การเดินทางของความตายสู่ความหมายของชีวิต : บทวิจารณ์โดย ทัศนารีย์ วิเศษรจนา

การเดินทางของความตายสู่ความหมายของชีวิต
      “ป๊าเสียแล้วนะ” จุดเริ่มต้นของสารคดีเรื่อง “What did my father teach me about life” หากให้ความหมายชื่อเรื่องเป็นภาษาไทยตามทัศนะของฉันหมายความว่า “พ่อสอนอะไรให้กับชีวิตของฉัน”
 
       แม้ชื่อเรื่องจะเป็นประโยคคำถามหรือประโยคบอกเล่า เส้นเรื่องกลับชวนให้ผู้อ่านเดินทางไปยังช่วงเวลาที่ผู้เขียนสูญเสียคุณพ่ อจากความตาย โดยผู้เขียนใช้วิธีเล่าความทรงจำในช่วงเวลาที่ประสบกับการสูญเสีย คุณพ่อ เสมือนเล่าให้กับมิตรสหายฟังราวกับเป็นเรื่องทั่วๆไปในชีวิต โดยไม่ได้เฉลยออกมากว่าพ่อสอนอะไรให้กับชีวิต ในขณะเดียวกันกลับสอดแทรกปรัชญาและข้อคิดของ การมีชีวิตอยู่อย่างแยบยลผ่านระหว่างการเดินทางของการจัดพิธีกรรมอย่างงานศพของคุณพ่อ ให้ผู้อ่านได้ขบคิดไปพร้อมๆกับการเดินทางของผู้เขียน 
 
    ตั้งแต่ย่อหน้าแรกที่ผู้เขียนเดินทางจากต่างประเทศกลับมายังประเทศไทยพบว่าคุณพ่อได้เสียชีวิตลง โดยไม่ได้มีโอกาสเห็นหน้าคุณพ่อเป็นครั้งสุดท้าย ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เขียนและคุณพ่อนั้นเหมือนห่างไกลแต่กลับใกล้ชิด แม้ผู้เขียนจะไม่ได้ใช้เวลาร่วมกับคุณพ่อมากมาย ช่วงเวลานั้นกลับมีคุณค่าและความหมายต่อผู้เขียนจวบจนช่วงวัยอายุ 30 ปี ดังประโยคที่ผู้เขียนกล่าวถึงคุณพ่อว่า 
 
“ฉันไม่เคยเสียดายเลย รักและคิดถึง พ่อ…”

     ถึงความตายของบุคคลอันเป็นที่รักจะพรากหลายๆอย่างในชีวิตเรา กลับไม่ได้พรากความทรงจำ คุณค่า และความหมายไปจากชีวิตของเรา อีกทั้งยังมอบของขวัญอันล้ำค่าที่ทำให้กลับมาดื่มด่ำและขอบคุณกับชีวิตที่มีลมหายใจอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงเป็นเครื่องตอกย้ำว่าสักวันหนึ่งเราทุกคนต้องตาย เส้นเรื่องจึงพูดถึงความตายได้อย่างอ่อนโยนและทำให้กลับมาขบคิดถึงการดำรงอยู่ของเราในขณะที่มีลมหายใจ 
 
     สารคดีเรื่องนี้จึงเป็นการชวนให้เรากลับมาเผชิญกับความตายในมิติของความจริง และรื้อสร้างมายาคติเกี่ยวกับความตายไม่ใช่เรื่องอัปมงคล ความตายเป็นเสมือนเงาที่ติดตัวเราและคนที่เรารักไปในทุกที่ โดยที่เราไม่สามารถทราบได้เลยว่าเมื่อไหร่เวลาของเราจะหมดลง ดั่งที่ผู้เขียนกลับมายังประเทศไทย และได้รับสายแปลกอย่างไม่ทันทราบมาก่อนล่วงหน้าว่าคุณพ่อจะเสียชีวิตลง รู้ตัวอีกทีเวลาของคุณพ่อก็หมดลง การเดินทางกลับบ้านครั้งนี้ ของผู้เขียน กลับเป็นการเดินทางไปยังงานศพของคุณพ่อแทน 
 
