รัก อิสระ บทวิจารณ์เรื่องสั้น กะพริบตาข้างเดียว : บทวิจารณ์โดย แพรวา ยิ้มแย้ม โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ปีที่ 8

รัก อิสระ บทวิจารณ์เรื่องสั้น กะพริบตาข้างเดียว

            กะพริบตาข้างเดียว” เป็นเรื่องสั้นที่มีช่วงเวลาอยู่ในอนาคต เอไอไม่ใช่เพียงเครื่องมือของมนุษย์ แต่เป็นสิ่งที่บงการชีวิตมนุษย์ได้แล้ว แต่ก็รู้สึกเชื่อมโยงได้ง่ายเพราะสถานการณ์ที่คล้ายคลึงชวนคุ้นเคย เพราะในเรื่องทุกคนต่างมีกฎเหล็กที่ต้องทำตามคือการต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา ต้องเว้นระยะห่าง และห้ามถูกเนื้อต้องตัวกันเด็ดขาด เนื่องจากการระบาดของไวรัสชนิดหนึ่งที่กลายพันธ์ไปถึงจุดที่ไม่มีวัคซีนใดยับยั้งได้ ซึ่งเหมือนกับสถานการณ์โลกในปัจจุบันที่มีการระบาดของโควิด-19 เพียงพริบตาเดียวโลกก็เปลี่ยนไปตลอดกาล

            เรื่องราวชีวิตของผู้คนในเรื่องถูกลิขิตโดยรัฐบาล มีกรอบแน่นหนาที่ถ้าถูกแหกออกแล้วหนึ่งครั้งนั้นหมายถึงตาย และนั่นหมายถึงการระลึกถึงอดีตด้วยเช่นกัน อดีตทั้งหลายต่างเป็นประสบการณ์ที่สั่งสมขึ้นมาเป็นตัวตนของเรา ดังนั้นตัวตนของเราจะสมบูรณ์ได้หรือหากหลงลืมอดีตของตัวเอง วิถีชีวิตของผู้คนในเรื่องจึงถูกสื่อด้วยประโยคซ้ำซากแบบเดิมซ้ำไปวนมา ใช้ชีวิตเป็นแบบแผนเหมือนกันเสียหมด ขาดชีวิตและความรัก ถูกบงการกระทั่งการเลือกคู่ครอง การสร้างครอบครัวจึงมีไว้เพื่อผลิตลูกเพิ่มประชากรเพียงเท่านั้น เพราะพริบตาเดียวโลกก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง อดีตเป็นสิ่งที่ไม่มีวันย้อนคืนมาได้ ทั่วโลกจึงเลือกที่จะทิ้งทุกอย่างไว้ด้านหลังและเริ่มต้นใหม่ ปรากฎเป็นคำขวัญองค์กรความทรงจำโลกว่า “เมื่อไม่เห็นก็ไม่โหยหา อดีตไม่มีค่าเท่าอนาคต” ดังนั้นของที่เป็นความทรงจำต่าง ๆ จึงกลายเป็นเพียงขยะที่ต้องกำจัดทิ้ง ใครโหยหาขยะจะต่างอะไรจากขยะ สิทธิและเสรีภาพถูกริดรอน เลี้ยงดูลูกได้แค่ยี่สิบปี สิทธิ์ที่ผู้หญิงจะได้เป็นแม่คือจนถึงสามสิบปี ส่วนผู้ชายมากกว่าสิบปี เมื่อเลยกว่านั้นก็ไม่มีสิทธิ์ได้อีก อย่างว่า ยุคไหน ๆ ผู้หญิงผู้ชายก็ไม่เคยเท่าเทียมกัน” หญิงสาวกล่าว

