งามพรรณ เวชชาชีวะ : ความประทับใจและความสำเร็จในการเขียนหนังสือ คือเขียนหนังสือแล้วคนอ่านมีความสุข

งามพรรณ เวชชาชีวะ

 

            ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากคุณงามพรรณ เวชชีวะ ที่ให้เกียรติเปิดบ้านให้สัมภาษณ์ในวันว่าง วันสบายๆ ของคุณงามพรรณอย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง โดยคุณงามพรรณให้สัมภาษณ์พร้อมทั้งพูดคุยแบบสบายๆ ทั้งเรื่องราวส่วนตัวและพูดถึงหนังสือเรื่อง “ความสุขของกะทิ” ซึ่งเป็นวรรณกรรมที่แปลมาแล้วหลายภาษาและเป็นหนังสือที่เข้ารอบซีไรต์ของปีนี้

 

งามพรรณ เวชชาชีวะ

 

-หนังสือเรื่อง “ความสุขของกะทิ”จัดอยู่ในหมวดไหนคะ ใช่วรรณกรรมเยาวชนรึเปล่าคะ
สำหรับหนังสือเรื่อง “ความสุขของกะทิ”นั้นตัวละครดำเนินเรื่องเป็นเด็ก ก็เลยเอาไปจัดอยู่ในหมวดสำหรับเด็กและเยาวชน จากที่ตอนเขียน ตัวเองไม่ได้นึกหน้าตาคนอ่าน และต้องยอมรับว่าตอนเขียนนั้นพี่เพียงแค่อยากเล่าเรื่อง อยากเขียน และถ้าเราเล่าและเขียนผ่านสายตาเด็ก มันมีเสน่ห์ และมีบางอย่างให้เราทิ้งไว้ได้ ให้คนอ่านคิดเอง เมื่อพี่เขียนเสร็จแล้วพี่เอาไปเสนอคุณเอ๋ที่อยู่แพรวเยาวชน บอกว่าเขียนหนังสือเล่มนึง คุณเอ๋ลองเอาไปอ่านดู คุณเอ๋โทรมาบอกชอบและขอพิมพ์ และพิมพ์ออกมาเป็นวรรณกรรมเยาชน หน้าตาก็เลยกลายเป็นหนังสือเด็ก แต่เท่าที่ได้ยินมาไม่ค่อยมีเด็กอ่าน คุณวาณิชเขียนไว้ในมติชนว่าหนังสือเล่มนี้ผิดอย่างนึงที่ไปจัดอยู่ในประเภทของวรรณกรรมเยาวชน ซึ่งคุณวาณิชเถียงหัวชนฝาว่าไม่ใช่ โดยความตั้งใจส่วนตัวพี่ไม่ได้ต้องการให้เป็นหนังสือเด็ก แต่มันออกมาในรูปลักษ์ของหนังสือเด็ก แต่คนก็ชอบนะคะ

 

-หนังสือเล่มนี้ผูกเรื่องยังไงคะ
หนังสือเล่มนี้พี่ผูกเรื่องเอง คนที่อยากเขียนหนังสือมากๆไม่รู้จะเขียนอะไร ใจพี่ก็คิดว่า คนอื่นเขาก็เขียนไปหมดแล้ว แต่พี่คิดว่าเขียนอะไรก็ได้ที่ให้คนอ่านตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย และรู้สึกอยากอ่าน โดยไม่เบื่อและไม่วางไปก่อน ก็เลยผูกเรื่องและคิดประโยคแรกออกมาได้ว่า “แม่ไม่เคยสัญญาว่าจะกลับมา” พอได้ประโยคนี้ที่เหลือเรื่องมันก็ค่อยๆออกมา ว่าทำไมเด็กถึงอยู่กับตากับยาย ที่บ้านก็ไม่ค่อยพูดถึงพ่อกับแม่ว่าเป็นใคร เป็นยังไง แต่ก็มีความสุขดี ทุกคนรักใคร่ ถึงแม้ว่าจะ มีบางสิ่งที่หายไป แต่สิ่งที่เหลืออาจจะเยอะ ซึ่งจริงๆแล้วคนเราควรเลือกที่จะให้ความสำคัญกับอะไรตรงไหน

