มนันยา นักแปลชั้นครูผู้ทลายกำแพงภาษา : มนันยา ปรมาจารย์งานแปลนวนิยายชื่อกระฉ่อน ที่นักแปลรุ่นใหม่ทึ่งจนอยากเดินตาม

มนันยา นักแปลชั้นครูผู้ทลายกำแพงภาษา
  • "มนันยา" ปรมาจารย์งานแปลนวนิยายชื่อกระฉ่อน ที่นักแปลรุ่นใหม่ทึ่งจนอยากเดินตาม
  • เรียนรู้เบื้องหลังการถ่ายทอดถ้อยคำสำนวนแต่ละคำลงไปในเรื่องราวที่ชวนติดตามอ่านจนวางไม่ลง
  • การแปลได้กับการแปลดีต่างกันตรงไหน ? ทำไมจึงยึดเป็นอาชีพหลักไม่ได้ ?
  • เมื่อรู้แล้วหลายคนอาจเปลี่ยนใจล้มเลิกเส้นทางฝันสายนี้ เหลือแต่คนที่หลงเสน่ห์หรือมุ่งมั่นขนานแท้เท่านั้น !

มนันยา ธนะภูมิ หรือ "มนันยา" นามปากกาที่หนอนหนังสือรู้จักในฐานะนักแปลนวนิยาย แต่ยังมีอีกหลายนามปากกาสำหรับงานหลายแนว เธอไม่ใช่แค่นักแปลฝีมือฉกาจเท่านั้น แต่เป็นนักถ่ายทอดระดับปรมาจารย์อีกด้วย

เธอให้สัมภาษณ์ "Smart Job" หลังจากจบชั้นเรียน หลักสูตรการอบรมเชิงปฏิบัติการ "สู่เส้นทางนักแปล" รุ่นที่ 2 ซึ่งจัดโดย L- House : ชุมชนแห่งการเรียนรู้ ที่เธอมาเป็นวิทยากรประจำ ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากคนที่ต้องการก้าวเข้าสู่อาชีพนักแปลอย่างล้นหลาม

นอกจากนี้ เธอยังเป็นอาจารย์พิเศษ สอนวิชาการแปล ให้นักศึกษามหาวิทยาลัยหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยรามคำแหง เธอเริ่มการสอนด้วยการบอกกับนักเรียนอย่างท้าทาย ในการพบกันครั้งแรกในชั้นเรียนการแปล สิ่งแรกที่มนันยาบอกกับนักแปลมือใหม่ก็คือ "นี่ไม่ใช่การสอนให้แปลได้ แต่เป็นการสอนให้แปลดี" เพราะฉะนั้น การแปลจึงเป็นเรื่องยากไม่ต่างจากการเข็นครกขึ้นภูเขา

เธอสังเกตเห็นว่า สำนักพิมพ์หรือตามนิตยสารต่างๆ มักจะตรวจงานแปลแค่ความถูกผิดเท่านั้น แต่ไม่ได้ใส่ใจความน่าอ่าน ไม่ได้ดูความเป็นนวนิยาย นี่คือความยาก แม้ว่าเป็นเรื่องถูกต้องที่เคารพต้นฉบับแต่เป็นการทำร้ายคนเขียน เพราะนวนิยายเรื่องนั้นเขียนดี แต่เวลาแปลกลับใช้ภาษาเหมือนแปลทะเบียนบ้าน

"จริงๆ เรื่องแปลเหมือนงานปราบเซียน ฟังดูเหมือนง่าย แต่ยากและมีคนด่าเยอะ เพราะการแปลนวนิยายเป็นการตีความ ซึ่งคนที่อ่านแต่ละคนก็ตีความไปคนละอย่าง และเมื่อให้เจ้าของต้นฉบับมาดูก็อาจจะไม่ใช่เลยสักอย่างที่มีการตีความกัน นี่คือเรื่องที่ทำให้ถูกด่าว่าเมื่อคนแปลตีความไม่เหมือนกับคนอ่าน"

แม้ว่าความน่าสนใจของงานแปลจะอยู่ที่การได้อ่านเรื่องที่สนุกแล้วอยากให้คนอื่นอ่านบ้าง จึงเป็นการทำงานที่มีความสุข แต่สำหรับผลตอบแทนขอบอกให้ทำใจไว่เลยว่าไม่ได้มากเหมือนงานอื่นและเท่าที่หลายคนคิด เมื่อเปรียบเทียบกับนักเขียนยังได้น้อยกว่า มนันยา ยืนยันว่าแม้ว่าเธอเป็นนักแปลที่ได้ค่าเรื่องมากที่สุดในบรรดานักแปลทั้งหมด แต่ก็ยังน้อยกว่านักเขียนที่ดังระดับเดียวกันนิดนึง

