สกุล บุณยทัต : ผู้มีความสามารถสร้างสรรค์งานเขียนได้หลากหลาย ทั้งบทละคร กวีนิพนธ์ บทภาพยนตร์ ความเรียง และบทวิจารณ์

สกุล บุณยทัต

นักเขียนเรื่องสั้น สารคดี นักวิชาการ สกุล บุณยทัต ปัจจุบันนอกจากรับราชการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชานาฎ ยสังคีต คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นครปฐมแล้ว ยังเป็นผู้มีความสามารถสร้างสรรค์งานเขียนได้หลากหลาย ทั้งบทละคร กวีนิพนธ์ บทภาพยนตร์ ความเรียง และบทวิจารณ์ รวมถึงงานจัดรายการวิทยุซึ่งทำมานานถึง 8 ปีแล้ว ล่าสุดเริ่มลงมือทำอีกหนึ่งงานกับธุรกิจสำนักพิมพ์ในนาม ARS LONGA…ศิลปะยืนยาว

ช่วงนี้นอกจากงานหลักรับราชการแล้ว อาจารย์ยังมุ่งเน้นงานด้านใดเป็นหลักอีกคะ เช่น งานแปล งานเขียนหรืองานอื่น ๆ
เขียนหนังสือ เขียนวิจารณ์ เขียนบทความ ทำโรงพิมพ์พิมพ์หนังสือเอง ทำรายการวิทยุมีเดียโฟกัส ที่ 56.5 ทุกวันอาทิตย์ เป็นงานวิเคราะห์สื่อ ซึ่งทำมานานเป็นปีที่ 8 แล้ว หลายคนอาจจะไม่รู้ เป็นรายการที่วิเคราะห์สื่อสารมวลชนในประเทศทุก ๆ สาขา วิทยุ โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต หนังสือพิมพ์ ก็มีหลาย ๆ อย่างที่ทำครับ

ไม่ได้มุ่งเน้นไปด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ
มันต้องเน้นทุกอย่างโดยเงื่อนไขของงาน เราต้องทำค่อนข้างซีเรียส ถ้าเขียนบทความก็ต้องเขียนบทความที่ดี ทำวิทยุก็ต้องทำรายการที่ค่อนข้างจะจริงจัง เพราะ 8 ปีก็เหมือนกับคน ใช้เครดิตสถานีแห่งหนึ่งอยู่ ตรงนี้ทำให้บางทีร่างกายค่อนข้างเหนื่อย วิจารณ์ก็ต้องวิจารณ์ ที่ผ่านมาก็เพิ่งเป็นกรรมการอยู่ในชุดตัดสินซีไรท์ ก็ต้องหยุดวิจารณ์ไปโดยมารยาท สักอาทิตย์หนึ่งจะมีงานวิจารณ์ โดยปกติก็ที่จุดประกายวรรณกรรม

ได้ข่าวว่าเปิดสำนักพิมพ์เองด้วยหรือคะ นานหรือยัง
เพิ่งเปิดครับ คือมีคนให้สปอนเซอร์ ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงมารวมตัวกันก็เลยคิดว่ามีหนังสืออะไรบางอย่างที่มันเป็นทางเลือกนะครับ ผมวิจารณ์หนังสือไว้มาก และก็เป็นหนังสือที่ค่อนข้างจะอ่านยาก ซึ่งผมคิดว่าคนไทยคงไม่อ่านหนังสือพวกนี้กันมากนักโดยสถิติ มันเป็นทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ชีวิต Primitivism of life เป็น philosophy ดีดี เป็นปรัชญาดีดี ซึ่งทำให้เราได้เข้าใจโลกกว้างมากขึ้น อย่างหนังสือคุณอัญชัน นี่คือคอนเซ็ปต์ มองโลกทั้งโลก ผมก็คิดว่าหนังสือบางอย่างนี่มันยากที่คน ๆ หนึ่งจะเจาะลงไป ผมก็เลยทำหน้าที่ เลือกหนังสือพวกนี้มาวิจารณ์ คนพวกนี้ก็จะอ่านวิจารณ์ตามภาวะกว้าง ๆ ทั่ว ๆ ไป ดังนั้นการวิจารณ์หนังสือของผม จะเป็นหนังสือที่ไม่ใช่แค่วรรณกรรมอย่างเดียว เป็นหนังสือที่ให้ความคิดมากขึ้น ซึ่งคนอ่านเขาอ่านแล้วเข้าใจก่อน และก็เก็บประเด็นอะไรต่าง ๆ มาบ่งชี้ หรือมาเสนอแนะ ให้คนได้อ่านแล้วประทับใจ และก็มีความรู้สึกว่า ในวงการภาพยนตร์จะมีหนังสือวิจารณ์หนังเยอะแยะไปหมด ซึ่งที่วิจารณ์นี้จะมีแก่นสาระอะไรบางส่วน และในนี้ก็พยายามจะเจาะลึกลงไปทั้งหมด ถ้าไม่มีโอกาสไปอ่านหนังสือเล่มนั้นก็อ่านแค่ตรงนี้ก็พอจะได้คอนเซ็ปต์ทั้งหมด ทีนี้ก็มีความรู้สึกว่าน่าจะรวมเล่มสักเล่มหนึ่ง ใช้ชื่อ A Zero of life ชื่อฝรั่ง ผมชอบชื่อนี้มาก เพราะว่ามันได้อารมณ์ และรุกเร้าดี เวลาท้อแท้สิ้นหวังเท่ากับศูนย์ เราเริ่มต้นชีวิตมาก็เหมือนศูนย์ แต่เราก็ค่อย ๆ มาสร้าง มาเสริม มาเรียนรู้จนเราเติบโตขึ้น จากศูนย์เป็นหนึ่ง ชีวิตก็วนเวียนมาที่ศูนย์ พอเราท้อแท้ก็ติดลบทันที

