รายละเอียดโครงการ

โครงการ “อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์” ปีที่ 10

โครงการ “อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่ งานวิจารณ์”  ปีที่ 10
 

หลักการและเหตุผล
          ภาษาไทยมีความสำคัญทั้งในฐานะที่เป็นภาษาประจำชาติ  เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ  การใช้ภาษาจึงเป็นทักษะที่ผู้ใช้ต้องฝึกฝนให้เกิดความชำนาญไม่ว่าจะเป็นการอ่าน คิดวิเคราะห์  การเขียน  การพูด  และการดู  รวมทั้งต้องใช้ให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทางภาษาเพื่อสื่อสารให้เกิดประสิทธิภาพและใช้อย่างคล่องแคล่ว มีวิจารณญาณ มีคุณธรรม และมีนิสัยรักการอ่าน  ถ้านักเรียนมีความรู้ความสามารถในกลุ่มนี้อย่างเหมาะสมกับระดับชั้นแล้ว จะทำให้การเรียนการสอนในกลุ่มประสบการณ์อื่นจะดำเนินได้ด้วยความราบรื่นและมีประสิทธิภาพ

        ในฐานะองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงความสำคัญของการสืบสานและสร้างสรรค์ภาษาไทย จึงร่วมกันจัดโครงการ “อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์”  ตั้งแต่ปีแรกจนถึงปีที่ 10 ขึ้น เพื่อสนับสนุนให้เยาวชนได้เพิ่มพูนประสบการณ์การอ่านหนังสือควบคู่ไปกับพัฒนาทักษะการคิดการเขียนเชิงวิเคราะห์และวิจารณ์ 

        การอ่านหนังสือทั้งประเภทสารคดีและบันเทิงคดีจะช่วยสร้างเสริมความรู้ของเยาวชนให้ลึกซึ้ง รวมทั้งเปิดโลกทัศน์ให้กว้างไกล และก่อให้เกิดปัญญาที่กล้าแกร่ง นอกจากนี้ ขณะที่อ่านหนังสือนั้นเยาวชนจะได้เรียนรู้แบบอย่างของภาษาไทยอันรุ่มรวยละเมียดละไม ซึ่งเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของชาติที่ควรค่าแก่การศึกษาเพื่ออนุรักษ์ สืบทอด และพัฒนาให้สง่างามยั่งยืนสืบไป

        โครงการ “อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์” ปีที่ 10 ยังคงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนให้เยาวชนได้บูรณาการทักษะการอ่าน การคิด และการเขียน โดยผ่านการใช้ภาษาไทยอย่างสละสลวยด้วยความภาคภูมิใจในภาษาประจำชาติ เพื่อให้เอกลักษณ์แห่งวัฒนธรรมทางภาษาไทยได้ยืนหยัดอย่างมั่นคงท่ามกลางกระแสแห่งโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมทั้งปวง พร้อมเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์นอกห้องเรียน ซึ่งเป็นอีกส่วนสำคัญที่ฝึกให้เยาวชนสามารถทำร่วมกิจกรรมกับผู้อื่น เกิดมิตรภาพ สังคมใหม่ ๆ ที่มีใจรักในสิ่งเดียวกัน ซึ่งเหล่านี้มาจากกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียน

กลุ่มเป้าหมาย
1. ระดับมัธยมศึกษา ปีที่ 4-6
2. ระดับอุดมศึกษา   

วัตถุประสงค์
1. เพื่อพัฒนาเยาวชนให้มีทักษะการอ่านสรุปสาระสำคัญ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการคิดเชิงวิเคราะห์และวิจารณ์
2. เพื่อพัฒนาเยาวชนให้มีทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ สังเคราะห์ และวิจารณ์ อันจะเป็นการสร้างนักวิจารณ์รุ่นใหม่สู่สังคม
3. เพื่อพัฒนาเยาวชนให้มีทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์ โดยบูรณาการกับการใช้ภาษาไทย
4. เพื่อพัฒนาเยาวชนให้มีทักษะการเขียนภาษาไทยที่ดี อันเป็นการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ
5. เพื่อพัฒนาเยาวชนให้มีโอกาสได้แสดงผลงานผ่านเวทีต่าง ๆ  ทั้งในด้านสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์
6. เพื่อสร้างเครือข่ายเยาวชน ให้เป็นแกนนำในการรณรงค์เสริมสร้างค่านิยมในการวิเคราะห์ วิจารณ์อย่างเป็นเหตุเป็นผล

ผู้สนับสนุนโครงการฯ
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการฯ
1. เป็นผู้ที่กำลังศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 – 6  หรือ ผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ระดับอุดมศึกษา ที่กำลังศึกษาอยู่ปี 2567
2. ไม่เคยได้รับทุนรางวัลจากการจัดโครงการฯ ปีที่ 1 - 9
3. บุคคลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับภาคีพันธมิตรไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการฯหากตรวจสอบพบข้อมูลในภายหลังจะถูกตัดสิทธิ์ทันที

กติกาในการเข้าร่วมโครงการฯ
 

  • 1. เลือกอ่านและเขียนบทวิจารณ์หนังสือวรรณกรรม ประเภทนวนิยาย สารคดี กวีนิพนธ์ เรื่องสั้น (กรณีเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นหรือรวมบทความผู้วิจารณ์ต้องวิจารณ์หนังสือทั้งเล่ม) 
     