     เรื่องราวของผู้เขียนจึงทำให้ ผู้อ่านได้หันมาเผชิญหน้ากับความตายอย่างความกล้าหาญจากที่เราซุกซ่อนภายใต้ความรู้สึกนึกคิดของความกลัว ความตายจึงให้ของขวัญล้ำค่ากับเรามากมาย อาจกล่าวได้ว่าเพราะมีความตายชีวิตจึงมีความหมาย เวลาที่มีอยู่จึงเป็นดั่งของขวัญ อีกสิ่งหนึ่งที่ ดิฉันรับรู้ว่าผู้เขียนเผชิญหน้ากับความตายได้อย่างเข้าใจและโอบรับกับความไม่แน่นอนของชีวิต คือประโยคที่ผู้เขียนได้กล่าวว่า
“ฉันไม่รู้ว่าจะมีนรก สวรรค์ หรือชาติหน้ามั้ย แต่ขอให้ทุกที่ที่พ่อจากไปมีแต่ความสงบ ฉันไม่ร้องไห้ฟูมฟาย แต่ก็อยากให้พ่อรู้ว่าฉันเข้าใจและได้ความรักมาโดยตลอด ขอให้การจากไปครั้งนี้ไม่มีห่วง ไม่ต้องห่วงอะไรทั้งนั้น”

    ซึ่งตรงกับหนังสือที่ดิฉันเคยอ่านเรื่อง “คนที่เรารักตายแล้วไปไหน?” ของท่านปรมหังสา โยคานันทะ ที่ได้กล่าวว่า 
 
“แทนที่เราจะเศร้าโศรกเสียใจต่อความตายของบุคคลที่ท่านรัก จงส่งความรักของท่านไปให้พวกเขาอยู่เสมอ” 
“จงอย่าดึงพวกเขาลงสู่ภวังศ์แห่งความเศร้าโศกและความยึดติดเกาะเกี่ยวของท่าน 
แค่บอกกับพวกเขาว่าฉันรักเธอ” 
“แล้วเราจะได้พบกันอีก และสานต่อความรักอันพิสุทธิ์ และมิตรภาพให้แก่กัน”

      ความตายจึงไม่ใช่ใครอื่นไกล การโศกเศร้าเสียใจกับการส่งคนที่รักไปยังโลกหลังความตายเป็นเรื่องปกติทั่วไป สุดท้ายแล้วนั้น “ชีวิตปัจจุบัน ณ ขณะของเราต้องก้าวเดินต่อไป” เวลาของเรายังไม่หยุดเดิน เฉกเช่นเดียวกับคนที่รัก การตั้งใจใช้ชีวิตในปัจจุบั นที่มีอยู่ จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่เราจะมอบให้กับคนที่รักที่จากไป ดังเช่นผู้เขียนได้มอบประโยคว่า “สุดท้ายนี้หนูดีใจที่ได้เกิดมา หนูมีความสุขกับทุกๆ ช่วงที่เคยเกิดขึ้นระหว่างเรา สัญญาจะใช้ชีวิตให้ดีดูแลแม่ให้ได้ จำคำสอนและเรียนรู้บทชีวิตจากเหตุการณ์ ต่างๆ ที่เจอ รวมถึงการจัดการทรัพย์สินหลังความตาย หนูยังไม่ อาจบอกว่ารักพี่ๆ แต่เราจะไม่ทะเลาะกัน มีความสุขเท่าที่พ่ออยากให้มี ขอแค่ไปอย่างหมดห่วงก็พอ”
 
     ความรู้สึกตอนนี้ของดิฉัน คงเป็นความรู้สึกที่เปี่ยมไปด้วยความขอบคุณงานสารคดีชิ้นนี้ เหมือนกับที่ผู้เขียนขอบคุณทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตอย่างเข้าใจและโอบรับทุกสิ่งด้วยหัวใจที่อ่อนโยน แม้ในชีวิตของผู้เขียนจะเติบโตมากับคุณแม่ และคุณพ่อที่มีความสัมพันธ์ ไม่ถูกต้องตามที่สังคมขีดเส้นอย่างการเป็นบ้านหลังที่สองหรือเป็นบ้านน้อยของคุณพ่อ การเดินทางมายังงานศพของคุณพ่อทำให้ผู้เขียนได้มีโอกาสพบพี่น้องต่างคุณแม่ เป็นช่วงเวลาที่ผู้เขียนได้ปลดล็อกสิ่งต่างๆที่เป็ นปมขมวดมามากกว่า 30 ปีของผู้เขียน
 