แต่ทั้งหมดนั้นก็คือ ให้ข้อคิดเกี่ยวกับความเป็นหนึ่งในชีวิต ความเป็นหนึ่งกับธรรมชาติ ถ้าเราไม่กระจัดกระจาย ไม่ฟุ้งซ่าน สับสน แล้ว เรามีความเป็นหนึ่ง มันก็สบายใจ เรามองแม่น้ำ เราเห็นภูเขา มีความสุข เราก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ นี่เป็นเรื่องของการรับรู้ในความรู้สึกของเราว่า จริง ๆ เราไม่ต้องไปอ่านหรอก ตำราศาสนาอะไรมากมาย ไม่ต้องไปเข้าวัดอะไรมากมาย แต่ทั้งหมดนี้เราได้เรียนรู้ แม้กระทั่งหยุดอ่านหนังสือเพียงเล่ม ก็ทำให้เราได้อะไรขึ้นมา แก้ไขอะไรได้ นี่เป็นจุดมุ่งหมายในการตั้งสำนักพิมพ์ขึ้นมา เพราะว่าที่ไหนคงไม่พิมพ์ให้เรา ผมรู้ว่ามันค่อนข้างยากพอสมควร เดี๋ยวนี้ต้องขายได้ แน่นอนต้องเป็นดาราอะไรต่าง ๆ ผมคิดว่าหนังสือพวกนี้ใช้งานนาน พิมพ์มาทีก็พอขายได้ในช่วงระยะเวลานั้น ถ้าสามารถพิมพ์ 2 ครั้งได้ มันก็น่าจะขายได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลานิดหนึ่ง

ต่อไปคิดว่าจะมีผลงานของนักเขียนท่านอื่นไหม
มีครับ ผมก็คิดว่าจะต้องสร้างงานอย่างอื่นด้วย งานของนักเขียนหลาย ๆ คนที่ผมคิดว่า เขาอาจจะไม่ได้รับเลือกจากงานในลักษณะวัฒนธรรมป๊อบปัจจุบันหรือเอาความยอดนิยมเป็นหลัก แต่พวกนี้ผมพยายามจะระดมทุนเพื่อให้โอกาสหนังสือเหล่านี้ได้ออกมา ผมมองตามที่สำนักพิมพ์ของมูลนิธิโกมลคีมทองที่ผมเคยอ่าน เขาพยายามสร้างหนังสือพวกนี้ เป็น Spiritualistic เป็นเรื่องของจิตวิญญาณ ผมว่าโลกกำลังต้องการ แต่มันกลับขาด ผมคิดว่าเราน่าจะทำขึ้นมา มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งที่ผมจะทำคือเรื่อง "เสียงกล่อมโลก" เป็น Quotation ของนักเขียนไทยทั้งหมด ตั้งแต่ยุค ในช่วง 100 ปี ตั้งแต่เทียนวรรณถึงปราบดา หยุ่น ก็จะมีหมดทั้งในแง่ของชีวิต มีความเจ็บปวด การแก้ไข ปัญหาในทุกแง่มุม สังคม เศรษฐกิจ การเมือง ปรัชญาชีวิต ความดิบ สัญชาตญาณ หลาย ๆ อย่าง นักเขียนเขียนไปเขาอาจจะไม่รู้ ผมทำงานวิจารณ์ ผมก็ชอบอย่างนี้ อ่านหนังสือทีก็จดไว้ พอถึงวันนี้ 20 ปีมันเยอะมาก ผมก็ใช้วิธีนี้ตลอด ก็ลองมาพิมพ์ เขียนบทวิเคราะห์อะไรหน่อย ดูดีมาก เพราะบางทีลักษณะแบบนี้เราได้จากฝรั่ง เราได้ความคิดของอัลแบร์ กามูส์, ฌอง ปอล ชาร์ต, โสเครติส, อริสโตเติล จริง ๆ คนไทยเราก็มีแง่ความคิดที่ดี ๆ และก็สื่อกับเราได้ชัดเจน เพียงแต่เรามองข้าม แม้กระทั่งความคิดในบางกรอบ นสพ. นิตยสาร ผมยังจดไว้ แต่ก็คิดแล้วล่ะว่าจะไปเสนอที่ไหนล่ะ ไม่มีใครรับ เราก็ทำเอง งานนี้ก็สนุกดีครับ ถ้าไม่บอบช้ำนักในเชิงธุรกิจ ผมก็คิดว่าจะพยายามหมุนเงินให้ได้

