‘วังบูรพาไม่แพ้’ อดีต-ปัจจุบันอันงดงาม : ร้านหนังสือย่านวังบูรพา

‘วังบูรพาไม่แพ้’ อดีต-ปัจจุบันอันงดงาม

ร้านหนังสือย่านวังบูรพา

นาฬิกาทำหน้าที่ของมันอย่างซื่อสัตย์ วันเวลาที่เคลื่อนคล้อยไปก็ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างก็มีทั้งเกิดขึ้นและเสื่อมสลายไปตามวันเวลาที่ล่วงเลย

เมื่อวังบูรพาถือกำเนิดขึ้นในปี 2490 ห้างร้านต่างๆ เริ่มจับจองอาคารในร้านใหม่ ที่นี่ยังเป็นถิ่นที่เรียกกันว่า ‘โก๋หลังวัง’ ซึ่งหมายถึงคนที่อยู่ในวัยรุ่นช่วงปี 2500 ซึ่งจะเป็นประมาณ ค.ศ.1957 หรือที่เรียกกันว่ายุคซิกตี้ (ยุคทศวรรษ 60s)

ในสมัยนั้น วังบูรพา คือแหล่งรวมวัยรุ่นชาย-หญิงนำสมัย ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ และพรั่งพร้อมไปด้วยห้างสรรพสินค้า, ภัตตาคาร, ห้องอาหาร, ร้านไอศกรีม และโรงภาพยนตร์ ตลอดจนตู้เพลง ซึ่งเป็นยังเป็นของใหม่และทันสมัย

วังบูรพา เป็นย่านแฟชั่นที่รับอิทธิพลวัฒนธรรมอเมริกัน ซึ่งเป็นแม่แบบของวัยรุ่นทั่วโลกมาอย่างเต็มที่ ทั้งเรื่องเสื้อผ้า, การแต่งกาย และทรงผม และวัยรุ่นไทยก็อินเทรนด์ไม่แพ้ใครในโลก ร้านรวงแถบวังบูรพาเป็นเหมือนตำนานกาลเวลาที่คนรุ่นพ่อแม่ของเราต่างมีความหลังฝังจำ ไว้กับวันเวลา

ปัจจุบัน วังบูรพา แม้จะไม่ใช่ศูนย์รวมของความทันสมัยอีกต่อไป เหลือเพียงร้านค้าอาวุธปืน วิทยุสื่อสาร เครื่องหมายราชการต่างๆ และก็มีร้านหนังสือและสำนักพิมพ์ที่ยังอยู่คู่กับย่านวังบูรพามาตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น ร้านผดุงศึกษาบูรพา, บูรพาสาสน์, โอเดียนสโตร์, แพร่พิทยา, รวมสาส์น และคลังวิทยา

เล่าความหลังกับผดุงศึกษาบูรพา ในยุคโก๋หลังวัง ปี 2490 เป็นต้นมา ศูนย์การค้าวังบูรพา เป็นศูนย์การค้าที่ทันสมัยที่สุดของไทย มีโรงภาพยนตร์ที่ถือว่าเป็น 3 โรงภาพยนตร์ที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในยุคนั้น คือ แกรนด์-คิงส์-ควีนส์ โรงภาพยนตร์แกรนด์แายหนังไทย คิงส์ฉาย

หนังฝรั่งและจีน และควีนส์ฉายหนังอินเดีย มีห้างสรรพสินค้าที่นำสมัย อย่าง เซ็นทรัล สาขาวังบูรพา มีห้างร้านมากมายที่ทันสมัยหรูหราฟู่ฟ่ารวมกันอยู่ที่นี่

