สาคร พูลสุข : ผมเชื่อมั่นในเกียรติของกรรมการ

สาคร พูลสุข

สาคร พูลสุข นักเขียนรางวัลนายอินทร์อวอร์ด ประเภทนิยายปีล่าสุด สนใจเขียนหนังสือมาตั้งแต่ยังละอ่อน เขียนบ้างหยุดบ้างเท่าที่โอกาสจะเอื้ออำนวยประสบความสำเร็จในงานเขียนครั้งแรกโดยการคว้ารางวัลชนะเลิศเรื่องสั้นเดือนตุลา เมื่อปี 2532 แล้วหยุดเขียนไปกว่าที่ 10 ก่อนจะหันกลับมาจับปากกาอย่างเอาจริงเอาจังอีกครั้ง จนปัจจุบันสาครมีผลงานรวมเล่มแล้ว 4 เล่ม โดยทุกเล่มมักจะประทับตรารางวัลจากองค์กรต่างๆเสมอๆ

พื้นเพ สาคร พูนสุข อยู่ในเขตแดนกึ่งกลางของอ.หัวไทรจังหวัดนครศรธรรมราชกับอำเภอระโนดจังวัดสงขลา สาครกล่าวอย่างติดตลกว่าบ้านเดิมของเขาแค่ย้ายสำเนาทะเบียนบ้านก็เปลี่ยนจังหวัดทันที
“ผมเกิดที่อำเภอหัวไทรจังหวัดนครศรีธรรมราช บ้านเดิมผมจะอยู่กึ่งๆระหว่างระโนดกับหัวไทร เดินข้ามคลองก็ข้ามขังหวัด ตอนแรกทะเบียนบ้านอยู่หัวไทรพอย้ายบ้านกลายเป็นว่าอยู่ที่ระโนด คือมันใกล้กันมาก ” สาครเล่าให้เราฟังพร้อมกับเสียงหัวเราะอย่างอารมณ์ดี นักเขียนหนุ่มเล่าต่อถึงสถานะทางสังคมในปัจจุบัน “ปัจจุบันผมเป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่ที่อำเภอปัวจังหวัดน่าน ผมจบปริญญาตรีบรรณารักษ์ศาสตร์จากวิทยาลัยครูจังหวัดนครศรีธรรมราช งานบรรณารักษ์ต้องคลุกคลีอยู่กับหนังสืออยู่แล้ว แต่อาจจะไม่เกี่ยวกันสักเท่าไหร่ว่างานตรงนี้จะช่วยส่งเสริมงานเขียนของเราไหมคือมันเริ่มต้นตั้งที่ว่าเราอยากจะอ่านหนังสือ เลยเลือกเรียนบรรณารักษ์มันก็เกี่ยวกับหนังสือทั้งนั้น ปัจจุบันนี้ผมสอนภาษาอังกฤษเพราะที่โรงเรียนขาดครูภาษาอังกฤษโรงเรียนที่สอนเป็นโรงเรียนประจำตำบลแต่เด็กเยอะนะประมาณพันกว่าคนสอนเป็นปีไปปีนี้ได้สอนภาษาอังกฤษ ”

ความใฝ่ฝันที่อยากจะเขียนหนังสือของสาครเริ่มขึ้นจากการที่เป็นคนชอบอ่านหนังสือ พออ่านมากเข้าเขาก็ลองขยับปากกาเขียนดูบ้าง
“เริ่มเขียนหนังสือเพราะอ่าน เริ่มอ่านมาตั้งแต่ประถม ตอนประถมชอบอะไรก็อ่าน อ่านหมด การ์ตูนเล่มละบาท นิยายเล่มละ 5 บาท ก็อ่านมาเรื่อยๆ พอมาเรียนมัธยม ประมาณ มศ.2 มศ.3 ก็เริ่มอ่านนิยายประเภทความรักของวัลยา พิราบแดง โตขึ้นมาหน่อย มศ. 4 มศ.5 ก็เริ่มอ่านนิยายแปล พอเข้าเรียน วค. ก็เริ่มหันมาอ่านนิยายคลาสิค ของพวกนักเขียนรัสเซีย ชอบ ดร.ทิวาโก มาก อาสา ขอจิตเมศ แปลได้ดีมาก อ่านเยอะๆมันนอนไม่หลับ อยากจะเขียนสิ่งที่ตัวเองคิดบ้าง

