เมื่อ 'หมอ' กลายเป็น 'ฆาตกร' : เรื่องจริงที่ถูกตราหน้า คว้ารางวัลชมนาด

เมื่อ 'หมอ' กลายเป็น 'ฆาตกร'

เขาตราหน้าว่าหมอฆ่าคน ผลงานของ อู๋ฮุ่ยเซียง หรือ พญ.สุดานี บูรณเบญจเสถียร ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนังสือรางวัลดีเด่น โครงการชมนาดครั้งที่ 4 (The Best of Non-Fiction) ผลงานสารคดีที่ถ่ายทอดจากชีวิตจริงของแพทย์หญิงที่เคยถูกสังคมตราหน้าว่าเป็น “ฆาตกร” เธอถูกฟ้องร้องคดีอาญา โดยถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จนทำให้คนไข้ถึงแก่ความตาย แพทย์หญิงท่านนี้ทำหน้าที่แพทย์เพื่อมวลชนต่อไปภายใต้ความกดดันจากคดีดังกล่าวที่บั่นทอนกำลังใจของเธอ และต้องทนกับความเจ็บช้ำจากการที่ผู้ป่วยและเพื่อนร่วมงาน “ไม่ไว้ใจ” ในการทำหน้าที่ของเธอ

วันนี้ได้มีโอกาสพูดคุณกับคุณหมอสุดานี บูรณเบญจเสถียร หรือคุณหมอเซียง ที่มาบอกเล่าเรื่องราวในหนังสือ ซึ่งถ่ายทอดออกมาจากไดอารี่ของเธอ อย่างหมดเปลือก

 

เขาตราหน้าว่าหมอฆ่าคน


ที่มาของนามปากกา “อู๋ฮุ่ยเซียง”
“ อู๋ฮุ่ยเซียง ” เป็นชื่อจีนที่คุณพ่อตั้งให้ค่ะ “อู๋” ก็คือนามสกุล ถ้าเทียบกับจีนแต้จิ๋วก็คือ “แซ่โง้ว” “ฮุ่ย” จะเป็นคำกลาง แปลว่า “เสียสละทำเพื่อปวงชน” ส่วน “เซียง” เป็นชื่อแม่น้ำสายกลาง ๆ ที่ไหลผ่านที่หมู่บ้านค่ะ ก็เลยคิดว่าชื่อนี้เป็นชื่อที่ดีและเป็นชื่อที่พ่อตั้งให้ ก็เลยใช้ชื่อนี้เป็นนามปากกา

อยากทราบว่าคุณหมอสนใจในเรื่องของงานเขียนได้อย่างไรคะ
คือโดยปกติแล้ว ส่วนตัวเป็นแพทย์ไม่เคยเขียนงานเขียนมาก่อนเลยนะคะ แต่สาเหตุที่ให้มาเขียนงานเขียนเล่มนี้มันเป็นเพราะว่า น้องสาว พยายามจะเชียร์ว่าประสบการณ์ที่ผ่านมาของเรามีความลำบากเหลือเกิน ก็เลยบอกเราว่าลองถอดประสบการณ์เหล่านั้นให้สาธารณะชนได้รู้ไหม ก็เลยได้ถอดบทเรียนจากไดอารี่ตอนระหว่างที่ถูกฟ้องร้องมาเขียนเป็นหนังสือ