เหล่าสำนักพิมพ์ก็ไม่ยอมน้อยหน้า ร้านหนังสือผดุงศึกษาบูรพา ในฐานะร้านหนังสือสาขา 2 ต่อจากเวิ้งนาครเขษม ก็มาเปิดที่นี่ ทายาทรุ่นที่ 3 ของร้านเก่าแก่ย่านวังบูรพา คุณอ้น แห่งผดุงศึกษาบูรพาเล่าว่า สำนักพิมพ์ผดุงศึกษา เดิมเป็นเพียงร้านขายหนังสือเก่าเล็กๆ ที่มีผู้รักการอ่านผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาซื้อหนังสือ แลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกัน ต่อมาจึงได้ขยายกิจการเป็นร้านขายหนังสือ จนก่อตั้งเป็นสำนักพิมพ์ผดุงศึกษา ตั้งอยู่ที่เวิ้งนาครเกษม ย่านการค้าที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น

ร้านหนังสือย่านวังบูรพา

โดยตีพิมพ์ผลงานของ ป.อินทรปาลิต ,โชติ แพร่พันธ์ (ยาขอบ) ฯลฯ ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้อ่านเป็นอย่างดี จนต้องเปิดสาขา 2 ที่วังบูรพา และยังคงยืนหยัดอยู่ตราบจนทุกวันนี้

ในยุควังบูรพารุ่งเรือง คุณอ้นฉายภาพอดีตว่า ร้านหนังสือต้องเปิดถึงเที่ยงคืน เพราะคนมาดูหนังรอบมิดไนต์กัน เพราะหลังจากยุคสามเกลอขายดิบขายดี ผดุงศึกษาก็ยังมีหนังสือเล่มที่คอนวนิยายติดกันงอมแงม ซึ่งรวมเล่มจากการตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสารอย่าง สกุลไทย ขวัญเรือน ทานตะวัน ฯลฯ ยิ่งเรื่องไหนถูกนำบทประพันธ์ไปทำเป็นละครโทรทัศน์ด้วยแล้ว ก็ยิ่งขายกันแทบไม่ทัน

“เมื่อก่อนใครจะซื้อหนังสืออะไรต้องมาที่วังบูรพา ตอนนี้มีร้านหนังสือกระจายไปทั่ว คนไม่ต้องมาวังบูรพากันแล้ว จะเจอลูกค้าแต่ละทีก็ต้องมาที่งานหนังสือเลย”

ร้านหนังสือย่านวังบูรพาสนับสนุนสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ยุคก่อตั้ง วังบูรพา มีร้านหนังสือใหญ่ๆ อยู่หลายร้าน แต่ปัจจุบันไม่ค่อยมีคนเข้า เพราะไม่ค่อยมีใครไปซื้อหนังสือที่วังบูรพากันแล้ว ร้านหนังสือในย่านนี้ไม่ได้เป็นร้านที่ดูทันสมัย แต่มีหนังสือเรียงแน่นอยู่เต็มผนัง แบ่งหมวดบ้างไม่แบ่งบ้าง บ้างก็กองเป็นตั้งอยู่ที่พื้น ดูเชยๆ แต่ร้านเหล่านี้ ก็ยังอยู่มาได้ถึงปัจจุบัน

ปัจจุบัน เสน่ห์ของร้านหนังสือที่วังบูรพา นอกจากความคลาสสิกแล้ว คนขาย (ซึ่งอาจจะเป็นเจ้าของหรือไม่ก็ไม่ทราบ) มักจะเป็นคนที่รู้จักหนังสือภายในร้าน เรียกว่า หมดทุกเล่ม ถามอะไรรู้หมด หนังสือเล่มนั้นมีมั้ย เล่มนี้เกี่ยวกับอะไร นิยายของคนนั้นมีมั้ย เล่มนี้เรื่องเป็นยังไง เขาบอกได้หมด

ในหนังสือครบรอบ 50 ปี สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย คุณยุวดี ศิลปดีเลิศกุล แห่งสำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคารและร้านหนังสือบูรพาสาส์น ได้เล่าถึงเหตุการณ์ของร้านหนังสือยุควังบูรพาไว้ว่า

“ดิฉันเริ่มทำหนังสือมาตั้งแต่สมัยคุณพ่อ แล้วดิฉันมาสานต่อ วงการหนังสือสมัยนั้นมีไม่กี่เจ้าหรอก คิดว่าไม่เกินสิบเท่านั้น แล้วขายกันแต่ในร้าน ลูกค้าตั้งใจมาซื้อโดยตรง”

