ศึกษิตสยาม : ร้านหนังสือทางเลือก : ศึกษิตสยาม : ร้านหนังสือทางเลือก

ศึกษิตสยาม : ร้านหนังสือทางเลือก

ศึกษิตสยาม

แม้จะเป็นร้านหนังสือเล็ก ๆ ที่สานความฝัน สู่ความจริง บนเส้นทางคนทำร้านหนังสือ คุณวัลลภา เจ้าของร้านหนังสือที่ชื่อ "ศึกษิต สยาม" เธอจบการศึกษาอักษรศาสตร์บัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยทำงานบริษัทที่เกี่ยวกับธุรกิจ จัดงานแสดงสินค้า มาก่อนประมาณ 10 กว่าปี เมื่อทำงานไปถึงจุด ๆ หนึ่งในชีวิต จึงรู้สึกเบื่อหน่ายและพบว่าจริง ๆ แล้วชีวิตควรมีอะไรมากกว่าการทำงานไปวัน ๆ เพียงอย่างเดียว จึงหยุดทำธุรกิจอยู่ 1 ปี เพื่อให้เวลาในการทบทวนตนเอง พอดีในช่วงเวลาดังกล่าว อ.สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ ตั้งศูนย์สิกขาลัยและกำลังหาผู้จัดการศูนย์สิกขาลัย จึงได้เข้าไปร่วมและจากการที่ได้รับฟังบรรยายจากวิทยากร จึงเปลี่ยนแนวคิดมาสู่การทำธุรกิจทางเลือกที่เกื้อกูลประโยชน์ต่อสังคม และสนองตอบความต้องการภายในของจิตใจตนเอง จึงมาพบว่าการทำร้านหนังสือและ สำนักพิมพ์น่าจะเป็นไปได้ จึงเริ่มต้นตั้งแต่นั้นมา

พ.ศ. 2510 ศึกษิตสยาม จึงเกิดขึ้น นับถึงวันนี้ก็เข้าสู่ปีที่ 36 ชื่อนี้แฝงไว้ด้วยความหมายที่ว่า ผู้เรียนรู้ ผู้รู้ ผู้คงแก่เรียน หรือ Educated อันหมายถึง ปัญญาชนสยาม เมื่อถามถึงมูลเหตุในการตั้งร้านหนังสือก็พบว่า เหตุผลหลักคืออยากให้ผู้อ่านได้มีแหล่งพบปะสังสรรค์ เสวนาทางความคิด เมื่อแรกตั้งในปี พ.ศ. 2510 ก็ได้มีการจัดกิจกรรมเสวนาทางความคิด และการอ่าน ส่วนหนังสือที่นำมาวางจำหน่ายก็ไม่ได้มีเฉพาะหนังสือทั่วไป แต่มีการผลิตหนังสือขึ้นมาเองด้วย ทำให้ในช่วงนั้น มีหนังสือในร้านไม่มากนัก แต่เป็นหนังสือที่ได้คัดเลือกมาแล้วมาเป็นหนังสือที่ดี มีคุณภาพ ผู้แต่งตั้งใจแต่ง เช่น ผลงานของ น. ณ ปากน้ำ ตลอดจนการจัดให้มีกิจกรรมพูดคุย มีนิทรรศการ เช่น นิทรรศการของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, พระยาอนุมานราชธน, ม.จ. สิทธิพร จิตดากร เป็นต้น เพราะฉะนั้นทางร้านจึงมีที่มาที่ไปตลอดประวัติของประชาชนสยามและในช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ร้านนี้ก็ได้เป็นที่รวมความคิดความอ่านของผู้คนที่สนใจในแวดวงการบ้านการเมือง เห็นปัญหาของความไม่เป็นประชาธิปไตยของการเมืองไทยในขณะนั้น ซึ่งเป็นเผด็จการค่อนข้างมาก ทำให้ร้านกลายเป็นที่พบปะของคนและตอนที่มีการแจกใบปลิว ของกลุ่มที่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตย ร้านนี้ก็เป็นที่รวมของการเคลื่อนไหว ร้านนี้จึงมีบทบาทมาโดยตลอด แต่มาในช่วงหลังทางร้านเกิดปัญหาทางด้านการเงิน และความเสียหายจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ยังผลให้ร้านต้องปิดตัวเองลงระยะหนึ่ง ก่อนที่จะเปิดตัวขึ้นมาใหม่ แต่ก็ถูกทางจุฬาไล่ที่เพื่อสร้างจุฬาคอมเพล็กซ์ ร้านจึงหาที่ตั้งใหม่ ก็ได้มาอยู่ที่ถนนเฟื่องนคร ซึ่งอยู่มาได้เกือบจะครบรอบ 12 ปีแล้ว และในช่วงหลังนี้ อ.สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ และภรรยา ก็มีเวลาให้ทางร้านน้อยลง เพราะต้องทำงานให้ทางด้านสังคมมากขึ้น