แล้วอะไรที่ทำให้คุณหมอเลือกที่จะส่งผลงานกับโครงการชมนาดในครั้งนี้คะ
ตอนแรก ๆ ตอนที่ก่อนจะเอางานเขียนออกมาเราก็ลังเลใจอยู่เหมือนกันว่าเราจะเอาสิ่งที่เราเขียนออกไปสู่สาธารณะชนนี้ได้อย่างไร ความจริงก็เคยถาม ๆ สำนักพิมพ์หลาย ๆ ที่อยู่เหมือนกันนะคะ แต่เพราะช่วงนั้นตัวเราเองยังไม่เคยเขียนหนังสือมาก่อนเพราะฉะนั้นภาษาสำนวนเราอาจจะยังไม่ดีพอ น้องสาวเราก็เลยบอกลองหาส่งเข้าประกวดดีไหม เราก็เลยไปหาดูข้อมูลการประกวดรางวัลต่าง ๆ ก็ได้เห็นการประกวดของ”รางวัลชมนาด” ก็คิดว่ามันน่าจะตรงกับเรื่องของเรา ก็คือรางวัลชมนาดคือรางวัลสำหรับผู้หญิง เราก็เป็นผู้หญิงเหมือนกันแล้วก็เป็น non-fiction คือเรื่องจริงแล้วก็ให้แต่งให้คนสนใจเชิง นวนิยายก็คิดว่าของเราน่าจะตรงก็เลยส่งเข้าประกวด

เท่าที่ได้เปิดอ่านดูในเล่มนะคะ คุณหมอพบเจอเหตุการณ์และอุปสรรคต่าง ๆ มาเยอะมาก คุณหมอคิดว่าเหตุการณ์เหล่านี้ได้สอนอะไร หรือว่ามันเปลี่ยนทัศนคติในตัวคุณหมออย่างไรบ้างคะ
คือในเรื่องของ “เขาตราหน้าว่าหมอฆ่าคน” นี้นะคะ สิ่งที่ได้จากประสบการณ์ของการเขียนเรื่องนี้ก็คือได้เยียวยาจิตใจของตัวเองค่ะ ว่าเหตุการณ์ร้ายๆ มันก็ทำให้เราได้รับผลกระทบต่าง ๆ ในการเขียนมันก็ได้ทำให้เราได้ดูว่าในอดีตของเราที่ผ่านมาอะไรที่ทำให้เราได้หลุดจากตรงนั้นมาได้ และอะไรคือสิ่งที่ทำให้เรายึดเหนี่ยวก็ได้ประสบการณ์จากตรงมาก็คือถ้าหากเราคิดว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันคือสิ่งที่ดี แม้ว่าจะเจออุปสรรคอะไรถ้าเรายึดมันในความดีนั้นเราก็จงทำต่อไปและสุดท้ายสิ่งที่ดีๆก็จะตอบตัวเราเอง คืออาจจะไม่ได้ตอบในเชิงชื่อเสียง เกียรติยศ เงินทอง แต่สิ่งที่ตอบแทนคือความสุขใจและนี่ก็คือสิ่งที่ได้

จากเท่าที่คุณหมอได้บอกมานะคะ ว่าพบเจอกับเหตุการณ์ต่างๆมา อะไรคือคือกำลังใจที่ดีที่สุด ที่ทำให้คุณหมอกลับมายึดมั่นในการทำหน้าที่ต่อไปจนถึงปัจจุบัน
อันดับแรกคือเรื่อง “ลูก” คือในฐานะของการเป็นแม่เราอยากจะเป็นไอดอลที่ดี น่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับลูกเพราะฉะนั้นตัวเราเองก็อยากจะมุ่งมั่นในการทำความดีเพื่อให้เขาได้ดูเราเป็นประสบการณ์ วันหน้าถ้าหากว่าลูกเราเจอเหตุการณ์ร้าย ๆ หรือเจออุปสรรคอะไรเขาก็จะได้รู้ว่าแม่ก็เคยเจออุปสรรคมาแบบนี้นะแล้วลูกก็จะสามารถรู้ได้ว่าเราจะต้องต่อสู้อย่างไร ต้องตั้งสติรับอย่างไร อันดับที่สองคือหมอได้กำลังใจจากคนรอบข้างค่ะ ได้เจอคำว่า “มิตรแท้” จะบอกกับใครทุกคนเลยว่า การเจอมิตรแท้คือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตเราแล้ว ก็คือเหตุการณ์นี้ก็ทำให้ได้เจอเพื่อนและรับรู้ได้เลยว่าใครรักเราจริง เช่น บุ๋ม หมอเอกจิตรา หมอวราลักษณ์ ที่รักเราจริงก็ช่วยเราขึ้นมา แล้วก็ได้เจอท่านอาจารย์ที่ดี เจอไอดอลหลาย ๆ ท่าน ที่สอนเราว่า “เราจงยึดมั่นที่จะดำเนินตามรอยของสมเด็จพระราชบิดาค่ะ”