ในการให้สัมภาษณ์ครั้งนั้น คุณยุวดี ได้ย้อนความหลังถึงช่วงที่ร้านหนังสือของตัวเองและในย่านวังบูรพา ได้ร่วมมือกับทางสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ในยุคแรกที่ก่อตั้งขึ้นมา

“คุณชัย (คุณชัย จิตติเดชารักษ์ แห่งสุริวงศ์ บุ๊คเซ็นเตอร์) คุณจิตต์ (คุณจิตต์ แพร่พาณิช เจ้าของสำนักพิมพ์แพร่พิทยา) และอาจารย์กำธร (คุณกำธร สถิรกุล ผู้อำนวยการองค์การค้าคุรุสภา) ที่คุรุสภาก็เลยอยากตั้งสมาคมขึ้น แล้วต่อมา ม.ล.มานิจ (ม.ล.มานิจ ชุมสาย เจ้าหน้าที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก) ซึ่งคุ้นเคยกัน เพราะท่านพิมพ์ดิกชันนารีจำหน่าย และเอามาฝากขายที่ร้านดิฉัน ก็มาหาที่ร้านศิลปาบรรณาคาร ม.ล.มานิจมาชวนบอกว่า คุณยุวดีอยู่กันเฉยๆ ทำไม มาทำสมาคมให้มันโตดีมั้ย ดิฉันบอกว่า ก็ดี แต่เราไม่มีพาวเวอร์ไง ตอนนั้นยังเด็กๆ อยู่ ก็เลยบอกว่า อาจารย์จะทำยังไงก็ทำ แต่ใช้เราได้นะ ม.ล.มานิจ ก็ถามว่า ถ้างั้นจะจัดงานมั้ย ก็ว่าก็ดี แล้วเสนอว่า เอาสนามหลวงมั้ย แกว่าอย่างนั้นจะไปขอกรมศิลปากรที่โรงละคร”

ซึ่งในครั้งนั้นที่จัดงานสามารถทำยอดรายได้รวมถึง 300,000 บาท และเป็นจุดเริ่มต้นการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติในเวลาต่อมา โดยสำนักพิมพ์และร้านหนังสือในย่านวังบูรพาก้ล้วนเป็นแม่งานที่ให้ความร่วมมือกับสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ มาตั้งแต่ยุคเริ่มแรกจนถึงทุกวันนี้

 

เจาะเวลาหาอดีต สู่ปัจจุบัน และคาดหวังอนาคต กับโอเดียนสโตร์

ร้านหนังสือย่านวังบูรพา

อดีตแม้จะไม่มีวันหวนกลับมาอีกแล้ว ทว่าการเรียนรู้อดีตเพื่อบอกปัจจุบัน และวางแผนสู่อนาคตเป็นเรื่องจำเป็น กรณีศึกษาของสำนักพิมพ์และร้านหนังสือย่านวังบูรพาจากยุครุ่งเรืองถึงร่วงโรย คนที่จะมาพูดได้ดีที่สุดก็ต้องเป็นคนที่อยู่ในยุคนั้น ซึ่งปัจจุบันเป็นทายาทรุ่นที่ 2 ที่ดำเนินกิจการอยู่ คุณประสาร สันติวัฒนา สำนักพิมพ์และร้านหนังสือโอเดียนสโตร์ ยินดีที่จะบอกเล่าถึงยุคทองของที่นี่ และภาพที่เปลี่ยนแปลงไปตามวันเวลา และคาดหวังถึงอนาคต

“วังบูรพาเมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว มันก็เหมือนกับสยามสแควร์เมื่อ 20 ปีก่อน เพราะวังบูรพาเป็นศูนย์การค้าแห่งแรกของไทยที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น ที่รวมทั้งโรงหนัง อะไรเยอะแยะไปหมด มันก็เหมือนกับเป็นเซ็นเตอร ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นทำร้านขายหนังสือ สมัยก่อนประชากรอะไรก็ไม่เยอะแยะ มีคนทั้งประเทศซักประมาณ 10 ล้านคนเท่านั้น ในกรุงเทพฯ ล้านกว่าคน

