จับตาย : การโต้กลับของแม่ช่อพุทธชาดของคุณ

จับตาย

 

         “จับตาย” นำเสนอเรื่องราว รักสามเส้า ระหว่างผู้ชายสองคน ที่ไปตกหลุมรักผู้หญิงคนเดียวกัน  ถึงแม้โครงเรื่องจะดูราวกับว่าเป็นเรื่องความรัก แต่คุณมนัส จรรยงค์ผู้แต่ง ได้สอดแทรกประเด็นทางสังคมต่างๆมากมาย เช่น ความขัดแย้งระหว่างการทำตามหน้าที่กับการทำตามความรู้สึกส่วนตัวของทั้งตัวผู้คุมและนักโทษ ศักดิ์ศรีการเป็นมนุษย์ผู้ชาย และคุณค่าของการเป็นนักโทษที่มีชีวิตอยู่เพียงเพื่อทำงานเฉกเช่นทาส ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเรื่อง “จับตาย” ที่สะท้อนถึงการไร้ประโยชน์ที่จะมีชีวิตอยู่ของนักโทษในเรื่อง เพราะนอกจากแรงงานแล้ว พวกเขาก็ไม่มีอะไรอีกเลย เว้นแต่ความหวังลมๆแล้งๆของการเป็นอิสระและเห็นครอบครัวอีกครั้ง นอกจากประเด็นที่เขียนไว้ข้างต้นแล้ว ยังมีอีก2ประเด็น คือความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และมุมมองต่อสตรี ที่ปรากฏในเรือง ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ และเป็นประเด็นที่จะนำมาวิเคราะห์ในงานเขียนชิ้นนี้

 

           แนวคิดแบบนิเวศสำนึก ในจับตายถูกนำเสนอผ่านความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ จะเห็นได้ว่ามนุษย์ในเรื่องมองธรรมชาติว่าเป็นเพียงทรัพยากรที่ดำรงอยู่เพื่อให้มนุษย์ได้ใช้สอย เห็นได้จากหลายๆฉากที่แสดงถึงการเบียดเบียนธรรมชาติ เช่นการโค่นต้นไม้ รวมไปถึงการล่าสัตว์ การกระทำเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า มนุษย์เป็นฝ่ายที่ได้รับประโยชน์อยู่ฝ่ายเดียว เพราะในเรื่องไม่ปรากฏความสัมพันธ์ในเชิงพึ่งพาอาศัยกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ แต่นำเสนอเพียงแค่มนุษย์ในเรื่องใช้ธรรมชาติสร้างประโยชน์ให้แก่ตนเองอย่างไรบ้าง จึงทำให้บทบาทระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติเป็นไปในทางผู้ล่ากับเหยื่อเสียมากกว่า

 

           ส่วนมุมมองเกี่ยวกับผู้หญิง ถูกถ่ายทอดผ่านตัวละคร “หวัน” เช่นลักษณะภายนอกของหวันที่เป็นคนผิวขาวและมีรูปร่างดี แสดงถึงทัศนคติต่อความสวยของผู้หญิงและแสดงให้เห็นว่า ผู้เล่าให้คุณค่ากับความสวยของผู้หญิงเป็นอย่างมากเห็นได้จากที่เขากล่าวถึงความงามของผู้หญิงอยู่บ่อยครั้งเช่นการพูดถึงความงามของภรรยาของนักโทษคนอื่น รวมไปถึงความงามของตัวหวันเอง แต่มุมมองในด้านอื่นเช่นความสามารถต่างๆของผู้หญิงยังไม่ถูกกล่าวถึงหรือถูกให้คุณค่ามากนัก

 

           นอกจากนี้มุมมองของผู้เล่าที่มีต่อหวันมักเป็นไปในเชิงสงสาร เช่น การเรียก หวันว่า "เด็กหญิงที่น่าสงสาร" และ "เด็กสาวที่ยังไม่เดียงสา"  การใช้คำว่า "เด็ก",  "ไม่เดียงสา" และความรู้สึกสงสาร แสดงให้เห็นมุมมองของผู้เล่าที่อาจมองตัวเองว่ามีสถานะเหนือกว่า เพราะการที่เรารู้สึกสงสารใครแสดงว่าคนนั้นด้อยกว่าเรา และคำว่า "เด็ก" อาจตีความได้ว่าผู้เล่ามองผู้หญิงเฉกเช่น หวัน เป็นเพศที่อ่อนแอ เหมือนเด็กที่ไม่มีทางสู้ต่อชะตากรรมที่กำลังจะได้พบ

 

           อาจกล่าวได้ว่าการให้คุณค่ากับความสวยของผู้หญิง การสร้างตัวละครหวันให้มีความอ่อนแอและไร้เดียงสา เป็นลักษณะการมองแบบ male gaze ซึ่งเป็นการที่ผู้ชายมองผู้หญิงเฉพาะในมุมที่ผู้ชายอยากมอง หรือมองเฉพาะในสิ่งที่ผู้ชายอยากให้ผู้หญิงเป็น

 

           ประเด็นสำคัญอีกข้อหนึ่งคือการที่ผู้เล่าเปรียบหวันกับดอกไม้ และมักเรียกเธอว่า "แม่ช่อพุทธชาดป่าของเขา" จากคำเรียกนี้อาจตีความได้ว่าการที่ผู้เล่าเปรียบผู้หญิงกับดอกไม้เป็นการให้คุณค่ากับผู้หญิงแค่ความสวยงาม เปรียบเสมือนดอกไม้ที่เป็นเพียงแค่เครื่องประดับที่ทำให้โลกสวยงาม และการใช้คำว่า "ของเขา" แสดงให้เห็นถึงภาวะ การครอบครองของผู้เล่าที่มีต่อทั้งธรรมชาติซึ่งก็คือดอกไม้ และต่อหวันซึ่งเป็นผู้หญิง จากประเด็นนี้ทำให้เรามองเห็นความเหมือนกันของธรรมชาติและผู้หญิง ซึ่งเหมือนกันทั้งในแง่ของการตกเป็นเหยื่อที่มีผู้ล่าเป็นทั้งมนุษย์และโชคชะตา และยังเหมือนกันในแง่ของการถูกครอบครองอีกด้วย

 

          ฉะนั้นหากพูดถึงการโต้กลับของธรรมชาติในเรื่องเราจะพบประเด็นที่สื่อถึงการโต้กลับหลายประเด็น เช่น ไข้มาลาเรีย ซึ่งเป็นไข้ที่เกิดจากยุงซึ่งก็คือธรรมชาติ และการที่นักโทษต้องทนทุกข์ทรมานและตายด้วยโรคนี้อาจแสดงให้เห็นถึงการเอาคืนของธรรมชาติ โดยการพรากชีวิตและทำให้มนุษย์ทุกข์ทรมานเหมือนดั่งที่มนุษย์นั้นโค่นต้นไม้และล่าสัตว์

 

          นอกจากนี้การโต้กลับของผู้หญิงก็สามารถพบได้เช่นกัน เช่น ถึงแม้ว่าหวันจะมีลักษณะบอบบางและน่าสงสาร แต่เธอก็เป็นผู้กุมชะตากรรมและหัวใจของทั้งประสิทธิและพร และหากเรื่องนี้ไม่มีหวันความขัดแย้งและประเด็นสำคัญต่างๆคงไม่เกิดขึ้น หรืออาจทำให้เรื่องเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

 

บทวิจารณ์โดย น.ส. นิโลบล บ้านเตย

Writer

The Reader by Praphansarn