แล้วผลงานเร็ว ๆ นี้ของอาจารย์ที่ออกมาล่าสุดคือเรื่องอะไรคะ
อันนี้แหละครับ "ความเป็นหนึ่งของกันและกัน" แต่จะมีนิยายคล้าย ๆ ประวัติศาสตร์ คือนิยายนี่เขียนไว้นานแล้ว แต่ผมจบไม่ได้ ผมขึ้นไว้นานแล้ว เพราะว่าลักษณะนั้นในแง่มุมบางอย่าง ผมว่ามันยังไม่ใช่ เมื่อปี 36 ผมมีเรื่องสั้นเข้ารอบซีไรท์ ปี 37 มีนิยายเรื่องหนึ่งที่ค่อนข้างชอบแล้วดี แต่จบไม่ดีก็เลยค้างไว้ ตอนนี้มีความรู้สึกว่ามันต้องจบแบบนี้แหละ อันนี้เป็นความรู้สึกของการเติบโตมากกว่า เพราะบางทีเรามองโลกในตอนนั้นรู้สึกว่ามันยังคับแคบ โจทย์อย่างนี้ เราตอบคำถามของโจทย์ได้ไหม ยุ่งนักก็เลยค้างไว้ บทรองกับบทสรุป ก่อนจบซึ่งมันเป็นตอนสุดท้าย ตอนคลายปม บางทีตอนนั้นก็ดูเหมือนเรามองโลกในแง่ร้าย เป็นเรื่องของยุคสมัย พอถึงตรงนี้ผมเติบโตขึ้น รู้สึกคลี่คลายขึ้น เป็นงานที่เขียนไว้นานแล้วก็ต้องมารีไรท์ใหม่หมด ยกเครื่องใหม่หมด สัก 2 เดือน

เรื่องอะไรคะ
ชื่อ "เพลงฝันร้ายของความฝัน" ครับ แต่ก็ต้องค่อยว่ากันอีกที

ในฐานะที่อาจารย์มีโอกาสได้วิจารณ์หนังสือบ่อย ๆ ถ้าจะบอกว่าหนังสือเล่มหนึ่งดี อาจารย์คิดว่าหนังสือเล่มนั้นจะต้องเป็นยังไง
การวิจารณ์หนังสือในภาวะทั้งหมด มีทฤษฎีการวิจารณ์มากมาย แต่ว่าการวิจารณ์ที่มีคุณภาพที่สุดและถือว่าหนังสือเล่มนั้นมันควรต้องบอกต่อ มันคือหนังสือที่ส่อ สื่อให้เห็นผัสสะอะไรบางอย่าง ซึ่งเราสัมผัสมันได้เลย สัมผัสคือความรู้สึก ไม่ว่าจะแง่ใดก็ตาม ผมคิดว่าในประเทศไทยเราอาจจะมีความเข้าใจผิดบางอย่างว่า การวิจารณ์คือการซ้ำเติม คือการวิพากษ์ให้เห็นข้อถูกหรือผิดไปเลย รู้สึกภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้วิจารณ์คนไปในทางไม่ดี เริ่มต้นผมก็มีความรู้สึกอย่างนั้น เมื่อก่อนผมเริ่มต้นวิจารณ์หนัง วิจารณ์ของเชิด ทรงศรี ค่อนข้างจะแรงมาก รู้สึกภูมิใจเหลือเกินที่ได้วิจารณ์งานของคุณเชิด ทรงศรีว่ามีข้อบกพร่อง ตอนหลังมีความรู้สึกว่ามันไม่ใช่แล้ว ชี้ให้เห็นว่าถ้าเราไม่ได้เห็นจุดดีแล้วจะไปวิจารณ์จุดด้อย แต่ถ้าเราเห็นทั้งสองด้าน มันต้องมีอะไรในงานชิ้นนี้ ไม่มีก็อย่าไปพูดถึงมันมากมากยกเว้นจะมีใครถามว่าเรื่องนี้มันเป็นยังไง มันไม่ดียังไง แม้ว่าหนังสือมันจะมีข้อด้อยต่าง ๆ แต่จุดดีก็ต้องทำให้คนอ่านอิ่มเอม อย่างแรกคือผมอิ่มเอมก่อน ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่อุบัติขึ้น ดูเหมือนว่าจะเป็นครั้งแรก ผมไม่เคยรับรู้สิ่งนี้มาก่อน

