนและผู้อ่าน สิ่งที่เรียกว่าฉันทลักษณ์แบบโบราณ เมื่อคนสมัยใหม่นำมาใช้ ต้องประยุกต์ พลิกแพลง เพื่อก้าวไปข้างหน้าทั้งในด้านเนื้อหาและท่วงทำนอง ของโบราณเมื่อนำมาใช้ใหม่ การบังคับใช้ตามของเก่าอย่างเดียวอาจล้าสมัยไปแล้วในยุคปัจจุบัน ถ้าเขียนอย่างสร้างสรรค์ก็กลายเป็นรูปแบบใหม่ ๆ ให้ชวนติดตาม บทกวีไม่ได้มีแค่กลอนแปด หรือกลอนฉันทลักษณ์ที่นักอ่านคุ้นเคยแบบเดิม ๆ แต่ยังหมายรวมถึงเพลงกล่อมลูก เพลงพื้นบ้าน ตลอดจนเพลงร่วมสมัย ซึ่งโดยรวมก็มีสัมผัสคล้องจอง มีท่วงทำนองความไพเราะลึกซึ้งสวยงามของภาษาวรรณศิลป์

‘กิตติศักดิ์ มีสมสืบ’หรือที่เรารู้จักในนาม ‘ศักดิ์สิริ มีสมสืบ’ กวีซีไรต์ประจำปี 2535 กับเรื่อง ‘มือนั้นสีขาว’ ปัจจุบัน เป็นนักเขียนอิสระ สร้างสรรค์บทกวี บทเพลง และวาดภาพ มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างสมถะในอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ เป็นอีกหนึ่งกวีผู้เข้าถึงความงดงามของวรรณศิลป์ เราจึงได้นัดพบเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงทิศทางของวงการกวีนิพนธ์ ไทย

 

ความอับจนของกวีนิพนธ์ไทย

 

“การเขียนกวีมันเป็นภาวะส่วนตัว ผมก็เขียนกวีไปเรื่อย ๆ ไม่ได้เกี่ยวกับใครหรือสถานการณ์ใด ๆ แล้วก็ไม่ได้ไปรายงานตัวตามสนามต่าง ๆ ก่อนจะส่งเข้าประกวดซีไรต์ ผมก็มีบทกวีตีพิมพ์ถึง 3 เล่มแล้ว ช่วงนั้นก็ขายไม่ค่อยดี พิมพ์ทีละ 200 - 300 เล่ม ส่วนเล่มมือนั้นสีขาวก็ส่งที่ซีไรต์เป็นครั้งแรก ทางสำนักพิมพ์เป็นคนส่ง หลังจากได้รางวัลซีไรต์ก็ได้ไปเจอคนอื่นบ้าง แต่การเขียนของผมก็ยังเป็นเรื่องของภาวะส่วนตัว สำหรับผม การเขียนให้เสร็จถือเป็นความสำเร็จของการเขียนบทกวี เช่น เขียนกลอนเสร็จไปหนึ่งบท และผมมองว่า ความสำเร็จด้านตัวเลข มันเป็นเรื่องของคนอื่นหรือทางสำนักพิมพ์มากกว่า”

ด้วยสังคมไทยไม่ได้มีวัฒนธรรมการอ่าน มาตั้งแต่ต้น การเสพงานศิลป์จึงต้องผ่านตัวกลางในการสื่อสาร เช่น พระสงฆ์เทศนาหลักคำสอน หรืออ่านกลอนสวดให้ฟัง ผู้เสพจะจดจำเนื้อหาและความหมายไว้เพื่อขัดเกลาจิตใจตัวเอง และวัฒนธรรมการอ่านในบ้านเราได้รับอิทธิพลจากตะวันตก ซึ่งเริ่มเข้ามาเมื่อไม่นานมานี้

“ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีจังหวะ มีทำนองที่น่าฟังอยู่แล้ว ‘คำ’ ที่ สื่อความหมายจึงไม่มีอะไรที่ยาก เพราะยากก็คือง่าย ง่ายก็คือยาก ทุกสิ่งเกิดจากเหตุปัจจัย ตราบใดที่มนุษย์ไม่ลึกซึ้งเรื่องภาษาและความหมาย คนก็จะอ่านหนังสือน้อยลง คนอ่านบทกวีก็ยิ่งน้อยลงอีก เพราะในชีวิตประจำวัน เราเคยหาความหมายในการใช้ชีวิตหรือเปล่า แค่เราจะกินอะไรสักอย่างเราเคยหาความหมายของการกินหรือไม่ ปัจจุบัน มนุษย์ไม่มีเวลาที่จะมองอะไรอย่างจริงจัง แล้วบทกวีก็ย่อมจะถูกมองข้ามเพราะบทกวีเป็นภาวะที่นิ่ง ๆ มองเห็นความหมาย ความงาม และความจริง เมื่อคนหยาบต่อสิ่งต่าง ๆ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่มีความละเอียด บทกวีถือเป็นภาวะแห่งการพิจารณา ฉะนั้น กวีก็ไม่ต้องไปพูดว่าคนอ่านมีน้อย อย่าว่าแต่บทกวีเลย นกสักตัวคนก็ไม่ได้มาจ้องดูว่ามันมีรูปร่างอย่างไร ภาวะแห่งการพิจารณามันขาดหายไปจากสังคมที่เร่งรีบและแข่งขัน”