ร้านหนังสือกับการตั้งสำนักพิมพ์ ด้วยความรักในงานหนังสือและสร้างหน้าต่างในการได้พบปะลูกค้าได้มากขึ้น คุณวัลลภา จึงได้ตั้งสำนักพิมพ์ขึ้นเมื่อ 2 ปี ที่แล้วนี้เอง ภายใต้ชื่อ บริษัท เสริมมีมา จำกัด ซึ่งเธอคิดว่านี้คือกิจกรรมหนึ่งที่จะส่งเสริมการมีงานทำ การสร้างโอกาสในการพบปะลูกค้ามากขึ้น เพราะว่าการทำหนังสือเป็นเรื่องของความคิดอ่าน และไม่ได้ทำเงียบ ๆ เพื่อเป็นหนังสือถึงแนวความรู้สึกอย่างเดียว แต่เป็นหนังสือที่จะสื่อออกไปถึงความเป็นมรดกสังคม

มกราคม 2545 คุณวัลลภา จึงได้เริ่มต้นการปรับปรุงร้านขึ้นมาใหม่ โดยได้ไปขอรับคำปรึกษาจาก อ.สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ อาจารย์ก็เห็นดีด้วย จึงได้เริ่มปรับปรุงนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ณ วันนี้ ก็ครบ 1 ปี แล้ว และเธอก็อยากเริ่มต้นกิจกรรมเสวนาอีก เหมือนกับเมื่อแรกตั้งในอดีต แต่คำถามของสังคมจะเริ่มเปลี่ยนไป เด็กในรุ่นหลังนี้อาจมีประเด็นในรุ่นของเขา ซึ่งเราจะต้องพยายามดูว่าความชอบของคนในรุ่นนี้ กับบริบทสังคม มีประเด็นอะไรที่พูดได้บ้าง วันนี้จึงทำให้ร้านเธอดูแตกต่างจากร้านหนังสือทั่วไป เพราะได้มีการนำเอาหลายสิ่งมาไว้ในร้านหนังสือ เช่น เสื้อ ผ้า ของพื้นเมือง ของใช้ที่จำเป็น โดยจำลองแนวคิดมาจากร้านในยุโรปและญี่ปุ่น ที่เมื่อเข้าไปจะมีลักษณะดังกล่าว ทำให้ลูกค้าเกิดความอบอุ่น เหมือนเป็นบ้านหลังหนึ่งที่สามารถหาซื้อสิ่งของที่จำเป็นในชีวิตได้ โดยปัจจุบันมี คุณมิ เป็นผู้จัดการร้าน

ในความแตกต่างของนโยบายในการบริหารร้านระหว่างยุคที่ก่อตั้งกับยุคปัจจุบัน นั้น คุณวัลลภา เธอบอกว่า "ก็มีประเด็นเนื้อหาของสังคมที่เปลี่ยนไปเพราะยุคนั้นเป็นยุคเผด็จการ แต่ว่ายุคนี้เป็นยุคโลกาภิวัฒน์ ภายใต้กระแสบริโภคนิยม เราจึงอยากให้คนเริ่มหันมามองวิถีชีวิตที่เรียบง่าย เราอยากตั้งคำถามเกี่ยวกับกระแสโลกาภิวัฒน์ ที่ขับเคลื่อนโดยทุนนิยม ซึ่งคนส่วนใหญ่ในยุคนี้มักไม่ค่อยให้ความสนใจในประเด็นของความคิดอ่าน ส่วนประเด็นด้านเนื้อหาในร้านหนังสือของยุคก่อนกับยุคนี้ ก็ย่อมแตกต่างกันไป ดังจะเห็นได้ว่าในยุคนั้น อ.สุลักษณ์ มีแนวคิดที่จะทำให้ร้านหนังสือมีหนังสือไม่ต้องเยอะ โดยเลือกสรรเฉพาะหนังสือที่มีคุณภาพและไม่มีที่อื่น แต่เรากลับรู้สึกว่าต้องหาหนังสือเข้ามาในร้านให้มาก ๆ เพื่อลูกค้าจะได้เกิดความรู้สึกว่ามีหนังสือให้เลือกหลากหลาย และในปัจจุบันทางร้านเองก็ยังคงคัดเลือกหนังสือที่เป็นทางเลือกอยู่ แต่จะเน้นหนักในทางสังคม ศาสนา ปรัชญา เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นกระแสหลัก ส่วนหนังสือที่เป็นวัยรุ่นมาก ๆ จะไม่มีเพราะทางร้านไม่มีพื้นที่ให้วางหนังสือมากนัก