ผมได้เรียนรู้จากหนังสือเล่มนี้และผมคิดว่าคนอื่นที่ได้อ่านงานวิจารณ์ก็ได้เรียนรู้ อย่างงานที่ผมเอามา "ความเป็นหนึ่งของกันและกัน" ก็มีลักษณะแบบนี้ เขาอ่านแล้วจะรู้สึก อ๋อ นี่เป็นหนังสืออย่างนี้ ตัวอย่างสมมติเราอ่าน "เจ้าชายน้อย" เราสามารถบอกต่อได้เลยว่า เจ้าชายน้อย เป็นอย่างนี้ ๆ มันสามารถทำให้เราได้เข้าใจภาวะของความมีตัวตนมากขึ้น อย่าไปหลงตัว อย่าไปทำตัวเป็นนักวิชาการอะไรมากมายเลย ถึงเวลาจุดหนึ่งก็เป็น Single man เป็นคนสามัญ นี่แหละครับหนังสือพวกนี้มันสามารถสัมผัสเราได้ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือทางด้านฮาวทู หนังสือวิชาการล้วน ๆ เป็นสังคม การเมือง เศรษฐกิจ

ทุกอย่างมันสามารถบอกเราได้ในหนังสือเล่มหนึ่ง แม้กระทั่งเรื่องของชนเผ่า ชนกลุ่มน้อย อินเดียนแดง มันก็บอกเราได้ ผมยังดีใจว่าครั้งหนึ่งเคยวิจารณ์ "ลิตเติ้ลทรี" ผมไปได้หนังมาก่อนได้หนังสือ ไม่มีใครรู้จักเชโรกี ไม่มีใครรู้จักฟอเรสต์ คาร์เตอร์ คนที่ถูกใจลิตเติ้ลทรีมีอะไร ทำไมเราถึงชอบหนังสือเล่มนี้ สุดท้ายหนังสือเล่มนี้ขายหมด จากผลการที่เราไปพูด เขาก็เชิญผมไปเสวนาต่อ เข้าใจว่าวิถีชีวิตแบบเชโรกี การเคารพธรรมชาติ การเรียนรู้ซึ่งกันและกัน อย่างนั้นล่ะครับ เขาบอกต่อ และผมเห็นว่ามันได้ผลจริง ๆ หนังสือเล่มนี้มีไม่พอขายวันที่มีงาน มีการพิมพ์หลาย ๆ ครั้ง มีการพูดถึงสมัยหลังว่าชอบหนังสือเล่มนี้กัน หนังสือของโกมลคีมทอง ก็จะต้องอยู่ในพื้นที่ของเขา ได้รับการพูดถึงมากมาย ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดอยู่เหมือนกันในวงการบ้านเราพอสมควร ถ้าเกิดใครสักคนมีผัสสะที่ดีมีสัมผัสที่ดี พูดถึงโกวเล้ง ก็สามารถบอกได้ว่าเล่มนี้เป็นอย่างไร มันให้อะไรแก่เรา มากกว่าที่จะบอกว่าเรื่องนี้มันสู้กันยังไง

คือการคัดเลือกต้องมีประเด็นที่น่าสนใจ
มีประเด็นที่น่าสนใจและสามารถจะสัมผัสเราได้ ผมใช้คำว่า รู้สึก รับรู้ ผมรู้สึกอย่างนี้ ผมรับรู้ ผมก็ตั้งคำถามว่าเราได้เรียนรู้จากหนังสือก่อน จากนั้นจึงค่อย ๆ ตีความแล้วก็เผยแพร่ ถ้าผมไม่รู้สึกกับมันอย่าไปวิจารณ์มันเลย เพราะถ้าวิจารณ์ออกไปเราก็เป็นอคติแล้ว ชอบไม่ชอบ นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผมอาจไม่ชอบเป็นการส่วนตัวแต่งานมันออกมาดี อย่างฟอเรสต์ คาร์เตอร์ ที่ผมพูดถึง ลิตเติ้ลทรี จริง ๆ เขาเป็นคลู คลักซ์ แคน เป็นคนที่ฆ่าคนผิวดำมาก่อน สุดท้ายหนังสือเล่มสุดท้ายในชีวิตกลับเป็นหนังสือแบบนี้ หลายคนชื่นชมลิตเติ้ลทรี คิดว่าคนเขียนต้องเป็นคนที่เคยมีประวัติดีงามเหมือนในหนังสือมาตลอด ผมสนใจนะว่าคนที่เป็นคนฆ่าคนดำมาตลอด คลู คลักซ์ แคน เป็นคนล่า เป็นคนเหยียดผิวที่สุดในอเมริกา แต่ที่สุดอะไรทำให้เขากลับใจตรงนี้ได้ เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะฉะนั้นชีวิตมนุษย์เบื้องหลังของวรรณกรรมน่าสนใจกว่า ผมมองไปถึงตรงนั้นด้วยนะครับว่า มันมีแง่มุมอะไรบางอย่าง

