จุฬามณี : สวนศิลป์แห่งท้องทุ่งของ

จุฬามณี

ละครที่ทำเอาคนดูลุ้นตลอดเวลาอย่างเรื่อง‘ชิงชัง’และ ‘สุดแค้นแสนรัก’ เป็นฝีมือการประพันธ์ของจุฬามณี, ผู้มีนามจริงว่า‘นิพนธ์ เที่ยงธรรม’ชายหนุ่มจากจังหวัดนครสวรรค์ที่บอกเล่าเรื่องราวถิ่นฐานบ้านเกิดตัวเองใน นิยายแนวย้อนยุคที่สยบนักอ่านให้อยู่หมัดมาแล้วกว่า 25 เรื่อง จาก 3 นามปากกา ‘จุฬามณี’ เฟื่องนคร’ และ ‘ชอนตะวัน’

มาทำความรู้จักกับนักเขียนหนุ่มที่ฝีมือจัดจ้านน่าจับตามองคนนี้ให้มากขึ้นกันดีกว่า...

 

 

All : เข้าสู่วงการวรรณกรรมตั้งแต่เมื่อไหร่
จุฬามณี
: หลังจากเรียนจบสาขาสื่อสารมวลชน จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็ไปบวช กะว่าสึกออกมาแล้วจะไปทำงานเหมือนคนทั่วไป ระหว่างบวชได้อ่านนิยายพุทธศาสนา ก็เลยลองเขียนเรื่อง ‘ทุ่งเสน่หา’แต่ตอนนั้นยังใช้ชื่อว่า ‘แจกันดอกหญ้า’ อยู่ พอเขียนจบ ก็บอกกับตัวเองว่าเราทำได้ วันหนึ่งเกิดความคิดที่ว่า ถ้าคนที่เขาบวชอยู่ แต่จำเป็นต้องสึกออกมา ทั้ง ๆ ที่ไม่อยากสึก เขาจะรู้สึกอย่างไร เลยเขียนเรื่อง‘ตะเกียงกลางพายุ’ ขึ้นมา อ่านแล้วอาจจะเข้าใจยาก พอจบเรื่องนี้ ก็มาเขียนเรื่อง ‘ชิงชัง’ และส่งเข้าประกวดรางวัลทมยันตีอะวอร์ดครั้งที่ 1 ผลก็คือ ‘ชิงชัง’ เป็น 1 ใน 20 เรื่องสุดท้ายของรางวัลนี้

All : การที่ได้รับรางวัลทมยันตีอะวอร์ด ถือเป็นก้าวแรกที่ทำให้เป็นที่ยอมรับด้วยหรือเปล่า
จุฬามณี
: ก็น่าจะใช่ครับ ได้พิมพ์รวมเล่ม พอหนังสือวางแผง ทางเอ็กแซ็กท์ ก็มาติดต่อขอไปทำเป็นละคร ตอนแรกเขียนเพราะอยากเขียน ไม่ได้คิดจะแข่งขันกับใคร รางวัลทมยันตีอะวอร์ดมีกติกาว่า งานทุกอย่างต้องสดใหม่ ไม่เคยตีพิมพ์ที่ไหนมาก่อน ซึ่งคุณทมยันตีเอง ก็ไม่ได้วิจารณ์อะไร เพราะทุกคนใหม่เหมือนกันหมด ตัดสินที่ต้นฉบับจากมือเราไปสู่มือบรรณาธิการ เราเองก็ไม่เคยให้ใครอ่านมาก่อน อาจมีคำผิดอยู่บ้าง แต่ก็ถือได้ว่าเป็นก้าวแรกที่เข้าสู่วงการวรรณกรรมครับ

All : ทราบมาว่าเขียนเรื่องสั้นในขายหัวเราะด้วย เหตุผลที่หันมาเขียนนิยายคืออะไร
จุฬามณี
: ตอนที่ยังไม่ได้บวช ซื้อขายหัวเราะอ่านเป็นประจำ เขาเปิดให้คนอ่านเขียนเรื่องสั้นส่งไป ถ้าได้ลงตีพิมพ์จะได้เงิน 1,500 บาท ก็อยากลองดูว่า จะชนะใจบรรณาธิการได้ไหม ถือเป็นความท้าทาย ปรากฏว่าได้ลง พอเรื่องสั้นได้ลงในขายหัวเราะ 2 เรื่อง รู้สึกว่าทำได้ ก็มาอ่านขวัญเรือน ผมคิดว่าต้องเอาชนะขวัญเรือนให้ได้ ก็ได้ลงอีก ต่อมาอ่านสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ เขาก็มีประกวดเรื่องสั้นเหมือนกัน เลยลองส่งไปแข่งบ้าง กว่าจะได้ลงยากมาก เพราะเรื่องสั้นของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ต้องล้ำลึกพอสมควร แต่ก็ยังได้ลงนะครับ ถือว่าเราชนะขวัญเรือนแล้ว ชนะสยามรัฐฯ แล้ว หลังจากนั้นก็มาเขียนนวนิยาย และไม่เคยกลับไปเขียนเรื่องสั้นอีกเลย (หัวเราะ)