อยากทราบว่าคุณหมอเจออุปสรรคอะไรบ้างในการเขียนหนังสือเล่มนี้ แล้วคุณหมอคิดว่าหนังสือเล่มนี้บอกอะไรกับสังคมบ้างคะ
เอาเรื่องของอุปสรรคก่อนนะคะ อันแรกก็คือเรื่องของงานเนื่องจากว่าตัวเองเป็นหมอชนบท หมอชนบทต้องทำหลายอย่างค่ะ ต้องทำงานบริหารด้วย งานบริการด้วยทุกอย่างเลยมาลงอยู่ที่หมอคนเดียวเลยเพราะฉะนั้นหนึ่งเรื่องของการแบ่งเวลานี่จะลำบากมาก และสองเลยเราก็ต้องดูแลลูกด้วยเป็นทั้งพ่อ ทั้งแม่ด้วย เวลานี่เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นอุปสรรคและนั่นก็คือเรื่องความกลัว กลัวว่าเรื่องที่เราจะสื่อออกไปจะเกิดกระแสสังคมทางด้านลบค่ะ แต่สาเหตุที่ก้าวข้ามอุปสรรคมาได้เนื่องจากได้กำลังใจจากลูกชายค่ะ “น้องปริณ” แล้วก็ ลูกสาวค่ะ ตอนที่ตัดสินใจตอนแรกเลยว่าแน่นอนละเขียนออกมาถอดออกมาละส่งเข้าประกวดเถอะ ก็ไปถามลูกชายก่อน ขออนุญาตลูกชายก่อน ว่า “ปริณ ม่าม๊า จะถอดหนังสือเรื่องนี้เป็นประสบการณ์ของเราลูกจะว่ายังไง ลูกชายก็บอกกลับมาว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่ของเรานะม่าม๊าเป็นของ “ปวงชน” ค่ะ ส่วนลูกสาวก็บอกว่าหนูอยากจะให้ม่าม๊าถอดประสบการณ์เรื่องนี้นะเพื่อ “เป็นกำลังใจให้สำหรับคนที่ทำดีให้ทำดีต่อไป” เราก็เลยคิดว่าอุปสรรคใดๆ ก็ไม่สามารถขวางกั้นเราล่ะก็เลยเขียนมาเลยดีกว่า

นอกจากหนังสือเล่มนี้แล้ว คุณหมอคิดว่าจะมีผลงานอื่น ๆ ตามมาอีกไหมคะ
มีคนเรียกร้องมามากเลยค่ะ มีสิ่งหนึ่งที่เป็นสิ่งที่น่าสนใจที่ใคร ๆ เขาก็ถามกันว่าทั้ง ๆ ที่เราเจอเรื่องราวที่เลวร้ายที่สุดในสถาบันของครอบครัวคือแม่ก็โดนฟ้องร้อง ต้องไปขึ้นโรงขึ้นศาล ต้องทำงานด้วย ต้องเป็นทั้งแม่ทั้งพ่อด้วย เกิดอะไรขึ้นที่เด็กสองคนนี้สามารถที่จะลุกขึ้นมาสู้ได้ด้วยศักยภาพของตนเองที่ลุกขึ้นมาสู้ได้ ช่วงนั้นคือความจริงก็มีปัญหาเหมือนกันคือเด็กก็ต้องปรับตัว คุณแม่ก็ต้องปรับตัว ปัญหาแรก ส่วนปัญหาที่สองก็คือเขาก็เป็นเด็กวัยรุ่นเหมือนกันเพราะฉะนั้นเราจะมีปัญหาในเรื่องของการสื่อสาร ก็คือคุณแม่ที่มีปัญหากับเด็กวัยรุ่นมันก็เกิดการคอนแทคกัน ทุกคนก็เลยว่าเอ๊ะ เกิดอะไรขึ้นทั้ง ๆ ที่มีปัญหา คุณแม่กับคุณลูกก็ยังสามารถก้าวพ้นมาได้ด้วยดี เราก็เลยคิดว่าเราจะลองถอดบทเรียนเรื่องนี้สิ ก็มีคนถามหลายคนว่าถอดบทเรียนเรื่องนี้เถอะ ก็เลยคิดว่าผลงานต่อไปอาจจะเขียนเป็นชื่อแบบฮาร์ดคอร์ คล้าย ๆ กันค่ะ ว่า “หญิงหม้ายรัก กับเด็กบ้านแตก”

