ทองแถม นาถจำนง : คัมภีร์พิชัยยุทธสงคราม สามก๊ก

ทองแถม นาถจำนง

หากใครที่ชอบอ่านคัมภีร์พิชัยยุทธสงคราม สามก๊ก คงจะคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับนามปากกา "โชติช่วง นาดอน" ก่อนชื่อ "ทองแถม นาถจำนง" นักคิด นักเขียน และนักหนังสือพิมพ์ ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการน้ำหมึกมานานหลายปี

ช่วงชีวิตของคนเราในแต่ละห้วงเวลา มักมีจุดของการหักเห และจุดหักของชีวิตนั้นคงไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าใครคือผู้กำหนด….ชีวิตของคุณทองแถม นาถจำนง ก็เช่นกันเหมือนมีใครมากำหนดเส้นทางเดินให้ ตั้งแต่เมื่อครั้ง 6 ตุลาคม 2519 ที่เส้นทางเดินของเขาต้องระหกระเหินหนีเข้าป่า และถูกส่งตัวไปเรียนแพทย์ ใช้ชีวิตอยู่เมืองจีนนานถึง 5 ปี ที่นี่เองที่ทำให้เขาได้เรียนรู้ภาษาจีน

หลังจากที่รัฐบาลไทยมีนโยบายให้นักศึกษาที่หนีเข้าป่ามอบตัว เขาถึงได้กลับมาบ้านเกิดเมืองนอนอีกครั้งและมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะเทคนิคการแพทย์จนจบได้รับปริญญา หันเหชีวิตมารับราชการอยู่ที่กระทรวงยุติธรรมไปพร้อม ๆกับการแปลหนังสือ เริ่มต้นด้วยบทกวีของจีน ในนาม"โชติช่วง นาดอน"

"ผมแปลบทกวีตั้งแต่อยู่เมืองจีนแล้ว แปลไปแปลมามันขายไม่ค่อยได้ กวีก็รู้ ๆกันอยู่ ก็เปลี่ยนมาแปลปรัชญาจีน เพราะผมชอบปรัชญาเป็นทุนเดิมตั้งแต่เด็ก ก็ขายไม่ค่อยดีอีกเพราะตลาดมันแคบ จากนั้นก็หันมาแปลตำราพิชัยสงคราม มันสามารถนำมาประยุกต์กับการบริหารสมัยใหม่ได้ ตลาดหนังสือแนวนี้ตอบรับดีมาก พอเริ่มมีงานแปลมากขึ้น มีคนรู้จักมากขึ้น และมั่นใจว่าชีวิตสามารถออกมาโลดแล่นได้แล้วผมจึงลาออกจากงาน"

ในทีสุดคุณทองแถม ก็เดินเข้ามาสู่ถนนสายน้ำหมึกอย่างเต็มตัว

"สำนักพิมพ์ดอกหญ้ามาชวนให้ผมไปทำโครงการหนังสือแปลร่วมกัน ช่วงนี้ผมก็ทำหนังสือแปลออกมาเยอะมาก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการบริหาร โดยนำเอาของโบราณมาประยุกต์ มีทั้งแปล และเรียบเรียงกันขึ้นมาใหม่ ผมเริ่มใช้ชื่อจริงในการเขียนหนังสือ และเป็นช่วงที่ผมสร้างนักแปลขึ้นมาหลายคนทีเดียว ผมทำอยู่ประมาณ 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี2531 ถึง 2535 ชีวิตผมมันเป็นจังหวะที่พอดีกันหลายจังหวะนะ เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ หนังสือพิมพ์สยามรัฐเกิดการเปลี่ยนแปลง ผมสนิทสนิมกับพี่อัศศิริ (อัศศิริ ธรรมโชติ) แก่ก็ชวนผมเข้ามาดูแลบทความในสยามรัฐ ทำให้ผมก้าวมาสู่วงการหนังสือพิมพ์…."