ฉันทลักษณ์ของไทยถือเป็นรูปแบบที่กวีเลือกใช้ในการสื่อสารผ่านตัวอักษร แต่สิ่งที่มากกว่ารู้แบบการนำเสนอคือการเข้าถึง ‘สัจจะ’ หรือความลึกซึ้งของปรัชญาที่ซ่อนอยู่ ก่อเกิดเป็น ‘ค่า’ ที่ ควรแก่การอนุรักษ์เป็นภูมิปัญญาของชาติ กวีจึงต้องมีสายตาที่กว้างไกล เข้าใจอดีต อยู่กับปัจจุบัน และเห็นอนาคต เพราะสามสิ่งนี้ต้องหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน

“การที่ผู้คนเข้าไม่ถึงบทกวีนั้น ก็เป็นเรื่องที่ต้องมาช่วยกันคิดว่า การสอนวิชาวรรณคดีในโรงเรียนมีประสิทธิภาพหรือไม่ มีสุนทรียภาพทางภาษาและวรรณศิลป์ไหม ครูผู้สอนมีความรู้หรือความเข้าใจมากน้อยเพียงใด บทกวีก็จะเป็นสิ่งที่ต้องการของตลาด ตัวผู้สอนรู้จักกวีในอดีตเพียงสุนทรภู่อย่างเดียวหรือ แล้วปัจจุบันวงการกวีเขามีใครบ้างและที่น่าเป็นห่วงคือ คนเราสามารถอ่านบทกวีที่ไม่อยู่ในรูปแบบของภาษาได้ไหม อ่านจากชีวิต อ่านจากธรรมชาติ ซาบซึ้งกับสิ่งต่าง ๆ ได้หรือไม่ นั่งมองแม่น้ำที่ไหลผ่านคุณได้อ่านอะไรบ้าง ถ้าภาวะนั้นไม่มี บทกวีก็ไม่เกิด คุณต้องสัมผัสบทกวีที่อยู่ในชีวิตให้ได้ สังคมทุกวันนี้ แย่งกันบริโภค คุณมีเวลาไหมที่จะไปอ่านบทกวี ถ้าคุณไม่มีเวลาก็ลอยอยู่ในธรรมชาติ แล้วนักเขียนคุณจะเขียนอย่างไรให้มองเห็นคุณค่า ขณะที่เขียนบทกวี เราต้องชำระชีวิตไปด้วย เติบโตไปพร้อมกัน ไม่ใช่เขียนเลิศเลอ แต่ใช้ชีวิตตามไม่ทัน”

พบกันอีกครั้งกับ‘สถาพร ศรีสัจจัง’ นักคิด นักเขียน นักวิชาการคนสำคัญของไทย ผู้นำเสนอบทกวีผ่านปลายปากกา‘พนม นันทพฤกษ์’ ถือเป็นตัวแทนกวีปักษ์ใต้ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดต่อวงการกวีนิพนธ์ของไทยอย่างน่าสนใจว่า

 

ความอับจนของกวีนิพนธ์ไทย

 

 

“เหตุองค์รวมที่ทำให้เลือกงานเขียนประเภทกวีนิพนธ์ เพราะเป็นเครื่องมือในการ ‘เล่าเรื่อง’ โดย เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่มาตกกระทบต่อความรู้สึกของผม เกิดจากปัจจัย 2 หลักได้แก่ ผมมีชีวิตบนความหลากหลาย ทั้งเคยอาศัยอยู่ในสังคมชนบทที่อุดมสมบูรณ์ด้วยศิลปวัฒนธรรม และได้มาใช้ชีวิตในสังคมเมืองซึ่งเกี่ยวโยงกับกิจกรรมทางการเมือง ผมเป็นหนึ่งในผู้เรียกร้องประชาธิปไตยร่วมกับนักคิด นักเขียนในยุคสมัยนั้น การนำเสนอเนื้อหาจึงเป็นไปในทางที่เป็นข้อเท็จจริงทางสังคม”