อยากให้คุณหมอฝากอะไรถึงนักเขียนสตรีไทยทั่วประเทศเกี่ยวกับโครงการชมนาดหน่อยค่ะ
เราคิดว่า ผู้หญิงเรามีศักยภาพและมีสิ่งวัตถุดิบหลาย ๆ อย่าง มีความคิดที่ดี ๆ เยอะแยะ เราเอาความเป็นแม่และเอาความละเอียดอ่อน ความแข็งแกร่งของเรา ถอดมาเป็นบทเรียนแล้วก็เพื่อประสบการณ์เหล่านี้จะทำให้ผู้หญิงหลาย ๆ คน ไม่ใช่แค่เฉพาะผู้หญิง ทั้งผู้ชายและผู้หญิงสามารถที่จะเรียนรู้กันและกันแล้วก็อาจจะเป็นกำลังใจให้กันและกันถ้าหากว่าเจอปัญหาหรือว่าอุปสรรคแล้วก็จะได้แง่คิดดี ๆ เยอะมากเลยค่ะ ก็ขอสนับสนุนแล้วก็หนุนเชียร์ผู้หญิงไทยนะคะให้ส่งผลงานเข้ามากันเยอะ ๆ แล้วเราจะได้ทำดีด้วยกันค่ะ

สุดท้ายนี้นะคะ ขอถามในฐานะตัวแทนของนักอ่านทุกๆท่าน อยากให้คุณหมอฝากอะไรถึง หนังสือเรื่อง “เขาตราหน้าว่าหมอฆ่าคน”
อย่างที่บอกความจริงหนังสือเล่มนี้ ไม่ใช่หนังสือของหมอค่ะ แต่เป็นหนังสือสำหรับคนทั่ว ๆ ไป มันจะเป็นการโยนคำถามให้กับประชานชนค่ะ เนื่องจากว่าตอนนี้สัมพันธภาพระหว่างแพทย์กับคนไข้เป็นในเชิงแห้งแล้ง เราต้องการอะไรกันแน่ เรากลับมาคืนดีกันไหม หรือว่าอาจจะเป็นการโยนคำถามให้กับสังคมว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ที่มันไม่เข้าอกเข้าใจกันไม่ใช่แค่เฉพาะวงการแพทย์กับคนไข้นะคะแต่ทุกวงการเลยเราลองมาคุยกันดี ๆ ได้ไหม หนังสือเล่มนี้ก็จะเป็นหนึ่งคำตอบค่ะ หนึ่งวิธีการที่ทำให้ทุกคนกลับมาคิดเลยว่าต่างฝ่ายต่างทุกข์ด้วยกันแล ถ้าหากว่าเราถอดตัวตนของเราแล้วเอาปัญหานั้นมาเป็นที่ตั้งแล้วก็เห็นอกเห็นใจกัน ซื่อสัตย์ต่อกันแล้วปัญหาเรื่องนี้จะจบลงด้วยดีไม่ต้องถึงโรงถึงศาลค่ะ

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