"เวลาใครถามก็จะบอกว่าเป็นนักเขียนเพราะทำมาก่อนและเป็นนักแปลด้วย ความแตกต่างระหว่างนักแปลกับนักเขียนอยู่ที่ นักแปลจะยิ่งแก่ยิ่งเก่ง เพราะมีประสบการณ์มากสะสมความรู้ข้อมูลมามาก แต่นักเขียนยิ่งแก่ยิ่งแผ่วเพราะหมดไฟหรือความคิดไม่เฉียบแหลม ทำให้เรื่องที่เขียนไม่น่าอ่าน แต่ก็เลือกเองที่จะเป็นนักแปล เพราะเห็นว่าอยู่ได้ยาวกว่า แต่เหนื่อย เพราะกว่าจะแปลได้ต้องค้นคว้าหาข้อมูล ไม่ใช่เอาต้นฉบับมาแล้วก็แปลทันที ถ้าทำอย่างนั้นจะผิดง่าย"

แปลดีไม่ใช่แค่แปลได้
สำหรับการเป็นนักแปลที่ดี ตามวิธีของนักแปลมือฉมังสอนว่า "ต้องเริ่มจากการหัดวิเคราะห์ต้นฉบับ" เพื่อไม่ให้แปลผิด และ "ต้องหัดแก้ปัญหาวัฒนธรรม" ซึ่งเป็นสิ่งที่ธรรมดาในสายตาของคนเขียน แต่ไม่ธรรมดาในสายตาคนอ่าน เช่น เสื้อผ้า การแต่งกาย การใช้ชีวิต ซึ่งไม่เหมือนกัน ทำให้คนอ่านไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น จำเป็นต้องทำให้คนอ่านเห็นภาพ จึงอาจจะต้องแปลเกินกว่าตัวหนังสือที่เขียนไว้ เพราะต้องอธิบายประกอบ

ยกตัวอย่างเช่น เรื่องจากต้นฉบับเกี่ยวกับคนมุสลิมที่ไปแสวงบุญ เขียนไว้ว่า "He wears seamless robe." แปลตรงตัวอักษรว่า "เขาสวมเสื้อคลุมซึ่งไม่มีตะเข็บ" แต่ในความเป็นจริงเสื้อคลุมไม่มีตะเข็บได้ยังไง ต้องไปสืบหาว่าวัฒนธรรมของเขาเป็นยังไง เวลาคนมุสลิมไปแสวงบุญเขาสวมอะไร พอไปถามคนมุสลิมถึงได้รู้ว่า "robe" คือ ผ้าชิ้นยาวๆ ที่ห่มคลุมแบบจีวรพระ ซึ่งไม่ใช่เสื้อแต่คือการห่มคลุม

นี่คือปัญหาวัฒนธรรม เพราะฉะนั้น จึงต้องแปลว่า "เขาห่มคลุมด้วยผ้าสีขาว" แล้วก็ไม่ต้องบอกว่ามีตะเข็บหรือเปล่า นี่คือความยากกว่าจะหาความหมายที่แท้จริงและแปลออกมาได้ ตอนที่นักแปลแก้ปัญหาวัฒนธรรมจะเป็นตอนที่ทำให้ถูกวิจารณ์ว่าแปลเกิน หรือแปลขาด หรือแปลผิด เพราะฉะนั้น สิ่งที่สอนคือ "อย่าแปล แต่ให้เข้าใจแล้วเขียนลงไป" เพราะถ้าแปลตรงตัวจะไม่เข้าใจ ต้องแปลแบบไม่ต้องแปล

จากนั้น ก็มาถึงการที่จะต้อง "ถ่ายทอดให้เป็นภาษานวนิยาย" ซึ่งจะเห็นความแตกต่างระหว่างการแปลได้กับแปลดี สำหรับนวนิยายภาษาที่ดีจะหนักไปทางบทสนทนา (dialogue) ซึ่งคนไทยชอบ แต่คนไทยไม่ค่อยอ่านบทบรรยาย (describtion) เพราะฉะนั้น นักแปลต้องเขียนบทสนทนาให้ดีให้เหมือนภาษาพูดจริงๆ ซึ่งหาคนเขียนดียาก ที่เห็นมากคือ คนแปลไม่ได้สังเกตสรรพนามที่คนไทยใช้พูดกัน มักจะแปลเวลาที่ผู้ชายพูดกันว่า แกหรือกัน ซึ่งเป็นภาษาเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว แต่เวลาผู้ชายพูดกันจริงๆ ตอนนี้จะพูดว่า ฉันกับแก หรือ กันกับนาย หรือเอ็งกับข้าถ้าสนิทกันมาก หรือว่ามึงกับกูถ้าโกรธหรือสนิทมากๆ หรือคุณกับผมเป็นแบบกลางๆ เป็นคนในที่ทำงาน เป็นคนรู้จัก คนที่ไม่สนิทเลย

