รถไฟสายแสงตะวัน : ภาพฝัน ความหวัง กับความเป็นประชาธิปไตย ของคนรุ่นใหม่ : บทวิจารณ์โดย ตะวัน คุ้มแก้ว โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ปีที่ 8

รถไฟสายแสงตะวัน : ภาพฝัน ความหวัง กับความเป็นประชาธิปไตย ของคนรุ่นใหม่

            ท่ามกลางสภาพสถานการณ์การเมืองไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่มีการฉีกรัฐธรรมนูญมาหลายต่อหลายครั้ง ก่อให้เกิดการปฏิรูปทางการเมืองหรือการเคลื่อนไหวทางสังคมหลายด้าน ประชาธิปไตยเป็นหนทางหนึ่งที่นำมาสู่ความเสมอภาค ภราดรภาพ และอิสรภาพ โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่าคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศมากขึ้น เพราะการเปิดประตูไปสู่โลกภายนอกหรือสาธารณะมากขึ้น การได้รับข่าวสารมากขึ้น ส่งผลทำให้เกิดการตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ ในการส่งเสริมและพัฒนาความเป็นประชาธิปไตยสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นกว่าเดิม แต่ภาพฝันแห่งแววหวังเหล่านั้นที่พวกเขาวาดไว้คงเกิดขึ้นได้ไม่ง่าย เพราะในสังคมล้วนมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ความฝันของพวกเขาจึงค่อย ๆ ริบหรี่ลงเรื่อย ๆ กวีนิพนธ์ เรื่อง “รถไฟสายแสงตะวัน” คงจะเป็นภาพพจน์ที่เปรียบเทียบเรื่องราวของความฝัน ความว่างเปล่า ของเขาเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี

            กวีนิพนธ์ เรื่อง รถไฟสายแสงตะวัน เข้ารอบ Long List รางวัลพานแว่นฟ้า ประจำปี ๒๕๖๕ และได้ตีพิมพ์ในนิตยสาร “ทางอีศาน” ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๑๑๒ เดือนสิงหาคม ๒๕๖๕ มีความยาวทั้งสิ้น ๑๒ บท สิ่งที่โดดเด่นในกวีนิพนธ์เรื่องนี้คือการใช้ภาพพจน์เพื่อบรรยายเปรียบเทียบให้เกิดความสะเทือนใจ ผู้เขียนใช้ถ้อยคำที่ทำให้เกิดอารมณ์เป็นจำนวนมาก ผ่านการถ่ายทอดเรื่องราวแห่งความหวังกับรถไฟสายประชาธิปไตย

            ตั้งแต่บทแรกของกวีนิพนธ์ผู้เขียนใช้คำที่มีความรู้สึกสะเทือนอารมณ์ ให้ภาพพจน์แก่ผู้อ่าน นับว่าเป็นการกระตุ้นหรือเร้าความสนใจของผู้อ่านให้รู้สึกคล้อยตามไปกับอารมณ์

                        เคว้งคว้างทนบนริมทางเหล็กรางคู่        ฝืนใจสู้หยัดอยู่อย่างเลือนลางฝัน

                        ร่วงโรยล้าลาแรงลงทุกวัน                     ยังเชื่อมั่นรถคันนั้นต้องผ่านมา

            หากอ่านบทกวีนี้ในตอนต้นถึงกลางคงยังไม่เห็นถึงภาพพจน์ที่เปรียบเทียบกับสิ่งใด เพราะผู้เขียนได้ร้อยเรียงเรื่องราวไว้อย่างแยบยล สามารถทำให้ผู้อ่านได้คล้อยตามกันไปเรื่อย ๆ จนเห็นถ้อยคำที่เปรียบเทียบอย่างชัดเจนในตอนจบ ซึ่งเป็นจุดเด่นอีกจุดหนึ่งของบทกวีเรื่องนี้เช่นกัน

            ความเคว้งคว้างของรถไฟบนรางรถไฟ เปรียบเทียบให้เห็นถึงความโดดเดี่ยวของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการจะปฏิรูประบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย การที่พวกเขาไม่มีคนคอยสนับสนุนมันทำให้ความหวังของเขาต้องอ่อนล้าโรยราลงทุกวัน แต่ถึงกระนั้นด้วยปณิธานความมุ่งมั่นภายในจิตใจ พวกเขาจึงไม่เคยรู้สึกถอดใจ