ก็เลยเริ่มเขียนมาเรื่อยๆ ตอนที่เรียน วค. ตอนนั้นอยู่ปี 3 เขามีประกวดรางวัล ก็เลยเขียนส่งไปได้รางวัลมา 500 บาท ยังจำได้อยู่เลย หลังจากนั้นก็มีประกวดเรื่องสั้นเดือนตุลาคมของสยามรัฐ ปี 32 ก็เลยส่งประกวดด้วย ได้รางวัลยอดเยี่ยม แล้วก็หยุดไป 10 กว่าปี ประมาณ 11 -12 ปีเห็นจะได้ กลับมาเขียนอีกทีตอนประกวดรางวัลสุภาว์ เทวกุล ตอนนั้นมาอยู่น่านแล้ว เรื่องแรกเข้ารอบ รู้สึกว่าเป็นปีที่คุณหมอชัชวลี ศรีสุโขได้รับรางวัล ส่งอีกทีก็เรื่องล่าม คราวนี้ได้รางวัลชมเชย ปีต่อมาเป็นนิยายอีกก็ส่งอีก ได้รางวัลชนะเลิศจากผลงานบ้านฟ้าผ่า

หลังจากนั้นก็ส่งประกวดรางวัลพานแว่นฟ้าได้ชมเชยมาสองเรื่อง เรื่องนกหลง กับนักเล่านิทานยามราตรี หลังจากนั้นเขียนเรื่องส่งไประกวดรางวัลแว่นแก้ว เป็นวรรณกรรมเยาวชนเรื่องพับแพว...เกมส์มหัศจรรย์ เรื่องนี้ไม่ได้รางวัลแต่ได้ตีพิมพ์ แล้วเขียนเรื่องสั้นส่งมาที่นายอินอวอร์คเรื่องแมวกินลูกแล้วก็มาถึงเล่มนี้ รังเลือดได้รางวับนายอินอวอร์ดยอดเยี่ยมประเภทนิยาย ตอนนี้ วางโครงเรื่องไว้หลายเรื่อง ก็กะว่ากลับจากกรุงเทพไปก็จะไปดูโครงเรื่องให้ดีๆแล้วลงมือเริ่มเขียน ผมมีโครงการจะไปนอนพม่าสัก 3 คืนนัดเพื่อนไว้แล้ว คือต้องการไปศึกษาภาษาพม่า ภาษากะเหรี่ยง ก็นัดเพื่อนไว้ที่แม่สอดกะว่าจะไปนอนสักสามวัน” หากวัดความสำเร็จจากผลงานเก่าของสาครพูนสุขต้องถือว่าเขาเด่นมากในหมู่นักเขียนรุ่นใหม่สำหรับงานประเภทนิยาย

“อาจจะพูดแบบนั้นก็ได้ เรื่องสั้นก็พอเขียนได้ จะว่ายากก็ไม่เชิงแต่เรื่องสั้นจะหาประเด็นเอามาเขียนได้ยาก เรื่องสั้นนี้จะต้องทีเดียวอยู่หมัดเดียวอยู่แต่นิยายเราสามารถที่จะ ไปเรื่อยๆ หลายๆยกได้ ถ้าเปรียบกับภาษามวยเริ่มยกหนึ่งเราก็ค่อยๆต่อยมาเรื่อยๆ บางยกก็จืดบางยกก็สนุก แต่เรื่องสั้นนี้มันต้องจับใจ ผลงานส่วนมากของผมก็จะมีออกมาปีละเล่ม เป็นนิยาย มีเรื่องสั้นก็แซม ๆ มาบ้างจะเป็นในลักษณะรวมเล่มกับคนอื่น รวมเรื่องสั้นยังไม่มีผลงานเดี่ยวของตัวเอง เรื่องสั้นก็อยากเขียนนะแต่เขียนแล้วก็อยากให้มันออกมาดี นิยายเปิดโอกาสให้เรามากกว่า เป็นความถนัดของแต่ละคน ”