ชีวิตนักหนังสือพิมพ์ของ ทองแถม นาถจำนง จึงเริ่มต้นเมื่อปี 2535 หลังพฤษภาทมิฬ และทำเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

" ผมไม่เคยคิดว่าจะเข้ามาทำงานหนังสือพิมพ์เลย แต่ด้วยเป็นคนที่ชอบการเรียนรู้ อย่างสำนักพิมพ์ผมก็ทำกับดอกหญ้า เปิดสำนักพิมพ์ใบบัวของตัวเองก็ทำมาแล้ว ทำจนเจ๊งมากับมือ(หัวเราะ) พอพี่อัศศิริมาชวนทำสยามรัฐก็เลยอยากเรียนรู้งานหนังสือพิมพ์รายวัน แต่ไม่คิดว่าจะทำยาวนานขนาดนี้ เพราะรู้ว่างานหนังสือพิมพ์มันหนักและกินเวลาเขียนหนังสือของผมด้วย

"หน้าที่หลัก ๆในสยามรัฐ ก็เริ่มจากดูแลบทความทั้งหมดก่อน เขียนบทความด้วย ต่อมาก็ขึ้นเป็นหัวหน้ากอง เป็นช่วงที่งานหนักมาก เพราะผมต้องประจำอยู่สำนักพิมพ์ โรงพิมพ์ ต้องเห็นหนังสือออกมาจากแท่นทุกคืน และในระยะหลังที่สยามรัฐมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ผมก็ต้องเข้ามาดูสยามรัฐรายสัปดาห์ด้วย ชีวิตก็เหมือนกับต้องกินนอนอยู่ที่สำนักพิมพ์เลย ช่วงนี้ผมทำหน้าที่เหมือนรักษาการเพื่อทำให้สยามรัฐอยู่ให้ได้ รู้ตัวว่าทำไม่ได้ดีสักเท่าไร แต่ก็พยายามประคองให้สยามรัฐไม่ล้มลงไป ผมทำอยู่พักหนึ่งจนมีการสืบถ่ายอำนาจกันชัดเจนขึ้นเขาก็จัดคนเข้ามาทำ "

"ชีวิตการเป็นนักหนังสือพิมพ์มันทั้งสนุก และเหนื่อย ที่สำคัญมันต้องมีกึ๊นมาก ไม่อย่างนั้นเราอาจจะตกเป็นเหยื่อของผู้ที่ต้องการจะใช้ให้เราเป็นเครื่องมือได้ ซึ่งเราต้องมีการพิเคราะห์พิจารณาข่าวที่เราได้มาอย่างรอบคอบ แต่การทำงานหนังสือพิมพ์มันดีอย่างหนึ่งนะ ในแง่นักเขียนคือข้อมูลเยอะมาก มีทั้งเรื่องราวที่ทำให้เราสะเทือนใจ ถ้ารู้จักจดจำ เขียนบันทึกไว้ มันจะเป็นแหล่งข้อมูลให้เราผลิตงานวรรณกรรมได้เยอะมาก แต่ข้อเสียก็มี คนทำหนังสือพิมพ์มักจะไม่ค่อยมีเวลามาทำงานวรรณกรรม บางคนเขาก็ทำได้นะ แต่บางคนก็ทำไม่ได้ ผมเขียนงานวันละ 2 ชิ้นนะ มันเหมือนจะง่าย ๆแต่ความจริงแล้วมันใช้เวลาคิดเยอะ อย่างบทบรรณาธิการเขียนทุกวัน - จะตายได้เหมือนกัน ถ้าเป็นที่อื่นเขาจะคุยกันในโต๊ะข่าว เลือกประเด็นว่าจะเขียนเรื่องอะไร แล้วก็หมุนเวียนกันเขียน แต่ที่สยามรัฐนี่ผมจะคิดและเขียนทั้งหมด

สำหรับประเด็นในการหยิบยกขึ้นมาเขียน อันที่หนึ่งคือจะต้องเป็นเรื่องที่อยู่ในสถานการณ์ และคนสนใจมาก ๆด้วย มันต้องเกาะไปกับข่าว อันที่สองคือจะต้องเป็นตัวสะท้อนจุดยืน ความคิดของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ เมื่อเนื้อหาออกสู่สาธารณะจะต้องเป็นเสมือนตัวแทนของหนังสือพิมพ์ทั้งฉบับ ของทุกคน ไม่ใช่เฉพาะคนเขียน จึงเป็นเรื่องที่ต้องคิดมากเหมือนกันว่าเราจะเขียนเรื่องอะไร อย่างเช่นเรื่องส่วยเราจะเขียนทุกวันได้อย่างไร ผมก็ต้องมาเล่นเรื่องพม่า ปัญหาในพม่า เพราะว่าอเมริกาบีบมาก อาเชียนจะทำอย่างไร ไทยเราจะทำอย่างไร เราจะนำข่าวมาเล่าอย่างเดียวไม่ได้ แต่เราจะต้องบอกรัฐบาลด้วยว่าควรจะทำอย่างไร...

