โลดแล่นอยู่ในบรรณพิภพของงานประพันธ์มายาวนานกว่า 6 ทศวรรษ รังสรรค์นวนิยายทรงคุณค่าที่เปรียบเสมือนกระจกบานใหญ่สะท้อนภาพความจริงของสังคมไทยไม่ต่ำกว่า 140 เรื่อง จนได้รับการยกย่องเป็น “ราชินีแห่งนวนิยายชีวิต” แต่จนถึงวันนี้ นักประพันธ์ระดับบรมครูของเมืองไทย วัย 84 ปี “สุกัญญา ชลศึกษ์” เจ้าของนามปากกา “กฤษณา อโศกสิน” ก็ยังคงกระหายใคร่จะพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดยั้ง และสนุกกับการทดลองแนวทางการเขียนใหม่ๆ เพื่อสะกดผู้อ่านให้ถวิลหาติดตราตรึงใจ
“ทุกวันนี้ยังรู้สึกว่าเป็นแค่นักเขียนธรรมดาคนหนึ่ง ที่ตั้งใจทำงานให้ดี ทำงานตามรสนิยมของตัวเอง ถ้าเราทำรสนิยมของเราให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี คนจะรู้จักเราด้วยงานของเรา แล้วจับรสนิยมของเราได้ ดิฉันอยากให้คนอ่านงานของตัวเอง อย่าตัดสินจากคำพูดที่ว่า งานของ “กฤษณา อโศกสิน” หนักอึ้ง และจบก็ไม่ดี ไม่ใช่เลย เพียงแค่เนื้อมันแน่น เนื่องจากต้องคิดมาก ค้นคว้ามาก ชั่งน้ำหนักมาก เพื่อให้ได้สัดส่วนที่ลงตัว ข้อมูลหนักๆต้องแทรกและซึมจนไม่เห็นเนื้อข้อมูล แต่ละเรื่องใช้พละกำลังใช้เวลา จึงทุ่มเทกับงานเขียนมาก และรักงานเหมือนลูกหลาน
ในการทำงานทุกชิ้นจะยึดหลักแข่งกับตัวเอง ตลอดเวลามักก้าวขึ้นมาได้เรื่อยๆ ก็เพราะแข่งกับตัวเอง ทำให้ไม่พอใจผลงานตัวเองเสมอ พอจบเรื่องนี้แล้ว จะคิดตลอดว่าต่อไปต้องทำให้ดีกว่านี้ บางทีจึงสูงลิบเกิน ไป รู้สึกว่ายังไม่ชอบเรื่องของตัวเองเต็มบริบูรณ์ทั้งหมด ยอมรับเลยบางทีมือไม่ถึง มันไม่ทะลุทะลวง อาจเป็นเพราะความคิดยังอ่อนด้อย แม้จะอ่านปรัชญาชีวิตและวรรณกรรมชั้นเลิศมาเยอะ แต่ยังไม่เพียง พอที่จะสุมไฟให้แลเห็นเป้าหมายที่อยากไปให้ถึง คล้ายๆว่าบ่ม- เพาะไม่พอ แต่เรื่องของดิฉันมักจบอย่างสอดคล้องกับหลักเหตุผล ไม่ได้แกล้งตัวละคร ถึงจบเรื่องแบบไม่สมหวัง แต่ผู้อ่านส่วนใหญ่ชื่นชอบมากกว่าแบบแฮปปี้เอนดิ้ง ตัวละครทุกตัวมีชีวิต ดิฉันเปิดออกอ่านทีไรจะรู้สึกอบอุ่น เหมือนพวกเขาอยู่กับเราตลอดเวลา ดิฉันจึงรักทุกตัวละคร แม้แต่ตัวละครที่อาภัพก็สงสาร”...นักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่บอกเล่าความคิดอันตกผลึก
ผลงานของอาจารย์กะเทาะเปลือกสังคมอย่างสะใจ ตรงนี้ถือเป็นหน้าที่ของนักเขียนที่ดีใช่ไหม