All : กว่าจะเป็น ‘จุฬามณี’ ในวันนี้ได้แรงบันดาลใจจากการอ่านหนังสือของใครบ้าง
จุฬามณี
: ตอนเขียนเรื่อง ‘ตะเกียงกลางพายุ’ ผมอยากลองผูกเรื่องยาว ๆ เหมือนที่เราอ่านงานของทมยันตี ส่วนตอนเขียนเรื่อง ‘ทุ่งเสน่หา’ ผมนั่งรถไปจังหวัดอ่างทอง มองสองข้างทางเห็นทุ่งนาสวย ตัวผมเคยทำไร่ทำนามาก่อน ช่วงนั้น ผมกำลังอ่านนิยายเรื่อง ‘ใยเสน่หา’ของทมยันตีในขวัญเรือนอยู่พอดี (หัวเราะ) แล้วชื่อนี้ก็เกิดขึ้นมาในหัว ผมชอบสำนวนของทมยันตี เขาใช้ภาษาน้อย ความหมายเยอะ ชอบงานเขียนของโบตั๋น เขาลงรายละเอียดและให้ความรู้เยอะมาก เช่น แนวคิดการใช้ชีวิต การสร้างเนื้อสร้างตัว งานของผมจะมีกลิ่นอายแบบนี้อยู่ ก่อนที่ผมจะเขียนเรื่อง ‘ชิงชัง’ ผมอ่านเรื่อง ‘สี่แผ่นดิน’ กับเรื่อง ‘แผลเก่า’ ของ ไม้ เมืองเดิม ตอน อ่านเรื่องสี่แผ่นดินรู้สึกว่าแม่พลอยงามมาก อ่านแล้วรู้สึกเลยว่า แม่พลอยอยู่กับเราตั้งเกิดจนตาย ผมยกให้สี่แผ่นดินเป็นวรรณกรรมในดวงใจเลยครับ ส่วนที่เขียนชิงชังเป็นแนวลูกทุ่ง เพราะผมไปอ่านแผลเก่า เลยเอาอิทธิพลจากทั้ง 2 เรื่องมาเขียนเป็นชิงชัง ที่ค่อนข้างน้ำเน่า ดราม่า และเดาทางไม่ได้

All : ทราบว่าชอบดูละครมาก ๆ มีผลต่อการเขียนนิยายแต่ละเล่มด้วยหรือเปล่า
จุฬามณี
: ผมไม่ได้ดูละครแค่อย่างเดียว ผมดูลิเก ฟังละครวิทยุ อ่านนิยาย การเสพสิ่งเหล่านี้ ทำให้เกิดจินตนาการ ผมเอาเรื่องลิเกมาเขียนในเรื่องทุ่งเสน่หา คนยุคก่อน ต้องดูลิเก ดูประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง ตอนเด็ก ๆ ผมทันได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้ เพราะเป็นเด็กบ้านนอก (ยิ้ม) เลยหยิบสิ่งเหล่านี้มาเขียนในเรื่องทุ่งเสน่หา ที่ตอนนี้ ทางช่อง 3 ซื้อไปสร้างละครแล้ว เวลาผมทำงานชิ้นหนึ่ง จะถามตัวเองเสมอว่าทำอะไรไปบ้างแล้ว เราไม่ต้องไปแข่งกับใคร ให้แข่งกับตัวเอง เอา งานของตัวเองมาวางก่อนเลยว่าเคยทำอะไรไปบ้างแล้ว อย่าให้ซ้ำทางของตัวเอง เรื่องนี้ได้มาจากคุณทมยันตี ผมเขียนงานตั้งแต่อายุ 22 ปี มีวิถีชีวิตที่อยู่กับคนสูงอายุ มักมีเสียงคนแก่อยู่ในบ้าน ผมชินที่มีคนแก่อยู่ในชีวิต เลยชอบเขียนเรื่องคนแก่ ทำให้งานเขียนของเราโตไปโดยปริยาย และมีวิถีชีวิตของคนชนบท เช่น การลงแขกเกี่ยวข้าว การเลี้ยงควาย การปลูกข้าวโพด เพราะทางบ้านทำไร่ทำนาอยู่แล้ว

 

นัดพบนักเขียน : วิภาวรรณ ประไวย์
ภาพ : ลักยิ้ม All magazine เดือนกรกฎาคม 2558

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