 

-อย่างประโยคในหน้าแรกของแต่ละบท ซึ่งไม่มีอยู่ในเนื้อเรื่อง มันเป็นความสรุปหรือใจความสำคัญของแต่ละบทรึเปล่าคะ
ทีแรกพี่ตั้งใจให้เป็นความคิดของกะทิ แต่ภาคหลังเนี่ยเป็นเสียงของแม่ มันเป็นคำโปรย ที่พี่ตั้งใจจะให้เป็นประโยคคำพูด คือพี่ไม่ได้ตั้งใจอะไร นอกจากว่าอะไรที่เราไม่ได้บอกไว้ในเรื่อง และเราอยากให้คนอ่านรู้สึกว่ามันมีอะไรมากกว่าเรื่องธรรมดาที่เราเล่า

 

-รู้สึกยังไงที่เขียนหนังสือเล่มแรกแล้วประสบความสำเร็จขนาดนี้ และได้เข้ารอบซีไรต์
ก็รู้สึกตื่นเต้น แต่โดยส่วนตัวแล้วรู้สึกสนุกตอนที่เขียน พี่รู้สึกว่าอะไรที่ทำมาทั้งหลายเนี่ยคงทำน้อยลง ก็จะพยายามเขียนหนังสือให้มากขึ้นเพราะรู้แล้วว่ามันมีอะไรหลายอย่างที่ต้องหาข้อมูล ต้องทำการบ้าน ตอนที่ออกมาเป็นหนังสือ “ความสุขของกะทิ”เนี่ย ก็เป็นหนังสือที่เรื่อยๆ ก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นปรากฏการณ์อะไร เพียงแต่ว่าดีใจที่มีคนอ่านหนังสือแนวนี้อยู่ เพราะหนังสือออกมาตอนที่กระแสหนังสือโดยรวม ไม่ใช่หนังสือแนวนี้เลย มันขายได้โดยตัวของมันเอง ตั้งแต่ปากต่อปาก มีคนบอกต่อๆกัน หนังสืออกมาตอนที่กระแสหนังสือเกาหลีบ้านเราดังมากๆ พี่รู้สึกดีใจที่มีกลุ่มที่อ่านแล้วชอบ ก็จะมีเขียนจดหมายมาหา บางคนบอกว่าอ่านแล้วนึกถึงเรื่องของตัวเค้าเอง บางคนก็เขียนมาขอบคุณ ซึ่งเรารู้สึกว่ามันเป็นความซึ้งใจ คนหนึ่งคนนั่งเขียนจดหมาย ติดแสตมป์ส่งมาหา ซึ่งมันเป็นเรื่องของการให้ความสำคัญ ถ้าถามว่าประทับใจอะไรในความสำเร็จ ก็คงจะเป็นตรงนี้ค่ะ ว่ามีผู้อ่านที่เข้าใจทุกอย่างที่เราพูด ทุกอย่างที่เราเขียน

 

-ทำธุรกิจส่วนตัวแล้วทำงานเขียน งานแปลไปด้วย แบ่งเวลายังไงบ้างคะ
พยายามมีวินัย การเขียนก็พยายามเขียนอย่างต่อเนื่อง บางทีก็มีอารมณ์อยากเขียนแต่ไม่มีเวลา มันต้องมีความอยากเขียนด้วย อย่างตามหาพระจันทร์เนี่ย ก็ไปเขียนที่ต่างจังหวัดด้วย ถูกแซวว่าไปเข้าค่ายเขียนหนังสือ ก็ไปนอนเล่นแล้วซักพักก็กลับมาเขียน แต่ถ้างานแปลมันไม่ต้องขนาดนั้น มันต้องมีวินัยกว่า ต้องพยายามดูว่า จะต้องแปลวันละเท่าไหร่ จะต้องทำเท่าไหร่เป็นอย่างน้อย

 