การทำงานหนังสือพิมพ์สิ่งสำคัญคือต้องอ่านหนังสือมาก ต้องบริโภคข่าวสารอยู่ตลอดเวลา ทำให้ผมทำงานแปลน้อยลง ตอนนี้ผมต้องค้นหาเรื่องของอาจารย์คึกฤทธิ์ทุกวัน ผมเปิดคอลัมน์คึกฤทธิ์ปริทรรศน์ ก็จะหาข้อเขียนของท่านที่เคยเขียนไว้ในอดีต ที่ตรงกับสถานการณ์ขณะนี้ เช่นเรื่องส่วย เราก็ค้น ๆดูว่าท่านเคยเขียนถึงตำรวจว่าอย่างไร มันก็จะสนุก เพราะสยามรัฐขาดท่านคึกฤทธิ์ไม่ได้ แต่ผมก็จะเขียนเกริ่นนำให้รู้ถึงที่มาที่ไป ซึ่งปัญหาอย่างนี้มันเป็นเรื่องซ้ำซากในสังคมไทย ท่านคึกฤทธิ์เขียนวิจารณ์ไว้เมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว ...."

คุณทองแถมยังได้เล่าถึงบรรยากาศการทำงานนักหนังสือพิมพ์ยุคที่เต็มไปได้มิตรภาพพี่ - น้อง ที่นั่งพูดคุยกันในวงเหล้า พี่ หรือ นายก็จะเตือนน้อง แต่สมัยปัจจุบันนี้บรรยากาศเช่นนี้ไม่มีอีกแล้ว นอกจากการประชุมโต๊ะข่าวที่เต็มไปด้วยความเครียด และเต็มไปด้วยการแข่งขัน

"เหตุที่เป็นเช่นนี้ผมว่าเป็นเพราะการบริหารสมัยใหม่ มันทำให้เกิดความเหินห่าง ไม่ใกล้ชิดในแวดวงพี่ - น้องคนทำหนังสือเท่าที่ควร "

แม้จะไม่ค่อยมีเวลามากนักเนื่องจากงานหนังสือพิมพ์ในแต่ละวันรัดตัว แต่สำหรับงานแปลที่เป็นเสมือนลมหายใจก็ยังจะทยอยออกมาสู่นักอ่าน

" เรื่องงานแปลผมคงไม่ทิ้ง เป็นส่วนที่ยังต้องทำอยู่ ก็จะมีผลงานรวมเล่มที่เขากำลังทำอยู่ เป็นเรื่อง เซน แต่ยังทำไม่เสร็จนะ และที่กำลังทำอยู่อีกชิ้นหนึ่งคือนามานุกรมสามก๊ก ซึ่งมีประมาณห้าพันชื่อ ก็ไม่รู้ว่าจะใช้เวลากี่ปีถึงจะแล้วเสร็จ ตอนนี้ทำไปได้เกือบร้อยชื่อแล้ว แยกเป็นตัวละคร สถานที่ ผมจะเรียงมาตั้งแต่หน้าหนึ่งเลย เพื่อช่วยให้คนอ่านสามก๊กได้สนุกขึ้น "

และเมื่อเราถามว่า - ตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านกับเรื่องราวที่หักเหเข้ามาในชีวิตไม่ว่า - แพทย์ นักเขียน และนักหนังสือพิมพ์ อะไรคือสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็น....ทองแถม นาถจำนง

