จอห์น สไตน์เบ็ค : John Steinbeck

จอห์น สไตน์เบ็ค
จอห์น สไตน์เบ็ค (John Steinbeck) (27 กุมภาพันธ์ 2445 - 20 ธันวาคม 2511) นักเขียนชาวอเมริกัน รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 2505

"ไสตน์แบ็ค" ได้สร้างงานเขียนไว้มากมาย ผลงานที่สำคัญคือเรื่อง เพื่อนยาก (Of Mice and Men) โลกียชน (Tortilla Flat) และ ผลพวงแห่งความคับแค้น (The Grapes of Wrath) เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 2505

"จอห์น สไตน์เบ็ค" เกิดในครอบครัวเชื้อสายไอริชและเยอรมันในเมืองซารินา รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2445 เขาสอบเข้าเรียนได้ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด แต่เพราะความขัดสนด้านการเงินทำให้เขาเรียนไม่จบ ต้องออกกลางครัน ปี พ.ศ.2468 เขาดิ้นรนไปนิวยอร์กจนสำเร็จ ด้วยความหวังว่างานเขียนของเขาจะมีสำนักพิมพ์ที่นั่นสนใจ แต่เมื่อล้มเหลวจากการหาสำนักพิมพ์ สไตนเบ็คทำงานเป็นผู้สื่อข่าวอยู่ในนิวยอร์กได้สักพัก ก็เดินทางกลับแคลิฟอร์เนีย มุมานะเขียนหนังสือต่อไปพร้อมๆ กับทำงานสารพัดชนิดเพื่อเลี้ยงตัวเอง เป็นต้นว่า ไปรับจ้างเป็นคนเก็บผลไม้ตามไร่ เป็นผู้ช่วยในห้องแล็ปเคมี และเป็นแม้แต่สัปเหร่อ

หนังสือที่ทำให้สไตน์เบ็คโด่งดังในฐานะนักเขียนจากฝั่งตะวันตกก็คือ Tortilla Flat ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ.2479 สไตนเบ็คมีงานเขียนตามมาอีกมากมาย เล่มที่สร้างชื่อเสียงให้เขาเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกได้แก่ Of Mice and Men (พ.ศ.2480) The Grape of Wrath (พ.ศ.2482) The Pearl (พ.ศ.2490) สไตนเบ็คเป็นนักเขียนชาวอเมริกันคนที่เจ็ดที่ได้รับรางวัลโนเบลในปี พ.ศ.2505 ในฐานะผู้สร้าง "งานเขียนที่เพียบพร้อมทั้งจินตนาการและความสมจริงซึ่งโดดเด่นด้วยทัศนะต่อสังคมอันเฉียบคมและอารมณ์ขันอย่างผู้เข้าใจ" จอห์น สไตน์เบ็ค เสียชีวิตเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2511

สไตน์เบ็คเคยพูดการเขียนหนังสือไว้ว่า "การที่จะเขียนเรื่องใดๆ ให้ดีนั้น ถ้าไม่รักสิ่งนั้นอย่างที่สุด คุณก็จะต้องเกลียดมันอย่างเข้ากระดูกดำ" สำหรับสไตน์เบ็คดูเหมือนว่าทุกอย่างถ้าไม่เป็นสีขาวก็ต้องเป็นสีดำ ไม่มีทางอยู่ก้ำกึ่งระหว่างความดีและความชั่ว แต่สไตน์เบ็คมีข้อดีตรงที่เขาไม่หลงติดอยู่ในความเชื่อของตนเองตลอดไป และใจกว้างที่จะรับฟังความเห็นของผู้อื่น อีกทั้งพร้อมจะเปลี่ยนแปลงทัศนะของตนเอง ในบทความสั้นๆ ที่ชื่อว่า "ความเกรงขามและศรัทธาในภาษา" สไตน์เบ็คสะท้อนให้เห็นถึงทัศนะของเขาต่องานเขียนและชีวิตที่ถ่ายทอดออกมาด้วยภาษาอันงดงามราวบทกวี จึงขอแปลมาให้อ่านดังนี้