-แล้วมีเวลาส่วนตัวเวลาพักผ่อนบ้างมั๊ยคะ
พี่ก็ดูทีวี ฟังเพลง ทานข้าวกับเพื่อน เล่มที่ต้องอ่านป็นงานแล้วสนุกด้วยก็เหมือนกับเป็นโชค2ชั้น มีคนบอกว่าเราอาจจะได้เปรียบ ที่เราอ่านหนังสือต่างประเทศเยอะ การแปลทำให้เราได้ใกล้ชิดกับเทคนิคและวิธีที่นักเขียนใช้ เพราะการเขียนมันต้องมีเทคนิค ต้องดูว่าเราใช้วิธีการเล่ารูปแบบไหน เหมือนเรื่องเดียวกันมันมีเทคนิคหลายวิธี คือเราต้องพยายามทำให้คนอ่านเข้าใจเรื่องที่เกิดขึ้น แล้วเราอยากให้เค้ามองจากตรงไหน คือวิธีการไหนที่เล่าแล้วมันจะสนุก ถ้ามันไม่สนุกก็จบกัน อย่างในเนื้อเรื่องจะมีเรื่องสะเทือนใจหรืออะไรก็ตาม แต่คำว่าบันทิงมันต้องมีอยู่ในนั้นด้วย บันเทิงเป็นส่วนนำหน้าแล้วอยากบอก อยากเล่าอะไรกับผู้อ่านก็ค่อยๆบอกไป

 

-โดยส่วนตัวชอบงานเขียนหรืองานแปลมากกว่ากัน
ชอบงานเขียนมากกว่า แต่งานแปลก็สนุก เมื่อหนังสือดีๆมาถึงมือก็ดีใจ

 

-เพราะฉะนั้น อาชีพนักเขียนเป็นอาชีพที่ใฝ่ฝัน?
ฝันมานานมาก พี่เริ่มช้ามากนะคะ ไปทำอะไรมาก่อนตั้งนาน

 

-พี่เริ่มขียนหนังสือมาตั้งแต่เมื่อไหร่คะ
ตั้งแต่เด็กๆ สมัยเด็กๆก็จะเขียนเรื่องสั้นส่งไปสตรีสาร พี่ชอบเขียนจดหมายไปคุยกับ บ.ก.

 

-แล้วทำไมพี่ถึงมาจับงานแปลล่ะคะ
อาจเพราะพี่เรียนมาทางภาษาต่างประเทศมั้งคะ แล้วสมัยนั้นพี่คิดว่าอยากทำงานเกี่ยวกับหนังสือ แต่พอเรามีความรู้เรื่องภาษาเค้าก็ให้เราแปลก่อนเลย อย่างงานในกอง บ.ก. ก็สนุกดี พี่ทำทุกอย่างเหมือนนักเขียน เพียงแต่ว่าจินตนาการมันไม่ใช่ของเรา ทุกวันนี้ถ้าพี่เริ่มต้นใหม่ก็คงอยากเป็นนักแปลอยู่ดี เพราะมันเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้เรียนรู้ แล้วมันก็เป็นอาชีพ ตอนนี้พี่ก็มาแปลหนังด้วย ก็สนุกดี

 

-แล้วคุณสมบัติของนักแปลที่ดีในความคิดของพี่เป็นยังไงคะ
คงเป็นเรื่องของความเป็นธรรมชาติของภาษา เวลาที่เราชมว่าหนังสือเล่มไหนที่แปลดี อาจเป็นเพราะว่าเราอ่านแล้วไม่รู้สึกว่าเป็นหนังสือแปล ในส่วนของสำนักพิมพ์เค้าก็คงอยากได้คนแปลที่มีวินัยส่งงานตรงเวลา พี่ว่านักแปลรุ่นใหม่ก็มีเยอะนะคะ โอกาสก็ยังมีเพียงแต่ว่าเราต้องแสดงให้สำนักพิมพ์เห็นว่าเราตรงต่อเวลา แต่เรามักจะได้ยินเสียงบ่นของสำนักพิมพ์ว่าหนังสือไม่ออก เพราะคนแปลไม่ส่งงาน