                        ขบวนรถไฟสายแสงตะวันส่อง             คงเรืองรองสว่างไสวในใจข้า

                        ดวงแดดร้อนคงเริงรื่นชื่นชีวา                ชานชาลาคงกู่ร้องก้องกึกดัง

            การที่ผู้เขียนใช้รถไฟสายแสงตะวันเป็นทั้งชื่อเรื่องและเนื้อหาภายในเรื่อง อาจเพราะต้องการแฝงนัยสำคัญเอาไว้ รถไฟสายแสงตะวัน จึงเป็นรถไฟแห่งความหวังที่คนรุ่นใหม่ต่างเฝ้ารอ การเลือกใช้รถไฟแสงตะวันมาเปรียบเทียบกับความหวังของรุ่นใหม่ เป็นการใช้ลักษณะร่วมกันระหว่างแสงตะวันที่ส่องแสงกับความหวังที่รอความสำเร็จที่ยังไม่เกิดขึ้น นั่นคือความเป็นประชาธิปไตยที่ต้องการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น แสงตะวันที่ส่องลงมามันทำให้เกิดความสว่างไสวในจิตใจ คือ เมื่อประชาธิปไตยใหม่นั้นได้ผ่านการปฏิรูปแล้ว เชื่อว่าคงเกิดเป็นความสุขขึ้นในประเทศไทยของเรา ชานชาลาเปรียบเสมือนเส้นทางที่พวกเขาต้องดำเนินไปให้ถึงสถานีหรือจุดหมาย แต่มันก็เป็นเพียงภาพฝันเท่านั้น เพราะ

                        คือภาพฝัน ณ ริมรางอันว่างเปล่า          สถานีแสนเหงา เศร้า สิ้นหวัง

                        มีเพียงรถขบวนเก่าร้าวผุฟัง                  ที่นาน ๆ ผ่านมาครั้งยังเหมือนเดิม

ขบวนรถไฟที่ร้าวผุพังก็คืออุดมการณ์ที่รอการใช้งาน เพราะเมื่ออุดมการณ์ของคนรุ่นใหม่ไม่ได้ถูกนำไปปฏิรูปให้ถูกเกิดขึ้นจริงก็เป็นการถูกทิ้งร้างไว้จนไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์อะไรต่อประเทศชาติ ในส่วนนี้ผู้เขียนยังกล่าวเชิงวิจารณ์สังคมไว้ด้วยว่าที่ “นาน ๆ ผ่านมาครั้งยังเหมือนเดิม” ไม่ว่าจะเรียกร้องไปสักเท่าไรก็ไม่ได้รับความสนใจเหมือนเดิม สะท้อนให้เห็นว่าเมื่อเรามีความคิดหรืออุดมการณ์ที่ต่างกันเราก็ควรรับฟังซึ่งกันและกัน ถึงแม้คนรุ่นใหม่จะมีจำนวนมากกว่าคนรุ่นเก่าก็ตาม แต่ผู้ที่มีทำหน้าที่ในการบริหารราชการประเทศก็ยังมีอำนาจมากกว่า และมีอำนาจในการตัดสินใจต่อการปฏิรูปประเทศด้วย ซึ่งเป็นความจริงที่ว่าหากเราไม่ได้เห็นด้วยแล้ว และไม่เปิดใจยอมรับกันและกัน การพัฒนาประเทศชาติให้ไปสู่หนทางแห่งความเจริญก็เป็นไปได้ยาก ดังต่อไปว่า