คนเขียนหนังสือนั้นถูกบังคับให้ต้องเขียนในสิ่งที่เขารู้แร้สึกให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ความเข้มงวดของภาษาจะเป็นผู้ประจานและลงโทษความโง่เขลาและความไม่ซื่อสัตย์ของนักเขียนเอง นักเขียนนั้นอยู่ด้วยความยำเกรง และเลื่อมใสต่อภาษา เพราะภาษานั้นเป็นทั้งผู้โอบอ้อมอารีและโหดร้ายทารุณ ภาษาสามารถจะเปลี่ยนความหมายได้ในชั่วพริบตาต่อหน้าต่อตาของคุณ ภาษาเหมือนกับเนยในตู้เย็นดูดซับกลิ่นและรสหลากหลายรอบตัว แน่นอน นักเขียนบางคนที่ขาดความซื่อสัตย์ในภาษา สามารถจะหลอกผู้คนได้ชั่วขณะ แต่เขาไม่สามารถหลอกอยู่ได้นานหรอก

นักเขียนคือคนว้าเหว่ที่พยายามจะสื่อสารกับผู้อื่น เสมือนดวงดาวอันไกลโพ้นที่พยายามส่งสัญญาณติดต่อกับดาวดวงอื่นๆ นักเขียนไม่ได้พยายามที่จะพูด หรือสั่งสอน หรือกะเกณฑ์ใครๆทั้งสิ้น เขาเพียงแต่พยายามแสวงหาความสัมพันธ์ของความหมาย คุณค่าความรู้สึก เป็นสิ่งรอบตัวที่เขาพบเห็น เราเป็นสัตว์ที่โดดเดี่ยวและว้าเหว่ เราพยายามที่จะทำให้เรารู้สึกว่าเหว่น้อยลงตลอดชั่วชีวิตของเรา วิธีการที่เราใช้กันมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ก็คือ พยายามเล่าเรื่องและอ้อนวอนให้ผู้ฟังรู้สึกหรือพูดกับเราว่า "ใช่ ชีวิตมันเป็นอย่างนั้น อย่างน้อยนั่นก็เป็นสิ่งที่ฉันรู้สึก คุณไม่โดดเดี่ยวอย่างที่คุณคิดหรอก"

แน่นอน นักเขียนเอาชีวิตมาจัดลำดับเสียใหม่ ย่นย่อเวลาให้กระชับขึ้น ปรุงแต่งเหตุการณ์ให้เข้มข้นขึ้น สร้างจุดเริ่มต้น กลางเรื่อง และจุดจบของเรื่อง เหมือนกับที่ในวันๆ หนึ่งต้องมีเช้า กลางวัน และกลางคืน หรือในชีวิตคนต้องมีเกิด เติบโต และตาย แต่แม้ว่าในหนังสือจะมีการเปิดฉาก และปิดฉาก แต่เรื่องราวของชีวิตนั้นดำเนินไปอย่างไม่มีสิ้นสุด

การสิ้นสุดของเรื่องเป็นสิ่งที่น่าเศร้าสลดสำหรับนักเขียน มันเป็นเสมือนความตายทีละน้อยของนักเขียน เมื่อเขาเขียนคำสุดท้ายของเรื่อง ทุกอย่างก็จบสิ้นลง แต่มันไม่ได้จบสิ้นจริงๆ หรอก เรื่องราวจะยังคงดำเนินต่อไปและทิ้งนักเขียนไว้เบื้องหลัง เพราะว่าไม่มีเรื่องราวใดในชีวิตที่จบสิ้น

สไตน์เบ็คอยู่ในยุคเฟื่องฟูของแนวความคิด Nihilsm ที่เห็นความตายและการทำลายล้างเป็นทางออกของมนุษย์ สไตน์เบ็คได้พบายามที่จะโต้กระแสความคิดนี้เมื่อเขาพูดถึงจุดมุ่งหมายของนักเขียน