 

-แล้วเวลาที่พี่เขียนหนังสือไม่ออกพี่มีการสร้างบรรยากาศหรือสร้างจินตนาการยังไงบ้างคะ
ส่วนใหญ่จะหาข้อมูลค่ะ เพราะถ้าเราเขียนไม่ออกแสดงว่าเราไม่มีภาพตรงนั้นแล้ว อย่างเรื่อง “ความสุขของกะทิ”หลายฉากอย่างเช่นฉากริมคลอง เราไม่เคยอยู่จริง ๆ พอเราเริ่มเขียนเราก็เริ่มติด เป็นเพราะว่าเราเริ่มไม่แน่ใจว่าที่เขียนไปมันสมจริงรึเปล่า การทำตัวเป็นคนอ่านก็สำคัญนะคะ อย่างเช่น เหมือนเวลาเราดูหนัง เราก็ชอบเดาใช่มั๊ยว่าเรื่องมันต้องเป็นอย่างนี้ๆ แต่ว่าคนเขียนเขาก็หักมุมเราก็เอาแบบนั้นเหมือนกัน สมมุติว่าเราไม่ได้เป็นคนเขียน เราเป็นคนอ่าน เราอยากให้เรื่องออกมาเป็นยังไง เราก็จะไม่เป็นแบบนั้น เราก็จะเขียนไปอีกอย่างนึงอย่างเล่มใหม่ ตามหาพระจันทร์ เล่มนั้นก็แก้หลายรอบ มีคนบอกว่าร้องไห้มากกว่าล่ม1 พี่ก็ยังงง พี่ก็ว่าไม่เศร้าแล้วนะ

 

-จุดมุ่งหมายพี่ต้องการเขียนให้เรียกน้ำตาคนอ่านรึเปล่าคะ
โดยส่วนตัวพี่ไม่รู้สึกว่ามันเศร้า เพราะโดยอารมณ์พี่เป็นคนแบบนี้อยู่แล้ว แต่บ.ก.ก็ทักว่า พี่เจน!ไม่รู้เหรอว่ามันเศร้า อาจจะเพราะมันเป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายมั้งคะ เรื่องเกี่ยวกับแม่ ลูก

 

-เป้าหมายงานเขียนของพี่คืออะไรคะ
ก็คืออยากทำงานเขียน และคนอ่านได้อะไรจากงานเขียนของเราบ้าง บางคนบอกว่าอ่านแล้วสนุก เพลินดี บางคนก็บอกว่าอ่านแล้วได้คิด มันก็เกินจากที่เราคาดหวังนิดหน่อย แต่อย่างน้อยมันก็เป็นงานเขียนซักเล่มนึง ที่ทำให้คนอ่านได้หยุดจากชีวิตจริงๆและเข้ามาอยู่ในโลกเล็กๆ ที่เหมือนกับเป็นภาพจำลอง คนเขียนก็แอบคิดว่าคนอ่านอาจจะได้เข้ามาสัมผัสกับโลกใบใหม่ เพราะในความเป็นจริงไม่มีใครที่มีชีวิตสมบูรณ์แบบอยู่แล้ว ถ้าเรามีอะไรขาดหายไปบางอย่างแล้วเราจะยังคงมีความสุขอยู่ได้มั๊ย และจริงๆแล้วความสุขมันเป็นสิ่งที่สำเร็จรูปหรือมันเป็นสิ่งที่เราเลือกเอง

 

-หนังสือที่พี่แปลทั้งหมดพี่หลงรักเล่มไหนมากที่สุดคะ
พี่มียอดนิยมดั้งเดิมอยู่เรื่องเดียวคือเรื่องไหม แปลจากภาษาอิตาเลียน เป็นของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ถ้าคุณกลับไปอ่านคุณจะรู้ว่าพี่ได้รับอิทธิพลจากหนังสือเล่มนี้เยอะเหมือนกัน เล่มนี้จะเป็นบทสั้นๆ พูดน้อยๆ จนเค้าว่าเกือบจะเป็นไฮกุ มันเป็นเรื่องเกี่ยวกันญี่ปุ่นน่ะค่ะ เรื่องนี้พิมพ์มาหลายหนแล้ว เล่มนี้เป็นหนังสือที่พี่ชอบมาก และรู้สึกว่าตอนทำงานก็ happy กับมัน