สาครบอกว่าแรงบันดาลใจและพล๊อตเรื่องต่างๆเขาอาศัยเอาจากสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆตัวที่เข้ามากระทบจิตใจ
“พล๊อตเรื่องส่วนใหญ่ที่ผมเอามาเขียนก็จะเป็นเรื่องราวรอบๆตัวนี้แหละ เป็นเรื่องราวตอนเด็กๆบ้าง เป็นเรื่องของคนใกล้ตัวบ้าง รวมไปถึงเรื่องของครอบครัวผมก็เอามาเขียน คือทุกอย่างที่มันเข้ามากระทบต่อความรู้สึกของเราก็เอามาเขียนได้หมด อ่านนิยายบ้างเรื่อง จะชอบตัวละครบางตัว วิถีชีวิตของตัวละคร คิดไปเราก็สามารถดำเนินแนวทางอย่างตัวละครนั้นได้ อาจจะไม่ต้องเหมือนแป๊ะ แต่หมายถึงว่าเราเอาแนวคิดในการใช้ชีวิตของเขามา ตัวละครบางตัวจะให้บทเรียนชีวิตอย่างดี คือเราเกิดความรู้สึกร่วมไปกับตัวละคร เลยทำให้อยากจะเขียนอยากสร้างขึ้นมาบ้างเหมือนเวลาเราดูหนังสักเรื่องมันก็จะมีแง่คิดอยู่ในนั้น ชีวิตในหนังมันส่งผลต่อความคิดของเรา เราอยากจะเขียนบ้าง สองสิ่งนี้อาจจะถือได้ว่าเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้มาเขียนหนังสือ

อย่างนิยายเรื่องรังเลือดนี้ ตอนนั้นผมไปเที่ยวที่ทะเลสาบสงขลา นั่งเรือหางยาวไป คนขับเรือก็ขับไปรอบๆเกาะ แล้วผมรู้สึกว่ามีคนจ้องเราอยู่ ก็เลยเงยหน้าขึ้นไปมองเห็นคนเฝ้ารังนกถือปืนจ้องดูอยู่ เขาอยู่สูงทำที่อยู่อยู่ที่หน้าผาเลยใครไปใครมาเขาเห็นหมดมีกล้องติดปลายปืน ใครทำอะไรผิดสังเกตอาจจะโดนยิงได้ ก็เลยคิดด่อไปว่าในเมื่อชีวิตของเราอยู่ในเป้าสายตาของคนอื่นเราจะรู้สึกอย่างไร เขาจ้องเราเราจะทำอะไรได้บ้าง ในขณะเดียวกันถ้าเผื่อเราไปอยู่สูงกว่าเขาแล้วมองลงมาเราจะรู้สึกอย่างไร ผมคิดอย่างนี้ก็เลยเอามาเขียนเรื่องรังเลือด

คือแรงบันดาลใจก็เอามาจากความรู้สึกที่เกิดขึ้นตรงนั้น บางทีเขียนหนังสืออยู่แล้วคิดไม่ออกก็เปิดทีวีดูบ้างอ่านหนังสือบ้างดูหนังบ้าง สะสมหนังที่คนเขาไม่ค่อยได้ดูไว้เยอะเหมือนกัน เจอก็จะซื้อ หนังช่วยได้มาก ดูหนังแล้วมันจะได้อารมณ์ช่วยในการเขียนหนังสือได้มาก ”