ในฐานะที่อาจารย์ได้เป็นกรรมการคัดเลือกซีไรท์อย่างสม่ำเสมอ ในทัศนะของอาจารย์มองวรรณกรรมไทยเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าเทียบกับวรรณกรรมแปลที่ตอนนี้ออกมามากเหลือเกิน
พูดตรง ๆ เรายังไม่อ่านหนังสือกันมาก นักเขียนต้องอ่านหนังสือมาก ผมไม่แน่ใจว่านักเขียนบ้านเราอ่านหนังสือมากหรือเปล่า นี่เป็นเรื่องหนึ่ง แล้วก็ผู้เขียนต้องมีความใกล้ชิด หรือองค์ประกอบของการรับรู้ในโครงสร้างของศิลปะ คม ให้มากกว่านี้ เราจะขาดมุมมอง เราจะขาดวิธีคิด เราจะขาดมิติแห่งการรู้ ซึ่งหนังสือต่างประเทศ หนังสือแปล หนังสือนิทานเล็ก ๆ ดูเหมือนเป็นหนังสืออ่านเล่นของเด็ก แต่อย่าลืมว่าเด็กเขาถือว่าเด็กเป็นผู้ใหญ่ตัวเล็ก ๆ มันก็มีมิติความคิดค่อนข้างสูง อินโดนีเซียหรือมาเลเซีย ความคิดในแง่ของความเป็นมนุษย์ แง่ของสังคม เขาก้าวล้ำไปกว่าเรา 30 ปี วิธีคิดเขาไปไกลกว่าเรา อินโดนีเซียเขาได้โนเบลแล้วของปราโมทยา ของไทยยังไม่ได้ ยังอีกนานมาก เพราะเราอ่านหนังสือน้อย หรืออ่านก็อ่านอยู่กลุ่มเดียว นักเขียนเราก็ยังอีกนาน ปีนี้เป็นปีหนึ่งที่ถือว่าค่อนข้างดี ดูคุณอัญชันเขียน คุณอัญชันไปอยู่อเมริกา ความก้าวหน้าเขาไปไกลกว่านักเขียนไทยหลายเท่า นักเขียนไทยยังจมอยู่เลย พูดถึงความจน พูดถึงปัญหา พูด ๆ ๆ เพื่ออะไร ปีนี้ดีเพราะมีงานท้องถิ่น หลาย ๆ เรื่องที่พยายามสะท้อนภาพ แน่นอนสะท้อนภาพของท้องถิ่น แต่ว่าเขามีวิธีการเขียน มีทัศนะความเชื่อ ศรัทธาอะไรบางอย่าง ทำให้รูปลักษณ์ของวรรณกรรม แปรไปตามเงื่อนไขของเรื่องราวหรือสาระ

นักเขียนไทยที่ถือว่าจุดอ่อนมากที่สุดคือ 1. ไม่มีวิธีคิด ไม่มีวิถีทางความคิดเท่าไร ถึงใครจะบอกว่าจบอะไรมาก็ตามไม่สำคัญ 2. เรามีวิธีการเขียน วิธีการถ่ายทอดค่อนข้างน้อย ถึงบอกว่าจะเล่าแบบธรรมดาก็ธรรมดาเกินไป อันนี้เป็นจุดหนึ่งครับที่เราต้องใคร่ครวญกัน มันอาจจะเป็นระบบการศึกษาในบ้านเรา ที่สอนการเขียนแล้วผู้เขียนเองก็มีทฤษฎีเดียว มีโครงสร้างเดียว ช่องทางเดียว เราก็ก้าวหน้าลำบาก เรื่องนี้สำคัญ ไม่ใช่ว่าจะหยิบปากกาเขียนว่าเรื่องสั้นต้องมีกี่พันคำ นวนิยายต้องเป็นอย่างนี้ พล็อตหมายความว่ายังไง ความคิดมีแค่นี้เป็นทฤษฎี มันต้องมีอะไรอีกมากมาย ที่ต้องมองในความซับซ้อนของมัน การหยิบยกประเด็นของเรื่อง เมืองไทยไม่ได้มี Story ที่ไม่ดี แต่พอมาวางเป็นพล็อตแล้วมันเป็นพล็อตที่ไม่ดี เอามาวางเป็นโครงสร้างของนิยายมันไม่ดี โกวเล้งมีอะไรบ้าง แก้แค้นอย่างเดียว แต่ ณ ที่นั้นมันมีความเหงา ความโดดเดี่ยว การที่คน ๆ หนึ่งต้องมีชะตากรรมที่ต้องโกหกตลอด เราอ่าน "มังกรหยก" คนต้องโกหก บางทีชะตากรรมของมนุษย์ เงื่อนไขจำเพาะบางอย่างต้องโกหก