            ถึงมีกฎเกณฑ์ที่ต้องปฏิบัติ แต่คนบางกลุ่มก็เลือกที่จะเสี่ยงเพื่อสิ่งของแห่งความทรงจำอยู่ดี หลายคนถูกจับ โดนทำร้ายหรือถูกฆ่าเพียงเพราะลักลอบนำของเหล่านั้นออกมา แล้วทำไมคนถึงยอมเสี่ยง คำตอบง่ายดายนั่นเพียงเพราะเราคือ “มนุษย์” เรามีอิสระทางความคิด และความฝัน หากมีสิ่งใดถูกพรากไปเราจึงออกไขว่คว้ามาครอบครอง เหตุใดจึงต้องทิ้งมัน แล้วถึงทิ้งมันไปเหตุใดถึงมีคนต้องการกลับมา เพราะเรามีความรัก ความอาลัย ความสัมพันต่อสิ่งต่าง ๆ และอดีตคือความทรงจำของเรา จึงมีขบวนการที่คอยลักลอบนำสิ่งเหล่านี้ออกมา ทำให้ตัวเอกของเราตกหลุมรักกับ “หนู” หมายถึงคนส่งของที่คอยส่งสิ่งต่าง ๆ กลับให้เจ้าของเดิม แม้ว่าทั้งคู่จะไม่เคยไม่คุยกันนอกจากส่งจดหมายถึงกัน แต่นั่นก็เพียงพอให้คนสองคนตกหลุมรักกันได้ เพราะเขาทั้งคู่มีอิสระในพื้นที่ที่จะแสดงตัวตนของตัวเองร่วมกัน เป็นความสบายใจให้กันและกัน นอกจากนี้ยังมีการเปรียบเปรยว่าสิ่งของที่ลักลอบมาเป็นเหมือน “ไฟ” เพราะจะเป็นอันตรายหากเก็บไว้กับตัวนานเกินไป จึงต้องรีบส่งคืนให้เร็วที่สุดเพราะสิ่งนี้มันจะเผาไหม้เรา แต่มันยังเป็นไฟที่คนต้องการเก็บมันเพื่อต่อไฟแห่งชีวิต

            ทุกครั้งที่เขาได้พูดคุยกับหญิงสาวที่นัดพบ มักจะกล่าวถึง “กลิ่นอายแห่งวัยเด็ก หอมละมุนของแสงแดดและทุ่งหญ้า” และ “เสียงหัวเราะของเด็กผู้หญิง” เด็กผู้หญิงคนนั้นคือใคร ทำไมเขาถึงได้รู้สึกคุ้นเคยกับเธอ คิดง่าย ๆ ในวัยเด็กทั้งสองอาจจะเคยรู้จักกันมาก่อนก็เป็นได้ หรือเพราะเขากำลังโหยหาอดีต ประสบการณ์ที่เคยมีเลยทำให้รู้สึกคุ้นเคยอย่างบอกไม่ถูก เพราะเขากำลังซ้อนทับภาพปัจจุบันกับอดีตไว้ด้วยกัน งั้นทำไมเขาถึงไม่ซ้อนทับภาพของหล่อนกับคนรัก(ต้องห้าม)เก่าในฐานะคนรักล่ะ อย่างนั้นความรู้สึกที่เกิดกับตัวเอกมันคือความรักโดยภาพอดีตมาเปรียบเทียบหรือเป็นความโหยหาในสิ่งที่คุ้นเคยกันแน่