ปัจจุบัน สาคร พูลสุข ยังมีความสุขอยู่กับการเขียนหนังสือในเมืองเล็กๆที่ อำเภอปัว จังหวัดน่าน แม้จะเป็นการสร้างงานที่โดดเดี่ยวแต่สาคร ก็ไม่เคยรู้สึกเบื่อหน่ายในเมื่อตัวละครที่เขาสรรค์สร้างขึ้นมาจากปลายประกายังคงยิ้ม หัวเราะ ร้องไห้ร่วมกับเขาอยู่เสมอๆในทุกๆบรรทัดของชิ้นงาน
“ผมจะเริ่มเขียนตั้งแต่ 3 ทุ่ม ง่วงก็นอน ส่วนใหญ่เที่ยงคืนก็นอน แต่มีบ่อยเหมือนกันที่ยาวไปถึงตีสองครอบครัวผมเขาจะเข้าใจ บางที่เขาลุกขึ้นมาชงกาแฟให้ด้วยซ้ำ พูดเรื่องกาแฟผมกินแก้วเดียวอยู่ได้ยาวเลยกินสองทุ่มอยู่ได้ถึงตีสอง บางทีเข้าไปนอนก็ไม่ค่อยจะหลับเลย(หัวเราะ)อยู่ที่โน่นไม่ค่อยได้ปรึกษาเกี่ยวกับงานเขียนกับใคร คือจะพูดกับตัวเองบางทีเขียนหนังสือดึกๆดื่นๆ ก็จะเดิน เปิดหน้าต่างเดินออกมา มองดาว มองดวงจันทร์บาง ถามตัวเอง บางทีเขียนอ่านออกมาเสร็จอยากให้ใครวิพากษ์วิจารณ์ให้ฟังบางก็จะไม่มีก็ต้องนั่งคิดไปคนเดียว

ถามต่อมาว่านั่งคิดนั่งเขียนแบบนั้นคนเดียวไม่ค่อยได้พูดจาวิสาสะกับใคร คิดถึงเรื่องของคอนเนกชั่นที่จะมีผลไหมกับการประสบความสำเร็จไหม ผมว่าเรื่องอย่างนี้มันก่ำกึ่ง แน่นอนในความที่รู้จักกันเป็นส่วนตัว ถ้าผลงานในระดับเดียวกัน มันก็น่ามีส่วนอยู่เหมือนกัน แต่ผมเชื่อในเกียรติของกรรมการนะ กรรมการทุกๆการประกวด ทั้งระดับระดับใหญ่ อาจจะมีบางทีช่วยผลักดันกัน แต่ผมก็ยังเชื่อมั่นในเกียรติของกรรมการ คิดว่าทุกคนที่เข้ามาในวงการหนังสือ ก็น่าจะมีความยุติธรรมอยู่พอสมควร คนอื่นจะเชื่อหรือไม่ชื่อผมไม่แน่ใจแต่ผมเชื่อ... ”

สำหรับเรื่องของรางวัลทางวรรณกรรมสาคร เชื่อว่าเป็นส่วนที่เสริมสร้างนักเขียนใหม่อย่างเขาให้เป็นที่รู้จักของคนอ่าน และความสนใจของบรรณาธิการผู้พิจารณาตีพิมพ์งาน แม้ใจจริงแล้วสาคร พูลสุขจะแย้มๆว่าอยากให้ดูที่เนื้องามากกว่าที่ชื่อเสียง
“เรื่องรางวัลผมคิดว่าสำหรับนักเขียนที่กำลังเริ่มต้นอย่างผมนี้จำเป็น เพราะหนึ่งต้องยอมรับเลยว่าประเภทโนเนมไม่มีชื่อมาเลยเอาผลงานไปส่งให้สำนักพิมพ์ส่วนใหญ่ก็จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ถ้าเราค่อยๆไต่เต้าไปเรื่อยๆพอมีชื่อเสียงพอเป็นที่รู้จักบ้างมันก็มีส่วนช่วยอยู่