"แฟชั่นของงานเขียนปัจจุบันก็คือการให้มนุษย์ทุกคนในเรื่องต้องพ่ายแพ้ต่อชีวิต หรือไม่ก็ถูกทำลายล้าง ผมไม่คิดว่ามนุษย์ทุกคนจะถูกทำลายล้าง ผมสามารถจะบอกชื่อคนเหล่านั้นได้เลยว่ามีใครบ้าง และโลกเราอยู่ได้ทุกวันนี้ก็เพราะคนเหล่านั้น ชีวิตเหมือนกับการรบอยู่ประการหนึ่ง ตรงที่คนที่พ่ายแพ้นั้นจะถูกลืม มีแต่ผู้ชนะเท่านั้นที่ควรจะจำ นักเขียนในปัจจุบันซึ่งรวมถึงตัวผมด้วยมีแนวโน้มที่จะสดุดีความย่อยยับของจิตใจ ทั้งที่เราก็รู้กันอยู่ว่าจิตใจของมนุษย์ได้ถูกทำลายให้ย่อยยับมามากเพียงใดและบ่อยครั้งแค่ไหน ทว่ามนุษย์ยังมีความหวังหลงเหลืออยู่ เพราะว่าในบางครั้งจิตใจไม่อาจจะถูกทำลายลงได้ ผมคิดว่าจุดมุ่งหมายในการเขียนหนังสือนอกเหนือจากการเขียนให้น่าสนใจแล้ว นักเขียนมีหน้าที่ที่จะเชิดชู ส่งเสริมและให้กำลังใจ หากงานเขียนจะได้สร้างคุณปการใดๆ ให้แก่พัฒนาการของเผ่าพันธุ์มนุษย์และความเจริญทางด้านวัฒนธรรมแล้วไซร้ สิ่งนั้นก็คืองานเขียนที่ยิ่งใหญ่ได้ช่วยเป็นหลักค้ำจุนให้มนุษย์ได้พักพิง เป็นเสมือนแม่ที่คอยให้คำปรึกษาแก่ลูก เป็นขุมปัญญาที่ให้มนุษย์ได้ตักตวง เป็นความเข็มแข็งท่ามกลางความอ่อนแอ เป็นความกล้าหาญที่ปลอบประโลมความขลาดและหวาดกลัว ผมไม่ปฎิเสธว่ามนุษย์นั้นอ่อนแอ น่าเกลียด และจอมอันธพาลอย่างร้ายกาจ แต่หากนั่นคือทั้งหมดที่มนุษย์เราเป็น เราคงสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้เมื่อหลายล้านปีมาแล้ว และมีเพียงฟอสซิลของกระดูกกรามบางชิ้น หรือฟันบางซี่หลงเหลืออยู่เป็นหลักฐานชี้ถึงการมีอยู่ของเผ่าพันธุ์มนุษย์เท่านั้น"

ศรัทธาและความเชื่อมันในความเป็นมนุษย์ดูจะเป็นหัวใจสำคัญของงานสไตน์เบ็ค งานของเขาสะท้อนให้เห็นถึงความชั่วร้าย การทำลายล้างของมนุษย์ แต่ขณะเดียวกันเขายังฝากความหวังว่ามนุษย์จะเป็นผู้กอบกู้คุณค่าของมนุษย์ขึ้นมาใหม่ เหมือนกับที่เขาพูดไว้ในสุนทรพจน์ในวันที่เขาได้รับรางวัลโนเบลว่า

"มนุษย์เป็นภัยมหันต์และเป็นความหวังสุดท้ายของมวลมนุษยชาติ"