จากหลากหลายบทบาท อาทิ นักคิด นักเขียน อาจารย์ บรรยากาศวงการหนังสือในยุคสมัยของ ‘พนม นันทพฤกษ์’ ถือเป็นช่วงที่มีการสร้าง ‘ขนบ’ ของ ตัวเอง พลังของกวีนิพนธ์จึงสามารถเข้าถึงปัญญาชน ในยุคนั้น และเป็นแบบอย่างแก่กวีในยุคปัจจุบัน แม้การเขียนกวีนิพนธ์จะคล้ายคลึงกับการเขียนงานเชิงสร้างสรรค์ประเภทอื่น แต่ก็มีกระบวนการที่มีลักษณะเฉพาะ ตั้งแต่การฝึกกลั่นกรองเรื่องที่จะนำมาเล่า เลือกมุมมองในฐานะผู้เล่าให้แตกต่าง การเลือกรูปแบบที่สอดรับกลมกลืนกับเรื่องที่จะเล่า คัดเลือกคำเพื่อจัดชุดให้เหมาะสมกับเนื้อหาและจังหวะอารมณ์ของกวี ทุกขั้นตอนถ้าไม่สามารถสร้างอัตลักษณ์เฉพาะทางของตนขึ้นมาได้ ก็อาจจะไม่ถึงขั้นที่เรียกว่า ‘กวี’ คงเป็นเพียงแค่คนเขียนร้อยกรองทั่วไป

“ผมเองเคยทำหน้าที่ในฐานะอาจารย์ผู้สอน ตามหลักสูตรอยู่ช่วงหนึ่งประมาณ 15 – 20 ปีที่แล้ว จากนั้นก็เลิกทำ ผมหันมาทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้ในรูปแบบนอกระบบเสียมากกว่า เช่น การจัดค่ายนักเขียน การเป็นวิทยากรบรรยาย การทำเวิร์คช็อป (workshop) เป็นต้น ก็ต้องบอกตรง ๆ ว่า ความรู้ ความรัก และรสนิยมในการเสพงานกวีนิพนธ์ โดยเฉพาะที่เป็นงานในรูปแบบตาม ‘ขนบ’ หรือที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งว่า ‘traditional literary’ กลาย เป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มหรือเรื่องของพวกอนุรักษ์ล้าหลังไปนานแล้ว ยิ่งเวลานานมากขึ้นเท่าไหร่พื้นที่ (Space) ของงานสร้างสรรค์ประเภทนี้ก็ดูเหมือนจะยิ่งน้อยลงจนแทบจะไม่มีเหลือให้เห็น ในชีวิตจริง”

สถานภาพและสถานการณ์ของ ‘วิธีวิทยา’ ในการสร้างสรรค์เชิงวรรณศิลป์ซึ่งเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่สืบทอดมายาวนานของสังคมในประเทศนี้เป็น ‘ภาพสะท้อน’ ที่ชัดเจนว่า ตลอดเวลา 5 ทศวรรษแห่งการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย ชนชั้นปกครองกลุ่มหนึ่งได้รับกรอบแนวคิดการพัฒนาของประเทศตะวันตกมาครอบครอง สังคมไทยโดยการตัด โค่น ‘ราก’ ของ ‘แม่ไม้’ ภูมิปัญญาไทยไปแล้ว

“งานศิลปะที่แท้จริงเป็นงานสร้างสรรค์ไม่ใช่ ‘สินค้า’ (Mass production) ที่มุ่งผลิตเพื่อเอาใจรสนิยมของผู้บริโภค ดังนั้น เพื่อให้ ‘ขายได้’ ผู้ผลิตจึงต้องแต่งรสตามที่ตลาดหรือโปรแกรมความคิดโดยการโฆษณาทั้งทางตรงและ ทางอ้อมไว้ แล้วกวีนิพนธ์ต้องเป็นอย่างนั้นหรือ คือต้องหาผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดมากำกับกวีว่าควรเขียนอย่างไร ไม่ได้มีอิสระทางความคิดและการแสดงออก ถ้าผู้อ่านจะเสพกวีนิพนธ์ไทยให้รู้เรื่อง และได้รสตามคุณภาพ จึงต้องมีรากฐานการ ‘วิจักษ์’ (Appreciate) ที่ดีพอควร เหมือนการจะดูภาพเขียน ฟังดนตรีหรือเพลง แม้แต่จะดูการแสดง (Performance) คำถามก็คือ สังคมไทยเคยตั้งใจสร้างเสริมเรื่องพวกนี้บ้างหรือเปล่า”

ภาครัฐต้องสร้างกระแสให้ผู้คนตระหนักและเห็นความสำคัญของงานศิลปวัฒนธรรมทุก แขนง กวีและผู้นิยมกวีนิพนธ์ควรช่วยกันเพื่อผลักดันให้เกิดกฎหมายและองค์กรที่รับ ผิดชอบงานด้านศิลปวัฒนธรรมโดยตรง สร้างตัวแทนภาคประชาชนเป็นผู้ดำเนินการทั้งระดับชาติและท้องถิ่น โดยได้รับเงินอุดหนุนเป็นรายปีงบประมาณที่มากเพียงพอต่อการดำเนินงานสร้าง สรรค์ เพื่อต่อลมหายใจเฮือกสุดท้ายให้วงการกวีนิพนธ์ไทย

 

ขอบคุณที่มา : http://www.all-magazine.com/

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