นิทานช่วยฝึกให้เด็กรู้จักแก้ปัญหาได้ : นิทานคงไม่ใช่แค่เรื่องของความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่มีคุณค่าเป็นเครื่องถ่ายทอดความรัก สร้างสัมพันธ์ที่อบอุ่น ความผูกพันในครอบครัว

นิทานช่วยฝึกให้เด็กรู้จักแก้ปัญหาได้

นิทานคงไม่ใช่แค่เรื่องของความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่มีคุณค่าเป็นเครื่องถ่ายทอดความรัก สร้างสัมพันธ์ที่อบอุ่น ความผูกพันในครอบครัว ปลูกฝังคุณธรรมความดี ตลอดจนส่งเสริมพัฒนาการให้กับเจ้าตัวเล็ก ซึ่งจะเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อประเทศชาติในอนาคต การเล่านิทานให้ลูกฟังบ่อย ๆ นอกจากจะช่วยพัฒนาทักษะการฟัง การพูด กล้าแสดงออก ช่วยพัฒนาการด้านอารมณ์ของเด็กให้ขารับรู้อารมณ์ทางด้านความรัก ความอบอุ่น ความเอาใจใส่ ความสนใจใคร่รู้แล้ว การเล่านิทานยังช่วยฝึกทักษะการแก้ปัญหาให้กับเขาอีกด้วย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่และคุณครูสามารถช่วยส่งเสริมการแก้ปัญหาของเด็กวัยอนุบาลได้ไม่ยาก เริ่มที่

1. เลือกเนื้อเรื่องที่มีการกำหนดสถานการณ์ที่เป็นปัญหา หรือยุ่งยากให้กับตัวละคร เมื่อตัวละครไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ครูหรือพ่อแม่ควรตั้งคำถามให้เจ้าตัวเล็กที่นั่งฟังตาแป๋วอยู่ได้ใช้ความคิด หาทางแก้ปัญหา เพื่อช่วยตัวละครในนิทานดำเนินเนื้อเรื่องต่อให้จบ
เช่น มีชายชราคนหนึ่งปลูกหัวผักกาดไว้ เมื่อเวลาผ่านไปหลายวัน หัวผักกาดก็มีขนาดใหญ่ จนชายชราไม่สามารถถอนออกมาจากดินได้ ชายชราได้แต่นั่งเศร้าเพราะไม่รู้จะทำอย่างไรดี แล้วให้เด็กๆ ช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรดีนะ ถึงจะถอนหัวผักกาดยักษ์ออกมาจากดินได้

2. เตรียมคนเล่าและคนฟังนิทาน หลังจากเลือกเรื่องที่เหมาะสมได้แล้ว ให้ทำความเข้าใจในเนื้อเรื่อง ตัวละคร ลีลาอารมณ์ เรียงลำดับเหตุการณ์ ฝึกการใช้น้ำเสียงที่มีหนักเบาตามความหมายของคำและข้อความ ทำเสียงสนทนาตามธรรมชาติ เช่น เสียงผู้ชาย ห้าวใหญ่ เสียงผู้หญิง นุ่ม แหลมเล็กน้อย เสียงเด็ก แหลม สดใส เสียงคนแก่ อยู่ในลำคอ สั่นเครือ ฯลฯ

บทสนทนาอาจใช้ภาษาถิ่นหรือใช้คำคุ้นที่เด็กเคยชิน อย่าลืมว่าสุดท้ายของการเล่านิทานทุกครั้งควรมีการสรุปเรื่องด้วย เกี่ยวประเด็นสำคัญ ลักษณะตัวละคร ความรู้และสิ่งที่ได้จากเรื่อง เพื่อให้เขาได้คิดทบทวน และเก็บข้อความรู้จากนิทานเป็นการย้ำเตือน

มาเตรียมคนฟังตัวน้อย ๆ ให้พร้อมกัน
- ใช้สถานที่ได้ทั้งนอกห้องหรือในห้อง
- มีแสงสว่างเพียงพอ อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่มีเสียงหรือกลิ่นอันไม่พึงประสงค์รบกวน
- จัดที่นั่งเจ้าตัวเล็กกับครูหรือพ่อแม่ให้ใกล้ชิดกัน โดยครูหรือพ่อแม่อาจนั่งสูงกว่าเจ้าตัวเล็กเล็กน้อย เพื่อสามารถแสดงภาพในหนังสือ หรือแสดงสื่อประกอบการเล่าในระดับสายตาเจ้าตัวเล็ก
- ถ้าเจ้าตัวเล็กมีจำนวนหลายคนก็ให้นั่งล้อมวงหน้าครูหรือพ่อแม่
- ก่อนเล่าต้องตกลงกับเจ้าตัวเล็กว่าระหว่างเล่านิทานนั้นต้องไม่มีการพูดคุย ส่งเสียงดัง ไม่ลุกขึ้นยืนหรือวิ่งเล่น ฯลฯ เพื่อให้อยู่ในระเบียบวินัยในขณะฟังนิทานค่ะ

3. ใช้สื่อประกอบ จะช่วยให้การเล่านิทานมีชีวิตชีวาและน่าสนใจมากขึ้น ครูหรือพ่อแม่จึงควรเลือกใช้สื่อที่มีลักษณะเป็นรูปธรรม กระตุ้นให้เจ้าตัวเล็กใช้จินตนาการตามประสบการณ์ของเขาให้มากที่สุด เช่น หนังสือ ฉาก หุ่น ฯลฯ โดยการสร้างสื่ออย่างง่ายหรืออาจจะให้เจ้าตัวเล็กร่วมทำด้วยก็สนุกดีนะคะ แถมยังภูมิใจในผลงานอีกด้วยด้วย

 

ขอบคุณข้อมูล กระปุก

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