‘ศรีดาวเรือง’ นักเขียนกรรมกร : เศรษฐีจึงเห็นคุณค่า ว่าแรงงานนั้นหนา มีค่ามากกว่าเงิน

‘ศรีดาวเรือง’ นักเขียนกรรมกร

แรงบันดาลใจจากการอ่านเรื่องสั้นของ‘ศรีบูรพา’ สู่บทเพลง ‘ขอแรงหน่อยเถอะ’ ทำให้กรรมากรหญิงคนหนึ่งมองเห็นคุณค่าที่ซ่อนอยู่ในตัวตนคนขายแรง เธอจึงสร้างสรรค์วรรณกรรมเพื่อชีวิตออกสู่สายตาผู้อ่านผ่านปลายปากกา‘ศรีดาวเรือง’ หรือ ‘วรรณา สวัสดิ์ศรี’ นักเขียนที่จบการศึกษาเพียงชั้น ป. 4 ก็ต้องหันหลังให้ระบบโรงเรียน มุ่งหน้ามาขายแรงงานในเมืองหลวง

เสียงหวูดรถไฟดังเป็นระยะอยู่ตลอดเวลาของการสนทนากับนักเขียนรางวัล ‘ศรีบูรพา’ คนล่าสุดผู้ฝากผลงานอันทรงคุณค่าแก่แผ่นดิน อาทิ‘แก้วหยดเดียว’ เรื่องสั้นเรื่องแรกของ ‘ศรีดาวเรือง’ สะท้อนชีวิตสาวโรงงานแก้ว และฉายานักแปล ป.4 ที่มาจาก ‘พรแสวง’ ความใฝ่เรียนรู้ จดจำ ช่างสังเกต และงานเขียนอันเก็บเกี่ยวเรื่องราวของชีวิตมาร้อยเรียงเป็นตัวอักษร ผ่านตัวละครหลากหลายรูปแบบ ตำนานชีวิตคนขายแรงงาน สู่นักเขียนมือรางวัล ยังคงถูกกล่าวขานในแวดวงวรรณกรรมเพื่อเป็นแบบอย่างในการศึกษาตัวตน และยังพาผู้อ่านไปสัมผัสกับความงดงามของชีวิตในหลากหลายมุมมอง

 

ศรีดาวเรือง

 

All : ช่วยเล่าความหลังกว่าจะเป็น ‘ศรีดาวเรือง’ เหมือนเช่นทุกวันนี้ ผ่านประสบการณ์อะไรมาบ้าง
ศรีดาวเรือง : ตั้งแต่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ก็รับจ้างเลี้ยงเด็ก ทำงานโรงงานบ้าง และทำงานตามร้านอาหาร แต่ก็ชอบอ่านหนังสืออยู่ตลอดเวลา เพราะพ่อแม่ชอบอ่าน ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้อ่านหนังสือเด็ก จะได้อ่านวรรณคดีเก่า ๆ หรือหนังสือแปล ก็จะข้ามวัยไปหน่อย ตอนเข้ามาทำงานที่กรุงเทพ ต้องซื้อหนังสืออ่านเอง บางครั้งรวมเงินกับเพื่อน ๆ ที่ทำงานโรงงานด้วยกันซื้อหนังสือรายสัปดาห์ รายเดือน มาแบ่งกันอ่าน หรืออ่านนิยายเป็นตอน ๆ จากนิตยสาร ส่วนหนังสือเล่มไม่ค่อยซื้อ ถ้าเห็นอะไรสะดุดตา เช่น เพื่อนนอน (หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช) กะไว้ว่าจะแอบอ่านเรื่องโป๊สักหน่อย (หัวเราะ) แต่อ่านแล้วไม่ใช่เลย แล้วก็ ‘กระท่อมน้อยของลุงทอม’ เราก็แปลกใจว่า ฝรั่งอะไรอยู่กระท่อม หรือ ‘ใครฆ่าในหลวง’ เราอยู่บ้านนอกเห็นก็สนใจตามผู้ใหญ่ พอคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรีมาเจอก็สงสัยว่า ลูกจ้างตามร้านอาหารมาอ่านหนังสืออะไรแบบนี้ เป็นคนอยากรู้อยากเห็นเที่ยวเรียนอะไรสารพัด เท่าที่จะมีปัญญาเรียน มองว่ากรุงเทพฯ เป็นเหมือนกระทะที่มีความรู้มากมายให้เราได้ศึกษา ตอนนักศึกษาเข้าป่าก็อยากไป แต่คุณสุชาติไม่ให้ไป

All : นามปากกา ‘ศรีดาวเรือง’ มีที่มาจากอะไร
ศรีดาวเรือง : ก็เคยเล่าให้คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรีฟังว่า ตอนที่อยู่บ้านนอก เวลาจะไปอาบน้ำก็จะเดินไปอาบที่คลอง เราจะเรียกว่าไปตีนท่า ตอนกลับจากอาบน้ำก็เจอดอกไม้อะไรไม่รู้สีเหลือง ๆ ก็ถอนมาฝากพ่อเพราะเขาชอบปลูกต้นไม้ อะไร ซึ่งพ่อก็ไม่รู้จัก พอคุณสุชาติได้ฟังก็เลยตั้งชื่อว่า ‘ศรีดาวเรือง’ ก็แล้วกัน ก่อนหน้านี้มีนามปากกาอีกหลายชื่อ เช่น ตอนแปลหนังสือเด็กก็ใช้ ‘ศรีวรรณา’