แต่เท่าที่สอนอยู่ในตอนนี้ เธอดีใจเพราะคนเรียนสอนอะไรก็รับเร็ว ซึ่งวิธีการที่จะทำให้แปลได้ดีคือ การสังเกตนิสัยตัวละครว่าเป็นอย่างไร เพราะคนนิสัยยังไงก็พูดจาอย่างนั้น ความสนิทสนมของตัวละคร วัย อารมณ์ความรู้สึกระหว่างกันในตอนนั้น

สู่เส้นทางนักแปล
มนันยาบอกว่า นวนิยายหรืองานแปลประเภทที่กำลังเป็นที่นิยม คือเรื่องรักๆ แบบเกาหลี ส่วนแนวแฟนตาซี เช่น แฮรี่พอตเตอร์ ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงก์ หรือ นาเนีย กำลังได้รับความนิยมน้อยลง เพราะตามปกติคนไทยไม่ค่อยชอบเรื่องแนวนี้อยู่แล้ว และเมื่อมองกลับไปเมื่อ 30 กว่าปีก่อน เรื่องในราชสำนักนิยมมาก แต่ตอนนี้ไม่มีใครอ่านเลย

สำหรับเธอไม่ได้ทำตามกระแสทั้งหมด แต่ทำตามความชอบของตัวเอง และตามกลุ่มเป้าหมายของนิตยสารต่างๆ เช่น เรื่องที่เป็นสารคดีนิดๆ เรื่องประเภทชีวประวัติหน่อยๆ อย่างเช่น เรื่องเจ้าสาว เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงอังกฤษที่ไปแต่งงานกับคนทิเบต ใช้ชีวิตกางกระโจมอยู่ในทุ่งหญ้า หรือ เรื่องเกอิชา เป็นชีวิตจริงแต่ไปเขียนเป็นนิยาย

ส่วนคนที่จะทำงานแปลประเภทตามกระแสต้องเป็นคนทำงานเร็ว เพราะกระแสมาเร็วไปเร็ว และคนที่จะแปลได้ควรจะอยู่ในวัยใกล้เคียงกับงาน อย่างเช่น เรื่องรักๆ แบบเกาหลี ควรจะเป็นวัยรุ่นแปลเพราะจะใช้ภาษาได้ถูกต้องสมจริง แต่เธอเป็นคนทำงานไปเรื่อยๆ เพราะรู้สึกสนุกที่ได้ทำ ไม่ได้มุ่งมั่นอะไรมากทั้งเรื่องร่ำรวยและทำตามที่คนอ่านอยากได้ ส่วนเรื่องการเมือง วิทยาศาสตร์ การเงิน ไม่ชอบทำ เพราะจะไม่แปลไปตามยถากรรม เคยทำแล้วเหนื่อยมาก ต้องหาภาษาให้เหมือนเจ้าของอาชีพใช้ แต่ส่วนใหญ่ชอบเรื่องของอเมริกันมากกว่าอังกฤษ เพราะภาษาแบบคนอังกฤษเขียนบรรยายมากเกินไปเยิ่นเย้อและคนไทยไม่ค่อยชอบอ่าน

งานแปลที่เธอชอบ คือ เรื่องสั้นลึกลับตื่นเต้นหักมุม เพราะ สนุก ได้รู้เงื่อนงำที่ซ่อนไว้ และทำให้ฉลาดขึ้น แต่คนที่เข้ามาทำงานแปลประเภทนี้น้อยมาก ตอนนี้ไม่มีเลยเพราะยากที่จะตีความออกมา สำหรับนักแปลหน้าใหม่ที่ต้องการก้าวเข้ามาในอาชีพนี้ เธอแนะว่า สามารถเดินไปสมัครตามนิตยสารชื่อฝรั่งต่างๆ เช่น Cosmopolitan Vogue หรือ Elle แต่นิตยสารเหล่านี้มักจะมีพนักงานประจำทำอยู่แล้ว ที่สำคัญต้องรู้จักกลุ่มเป้าหมายของหนังสือหรือรู้ว่าจะขายใคร เช่น ส่งเรื่องโป๊ไปสตรีสาร หรือส่งเรื่องคนหาเช้ากินค่ำไปที่พลอยแกมเพชรซึ่งเป็นหนังสือไฮโซ ก็ต้องไม่ได้ลง