หน้าที่ของนักเขียนคือรับใช้ประชาชน ถ้าเรามีความคิดอ่านอะไร ก็เขียนลงไป เพื่อให้คนอ่านได้ประโยชน์ แต่ควรต้องวางใจเป็นกลางให้ได้ ถ้าไม่ได้เขียนเรื่องการเมือง เราไม่ควรไปแตะเขามาก ดิฉันยังจำคำเตือนของ “ท่านอาจารย์นิลวรรณ ปิ่นทอง” อดีตบรรณาธิการนิตยสารสตรีสาร ถ้าเราเขียนเรื่องรัก แล้วไปพาดพิงถึงนักการเมืองบางคน ไปเขียนเหน็บแนมเขาด้วยความหมั่นไส้ มันไม่สมควร เมื่อก่อนดิฉันทำ เพราะคิดว่าไม่ได้เขียนเรื่องการเมืองแท้ๆ แต่นักเขียนคือประชาชนคนหนึ่งที่มีอารมณ์ความรู้สึก
งานเขียนที่ประสบความสำเร็จ ต้องมีองค์ประกอบสำคัญอะไรบ้าง
ดิฉันถือสามากว่าการเขียนหนังสือต้องไม่ลำเอียง เพราะการเอียงข้างทำให้เรื่องของเราเกิดความพร่อง หรือขยายมากเกินไปเรื่องก็บวม การผูกเรื่องยาวจำเป็นต้องได้สัดส่วนพอดี ที่เกิดจากความคิด ความสำนึก และอารมณ์ของผู้เขียนรวมกัน โดยปรุงจากสมองมาสู่หน้ากระดาษเป็นตัวอักษร ถ้าปรุงเปรี้ยวไปเค็มไปหวานไป ก็ไม่ใช่รสชาติที่กลมกล่อม ต้องปรุงทุกรสให้กลมกล่อม ถ้านวนิยายเอียงกะเท่เร่จะไม่น่าอ่าน
แฟนๆนวนิยายอยากเห็นภาพเบื้องหลังการทำงานของนักเขียนในดวงใจ
ทุกวันนี้ดิฉันยังเขียนนวนิยายด้วยลายมือ หลังทานอาหารเช้าและอ่านหนังสือพิมพ์จบ 4 ฉบับ ก็จะเริ่มทำงานตั้งแต่ 10 โมงครึ่ง สมัยก่อนเขียนตั้งแต่ 9 โมงครึ่ง แต่อายุมากแล้วอยากพักผ่อนมากขึ้น พักทานข้าวเที่ยงเสร็จ ก็กลับมาทำงานต่อถึง 6 โมงเย็น เป็นอย่างนี้ทุกวัน
พล็อตนวนิยายของอาจารย์แทบไม่ซ้ำกันเลย ค้นหาวัตถุดิบจากไหนมากมายขนาดนี้
เวลาทำงานทุกครั้ง จะเริ่มจากคิดพล็อตใหญ่ โดยพยายามไม่ให้ซ้ำคนอื่น และไม่ซ้ำกับที่เราเคยเขียนแล้ว ต้องพยายามคิดอะไรใหม่ๆเสมอ เพื่อไม่ให้ผู้อ่านเบื่อ จึงต้องคอยต่อยอดความคิดเสมอ ดิฉันอยากให้ความดีของนวนิยายแก่ผู้อ่าน นอกจากต้องเป็นนวนิยายที่ดีสนุกให้ความบันเทิง ยังอยากให้เป็นประโยชน์ทางความคิดแก่ผู้อ่าน
ค้นพบตัวเองตั้งแต่เมื่อไหร่ว่าอยากเป็นนักเขียน
ไม่ได้รู้หรอกว่าอยากเป็นนักเขียน แต่เริ่มจากชอบอ่านเรื่องสั้นของรุ่นพี่ราชินีในหนังสือทำมือของโรงเรียน และด้วยความเป็นนักเรียนประจำ จึงโตมากับการแอบอ่านหนังสือก่อนนอน พออายุ 15 ปี ก็เริ่มเขียนเรื่องสั้นเรื่องแรก “ของขวัญปีใหม่” ได้ตีพิมพ์ลงใน “ไทยใหม่วันจันทร์” ใช้นามปากกา “กัญญ์ชลา” กระทั่ง พ.ศ.2497 เริ่มมีชื่อเสียงจากการเขียนนวนิยายลงศรีสัปดาห์ “อ.นิลวรรณ” บอกว่าถ้ามีเรื่องดีๆก็เขียนให้สตรีสารบ้าง ดิฉันเริ่มเขียนนวนิยายเรื่อง “วิหคที่หลงทาง” เป็นเรื่องยาวเรื่องแรก ตีพิมพ์ในสตรีสาร ปี 2501 จึงได้เกิดที่สตรีสารในชื่อ “กฤษณา อโศกสิน” ชื่อนี้นั่งอยู่เพลินๆกำลังคิดว่าจะใช้นามปากกาอะไรดี ก็แวบขึ้นมาในหัว และรู้สึกชอบทันที ความหมายก็ดี