  • 2. ดูรายชื่อหนังสือสำหรับการวิจารณ์ https://drive.google.com/file/d/19IkmMK8k5uoANjd627ML-8FipYVz32wH
     
  • 3. หนังสือสำหรับการวิจารณ์ ผู้เข้าร่วมการวิจารณ์สามารถยืมได้จากทางห้องสมุดโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือสั่งซื้อตามร้านหนังสือทั่วไป กรณีเป็นหนังสือของสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น สามารถสั่งซื้อได้ทาง Line: @praphansarn

      

รายละเอียด 
1. บทวิจารณ์มีความยาว มากกว่า 2 หน้ากระดาษ A4  ฟอนท์ Angsana New  ขนาด 16 points
2. วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นอย่างเที่ยงธรรม มีเหตุผล น่าสนใจ โดยสอดแทรกการสรุปใจความของเรื่องอย่างกระชับและครอบคลุมประเด็นสำคัญ
3. เรียบเรียงด้วยภาษาที่สละสลวยและนำเสนอด้วยวิธีเขียนที่สร้างสรรค์
 

การส่งไฟล์บทวิจารณ์
1. ลงทะเบียนสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ผ่านเว็บไซต์ http://praphansarn.com/scholarships
2. ส่งบทวิจารณ์ พร้อมระบุชื่อ-นามสกุล ของผู้วิจารณ์ ในหัวกระดาษหน้าแรก ให้เรียบร้อย

    ส่งบทวิจารณ์ทางไปรษณีย์ มายังที่  บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด  เลขที่ 222 ถนนพุทธมณฑล สาย 2 (บุษราคัม เทอเรส สาย 2)  แขวงศาลาธรรมสพน์  เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10170

กำหนดลงทะเบียนและส่งเอกสารทั้งหมด
ระหว่างวันที่ 23 พฤษภาคม –   31 สิงหาคม 2567 โดยพิจารณาจากการลงทะเบียนและส่งเอกสาร ภายในเวลา 24.00 น. ของ วันที่ 31 สิงหาคม 2567


กำหนดการ

-    ประชาสัมพันธ์ / ประกาศรับสมัคร / ปิดรับบทวิจารณ์                                                                       :  23 พ.ค. –  31 ส.ค. 67

-    คณะกรรมการตัดสิน พิจารณาตัดสินบทวิจารณ์ 40 บท                                                                   :  1 ก.ย. – 30 ก.ย. 67

-    ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก 40 คน ทางเว็บไซต์ http://praphansarn.com/scholarships        :   ภายใน ต.ค. 67

     และผู้ประสานงานโครงการฯ ติดต่อกับผู้ได้รับทุนรางวัลเพื่อเตรียมเข้าค่ายฯ                                               

-    เข้าค่ายอบรมเชิงปฏิบัติการ “อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์” ระยะเวลา 3 วัน                                    :  8 - 10 พ.ย. 67 

   
*กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม
 

ทุนรางวัล
- ทุนรางวัล 20,000 บาท  จำนวน 40 ทุนรางวัล   เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น  800,000 บาท

เงื่อนไขในการรับทุนรางวัล
1. ทุนรางวัลจะมอบผ่านบัญชีของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เท่านั้น  และผู้ได้รับทุนรางวัลต้องใช้ชื่อของตนเป็นชื่อบัญชี
2. ผู้ได้รับทุนรางวัลควรเป็นผู้อุทิศตนและสนับสนุนวัฒนธรรมการเขียนงานวิจารณ์

 

หมายเหตุ
1. คณะกรรมการดำเนินโครงการฯ ขอสงวนสิทธิ์ในการขยายกำหนดการต่าง ๆ ตามความเหมาะสม                   
2. การตัดสินของคณะกรรมการทุกชุด ถือเป็นอันสิ้นสุด

ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. ผู้ร่วมโครงการฯ ได้พัฒนาทักษะการอ่านสรุปสาระสำคัญให้ชำนาญมากขึ้น
2. ผู้ร่วมโครงการฯ ได้พัฒนาทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์  สังเคราะห์  และวิจารณ์  ให้แยบคายยิ่งขึ้น  
3. ผู้ร่วมโครงการฯ ได้พัฒนาทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์อย่างเหมาะสม
4. ผู้ร่วมโครงการฯ ได้พัฒนาศิลปะการเขียนภาษาไทยให้สละสลวยยิ่งขึ้น
5. โครงการฯ ได้สร้างเสริมวัฒนธรรมรักการอ่านในหมู่เยาวชน
6. โครงการฯ ได้สร้างนักวิจารณ์รุ่นใหม่สู่สังคม
7. เยาวชนไทยตระหนักถึงคุณค่าของภาษาไทยมากขึ้น
8. ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับมิตรภาพใหม่ ๆ การรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นจากการทำกิจกรรม
9. โครงการได้ส่งเสริมการปรับใช้เทคโนโลยี ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในยุคปัจจุบันเพื่อประโยชน์สูงสุด

 

ผู้ประสานงานโครงการ

คุณศิริรัตน์  สุ่นสกุล
e-mail : sirirat@praphansarn.com
มือถือ 099 246 1915 
Line: @praphansarn