สำหรับ แพรว มติชน และขวัญเรือน มีเรื่องแปลหลายแนว และเขาเห็นว่าน่าจะขายดี หรือเป็น best seller ซื้อลิขสิทธิ์มา อย่าง "จิตราพร โนโตดะ" เป็นลูกศิษย์คนหนึ่งที่เรียนรู้เร็ว ได้แปล"เรื่องนางมารสวมปราด้า" ซึ่งกำลังทำเป็นภาพยนตร์ นี่คือองค์ประกอบที่ทำให้ดังได้ แต่อย่างน้อยต้องมีฝีมือติดตัวมา แต่ส่วนใหญ่มักจะหมดความอดทนไปก่อน แรงจูงใจที่ทำให้มนันยาเลือกเป็นนักแปล มาจากการชอบอ่านหนังสือ ตั้งแต่เรียนอยู่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่ออ่านแล้วสนุกก็อยากให้คนอื่นได้อ่านด้วย พอคนชอบก็แปลมาเรื่อยๆ แต่ไม่ได้คิดว่าจะต้องอุทิศชีวิต

เธอถ่อมตัวว่าดังเพราะทำนาน และเตือนคนที่คิดจะมาทำงานแปล ซึ่งตื่นตัวกันมากในระยะนี้ว่าเห็นมามากที่สุดท้ายเลิกความพยายามไป เพราะกว่าจะได้เงินค่าตอบแทนก็ต่อเมื่อได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือ และบางทีต้องใช้เวลา 3 เดือนจึงจะแปลได้ 1 เล่ม เพราะฉะนั้น ควรทำเป็นอาชีพที่สอง เธอเองรับราชการกรมชลประทานมายาวนาน เพิ่งจะลาออกมาเป็นนักเขียนเต็มตัวเมื่อปีพ.ศ. 2543

แม้ว่าสิ่งที่เธอภูมิใจ คือ งานสอน เพราะได้ช่วยให้มีนักแปลใหม่ๆ เข้ามาทำงานแปลมากๆ แต่เพราะตามปกติสำนักพิมพ์ให้ค่าเรื่องตามอัตราที่นักเขียนคนนั้นมีประโยชน์ต่อหนังสือของเขา และขึ้นกับชื่อเสียงของแต่ละคน เพราะฉะนั้น แต่ละคนต้องต่อรองเอง แม้ว่าคนที่ดังจะเพิ่มค่าเรื่องขึ้นไป ก็ไม่ได้หมายความว่าจะช่วยให้คนอื่นๆ ที่ไม่ดังได้ค่าเรื่องเพิ่มขึ้น เธอยอมรับว่า จุดที่ทำให้ท้อแท้คือรายได้ไม่มากและความยาก

แต่นักแปลสำนวนดีมีมุมคิดแบบมองโลกในแง่ดีว่า แม้จำนวนคนอ่านหนังสือจะไม่เพิ่มขึ้น และปัจจุบันมีความบันเทิงอื่นๆ มาสร้างความสนใจใหม่ๆ มากมาย เช่น หนัง ละคร โทรทัศน์ และอินเตอร์เน็ต แต่จำนวนคนอ่านหนังสือก็ไม่ได้น้อยลงจากในอดีตที่มีแค่หนังสือเท่านั้น...

เพื่อก้าวที่ท้าทาย
"เมื่อโลกรอบตัวเราแคบลง อยากเรียนรู้ อยากอ่านเรื่องของฝรั่ง เมื่ออ่านไม่ได้ก็ต้องอ่านเรื่องแปลแทน และหวังว่าจะได้อ่านเสน่ห์ อ่านรสชาติ อ่านความเป็นนวนิยาย เพราะฉะนั้น คนที่เป็นนักแปลที่ดีก็ควรจะเป็นนักอ่าน ภาษาไทยจะต้องอยู่ในขั้นดีสละสลวยน่าอ่าน ไม่อย่างนั้นคนอ่านก็ไม่ติด แต่ภาษาอังกฤษอยู่ในขั้นใช้ได้ค่อนข้างดีก็พอแล้ว เพราะถามคนที่รู้ได้เวลาติดขัดไม่เข้าใจ

ต้องสะสมความรู้ไว้มากๆ ไม่ใช่พรุ่งนี้ใช้วันนี้หา จากที่ทำงานแปลมาตั้งแต่อายุ 20 ถึงวันนี้เกือบ 40 ปีไม่เคยวางมือเลย ตอนนี้มีงานแปลมาแล้ว 150 เล่ม ไม่ใช่ได้มาง่ายๆ ต้องค้นคว้า ขอความช่วยเหลือจากคนอื่นตลอดเวลาโดยเฉพาะศัพท์เฉพาะทาง แม้แต่ชื่อสักตัวก็ต้องถาม เพื่อให้ได้คำที่ถูกต้องสมจริง"

 

ขอบคุณที่มา : http://www2.manager.co.th/mgrWeekly

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