“ทำไมมันถึงเริ่มทำร้านขายหนังสือ ตามความเข้าใจผมนะ วังบูรพามันเป็นย่านที่สมัยใหม่สุด คนก็ต้องไปกันที่ๆ ทันสมัยใช่ไหม สมัยก่อนมันมีแค่วังใช่ไหม และเฉลิมกรุงก็เป็นโรงหนังชั้นหนึ่งอยู่ที่นี่ รู้จักกันก็ชวนๆ กันมาอยู่ หลายกลุ่มก็เป็นเหมือนญาติพีน้องกันอะไรอย่างนี้ ก็มาเปิดร้านหนังสือ”

นอกจากความทันสมัยด้านอื่นๆ ร้านหนังสือในย่านวังบูรพาก็มีบุคลิกของแต่ละร้านเป็นของตัวเอง เพราะฉะนั้น หนอนหนังสือทุกระดับทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัด หากจะซื้อหนังสือก็จะมุ่งหน้าพุ่งตรงมายังวังบูรพา

“หนอนหนังสือก็ต้องรู้อยู่แล้วว่า ร้านเหล่านี้หนังสือนี้ขายหนังสือพวกไหน นิยายร้านไหนขายหนังสือวิชาการร้านไหน มันมีเซ็นเตอร์อยู่แค่นี้ ฉะนั้นทำให้วังบูรพาดังด้วยวงการหนังสือ เพราะมันเป็นแห่งแรกในยุค ใครหาหนังสือเก่าตลาดมืดก็ต้องไปสนามหลวง ถ้าใครอยากหาหนังสือใหม่ก็ไปวังบูรพา ทีนี้ธุรกิจก็เติบโต อย่างร้านบูรพาสาส์น เมื่อก่อนอดีตก็คือร้านศิลปาบรรณคาร ธุรกิจเติบโตเค้าก็เข้าวัง เมื่อก่อนก็ผดุงศึกษาเป็นร้านที่มาจากเวิ้งนาครเกษม

“สมัยแรกๆ วังบูรพาก็มีร้านอย่างผดุงศึกษา แพร่พิทยา ก้าวหน้า รวมสาส์น คลังวิทยา แล้วก็ประมวลวิทย์ขายหนังสือแพทย์รุ่นใหญ่ เลิกไป 20 ปีได้แล้ว อย่างก้าวหน้านี่ก็เพิ่งเลิกไป ปิดร้านจริงๆ สัก 10 ปีที่แล้ว มีหนังสือเค้าก็ขายหนังสือไป ไม่ได้ผลิตหนังสือมานานสัก 20-30 ปีแล้ว แพร่พิทยาก็เป็นลุงผม โอเดียนสโตร์เข้ามาทีหลังรุ่นนี้ทั้งหมด ถ้าจำไม่ผิดก็ประมาณสักรุ่นก่อนปี 2509 และอย่างหลายๆ ร้านหนังสือในวังบูรพาส่วนใหญ่นิยายดัง เพราะหนังสือบันเทิงก็คือนวนิยาย คลังวิทยา แพร่พิทยา ผดุงฯ ก็เยอะ ดังพล นิกร กิมหงวน แล้วก็มาดังกำลังภายใน”

โอเดียนสโตร์ กับแพร่พิทยา ถือเป็นสำนักพิมพ์และร้านหนังสือพันธมิตรที่มีการชักชวนกันย้ายมาอยู่ย่านวังบูรพาอันเจริญรุ่งเรือง เป็นศูนย์กลางการค้าของพระนครอย่างแท้จริงในยุคนั้น

“พอวังบูรพาสร้างเสร็จก็ย้ายเข้าไปอยู่วังบูรพา สำหรับผม คนทำหนังสือ ผมเรียกว่าพันธมิตรหมดนะ เพียงแต่วิธีการขายมันก็ช่วยไม่ได้ต้องแข่งขันกัน ก็แค่แข่งขันกันแต่ไม่ได้แข่งขันแล้วต้องเป็นอริ ทุกคนเป็นทั้งคู่ค้าและคู่แข่งกัน เพราะร้านหนังสือทุกร้านมันก็เอาหนังสือเค้ามาขายกันหมด ทุกวันนี้ผมก็ยังเอาหนังสือแต่ละร้านมาขายกัน

