7 อย่า ที่พ่อแม่ไม่ควรปฏิบัติกับลูก : เคล็ดลับสร้างลูกรักให้เป็นนักอ่าน

7 อย่า ที่พ่อแม่ไม่ควรปฏิบัติกับลูก

เคล็ดลับสร้างลูกรักให้เป็นนักอ่าน “7 อย่า” ที่พ่อแม่ไม่ควรปฏิบัติกับลูก

1. อย่ายัดเยียด
คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรนำหนังสือ หรือซื้อหนังสือแล้วบอกให้ลูกต้องอ่าน เพราะบางครั้งการอ่านต้องอ่านด้วยความรู้สึกอยากอ่านจริงๆ ทำให้ลูกอ่านอย่างสนุก และมีความสุข ถ้าไปบังคับ หรือยัดเยียดให้อ่าน ลูกอาจจะเครียด และเกลียดหนังสือไปเลยก็ได้

2. อย่าหวังสูง
คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรคาดหวังว่า หนังสือจะทำให้ลูกเก่ง หรือมีพัฒนาการที่ดีขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องค่อยเป็นค่อยไป หรือถ้าหวังสูงเกินไป บรรยากาศภายในบ้านอาจตึงเครียดได้ ต้องคิดอยู่เสมอว่าลูกยังเล็ก จะทำอะไรเท่าผู้ใหญ่อย่างพ่อแม่คงไม่ได้ และอย่าเปรียบลูกกับเด็กคนอื่น แต่ต้องเข้าใจว่าเด็กแต่ละคนมีก้าวย่างในการเรียนรู้ที่ต่างกัน

3. อย่ากังวล
พ่อแม่ต้องอย่ากังวลมากไป ลูกน้อยจะหยิบ จับ ตี ดึง ทุบ หรือขีดเขียนหนังสือ ต้องปล่อยวาง และปล่อยให้เขาขีดเขียนตามความต้องการบ้าง ขณะเดียวกันคุณพ่อคุณแม่ต้องสอนวิธีการใช้หนังสือให้กับลูกด้วย ทางที่ดีไม่ควรทำโทษ ตำหนิ หรือบ่นลูก

4. อย่าจ้องสอน
พ่อแม่ต้องไม่ควรจ้องสอนมากเกินไป แต่ควรใช้เรื่องสนุกๆ ในหนังสือภาพสวยๆ หรือพฤติกรรมของตัวละครมาเป็นช่องทางอบรมสั่งสอนลูกแทน เช่น คุณงามความดีของตัวละคร หรือสอนให้ลูกเห็นผลกรรมของคนไม่ดี ว่าท้ายที่สุดแล้ว ต้องได้รับโทษอย่างไรบ้าง เป็นต้น

5. อย่าถามมาก
การตั้งคำถามกับลูกขณะนั่งอ่านหนังสือ หรืออ่านนิทานด้วยกันเป็นเรื่องที่ดี เพราะเด็กจะได้มีส่วนร่วมกับหนังสือ ทำให้ลูกกล้าแสดงออกอย่างมั่นใจ และแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ถามลูกมากเกินไป จะทำให้ลูกเบื่อการอ่านหนังสือไปเลยก็ได้ เพราะต้องมาคอยคิด และตอบคำถามมากมายทั้งๆ ที่บางเรื่องก็รู้อยู่แล้ว รวมทั้งหมดสนุกกับการติดตามเรื่องราวต่อไป

6. อย่าขัดคอ
เมื่อลูกออกเสียงไม่ชัด หรือพูดผิด คุณพ่อคุณแม่อย่าขัดคอ ตำหนิลูก หรือแสดงความเอ็นดูด้วยการหัวเราะขบขันเป็นอันขาด เพราะจะทำให้ลูกเกิดอาการกล้าๆ กลัวๆ ไม่มั่นใจในการอ่านออกเสียงครั้งต่อไป จนอาจทำให้ขาดความเชื่อมั่นกับการอ่านออกเสียงขณะเรียนหนังสือที่โรงเรียนก็เป็นได

7. อย่าเบื่อหน่าย
พฤติกรรม หรือการแสดงออกของพ่อแม่มีผลต่อชีวิตลูกทั้งทางตรง และทางอ้อม เรื่องนี้จึงต้องระวัง เมื่อพ่อแม่ตั้งใจที่จะสร้างลูกรักให้เป็นนักอ่านแล้ว ก็ขอให้ทุ่มเทอย่างเต็มที่ ถ้าลูกสนใจในหนังสือ แล้วต้องการให้พ่อแม่มานั่งอ่านด้วยกัน ถ้าทำในทันทีไม่ได้ ต้องสร้างเงื่อนเวลา เช่น ให้แม่ทำกับข้าว ซักผ้า ถูบ้านให้เสร็จก่อน แล้วจึงจะอ่านหนังสือที่ลูกเลือกไว้ให้ฟังได้ แต่ทั้งนี้พ่อแม่ต้องทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับลูกด้วย ไม่เช่นนั้นจะทำให้ลูกผิดหวัง และไม่เชื่อพ่อแม่อีกต่อไป

เด็กที่ได้ปลูกฝังนิสัยรักการอ่านตั้งแต่เด็ก เมื่อเติบโตขึ้นเป็นใหญ่ ก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่รักการอ่าน

 

ข้อมูลจาก : Life & Family

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