"นักเขียน นี่แหละคือตัวจริงของผม เพราะถ้าวัดกันด้วยมาตรฐานการเป็นนักหนังสือพิมพ์ผมไม่ใช่เลย ผมไม่ได้มาทางสายข่าวเลย มาทางสายบทความมากกว่า ช่วงที่ผมเข้ามาทำหนังสือพิมพ์ใหม่ ๆ ผมนั่งคุยกับพี่ธีรยุทธ บุญมี คุยกันเรื่องนั้นเรื่องนี้พี่ธีรยุทธก็จะพูดขึ้นมาว่า - คุณทองแถมอย่าเพิ่งเขียนข่าวนี้นะ คล้าย ๆ แก่ไม่ไว้วางใจเรา มองเราเป็นคนหนังสือพิมพ์ ผมก็บอกว่า - พี่ไม่ใช่นะ ผมไม่มีวิญญาณอะไรขนาดนั้น เพราะวิญญาณของการเป็นนักหนังสือพิมพ์ได้ยินได้ฟังอะไรมาไม่ได้นะ อย่าไปไว้ใจเขานะ เพราะหนังสือพิมพ์ต้องการความไว ที่เร็วและลึกกว่าคนอื่น ซึ่งนิสัยผมไม่เป็นเช่นนั้นเลย ทำให้เราคุยกับคนอื่น ๆ ได้อย่างสบายใจ ผมมีความสุขกับการเป็นนักเขียนมากกว่า..."

แม้คุณทองแถม จะไม่ใช่นักหนังสือพิมพ์โดยวิญญาณ หากเขาก็ฝากแนวคิดที่อยากให้สังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลง...

" ส่วนตัวผมมองว่าสังคมไทยตอนนี้น่าเป็นห่วง ต้องยอมรับก่อนว่าสังคมไทยเป็นทุนนิยม - ทุนนิยมมีด้านลบอยู่พอสมควร ไม่ว่ารัฐบาลไหน เพราะสังคมทุนนิยมไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเป็นธรรมชาติของมันได้พ้น เช่นมันจะเกิดการหมุนเวียนมาเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอีกจะเป็นเช่นนี้ตลอด ถึงตอนนี้ผมไม่ได้ปฏิเสธทุนนิยม ในอดีตผมอาจจะปฏิเสธ และพยายามที่จะเปลี่ยนสังคมให้เป็นอย่างอื่น โลก ณ ปัจจุบันเราต้องยอมรับและต้องอยู่กับสังคมทุนนิยม โดยส่วนตัวแล้วก็ยังต้องพยายามวิจารณ์ พยายามกระทุ้ง ให้รัฐบาลเลือกส่วนที่ดีของทุนนิยมมาใช้มากกว่าส่วนที่เสีย คือเราวิจารณ์ เขียนหนังสือ เราไม่มีปัญญาจะไปโค้นล้มทุนนิยมแล้ว แต่ยังต้องวิจารณ์อยู่ เพื่อไม่ให้ด้านเสียปรากฏขึ้นมามากนัก

สิ่งที่ผมอยากเห็นมากที่สุดคือ สิ่งที่รัฐบาลบอกว่า จะไม่มีคนจน มันยังมีปัญหาอีกเยอะความจนเกิดจากระบบ แต่รัฐบาลไม่ได้แก้ปัญหาโครงสร้าง โครงสร้างทางอำนาจ โครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ไม่มีใครกล้าเข้าไปเตะปัญหาโครงสร้างสักเท่าไร มีแต่นำเงินเข้าไป มันก็จะยุ่งไปกันใหญ่

เมืองไทยเป็นทุนนิยมก็จริง แต่ยังไม่ได้นำลักษณะของทุนนิยมทั้งหมดมาใช้ ยกตัวอย่างเรื่องที่ดิน เมืองไทยยังไม่ได้มีการปฏิรูปที่ดินเลย หลักการอะไรบางอย่างของทุนนิยมเรายังไม่ได้ใช้เลย ถึงบอกว่าไม่ได้ต่อต้านทุนนิยม แต่เป็นแล้วก็ต้องเป็นให้ถึงที่สุด แล้วข้อดีของมันจะเกิดขึ้น ผมก็เห็นว่านายกฯกำลังทำนะ แต่นายกฯ ก็ควรจะรับฟังอะไรให้มันรอบด้านมากขึ้น เพราะจะมุ่งเชื่อมั่นตัวเองอย่างเดียว มันจะแคบเกินไป "

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