ร้านหนังสือย่านวังบูรพา

“สมัยนั้นไม่มีศัพท์ภาษาไอ้ที่เรียกว่าโลจิสติก (ระบบขนส่ง) วิธีดิสทริบิวชั่น (การกระจายหนังสือวางจำหน่าย) เมื่อก่อนก็คือไปจ้างเค้าพิมพ์ พิมพ์เสร็จแล้วก็ส่งขายเองตามต่างจังหวัดแล้วก็ทำเองทุอย่าง เดี๋ยวนี้มีผู้จัดจำหน่าย สมัยก่อนไม่มีผู้จัดจำหน่าย เมื่อก่อนด้วยวิถีการทำงานของเขาเป็นแบบนี้ หนังสือพิมพ์เอง มันก็ต้องมีรถวิ่งส่งเองให้หมดทั่วไป ยกเว้นแผงใหญ่ก็นำไปแจกแผงย่อยก็อีกเรื่องหนึ่ง เมื่อไหนๆ ทำเอง ร้านหนังสือก็มีเอง ก็ต้องขายเองด้วย ก็เหมือนเป็นโชว์รูมของตัวเอง คือหลักการตลาดมันง่ายสมัยก่อนไม่มีอะไร”

คุณประสารวิเคราะห์ถึงการอยู่รอดของร้านหนังสือในย่านวังบูรพาที่ยังยืนอยู่ท่ามกลางกระแสการแข่งขันในธุรกิจหนังสือสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างลุ่มลึกและน่าคิดว่า “ร้านหนังสือในวังบูรพา จะอยู่หรือจะไปมันไม่เกี่ยวกับภาพรวมของอุตสาหกรรมหนังสือ เพราะมันเป็นไพรเวต บิชิเนส หรือธุรกิจส่วนตัวซะมากกว่า เอาเป็นว่าคือครอบครัวหรือแฟมิลี่อะไรอย่างนี้ จะถามว่าจะอยู่ต่อไปได้อีกกี่ปีผมตอบไม่ได้ เพราะมันเป็นเอสเอ็มอี ร้านหนังสือเล็กๆ ฉะนั้นร้านหนังสือยุคที่อยู่ในวังบูรพาทั้งหมด ไม่เว้นแม้แต่โอเดียนสโตร์

ล้วนบริหารแบบครอบครัว สเกลมันมีจำกัด โอกาสที่จะใหญ่โตมันยาก ไม่มีทางเป็นอินเตอร์ฯ คอร์เปอร์เรท เป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นเค้าจะอยู่ได้หรือไม่? มันขึ้นอยู่กับว่าเค้าจะมีทายาทที่จะสืบสายมาทำต่อหรือไม่ มันก็เหมือนกับก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นเยาวราชที่ดังๆ ไม่มีใครทำต่อมันก็จะหายไปทีละร้านสองร้าน มันก็เหมือนกับธุรกิจครอบครัว ถ้าต้องการขยายมันต้องทำอีกแนว คือการบริหารจัดการมันต้องเปลี่ยน ไม่ใช่คิดบริหารแบบแฟมิลี่ บิซิเนส”