            นอกจากปมปริศนาจากหญิงสาวที่นัดพบแล้ว หล่อนยังเป็นคนที่ทรยศตัวเอกของเราอีกด้วย เพราะตัวเอกเผยหลักฐานซึ่งเป็นของที่สะสมไว้ให้หล่อนดู เนื่องจากต้องการสร้างครอบครัวที่ไม่มีความลับต่อกัน มีอิสระที่จะพูดคุยเรื่องราวต่าง ๆ ด้วยกัน แต่การนัดพบคือแผนการที่จะเปิดเผยขบวนการลับ ตลอดมาหล่อนใช้คำพูดเชยชม หยอดเรื่องขบวนการลับมาตลอด แต่ทุกอย่างเป็นการโกหกงั้นหรือ หล่อนเสียครอบครัวให้กับโรคร้ายที่กำลังแพร่พันธุ์ หลายคนมักจะโหยหาอดีตที่มีร่วมกัน แต่หล่อนเลือกจะต่อต้านการครอบครองสิ่งของในอดีต เพราะเจ้าตัวเจ็บปวดเกินกว่าย้อนนึกถึง เลยเลือกที่จะละทิ้งทุกสิ่ง อาจจะเพราะค่านิยมในสังคมหรือการปลูกฝังแนวคิดบางอย่างจากรัฐบาล เมื่อหล่อนทำได้จึงทำให้ยกยอตัวเองว่าสูงกว่า ไม่จมปลักในอดีตเหมือนคนอื่นที่โหยหาขยะ

            ในตอนที่ตัวเอกเลือกถอดหน้ากากเพื่อเปล่งเสียงพูดบทกวีของพ่อในอดีต แม้จะมีกระบอกปืนจ่อหัวและพร้อมลั่นไกได้ทุกเมื่อ เขาก็ยังไม่หยุดและเปล่งวาจาก้องดัง ใครมิอาจหยุดข้าไว้ไม่ให้ฝัน” ไม่มีใครหยุดยั้งความฝันเขาไปได้ “พร้อมกันนั้นมิอาจพรากทรงจำข้า”  ไม่มีใครพรากความทรงจำที่ฝังในหัวเขาไปได้ “มิอาจพันธนาการกาลเวลา” ไม่มีใครหยุดเวลาที่เดินอยู่ได้ “และมิอาจ…ทายท้าต่อหัวใจ” และไม่สามารถต่อกรกับหัวใจเขาได้ เมื่อเสียงปืนดังขึ้น เขาก็ได้เป็นอิสระต่อกฎเกณฑ์ทั้งปวง ได้เผยใบหน้าใต้หน้ากาก ได้นึกย้อนถึงอดีตที่หอมหวน ได้เปิดเผยสู่อดีตที่หวงห้ามได้ประกอบเศษเสี้ยวตัวตนของเขาให้สมบูรณ์ แม้แต่ลูกปืนก็มิอาจฉุดรั้งอะไรเขาได้ดั่งบทกวีที่ถูกเอื้อนเอ่ย มันจึงเป็นเวลาสุดท้ายที่เขามีความสุขที่สุด

            เรื่องสั้นเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงความดิ้นรนของมนุษย์ได้ดี ไม่มีอะไรจะหยุดยั้งเราได้อย่างแท้จริง อนาคตเป็นสิ่งสำคัญ ใช่ แต่อดีตก็สำคัญ อดีตช่วยให้มนุษย์เรียนรู้ตัวเองทำให้เกิดการพัฒนาในหลาย ๆ ด้าน ทั้งทัศนคติ ความนึกคิด ความรู้สึก ดังนั้นการหยุดหวนถึงอดีตจะต่างอะไรกับการหยุดพัฒนาจริงไหม การที่ใครสักคนมีอิสระได้เป็นตัวเองมันคือการเพิ่มพูนความรักให้กับโลกใบนี้ สังคมในเรื่องมีความคล้ายคลึงกับสังคมปัจุบัน แล้วตอนนี้สังคมเรากำลังเป็นแบบไหน กำลังเดินไปทางใด เรากำลังยับยั้งอิสระในการเรียนรู้ตัวเองจากใครอยู่หรือเปล่า นี่คือสิ่งที่เราควรจะทบทวนอยู่เสมอ เพราะพริบตาเดียวคนคนหนึ่งก็อาจจะต้องหายไปตลอดชีวิตเพราะเหตุนี้ก็ได้

 

บทวิจารณ์โดย แพรวา ยิ้มแย้ม
โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ปีที่ 8

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