 

-เคยอ่านปริศนาในสายลมร้อนแล้วรู้สึกชอบเล่มนี้มากเหมือนกัน
เล่มนี้เป็นเล่มที่แปลยากมากเลย ดีใจนะคะไม่นึกว่าจะมีคนอ่าน เรื่องนี้อารมณ์มันก็ยาก ตอนจบร้องไห้สุดๆเหมือนกันนะคะ เศร้ามาทั้งเรื่อง เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่พี่ชอบเหมือนกัน คือทุกๆเล่มที่แปลก็ชอบ อย่างสำนักพิมพ์ที่เอาเรื่องมาให้แปลเค้าก็จะเริ่มรู้ว่าต้องมาแนวแบบนี้ ก็จะรับแปล

 

-ส่วนใหญ่ชอบอ่านวรรณกรรมของนักเขียนชาติไหนคะ
ก็เป็นพักๆนะคะ บางช่วงชอบอ่านของนักเขียนญี่ปุ่น ก็จะอ่านติดๆกัน หรือบางช่วงก็อ่านของนักเขียนแถวๆละติน ก็จะเป็นยุคๆไปน่ะค่ะ พักหลังๆก็จะอ่านของจีน แต่ไม่ค่อยอ่านแนวที่เป็น bestseller

 

-เริ่มอ่านหนังสือตั้งแต่เมื่อไหร่คะ
คือที่บ้าน คุณพ่อ คุณแม่ ชอบอ่านหนังสือตอนเย็นๆ สมัยก่อนตอนเล็กๆเนี่ย หลังทานข้าวจะไปนั่งอยู่ในห้องนั่งเล่นด้วยกันต่างคนต่างนั่งอ่าน พอโตมาหน่อยก็อ่านหนังสือลลนา สตรีสาร โตมาก็เปลี่ยนหนังสืออ่านไปเรื่อยๆ พอดีเรียนมาทางด้านอักษรศาสตร์ พี่จบคณะศิลปศาสตร์ก็ถูกใช้ให้อ่านหนังสืออยู่แล้ว

 

-มองวัฒนธรรมการอ่านของบ้านเราว่าอย่างไรบ้างคะ
พี่รู้สึกว่ามันพัฒนาขึ้นนะคะ ถ้าดูจากจำนวนคนไปงานสัปดาห์หนังสือ ทุกคนก็จะลากกระเป๋าใบใหญ่ๆ กัน แต่เขาก็จะซื้อปีละแค่2ครั้งเท่านั้น ส่วนใหญ่มากันเป็นครอบครัวพ่อ แม่ ลูก แล้วหนังสือก็ไม่ได้มีแค่บันเทิงเพียงอย่างเดียว คนที่พยายามเพิ่มค่าให้กับตัวเอง ก็อ่านหนังสือที่ให้ความรู้ เช่นหนังสือ How to แล้วสำนักพิมพ์ก็ทำหนังสือสวยๆงามๆ น่าอ่าน ยิ่งหนังสือนิตยสารมีมากมาย มีความหลากหลายมาก มีทั้งเฉพาะกลุ่มด้วย

 

-มีผลสำรวจบอกว่าเด็กไทยอ่านหนังสือกันน้อย
ใครที่อ่านหนังสือก็จะได้เปรียบกว่าคนอื่น มันเป็นคุณสมบัติที่ตามมา เพราะว่าพอเราอ่านมากเราก็เขียนได้ คนที่เขียนหนังสือได้จะได้เปรียบ เพราะเป็นคุณสมบัติที่ไม่ใช่ทุกคนจะมี

-มีหนังสือเล่มไหนมั๊ยคะที่อ่านแล้วรู้สึกว่ามีอิทธิพลต่อตัวเองมากหรือสามารถเปลี่ยนแปลงมุมองหรือทัศนคติ บางอย่างในชีวิต