                        บนขบวนรถไฟไม่เคยเปลี่ยน                ดูผิดเพี้ยนเจียนบ้ามาแต่เริ่ม

                        หน้าเก่าใหม่หลายหน้ามาเพิ่มเติม       ที่นั่งเสริม ที่นั่งเก่า เก้าอี้ดนตรี

            ในส่วนนี้ผู้เขียนก็ได้วิพากษ์วิจารณ์กระบวนการของการบริหารราชการไว้ด้วย สะท้อนภาพของระบบการบริหารที่เป็นเหมือนเดิม ไม่เคยเกิดการเปลี่ยนแปลง เป็นวงจรของวงการการเมือง ใช้คำที่เหน็บแนมกระทบกระเทียบ เช่น ผิดเพี้ยนเจียนบ้า และเก้าอี้ดนตรี ที่ทำให้เห็นว่าสายตาของคนรุ่นใหม่ที่มองเข้ามาในระบบการเมืองพบแต่ความวุ่นวาย และผิดเพี้ยนมาเป็นเวลานาน การเปลี่ยนแปลงก็เหมือนการเล่นเก้าอี้ดนตรีที่ยังวนลูปอยู่เหมือนเดิม แต่ในขณะเดียวกันเราก็ไม่สามารถตีความไปในทางนั้นได้อย่างเต็มที่ เพราะในส่วนนี้ก็เป็นทรรศนะของผู้เขียนด้วยเช่นกันที่นำมาประกอบเข้าด้วยกัน ประสบการณ์ของผู้เขียนก็เป็นส่วนสำคัญ เพราะเมื่อใส่ลงไปในบทกวีก็จะสามารถชักจูงผู้อ่านได้ด้วย

                        มาแล้วไปคล้ายเรื่องเก่าเคยเล่าขาน      ประสบการณ์ยืนกรานว่าไม่ใช่

                        ถูก จริง แท้ แห่งประชาธิปไตย                         ขบวนรถสายใหม่ยังไม่มา

            เรื่องราวการเรียกร้องการปฏิรูปประชาธิปไตยรูปแบบใหม่นี้ยังถูกกล่าวขานกันมาตลอด ถ้าในประวัติศาสตร์ไทยที่เห็นได้ชัดเจน ก็คือตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยในปีพุทธศักราช ๒๔๗๕ ซึ่งก็ยังไม่ได้รับการปฏิรูปทั้งหมด แต่ในส่วนของวรรคที่ว่า ประสบการณ์ยืนกรานว่าไม่ใช่ นั้น ผู้วิจารณ์มองว่ายังไม่เกิดความเข้าใจที่ว่า “ประสบการณ์” ที่ยืนกรานว่าไม่ใช่นั้นเป็นประสบการณ์ใด หรือประสบการณ์ของใครอาจทำให้ขาดความเชื่อมโยงเข้ามาในส่วนถัดไป ต่อมา คำว่า “ถูก จริง แท้” นั้น เป็นคำที่มีความหมายในทางที่ดี กล่าวคือ เมื่อนำมาใช้กับคำว่า ประชาธิปไตย ก็เป็นการบอกว่าประชาธิปไตยนั้น ต้องดีขึ้นหรือควรได้รับการพัฒนา แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร สอดคล้องกับวรรคต่อมาที่ว่า ขบวนรถสายใหม่ยังไม่มา

                        ปณิธานผ่านหัวใจวัยอ่อนล้า                  วันข้างหน้าเป็นเวลาคนรุ่นใหม่

                        เพื่อวันนั้นต้องยึดมั่นฝันต่อไป               รถสายประชาธิปไตยจะต้องมา

            ปณิธานที่แน่วแน่อยู่ภายในจิตใจที่เริ่มอ่อนล้าลง วันข้างหน้าก็ต้องเป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาเรียกร้องอุดมการณ์ของตน ผู้เขียนได้ให้ภาพของความสะเทือนใจนี้ เหมือนเป็นใจความสำคัญของกวีนิพนธ์เรื่องนี้ว่าสักวันหนึ่งรถสายประชาธิปไตยที่พวกเขาใฝ่ฝันจะต้องมาถึง เพียงแค่ต้องยึดมั่นในอุดมการณ์ของตนเอง

            “ความเป็นประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่” คงจะเป็นถ้อยคำที่ชัดเจนและครอบคลุมความสำคัญ ที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของกวีนิพนธ์เรื่องนี้ได้อย่างลงตัว เพราะความเป็นประชาธิปไตยนั้นมีอยู่ในมือของเราทุกคน เราควรต้องยอมรับและปรับเปลี่ยนสู่ความเปลี่ยนแปลงในวันข้างหน้าให้ได้ เพราะทุกคนทุกฝ่ายต่างมีภาพฝัน ความหวังของตนเองที่มุ่งให้ประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ดังที่มีคำกล่าวไว้ว่า “ประชาธิปไตยเป็นเส้นขนาน” จะเห็นว่าหากเรายืนอยู่บนอุดมการณ์ของตนอยู่ฝ่ายเดียว ก็จะเป็นไปได้ยากที่จะยอมรับคนรุ่นใหม่กับความเป็นประชาธิปไตยที่ดีขึ้นแต่จำเป็นต้องเปลี่ยนโฉมไปจากเดิม

บทวิจารณ์โดย ตะวัน คุ้มแก้ว

Writer

The Reader by Praphansarn