สำหรับรางวัลผมว่านักเขียนส่วนใหญ่ก็อยากได้โดยเฉพาะนักเขียนใหม่อย่างผม แต่ผมอยากที่จะสร้างงานสักชิ้นที่มันพร้อมที่สุด คือจะไม่คำนึงถึงรางวัล อย่างรังเลือดก็ยังมีจุดบกพร่องเล่มนี้ผมใช้เวลาสองเดือนถ้าเขียนไม่ทันก็จะส่งประกวดไม่ได้ แต่ที่บอกว่าอยากจะเขียนงานที่พร้อมคืออยากจะเขียนแบบสบายๆ แต่ในความสบายมันต้องมีความพร้อมความสมบูรณ์ อาจจะไม่ได้รางวัลก็ได้ วางโครงเรื่องไว้เหมือนกัน ไม่อยากให้มีเงื่อนไขของเวลา เงื่อนไขของความยาวหรือว่าอะไรมาจำกัด คือเขียนตามอย่างที่เราอยากเขียนจริงๆ อยากได้เนื้องานดีๆที่ว่าบรรณาธิการอ่านแล้วไม่ต้องดูชื่อว่าใครเขียนชอบแล้วพิมพ์เลย อยากให้เนื้องานตัดสินตัวมันเองมากกว่า อาจจะไม่ต้องได้รางวัลอะไรมาก่อน แต่ในเมื่อคุณเขียนได้ดีสำนักพิมพ์ก็รับพิมพ์ให้ ผมอยากเขียนงานแบบนั้น

แต่ยังไงก็ตามก็ต้องขอบคุณเลยไม่ว่าจะเป็นองค์กรไหนที่จัดการประกวดเพราะมันช่วยนักเขียนใหม่ๆได้เยอะทีเดียว

ถามถึงเคล็ดลับการเขียนหนังสือให้ได้รางวัล ของผมไม่มีเคล็ดลับนะ ก็เขียนไปตามสไตล์ แต่ถ้าสังเกตงานของผมก็ให้ไปดูที่บทสนทนาของตัวละคร บทสนทนาค่อนข้างจะเร้าความสนใจของผู้อ่านได้พอสมควร
ผมจะให้ความสำคัญเท่าๆกันหมดทั้งพล๊อตเรื่อง สำนวนรายละเอียด แต่ผมถือคติว่าการเขียนนิยายสักเล่มแล้วคนอ่านๆแล้วอยากจะวางหนังสือ อ่านไปสัก 4-5 หน้าก็อยากวาง มันก็ไม่เชิงว่าไม่ประสบความสำเร็จ แต่รู้สึกว่าเราต้อง ทำให้เขาอ่านต่อให้ได้ อย่างหนังสือบางเล่มของนักเขียนดังๆอ่านไปได้นิดหน่อยบางทีเราก็อยากวางแต่มันก็ต้องอ่านเพราะว่าเราไม่แน่ใจว่าบรรทัดต่อไปเขาจะซ่อนอะไรไว้

แต่ถ้านักเขียนสามารถดึงคนอ่านไว้ได้หน้าต่อหน้าบรรทัดต่อบรรทัดก็ต้องถือว่าสุดยอด นักเขียนระดับบางคนก็เขียนน่าเบื่อ บางบทบางตอนน่าเบื่อแม้โดยรวมจะดีจะสุดยอด จะดีกว่านะผมว่าถ้าเราสามารถดึงคนอ่านไว้ได้ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ
สำหรับผลของผมเองถามว่าพอใจไหม ยัง ผมยังไม่พอใจ ผลงานของผมทุกเล่มยังมีจุดบกพร่อง ถ้าวัดเป็นเปอร์เซ็นต์ผมพอใจผลงานของตัวเองแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ คือมันยังมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไขอีกเยอะ

การเขียนหนังสือของผมไม่ได้ยึดเป็นอาชีพก็จะเขียนตามแต่โอกาสที่จะอำนวย แต่ละเรื่องที่ผมเขียนหนึ่งจะสะท้อนตัวตนของผมพอสมควรเหมือนกัน สองสะท้อนคนรอบข้างที่เราได้พบเห็นมา จะเป็นคนดีหรือคนชั่วนี้ผมให้ความสำคัญเท่ากันเลย อีกคนหนึ่งผมชอบกับอีกคนที่ผมไม่ชอบแต่เมื่อเราเอาชีวิตเขามาเขียนนิยาย ผมก็จะให้ความสำคัญเท่าๆกัน เขาจะดีจะชั่วก็เป็นเร่องของเขาแต่เขาก็มีศักดิ์ศรีเหมือนกัน ยิ่งเราเอาเขามาเขียนในหนังสือของเราผมจะให้ความสำคัญเท่ากันทั้งหมด จะไม่ตัดสินว่าเขาดีเขาชั่ว ”