ตอนนี้เมืองไทยกำลังคิดว่าใครก็เขียนหนังสือได้ จริง ๆ ไม่ใช่ มันทำให้เกิดความเข้าใจผิด ผมได้คุยกับคุณบัณฑิต อรดี ว่า แค่หน้าแรกของ "ปีกความฝัน" ใช้กระดาษอยู่ 108 แผ่น เขาเป็นนักเขียนเก่า ก็พยายามเปิดเรื่องให้มันดี ให้รู้สึกว่าการเปิดเรื่องต้องน่าสนใจ ต้องมีแก่น แต่เดี๋ยวนี้เขียนอะไรไม่รู้ออกมาและขายได้ด้วย พิมพ์ออกมา 10-20 ครั้ง มันก็น่าตกใจเหมือนกัน

อยากเห็นวงวรรณกรรมบ้านเราเป็นยังไงบ้าง?
ผมอยากให้วงวรรณกรรมบ้านเราเติบโตจริง ๆ มีรากฐานจริง ๆ มีความ "จริงจัง" และ "จริงใจ" ศัพท์ตัวนี้สำคัญมาก คือทำงานจริง ๆ มีความทุ่มเทในการทำงาน มีการรอบรู้ว่าข้อมูลในการเขียนของเราไม่ใช่ได้มาโดยการคิดฝันหรือจินตนาการอย่างเดียว แท้จริงจินตนาการก็เกิดจากประสบการณ์ ประสบการณ์การอ่าน การเป็นผู้ค้นหา เป็นผู้สังเกตการณ์ เป็นผู้แสวงหา เป็นเรื่องสำคัญมากครับ เราอาจได้ประสบการณ์การเดินทางจริง ๆ เหมือนนักเขียนบางคนที่เดินทาง อย่างคนที่เขียน "The Beach" ขึ้นมาที่ถนนข้าวสาร เดินทางไปในเกาะต่าง ๆ ตอนหลังเขาก็มาเขียนสวนอีเดนใหม่ เป็นนวนิยายเรื่อง The Beach เราอาจไม่ถึงขนาดนั้น แต่ขอให้อ่านหนังสือให้มาก ๆ มันก็เป็นประสบการณ์โดยอ้อม เราเปิดตัวในเชิงประสบการณ์ จินตนาการก็เหมือนกัน กว่า เจ.เค.โรลลิ่ง จะเขียนเรื่องออกมาสักเรื่องหนึ่ง แน่นอน เขาต้องมีจินตนาการ มีประสบการณ์ เขาต้องรู้สึกว่าความทุกข์มันเป็นอย่างไร ความเศร้าเป็นอย่างไร เจ.เค.โรลลิ่งมีตรงนั้น กว่าเธอจะเขียนหนังสือได้ต้องไปอยู่ในร้านอะไรสักอย่าง เพราะอยู่ในบ้านก็ไม่ได้ บ้านมันชื้นเหลือเกินเขียนหนังสือไม่ได้ กว่าจะมีแฮร์รี่ พอตเตอร์ที่โด่งดัง

นักเขียนไทยปัจจุบันสบายจะตาย มีห้องดี ๆ มีห้องแอร์ คุณไม่มีทางเขียนเรื่องอะไรที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับมนุษย์และโลกภายใต้เงื่อนไขที่อยู่ในโรงแรมหรู ๆ ในแมนชั่นดี ๆ แน่นอนคนเราอยากมีความสบาย แต่ว่าก่อนหน้านี้คุณต้องลงไปหาอะไรสักอย่างที่มันจะเป็นการเขียนที่ต้องเข้าใจ ถ้าเขียนเรื่องมนุษย์คุณต้องรู้จักมนุษย์ เขียนเรื่องโลกคุณก็ต้องรู้จักโลก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตามแต่ ซึ่งมีมากมายครับ อ่านหนังสือพิมพ์แค่ข่าวสุดท้ายบางเรื่องเราก็ยังคลำ ๆ มันยังมีอะไรอีกมากมายในนั้นที่เราจะต้องรู้ว่านี่เป็นเรื่องจริง คุณอาจจะเจอข่าวแปลก ๆ ในสังคมก็ได้ นี่เป็นเงื่อนไข นักเขียนไทยต้องเป็นแบบนี้ และข้อสำคัญที่สุด จะไปโทษนักเขียนไทยก็ไม่ได้

เพราะเขาเติบโตมาในวงจรอย่างนี้เพราะว่า หลังจากออกจากครอบครัวไปแล้วก็เข้าไปในโรงเรียนเป็นส่วนใหญ่ อยากให้ครูอ่านหนังสือมากขึ้นกว่านี้ ป่านนี้ผมไม่รู้ว่าครูในประเทศเราจะรู้หรือเปล่าว่า ซีไรท์คืออะไร 7 เล่มสุดท้ายของซีไรท์คืออะไร ผมเคยเจอคนสอนวรรณกรรมแล้วถามว่า ซีไรท์ประกาศแล้วหรือ ตกใจเลย คิดว่าคุณสอนได้ยังไง ผมไม่ได้สอนวรรณกรรมโดยตรง แต่ผมเป็นคนที่ศึกษาวรรณกรรม ตราบใดที่คนไทยอ่านหนังสือพิมพ์โดยการอ่านเรื่องย่อของละครก็ยังอีกนาน จะข้ามไปไกลถึงตรงนั้นก็ลำบาก ขายหนังสือได้ 2,000 เล่ม หมดหรือเปล่า