     เรื่องราวของผู้เขียนทำให้ดิฉันนึกถึงประโยคหนึงว่า “เราไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย ยกเว้นทัศนคติของเราเอง” แม้ผู้เขียนจะเกิดมาพร้อมกับความสัมพันธ์ของคุณพ่อและคุณแม่ที่ ไม่ถูกต้องตามฉบับของสังคม ผู้เขียนกลับโอบรับและรู้สึกขอบคุณทุกสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเข้าใจว่าทุกสิ่งล้วนมีเหตุผลและเบื้องหลัง เราคงไม่สามารถควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในทุกอย่าง สิ่งหนึ่งที่เราควบคุมได้คือความคิดและทัศนคติ ต่อการมองสิ่งนั้นๆ ดั่งที่ผู้เขียนได้สะท้อนผ่านประโยคที่ว่า
 
“ฉันอยากบอกให้รู้ไว้ว่าเราไม่ได้เกลียดกัน ไม่มีใครเป็นเหยื่อทั้งนั้นจากสถานการณ์ที่ผ่านมา เราแค่เกิดและเติบโตมาในสถานการณ์ที่คล้ายกัน มีพ่อคนเดียวกัน และฉันจะไม่ ตัดสินใครทั้งนั้น รวมถึงแม่ของฉันเองด้วย”
 
     แม้ชีวิตจะเปราะบาง เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน สุดท้ายความคิด คุณค่า และความหมายของชีวิตยังคงอยู่กับเรา แม้แต่ความตายเองนั้นไม่สามารถพรากสิ่งเหล่านี้ไปจากเราได้เลยแม้แต่นิดเดียว เวลาที่มี ลมหายใจอยู่จึงเป็นดั่งของขวัญ แม้เราจะพบกับสิ่งใดทั้งควบคุมได้และไม่ได้ สิ่งหนึงที่เราควบคุมอย่างยืนหยัดคือ ร่างกาย ความคิด จิตใจของเราเอง 

     ถึงเราตายจากโลกนี้ไป สิ่งหนึ่งที่ยังทิ้งไว้คืออัตตาของเราที่ถูกบรรจุไว้ ในความทรงจำของคนรอบข้างหรือแม้แต่คนที่เราพบเจอการเดินทางระหว่างความตายของคุณพ่อผู้เขียน กลับมอบความหมายให้กับชีวิตเราอย่างน่ามหัศจรรย์ สุดท้ายการเดินทางของผู้เขียนได้จบลง หลังจากที่มาร่วมพิธีกรรมงานศพและพบเจอญาติพี่น้อง หรือแม้กระทั่งนึกถึงช่วงเวลาในอดีต นึกถึงความรู้สึกนึกคิดกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น ระหว่างการเดินทางมาร่วมงานศพของคุณพ่อตั้งแต่ต้นจนจบพิธี
 
    สุดท้ายผู้เขียนและผู้ที่พบเจอในงานศพของคุณพ่ออย่างญาติพี่น้องเมื่อพิธีกรรมจบลง ทุกคนต่างแยกย้ายไปใช้ชีวิตและมีชีวิตของตนแบบเดิม 
 
    สิ่งที่ทิ้งไว้ของความตายกลับกลายเป็นความหมายของการมีชีวิตอยู่ทั้งผู้เขียนและผู้อ่านอย่างพวกเราทุกคน ชีวิตก็แค่นั้น และเวลายังคงเดินต่อไป แม้การเดินทางของใครจะหมดลง การเดินทางของ “ชีวิต ความรัก ความหมาย และความตาย”
 

Writer

The Reader by Praphansarn