มีหนังสือเล่มนึงของท่านประยุต ที่พูดถึงเรื่องกายป่วยแต่ใจไม่ป่วย จำได้ว่ามีผู้ใหญ่ท่านนึงให้มา อ่านแล้วก็นึกถึงว่าตัวท่านเองก็สุขภาพไม่ค่อยดี แต่ท่านก็เป็นกำลังสำคัญแก่พุทธศาสนา สำหรับตัวเองก็ป่วยบ้างไม่ป่วยบ้าง แต่ก็รู้แล้วว่า ถ้าเราแยกได้ว่าป่วยแล้วใจไม่ห่อเหี่ยวไปกับมันด้วยมันก็เป็นกำไร คือหนังสือเล่มนี้สอนวิธีในการมองโลกหลายๆอย่าง

 

-หนังสือเรื่อง “ความสุขของกะทิ”ผลตอบรับจากต่างประเทศเป็นยังไงบ้างคะ
ของอเมริกาก็เริ่มมีบทวิจารณ์ในแมกกาซีนบ้าง ก็ค่อนข้างวิจารณ์ในแง่ดีนะคะ สำหรับที่ประเทศญี่ปุ่นเขาตั้งชื่อใหม่เป็นเด็กหญิงจากเมืองไทย

 

-ถ้าหนังสือจากบ้านเราจะไปบุกตลาดที่ต่างประเทศพี่ว่าจะมีโอกาสมั๊ยคะ
น่าจะทำได้ คืองานเขียนเป็นงานที่อิสระ ถ้าวันนึงเกิดไปเป็นนักเขียนขายดีที่เมืองนอก ก็น่าจะทำได้เหมือนกัน ไม่น่าจะมีอะไรที่เป็นข้อจำกัด อย่างเกาหลีเค้าโปรโมทประเทศของเค้ามากๆ หลายคนก็อยากรู้จักประเทศเกาหลี คนก็เลยซื้อหนังสือเกาหลี กินอาหารเกาหลี พูดภาษาเกาหลี คือถ้าหนังสือมันมีลักษณะของเอเชีย และมีความเป็นไทยโดยเฉพาะ อย่างการพูดถึงเด็กที่อยู่กับปู่ ย่า ตา ยาย วัฒนธรรมในตะวันตกในยุโรปแทบไม่มีให้เห็นแล้ว เค้าเลยรู้สึกว่ามันเป็นความอบอุ่น ลักษณะความเป็นไทยบางอย่างมันยังขายได้อยู่

 

-ถ้ามีคนมาวิจารณ์งานของพี่ พี่เปิดรับมากน้อยแค่ไหนคะ
พี่ก็อยู่ของพี่เงียบๆ งานของพี่ก็นอกสายตา นอกกระแส เป็นงานเรื่อยๆ แล้ววันนึง ชื่อพี่ก็เข้าไปอยู่ใน listและ เริ่มมีคนโทรมาถาม ก็คุยกันกับทางสำนักพิมพ์และสำนักพิมพ์ก็ว่าจะส่งเข้าประกวดซีไรต์ แล้วเราก็เห็นว่ามันเป็นหน้าที่ของเรา สำหรับคำวิจารณ์พี่ก็ฟังได้ไม่ถึงกับปิดหูปิดตาอะไร มันไม่ถูกใจทุกคนหรอกค่ะ มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว รางวัลมันเป็นเพียงแค่ความสนใจเท่านั้นเอง คนเขียนเองก็ตื่นเต้นดี สำนักพิมพ์ก็ลุ้นว่าจะเข้ารอบซีไรต์มั๊ย ซีไรต์แต่ละประเทศก็จะมีเกณฑ์การตัดสินไม่เหมือนกัน แต่อย่างบ้านเราเนี่ย กติกาค่อนข้างชัดเจน ว่ามีตัวแทนจากสมาคมกี่คน นักเขียนผู้ทรงคุณวุฒิกี่คน รางวัลซีไรต์จึงได้รับความสนใจมาก

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