จุดยืนในการทำร้าน คือ ทางร้านจะไม่ตามกระแสตลาด แม้จะช่วยให้ยอดขายเพิ่มขึ้น แต่ยังคงยืนอยู่ในหนังสือแนวกระแสหลัก คือ แนวประวัติศาสตร์, เศรษฐกิจ, การเมือง, สังคม, วรรณกรรม ซึ่งในระยะยาวแล้วคุณวัลลภา เชื่อว่าน่าจะอยู่ได้ แต่ต้องให้เวลา และต้องทำตัวเองให้เป็นผู้รู้ในเรื่องนั้น ๆ อย่างแท้จริง เช่น ถ้าเราบอกว่าร้านเราเด่นทางด้านประวัติศาสตร์ เราก็ควรมีประวัติศาสตร์ ให้ครบ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ยุโรป อเมริกา จีน ตลอดจนของประเทศเพื่อนบ้าน ชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งเราต้องทำตัวเองให้เฉพาะทางได้จริงแล้ว ร้านเราจะกลายเป็นห้องสมุดเป็นขุมทรัพย์ คือ เป็นที่รวมองค์ความรู้ที่จะให้ทุกคนเข้ามาศึกษาค้นคว้า ได้

ศึกษิตสยาม

การส่งเสริมการขาย เมื่อเราถามคุณวัลลภาว่า เมื่อทางร้านขายหนังสือในแนวทางเลือก (สังคม ศาสนา ปรัชญา) แล้วมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างไร? เธอบอกว่าการจัดกิจกรรม เช่น เวทีเสวนา ก็จะช่วยเพิ่มจำนวนสมาชิกและยอดขายขึ้นได้ในระดับที่น่าพอใจ โดยในการจัดกิจกรรมก็จะเลือกประเด็นที่เป็นที่น่าสนใจของสังคม ในขณะนั้น และเชื่อมโยงกับหนังสือที่เรามีอยู่ ซึ่งจะเป็นการสร้างประโยชน์ให้กับสังคมด้วย โดยไม่ได้มุ่งเน้นด้านกำไรแต่เพียงอย่างเดียว ถ้าเราใจเย็น สักวันหนึ่ง ผู้คนจะเห็นความแตกต่างของร้าน จากร้านหนังสือทั่วไป และเราก็จะกล่าวสู่การเป็นที่ยอมรับและนิยมของลูกค้าได้ ส่วนการประชาสัมพันธ์นั้น ก็จะใช้กิจกรรมเหล่านี้เป็นสื่อ โดยการส่งข่าวประชาสัมพันธ์ทางหนังสือพิมพ์ และส่ง E-mail แจ้งข่าวให้สมาชิกของร้านซึ่งมีอยู่ประมาณ 200-300 คน ทราบ ซึ่งเราก็จะต้องมีการจัดการระบบฐานข้อมูลสมาชิกให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการให้สิทธิพิเศษต่าง ๆ แก่สมาชิกด้วย

ข้อคิดสำหรับคนที่อยากเปิดร้านหนังสือ สิ่งแรกที่ต้องมี คือ หลักอิทธิบาท 4 โดยเฉพาะ ฉันทะ คือ ความพอใจและใส่ใจในร้าน มีความรักในการทำร้านหนังสือ จากนั้นจะต้องหาเอกลักษณ์และแนวคิดของร้านให้เด่นชัด ต่อมาก็คือสถานที่ ในส่วนนี้คนที่ไม่มีภาระด้านค่าเช่าสถานที่ เช่น มีบ้านของตนเอง หรือสถานที่เอง จะช่วยได้มาก และมีทุนพอที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายดำเนินงานเบื้องต้น ก็สามารถดำเนินการได้แล้ว แต่ก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งในระยะแรกอาจมีปัญหาและความยากลำบาก พอสมควร ในการจัดการระบบสต๊อก ที่สำคัญผู้บริหารและพนักงานในร้านควรมีความรอบรู้เกี่ยวกับหนังสือและรักงานบริการ ตั้งใจให้บริการกับลูกค้า สร้างความประทับใจ ให้ ลูกค้า และเมื่อลูกค้าเกิดความประทับใจ ก็จะมาอุดหนุนเราอีก และให้มีแนวคิดที่ว่า "เราไม่ได้มุ่งทำเพื่อธุรกิจอย่างเดียว แต่มุ่งเน้นส่งเสริมให้คนไทยอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้น"

ฝากไว้เป็นแนวทางและข้อคิดสำหรับผู้ที่อยากจะเริ่มต้นร้านหนังสือเล็ก ๆ ในฝันของตนเองโดยมิได้มุ่งหวังผลกำไรแต่เพียงอย่างเดียว แต่ประกอบขึ้นด้วยใจรัก…

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