“สมัยก่อน เราก็ส่งหนังสือไปขายตามต่างจังหวัดที่มีเกือบ 200 ร้าน ลูกค้าเรามีเกือบทุกจังหวัด แต่ตอนนี้ไม่ค่อยมีแล้ว เพราะวิธีขายหนังสือและแนวการขายหนังสือเปลี่ยนไป แนวหนังสือหลากหลายมากๆ ร้านหนังสือแต่ละร้านก็ต้องเลือก ซัพพลายมันมีเพิ่มมากขึ้น สมาชิกสำนักพิมพ์มีอยู่เท่าไหร่ 500 กว่าสำนักพิมพ์ แล้วผมถามว่า มีที่ไหนจะมีปัญญาจะโชว์หนังสือทุกเรื่องทุกเล่มได้บ้าง ตลาดหนังสือทุกวันนี้ค่อนข้างแยกประเภท ร้านก็ขายแต่ละร้าน วิชาการก็เป็นแหล่งอีกแหล่งหนึ่ง ความหลากหลายมันเยอะ ถ้าเปรียบเทียบความเจริญเติบโตของร้านหนังสือกับสำนักพิมพ์นี่ สำนักพิมพ์วันนี้เกิดขึ้นมาเยอะ แต่เกิดง่ายตายง่าย

เสน่ห์ของวังบูรพา รวมถึงร้านหนังสือที่กลายเป็นตำนานร้านหนังสือของเมืองไทย คุณประสานฟันธงว่า ตายไปแล้ว แต่สามารถฟื้นขึ้นมาใหม่ได้

“ตลาดวังบูรพามันตายแล้ว การเป็นรีเทล ช็อป (ร้านค้าปลีก) ตายไป วังบูรพาไม่ใช่เซ็นเตอร์อีกแล้ว มันเป็นวัฏจักร ทุกอย่างมีรอบชีวิตของมันหมด ร้านหนังสือก็มีรอบชีวิตของมัน วังบูรพาก็รอฟื้น รอรีคอปเปอร์เรท ผมมองว่า วังบูรพามีโอกาสฟื้น แต่จะฟื้นแง่ไหนไม่รู้เหตุผล ส่วนเวิ้งนาครเขษมตายไปแล้ว โดนซื้อไปแล้ว ทุกวันนี้ห้องแถวทุกห้องในวังบูรพาเป็นเอกสิทธิ์ของเอกชน ไม่ได้รวมที่ดินแปลงเดียว ไม่ใช่ห้องเช่า ถามว่า วังบูรพา ณ วันนี้ รถไฟฟ้ารอไหม รอ ใช่ไหม มันมาไม่รู้ดีหรือไม่ดี รออีก 3 ปี ผมก็อยากให้ฟื้นนะ คงจะมาระบุว่าจะเป็นแหล่งรวมหนังสือคงเป็นไปไม่ได้แล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะเป็นรูปแบบไหน”

แน่นอน ร้านหนังสือในย่านวังบูรพา ก็เป็นกลุ่มร้านหนังสือที่มีส่วนร่วมในการก่อตั้งและช่วยเหลือกิจกรรมของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย โอเดียนสโตร์ก็เป็นหนึ่งในนั้น “โอเดียนสโตร์นี่เข้าเป็นสมาชิกของสมาคมในยุคแรกปีเปิดเลย เท่าที่ผมสัมผัสและจำความได้ แรกๆ ตั้งสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ขึ้นมา มีงานหนังสือจัดติดกับสนามหลวง จัดครั้งสองครั้งแรก ที่โรงละครแห่งชาติตรงลานข้างหน้าเลย ผมยังเล็ก ช่วยวิ่งขายของ หม่อมหลวงมานิจ (ม.ล.มานิจ ชุมสาย) เป็นคนเริ่มต้น แกเป็นนักวิชาการ เมืองไทยสมัยก่อนนี่ แกไปยุโรป แล้วยุโรปมีงานหนังสือก็เลียนแบบเขามา แล้วสมัยก่อนคนมาซื้อหนังสือต้องไปร้านนั้นร้านนี้ ก็เหมือนกับเป็นการรวมทั้งพวกพ่อค้าหนังสือด้วย ถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยผลักดันตลาดหนังสือให้โตขึ้นก็ได้”