วรรณกรรมไทยเรื่องไหนบ้างที่อาจารย์อยากให้สร้างเป็นภาพยนตร์เป็นพิเศษ
มากมายครับ ตราบใดที่หนังไทยเรายังสร้างแก้วหน้าม้า สร้างพระอภัยมณี ผมเคยคุยกับผู้กำกับใหญ่สมัยก่อนเคยคุยกับคุณโภคกุล ชัยอรุณ เขาบอกเมืองไทยไม่มีเรื่องที่จะเอามาทำเป็นหนัง ผมบอกเมืองไทยนี่มหาศาล ถ้าดูหนังที่เป็นหนังยอดเยี่ยม หนังเมืองคานส์ หนังที่ได้รางวัล หนังอาร์ททั้งหลาย บ้านเรามีเรื่องมากมาย หนังเกาหลีที่เข้ามาบ้านเราปัจจุบันนี้ ของคุณเรวัตรก็มีตั้งหลายเรื่อง อย่าง "เรื่องเล่า สายน้ำและความตาย" "อุปจารีย์ผู้หลงลืมเลขที่บ้านของตัวเอง" มันเป็นหนังได้ทั้งนั้น "ตลิ่งสูงซุงหนัก" ผมใฝ่ฝันเหลือเกินอยากจะทำ เรื่องของคุณอัญชันตั้งหลายเรื่องผมนำไปทำละครหมด ผมเป็นคนทำละครจากวรรณกรรมมากที่สุดเลยในละครเวที มันจะเป็นอย่างนี้แล้วครับ มีทั้งวีดีโอ การตีความ มีทั้งหมดที่จะบอกถึงบทละครที่ทำ ของคุณอัญชัน ผมทำมาหลายเรื่องอย่าง "สยามภาค" "จุดเยือกแข็ง" "โลกคู่ของใหม่" กำลังจะทำ "การประเมินค่า" "คนนอกใบลาน" ทำมาหมดทั้งนั้น พวกนี้ทำไมจะเป็นหนังไม่ได้ ถามว่าวงการหนังบ้านเราต้องการอะไร ไม่รู้ครับ ต้องการหนังซ้ำ ๆ เก่า เพื่อโชว์ว่าบ้านทรายทองทำกี่ครั้ง ดาวพระศุกร์ทำกี่ครั้งแล้ว จริง ๆ บ้านเรามีงานดี ๆ อีกมากมายที่สามารถทำได้ เรื่องของคุณมนัส จรรยงค์ "ดอกแคแดง" ของคุณมาลัย ชูพินิจ เรื่อง "ปานยอดกล้วยของความใฝ่ฝัน"

ผมอยากทำ มีเพื่อนที่เป็นฝรั่งบอกว่า ถ้ายูจะให้หนังไทยได้ออสการ์ลองไปเอาปานยอดกล้วยฯ มาทำ สุดคลาสสิกเลยครับ มีทั้งหมดอยู่ในนั้น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความหวาดหวั่น สิ่งที่เรายังไม่รู้มันคืออะไรในชีวิตเรา แต่นั่นแหละครับ วงการบ้านเรามันก็ห่างไกล วงการหนังบ้านเราก็ตอบคำถามได้ระดับหนึ่งเหมือนกัน ก็จะเห็นผีหัวขาด ตะเคียน กลับมาอีกแล้ว ทำไมต้องกลับมาผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน แล้วเรื่องพวกนี้จะมีโอกาสหรือเปล่า คนนอกใบลาน ที่วิพากษ์วิจารณ์ศาสนาของคุณอัญชัน ตอนนี้ผมรับเป็นวิทยานิพนธ์ มันมีอะไรมากมาย ตราบใดที่เป็นละครได้มันก็ต้องเป็นหนังได้ เพราะว่าละครมันสุดคลาสสิกที่สุดแล้ว มันสามารถสร้างเป็นบทละครเวทีได้ ทุกอย่างมันก็สามารถจะทำได้