ผลงาน

นวนิยาย

  • Cup of Gold (1929)
  • The Red Pony (1933)
    • แปลในชื่อ ลูกม้าสีทองแดง โดย อ. สนิทวงศ์ (พ.ศ. 2507)
    • แปลในชื่อ ลูกม้าสีแดง โดย รัชนี รัชชระเสวี (พ.ศ. 2524)
    • แปลในชื่อ โจดี้ โดย วัลยา (พ.ศ. 2525)
  • To a God Unknown (1933)
  • Tortilla Flat (1935)
    • แปลในชื่อ โลกียชน โดย ประมูล อุณหธูป (พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2518)
    • แปลในชื่อ ตอร์ติญา แฟลต โดย เพชร ภาษพิรัช (พ.ศ. 2561)
  • In Dubious Battle (1936)
    • แปลในชื่อ สาบศรัทธา โดย ณรงค์ จันทร์เพ็ญ (พ.ศ. 2530)
  • Of Mice and Men (1937)
    • แปลในชื่อ เพื่อนยาก โดย ประชา อัตตธร (พ.ศ. 2513)
    • แปลในชื่อ เพื่อนยาก โดย ศรยุทธ คำสาย และพวงร้อย คำเรียง (พ.ศ. 2524)
    • แปลในชื่อ เพื่อนยาก โดย คันธา ศรีวิมล (พ.ศ. 2531)
  • The Grapes of Wrath (1939)
    • แปลในชื่อ ผลพวงแห่งความคับแค้น โดย ณรงค์ จันทร์เพ็ญ (พ.ศ. 2527)
  • Forgotten Village (1941)
  • The Moon Is Down (1942)
    • แปลในชื่อ เมื่อเดือนลับฟ้า โดย ณรงค์ จันทร์เพ็ญ (พ.ศ. 2528)
    • แปลในชื่อ จันทร์ลับฟ้า โดย ธนู แก้วโอภาส (พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2537)
    • แปลในชื่อ รักระหว่างรบ โดย พิชัย รัตนประทีป (พ.ศ. 2560)
  • Cannery Row (1945)
    • แปลในชื่อ วิมานคนยาก โดย ณรงค์ จันทร์เพ็ญ (พ.ศ. 2526)
  • The Wayward Bus (1947)
  • The Pearl (1947)
    • แปลในชื่อ ไข่มุกมหาภัย แปลโดย สายธาร (พ.ศ. 2514) พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น และถูกจัดพิมพ์อีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2561
    • แปลในชื่อ ไข่มุกมหาภัย โดย วารินทร์ สินสูงสุด และวาสุเทพ วรุณจิต (พ.ศ. 2517)
    • แปลในชื่อ ไข่มุกมหาภัย โดย พิชัย รัตนประทีป (พ.ศ. 2561)
  • Burning Bright (1950)
    • แปลในชื่อ ละครสัตว์มหากาฬ โดย พิชัย รัตนประทีป (พ.ศ. 2508)
    • แปลในชื่อ ไฟรัก โดย ณรงค์ จันทร์เพ็ญ (พ.ศ. 2528)
    • แปลในชื่อ ละครชีวิต โดย พิชญ์ มกรพันธุ์ (พ.ศ. 2535)
  • East of Eden (1952)
    • แปลในชื่อ อีสต์ ออฟ อีเดน โดย ณรงค์ จันทร์เพ็ญ (พ.ศ. 2556)
  • Sweet Thursday (1954)
    • แปลในชื่อ วันนั้นวันหวาน โดย ณรงค์ จันทร์เพ็ญ (พ.ศ. 2528)
  • The Short Reign of Pippin IV (1957)
  • The Winter of Our Discontent (1961)
  • Viva Zapata! (1975)
  • The Acts of King Arthur and His Noble Knights (1976)

รวมเรื่องสั้น

  • The Pastures of Heaven (1932)
  • The Long Valley (1938)
    • แปลในชื่อ เรื่องสั้นสไตน์เบ็ค โดย ณรงค์ จันทร์เพ็ญ (พ.ศ. 2533)

สารคดี

  • Bombs Away: The Story of a Bomber Team (1942)
  • A Russian Journal (1948)
  • The Log from the Sea of Cortez (1951)
  • Once There Was A War (1958)
  • Travels with Charley: In Search of America (1962)
    • แปลในชื่อ เที่ยวกับชาร์ลีย์ โดย ณรงค์ จันทร์เพ็ญ (พ.ศ. 2538)
  • America and Americans (1966)
  • Journal of a Novel: The East of Eden Letters (1969)
  • Working Days: The Journals of The Grapes of Wrath (1989)



cr. Mrbignink : Life & Like , https://th.wikipedia.org