Sir Arthur Charles Clarke : เซอร์ อาร์เธอร์ ชาลส์ คลาร์ก

Sir Arthur Charles Clarke

     ผลงานเขียนนวนิยายของคลาร์ก มีความริเริ่มสร้างสรรค์เกี่ยวกับความเป็นไปได้ทางวิทยาศาสตร์ และมีอิทธิพลอย่างมากต่อการพัฒนาเทคโนโลยีในปัจจุบัน สิ่งประดิษฐ์จำนวนมากได้แรงบันดาลใจจากนิยายของคลาร์ก เช่น ดาวเทียม การสำรวจอวกาศ ลิฟต์อวกาศ
 

     คลาร์ก อาศัยอยู่ที่กรุงโคลอมโบ ประเทศศรีลังกา เขาเดินทางเข้ามาอยู่ประเทศนี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2499 และพักอาศัยอยู่อย่างถาวรจนได้รับสัญชาติศรีลังกา ชาวศรีลังกาถือว่าเขาเป็น "ความภูมิใจของลังกา" มอบรางวัล The Lankabhimanaya award (Pride of Lanka) ให้เป็นเกียรติเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548
 

    ช่วงบั้นปลายชีวิต คลาร์กป่วยด้วยโรคโปลิโอต้องนั่งบนรถเข็นตลอดเวลา เขาเสียชีวิตเมื่อเช้ามืดของวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2551 ด้วยวัย 90 ปี ศพของเขาทำพิธีฝังอย่างเรียบง่าย ไม่มีพิธีกรรมทางศาสนาใดๆ ในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2551 ที่เมืองโคลอมโบ ประเทศศรีลังกา
 

     ชื่อของคลาร์ก ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อของ วงโคจรคลาร์ก (clarke belt) หรือวงโคจรค้างฟ้า (Geostationary orbit - GEO) เป็นวงโคจรที่ดาวเทียมส่วนใหญ่ใช้ในการสื่อสารระหว่างประเทศ นำเสนอแนวคิดเป็นครั้งแรกตั้งแต่ ค.ศ. 1928 โดย Herman Potočnik วิศวกรชาวสโลวีเนีย และเป็นที่รู้จักจากบทความที่คลาร์กเป็นผู้เขียน ชื่อ "Extra-Terrestrial Relays — Can Rocket Stations Give Worldwide Radio Coverage?" ตีพิมพ์ในหนังสือ Wireless World ฉบับเดือนตุลาคม ค.ศ. 1945
 

     คลาร์กนำเสนอแนวคิดในการสื่อสารด้วยคลื่นวิทยุเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วโลก ด้วยการใช้ดาวเทียมอย่างน้อย 3 ดวง โคจรเหนือเส้นศูนย์สูตร ในตำแหน่งที่ทำมุมซึ่งกันและกัน 120 องศา ที่ความสูง 42,164 กิโลเมตร วัดจากจุดศูนย์กลางของโลก หรือประมาณ 35,787 กิโลเมตร (22,237 ไมล์) จากระดับน้ำทะเลปานกลาง โคจรไปพร้อมกับโลกด้วยความเร็วเท่ากับเวลาที่โลกหมุนรอบตัวเอง (Synchronous orbit) และตำแหน่งของดาวเทียมจะคงที่ตลอดเวลา เมื่อเปรียบเทียบกับโลก