อย่างนี้มันก็โยงถึงว่าผู้กำกับผู้เขียนบทก็ยังอ่านหนังสือน้อย
ใช่ครับ เราอ่านหนังสือน้อย คนเขียนบทยังมีน้อย เราก็ตีค่าบทเป็นเพียงแค่อุปกรณ์การถ่ายทำชนิดหนึ่ง ไม่ได้ถือว่าบทหนึ่งเป็นวรรณกรรม สร้างมาจากวรรณกรรม ต้องสำนึกในอำนาจวรรณกรรม ไม่ใช่พอได้บทมาก็ต้องมาทำให้เป็นองค์ประกอบศิลป์หรือเปล่า ก็ต้องพูดแบบนั้น เรื่องนั้นเป็นเรื่องที่เอามาจากหนังสือ แต่เราต้องเล่าเรื่องแบบหนังก็ต้องมาสร้างองค์ประกอบด้านหนังแล้วแต่ความเชี่ยวชาญ จุดอ่อนแม้อย่าง "จันดารา" ออกมาอย่างที่เห็น ถ่ายเซ็กส์กัน เสียดายเรื่อง แค่เขาเอา "สนิมสร้อย" มาทำ แล้วมีวงเล็บว่า "มหากาพย์แห่งกะหรี่" อย่างนี้มันก็แย่แล้ว มันไม่เกี่ยวเลย ไม่ใช่เป็นเรื่องของการเอาโสเภณีมาทำอะไรขนาดนั้น สนิมสร้อยมันคลาสสิกจะตาย ของคุณรงษ์ วงศ์สวรรค์ มาทำมหากาพย์แห่งกะหรี่ ราคามันตกเลย ผมอ่านสนิมสร้อยไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง ตอนนี้จะเอาคำว่ามหากาพย์แห่งกะหรี่ออกแล้วครับ ก็จะขายกันดิบ ๆ ขายชาวบ้านชาวช่อง มีกะหรี่กี่คนก็ยัดเข้าไป มันก็เท่านั้นเอง ไปดูโป๊กันมันจะได้อะไร โป๊แบบลาเวร่าของเกาหลี มีนัยยะ มีความหมายมากมาย มีอะไรในบทโป๊มากมาย มากกว่าจันดาราที่เป็นการมีเพศสัมพันธ์แบบหนังเอ็กซ์ มันไม่เกี่ยวกันเลย ประเด็นของเรื่องก็คือการวิพากษ์อย่างหนักว่าสังคมศักดินา พวกเจ้าพวกนายทั้งหลายแหล่มันหมกมุ่นกับเรื่องนี้อย่างเดียว และใช้เซ็กส์เป็นอำนาจ เซ็กส์สามารถทำให้ใครมีอำนาจไปย่ำยีคนอื่นได้ อะไรพวกนี้มันเป็นคำตอบ แต่ว่าหนังตีออกมาไม่แตก คือได้เรื่องดีแล้ว

ไม่ทราบว่าเวลาว่าง ๆ อาจารย์ชอบทำอะไรเป็นพิเศษบ้างคะ
ผมเล่นดนตรี ดูหนังค่อนข้างมากแต่ก่อนก็ต้องดูหนังวันละเรื่อง เดี๋ยวนี้ไม่ไหวแล้วดูหนังแล้วจะหลับ อ่านเรื่องสั้นวันละเรื่องแน่นอน หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ฟังเพลง ความรู้สึกจริง ๆ ผมเป็นนักดนตรี แต่ก่อนเล่นดนตรีมาตลอด มีความรู้สึกว่าตัวเองเป็นมากกว่านักเขียนอีก ชอบร้องเพลง เล่นกีตาร์ เล่นเปียโน

ชอบแนวไหนคะ
เล่นได้ทุกแนวครับ ก็เหมือนหนังสือนี่แหละ จะมีเต็มไปหมด ลูกชายผมเล่นดนตรีมาตั้งแต่ 4 ขวบ อายุ 12 ก็ไปได้รางวัล ตอนนี้อายุ 14 กำลังทำเทป ก็อยู่ในวงจรชีวิตแบบนี้ นั่นคือมีความสุขที่สุดแล้ว และก็เดินทางไปชิมอาหาร ชอบมากครับ มีความสุขที่สุด กินโน่นกินนี่ ถึงได้อ้วนไง ก็เป็นความสุขอย่างหนึ่ง ใครก็รู้ว่าผมจะชอบไปร้านอาหารต่าง ๆ นั่นล่ะครับ ผมมีความสุขมากที่ได้เล่นดนตรี และจะลืมโลกลืมอะไรไปเลย ที่บ้านก็มีกีตาร์ มีเปียโน ไวโอลิน อาจเป็นเพราะในสมัยผม ผมเล่นดนตรีมาตั้งแต่เล็กมาก แต่ผมไม่มีวิชาดนตรีเรียน มาอยู่ศิลปากรก็มีแต่โครงการจัดตั้ง เลยต้องมาเรียนทางด้านศิลปะละคร เสียดายมาก แต่ผมก็ค่อนข้างรักและก็มีโอกาสได้ไปตัดสินรางวัลพิฆเนศทองคำอะไรต่าง ๆ หลายคนบอกทำไมผมไปยุ่งหลายวงการเหลือเกิน

วาดรูปบ้างหรือเปล่าคะ
วาดบ้างแต่ไม่เก่ง ดีไซน์ได้ ถึงตอนนี้สู้เด็กไม่ได้แล้วครับ ลูกเขาดีไซน์เก่งกว่าเราเยอะ รู้สึกว่าช้ากว่า

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