หลายครั้งหลายคราวที่สายตาของคนทั่วไปมองว่านักเขียนเป็นบุคคลผู้มีบุคลิกที่แตกต่างออกไปจากธรรมดา อาจจะเป็นการปฏิบัติตัวของนักเขียนเองหรืออาจจะเป็นเพราะความเข้าใจของคนทั่วไปเลือกที่จะมองแบบนั้น
“ผมเป็นคนปรกติธรรมดาคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตปรกติธรรมดาในสังคมที่ผมอยู่ ผมคิดว่าคนเขียนหนังสือไม่ได้แปลกแยกออกจากสังคมหรอกเพราะคนเขียนหนังสือต้องเข้าถึงพื้นฐานของชีวิต จะไปแปลกแยกจากคนจะไปแปลแยกจากชีวิตไม่ได้ นักเขียนอาจจะแปลกกว่าเพื่อนสักหน่อยแต่นักเขียนไม่สามารถทำตัวแปลกแยกได้ เราอาจจะมีความคิดที่แตกต่างจากคนทั่วๆไปอยู่บ้างแต่คนเขียนหนังสือต้องไม่ทำตัวแปลกแยกออกจากชีวิตของคน ถ้าเราทำตัวห่างจากชีวิตจริงๆของคนธรรมดาทั่วๆไปเมื่อไหร่เราก็จะเขียนหนังสือไม่ได้ ”

ก่อนจบบทสนทนากับนักเขียนนิยายมือรางวัลนาม สาคร พูลสุขในวันนั้น เขามีข้อทิ้งท้ายที่น่าสนใจฝากถึงชาวเว็บประพันธ์สาส์นที่อยากจะหันมาจับปากกาเขียนดูบ้าง
“ก็ต้องอ่านก่อน อยากให้คนไทยอ่านหนังสือมากๆอ่านแล้วจะฉลาด แต่ไม่ใช่การฉลาดเหนือคนอื่น บางคนยิ่งอ่านยิ่งคิดว่าตัวเองโง่ บางคนอ่านแล้วคิดว่าตัวเองฉลาด คือคนยิ่งอ่านยิ่งโง่นี้จะคิดว่ายังมีอะไรอีกมากมายที่เรายังไม่รู้ แต่คนที่คิดว่ายิ่งอ่านยิ่งลาดนี้ คิดผิด ถ้าอยากเขียนหนังสือก็ต้องอ่านเยอะๆ อ่านเสร็จมาเขียน แล้วเอาที่เขียนเสร็จมาอ่าน อ่านแล้วชอบหรือไม่ชอบ ถ้าชอบก็โอเคพอที่จะเป็นพื้นฐานที่จะเป็นนักเขียนได้

อีกเรื่องคือสำหรับนักเขียนใหม่จะมีเวทีที่แสดงผลงานน้อย ในขณะที่คนที่สามารถยึดงานเขียนเป็นอาชีพได้ เขาก็จะสามารถที่จะยืนอยู่ได้ นักเขียนใหม่ก็ต้องอาศัยการประกวดเป็นครั้งเป็นคราวไป ที่อยากได้จริงๆคือถ้าคุณสามารถผลิตผลงานที่มีคุณภาพได้ก็อยากให้ผลงานนั้นสามารถเลี้ยงตัวของนักเขียนได้เหมือนกัน แต่เมืองไทยมันทำได้ยาก คนไทยอ่านหนังสือน้อย ยิ่งในระดับชาวบ้านระดับรากหญ้า ยิ่งอ่านน้อย ก็อยากจะให้คนไทย คนรุ่นใหม่ อ่านหนังสือเยอะๆ ประเทศชาติ จะเจริญได้ด้วยการอ่าน”

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