ชีวิตอาจารย์โลดโผนรันทดเหมือนในนวนิยายไหมคะ
ชีวิตดิฉันผ่านความรู้สึกมาเยอะมาก ซาบซึ้งมาแล้วทุกความรู้สึกของความเป็นมนุษย์ ตั้งแต่อายุ 13 ปี ก็เสียคุณแม่จากเหตุการณ์เรือล่ม ระเบิดลงตูมๆในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองก็เคยผ่านมาแล้ว ต่อมาคุณพ่อ ซึ่งเป็นหัวหน้ากองสหกรณ์ธนกิจ และผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี ถูกกุมขังเป็นนักโทษการเมือง เนื่องจากรัฐประหาร ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง คิดดูว่าเราเป็นเด็กตัวนิดเดียวต้องไปส่งข้าวส่งน้ำให้พ่อในคุกตั้ง 9 เดือน แถมยังเป็นพี่คนโต มีน้องๆอีก 5 คน ชีวิตทรหดมาก บั้นปลายชีวิตคุณพ่อยังบวช และไปมรณภาพที่แคนาดา ตอนอายุ 64 ปี คือชีวิตนี้ผ่านความสูญเสียมาเยอะ แต่โดยนิสัยเป็นคนไม่ซึมเศร้า และไม่ชอบเก็บความทุกข์ความไม่สมหวังมาวิตกกังวล ดิฉันไม่เคยทุกข์หนักกับอะไรมากเกินไป มักพอใจในสภาพที่เป็นอยู่เสมอ และปรับตัวได้ตลอด พออายุมากก็ไม่มีเรื่องโลดโผนแล้ว เทวดาฟ้าดินคงเลิกเอาเรื่องกับเราแล้ว ทุกข์ใดๆที่เคยได้รับมากี่กระบุงกี่ตะกร้า ท่านคงส่งมาเพื่อจะให้รู้รสของความทุกข์ว่าเป็นฉันใด จะได้เอาไปบรรยายให้ผู้อ่านได้อ่านแล้วทะลุโลก คนที่มีความทุกข์เท่านั้นที่จะเขียนหนังสือได้ทะลุปรุโปร่ง นักเขียนที่ดีจะเขียนหนังสือได้ต้องมีประสบการณ์ชีวิตหลากหลาย เขียนแล้วจะไม่จนมุม ถ้าประสบการณ์น้อยบรรยายไม่ถูก
งานเขียนของอาจารย์เปลี่ยนแปลงตามประสบการณ์ชีวิตอย่างไรบ้าง
ยุคแรกจะคล้ายๆจินตนาการเอง แต่งไปตามเรื่องราวของคนวัยต้น ต่อมาเป็นเรื่องหนักเศร้า ได้อิทธิพลจาก “อ.อุดากร” ยุคนั้นเขียนแนวนี้อยู่คนเดียว คนอื่นเค้าดังหมดเลย เพราะเขียนเรื่องรักเรื่องลึกลับ แต่ดิฉันจะเขียนตามที่ตัวเองอยากเขียน ไม่เขียนตามกระแส แม้แต่เดี๋ยวนี้ก็เหมือนกัน พอถึงยุคนามปากกา “กฤษณา อโศกสิน” งานเขียนเปลี่ยนไปเป็นแนวปัญหาชีวิต เรื่องแรกคือ “วิหคที่หลงทาง” ได้ความคิดจากคอลัมน์จินตนาตอบจดหมายในสตรีสาร