เมื่อถามคุณประสารว่า การดำเนินงานของสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน มีผลต่ออุตสาหกรรมหนังสืออย่างไรบ้าง “วิจารณ์สมาคมไม่กล้าวิจารณ์ แนะแนวก็ไม่กล้าแนะ สมาคมวันนี้เค้ามองอะไรมากกว่าผม หลายอย่างผมก็หยุดของผมไว้แล้ว ในแวดวง ณ วันนี้ วัตถุนิยมมันสูงขึ้น ทุกคนทำอะไรก็เพื่อผลประโยชน์ คือผมถึงบอกไม่กล้าวิจารณ์ ผมเลยจุดนั้นมาแล้ว ตอนนี้ผมกำลังหาทุกอย่าง ทำอย่างไรให้มันอยู่รอดได้ ที่ทำให้ตัวเองมีความสุขกับสิ่งที่เหลืออยู่ คือมันคนละเรื่องกัน ขออย่างเดียวคนที่จะมาเป็นกรรมการ คนที่เป็นอยู่ทั้งกรรมการทั้งนายกมองวงการหนังสือ ก็ขอให้มองไกลๆ เราทำหนังสือเล่ม ณ วันนี้เราพูดถึงหนังสือเล่ม เราคงไม่พูดถึงอีบุ๊กมาก ทำอย่างไรให้คนเห็นความสำคัญของหนังสือ

“เมื่อก่อนทำร้านหนังสือ ทำงานหนังสือสมัยหม่อมหลวงมานิจ ในยุคแรกๆ เค้าจัดงานไม่เคยคิดค่าเช่าแพงๆ ไม่ได้หวังว่าต้องได้เงินก้อนเท่านั้นเท่านี้ ต้องการให้สำนักพิมพ์เล็กๆ อีกอย่างสมัยก่อนสำนักพิมพ์ไม่ได้ใหญ่ ทุกคนเล็กๆ ได้มีโอกาสมารวมตัวกัน แต่วันนี้สมาคมพุ่งเป้าจะต้องใหญ่ๆ แล้วพวกเล็กๆ สมาคมมองเค้ามั่งเปล่า ทำอย่างไรที่จะช่วยเค้ามั่ง ไม่รู้นะนี่คือมุมมองความคิดของผมนะ เล่นๆ สนุกๆ อย่างเวลาจัดงานมีการจับสลาก วันนี้อย่าให้พวกเขาเป็นลูกเมียน้อยเลย “คนบริหารสมาคมต้องคิดอย่างมีระบบให้เข้าใจ ยิ่งมาจากองค์กรใหญ่ๆ ขอให้เปิดตาข้างหนึ่งด้วย อย่าให้ตัวเองเป็นตัวโจทย์ตั้ง แต่ถ้าให้พวกสำนักพิมพ์เล็กๆ เข้ามาบริหารจะมีอะไรดีๆเยอะ เพราะในนั้นมีคนที่แอคทีฟที่มีความรู้ความเข้าใจ คือผมไม่รู้ว่าวันนี้มองประเด็นอย่างไร เพื่อจะขายหนังสือให้ได้เยอะๆๆๆ อย่างอื่นไม่ต้องคิดหรือเปล่าไม่รู้”

สุดท้าย คุณประสานก็ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงตัวแทนของคนทำหนังสือที่อยู่ในท่ามกลางความแปรผันของยุคสมัย โดยให้กำลังใจว่า “ก็สู้อย่างเดียว สู้แล้วสนุกก็สู้เข้าไป ถ้าสู้แล้วทุกข์หาอย่างอื่นทำดีกว่า ทำงานทุกอย่างมีทั้งปัญหาและอุปสรรคเพื่อที่จะให้เราแก้ไข ก็สู้ไปสิแค่นั้น ถ้าเกิดมีปัญหาอุปสรรคเมื่อไรแล้วนั่งทุกข์ก็ไม่มีปัญญาแก้หรอก มันก็ง่ายๆ”

ร้านหนังสือย่านวังบูรพาในทุกวันนี้ก็ยังเปิดดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีบางส่วนล้มหายตายจากไปแล้วบ้างก็ตาม ตำนานของวงการหนังสือที่ยังมีเสน่ห์และกรุ่นอายความรุ่งเรืองของอดีตที่หอมหวน วิถีของร้านหนังสือย่านวังบูรพาก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรากฐานของอุตสาหกรรมหนังสือในเมืองไทย...

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