เลยรู้ว่าเราต้องเขียนเกี่ยวกับปัญหาชีวิต เพราะชอบเรื่องราวเหล่านี้ ไม่ว่าคนเล็กคนใหญ่มีปัญหาชีวิตด้วยกันทั้งผอง ไม่เว้นว่าใครด้อยใครเด่น ปัญหาชีวิตกว้างใหญ่ไพศาล เราสามารถเก็บมาผูกเป็นเรื่องราว หรือเก็บเล็กผสมน้อยที่เราแลเห็นตามทาง มีข้อคิดทั้งนั้น ถ้าเราคิดออกจะได้เพชรทีละเม็ดมาร้อยเป็นสายสร้อย พอถึงวัยกลางคนเริ่มสนใจเรื่องโหราศาสตร์และดวงดาว ทำให้เกิดงานเขียนแนวทดลองนำโหรา– ศาสตร์มาผูกร้อยเป็นตัวละครในนวนิยาย ดิฉันศึกษาโหราศาสตร์มา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2514 รู้สึกว่าดวงดาวอัศจรรย์มากและมีนิสัยเหมือนคนเลย นอกจากนี้ ก็ยังมีอีกนามปากกาคือ “สไบเมือง” ใช้เขียนแนวธรรมะ แต่ปรากฏตัวยากหน่อย ถ้าไม่อิ่มไม่รู้สึกสะดุดใจจริงๆ เขียนไม่ได้
ในเมืองไทยสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวจากอาชีพนักเขียนได้ไหม
ดิฉันคิดเสมอว่า เราอย่าเอาเงินนำหน้า ต้องเอางานนำหน้า เดี๋ยวเงินมาเองแหละ แต่อย่าโลภนะ อย่ากระเสือกกระสนอยากได้มากเกินไป มันจะทำลายอารมณ์ความรู้สึกในการทำงานให้หมดไป เพราะมัวแต่พะวงเรื่องเงิน คิดว่าค่าตอบแทนจะเพียงพอกับค่ามันสมองของเราไหม ถ้ามัวนึกอย่างนี้จะไม่ได้งานที่ดีหรอก อาชีพนี้ตั้งตัวได้ ถ้าเขียนจากน้ำเนื้อของตัวเอง ไม่ได้รับใช้ใคร ถ้าเขียนจากการมองโลกมองชีวิตอย่างธรรมดา แต่หาจุดบรรเจิดปรุงแต่งนวนิยายให้พิเศษขึ้นมา ให้จับใจผู้อ่าน โดยที่ไม่เสแสร้งแกล้งทำใดๆทั้งสิ้น วันหนึ่งก็ต้องประสบความสำเร็จ การเป็นนักเขียนที่ดีต้องเป็นตัวของตัวเองเต็มร้อย และต้องยุติธรรม เวลาเขียนหนังสือ ควรต้องล้างหัวใจเราให้สะอาด เป็นตาชั่งที่จะให้สองข้างเท่ากัน เพื่อว่าจะได้เดินเรื่องไปด้วยเหตุและผล เพราะตัวละครในชีวิตเราทุกวันนี้ต้องทำอะไรด้วยเหตุด้วยผล ถ้าดำเนินไปอย่างผิดเหตุผิดผล จะได้รับผลตอบแทนให้ประจักษ์เลยว่ามันใช่หรือไม่ใช่
ปีนี้อายุ 84 แล้ว ดูแลตัวเองอย่างไรให้สมองแจ่มใส จำแม่นทุกรายละเอียด
ดิฉันไม่ได้ดูแลอะไรเป็นพิเศษ ตื่นขึ้นมา 8 โมงเช้า แกว่งแขน 100 ครั้ง และทานน้ำอุ่น 3 แก้ว แล้วเริ่มทำงานตอน 10 โมงครึ่ง แต่ไม่เคยออกกำลังกายเลย โชคดีที่สุขภาพอยู่ในเกณฑ์ดี ชีวิตบั้นปลายขอมีความสุขตามอัตภาพ เป็นชีวิตที่เราพอใจ ไม่เคยอยากได้ใคร่ดีอะไรมากไปกว่านี้.
ทีมข่าวหน้าสตรี
ที่มา : http://www.thairath.co.th/content/506363