All : เรื่องสั้น ‘แก้วหยดเดียว’ ได้แรงบันดาลใจมาจากไหน
ศรีดาวเรือง : ตอนอายุ 15 ปี อยู่บ้านนอกก็เขียนเอาไว้ แล้วส่งไปนิตยสาร แต่ไม่ได้ลง พอไม่ได้ตีพิมพ์ก็คิดว่าเราไม่สามารถทำได้หรอก เรียนหนังสือมาน้อย เมื่อมาเจอคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรีก็บอกว่า คนที่เริ่มต้นเขียนหนังสือใหม่ ๆ ต้องเอาประสบการณ์ของตัวเองมาเขียน มันจะง่ายขึ้น ประมาณว่าเราจะเขียนเล่าให้ใครฟังก็ได้ เพราะเรามีประสบการณ์จริง ๆ ผลพวงจากการได้อ่านหนังสือมาเยอะ เราก็เลยใช้ภาษาไปได้ พอคุณสุชาติ เห็นก็บอกว่าใช้ได้ จึงได้ขอไปลงในหนังสือที่เขาทำ ‘สังคมศาสตร์ปริทัศน์’

All : หนังสือเล่มไหนที่ ‘ศรีดาวเรือง’ อ่านแล้ว เกิดแรงบันดาลใจ อยากจะเขียนหนังสือขึ้นมาบ้าง
ศรีดาวเรือง : ถ้าพูดถึงหนังสือภาษาไทยก็ของ ‘ศรีบูรพา’ เรื่อง ‘ขอแรงหน่อยเถอะ’ ให้กำลังใจกรรมกรมาก ๆ เขาให้เกียรติเรามาก เพราะเงินไม่ได้มีค่ามากไปกว่าแรงงาน พอเราอ่านก็นึกขึ้นว่า ทำไมเราต้องรอให้คนอื่นบอก ความจริงมันเป็นอย่างนั้น แต่กรรมกรก็จะรู้สึกว่าต้องเจียมเนื้อเจียมตัว จะทำตัวทัดเทียมกับใครก็ไม่ได้ ตอนที่อยู่โรงงานแก้วก็ทำหลาย อย่าง ดูเหมือนว่าเจ้านายเขาจะเข้าใจ ว่าเราอยากจะทำทุกอย่าง เพื่อเรียนรู้งาน ป้าใช้แรงงานมาตั้งแต่อายุ 12 แล้วมาเขียนหนังสือกับคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรีก็ใกล้จะ 30 แล้ว ก็เก็บเกี่ยวเรื่องราวที่ทุกข์ยากมา พอถึงเวลาเขียนมันเอามาใช้ได้หมดเลย ถือเป็นข้อมูลชั้นดีเลย เรานึกถึงตอนไหนก็เอามาบรรยายได้หมด ‘ศรีดาวเรือง’ นักเขียนกรรมกร “เศรษฐีจึงเห็นคุณค่า ว่าแรงงานนั้นหนา มีค่ามากกว่าเงิน”

All : ‘ศรีดาวเรือง’ ผลักดันตัวเองอย่างไร ให้ก้าวเดินมาถึงจุดนี้ได้
ศรีดาวเรือง : เหมือนได้จังหวะและช่วงเวลา การที่เราชอบอ่านก็คิดเลยว่าจะเขียนหนังสือให้ได้ หลังจากเลิกเขียนมาแล้วเมื่อตอนอายุ 15 ปี ก็ได้จังหวะที่มารู้จักกับคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี เขาเลยยุและยัดหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้ให้อ่าน แล้วยังเลือกอ่านหนังสือที่ไม่ใช่แค่ประโลมโลกย์อย่างเดียว หนังสือพิมพ์รายวันอ่านแล้ว ต้องตัดแยกประเภท ก็ทำให้เราได้อ่านไปเรื่อย ๆ ก็ตอนที่พิมพ์ต้นฉบับให้เขา เรื่องสั้นทั้งหลายส่งมาแก้โยงเต็มหน้ากระดาษไปหมด ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ก็ต้องพิมพ์ดีดทุกชิ้นให้คุณสุชาติ เราก็ได้อ่าน ก็ค่อย ๆ เรียนรู้ไปในตัว บางทีก็ไม่รู้ตัวว่ามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร และช่วง 14 ตุลา 2516 ก็เป็นช่วงชูกำปั้น คนยากคนจนต้องเป็นคนที่ถูกเท่านั้น เป็นคนน่าสงสาร คนรวยคือพวกนายทุน ก็มีคนมาทักว่าคนจนถูกเสมอหรอ ทำให้ต้องคิดทบทวนอีกว่า ทุกอย่างมันอยู่ที่ตัวคน (คนจนขี้เกียจ ขี้โกงก็เยอะแยะ) มีทั้งดีและไม่ดี เรื่องก็ค่อย ๆ คลี่คลายไป ไม่ใช่แบบที่เราเคยคิดไว้ ก็มีบางคนถามว่า ไม่เขียนงานแนวเพื่อชีวิตอีกแล้วหรอ ป้ามองว่าเพื่อชีวิตก็ไม่ใช่แบบเดียวหรือด้านเดียว ที่จริงไฟด้านงานเขียนตอนนี้อยากจะเขียนเรื่องศาสนา แบบที่ไม่ใช่ไปวัดทุกวันพระ

All : ผลงานชิ้นล่าสุดเรื่อง ‘สนุกนึก : วรรณกรรมแตกกิ่ง’ ได้แนวคิดมาจากอะไร
ศรีดาวเรือง : คือ บรรณาธิการเขามีความคิดขึ้นมาว่า ให้ ‘ศรีดาวเรือง’ เขียนเรื่องอะไรมาก็แล้วแต่ เขียนยังไงก็ได้ แต่ต้องมีตัวละครไม่น้อยกว่า 4 ตัว แล้วให้คนอื่นหยิบเอาไป ‘แตกกิ่ง’ แต่เล่มนี้ก็ยังไม่ถึงใจบรรณาธิการเท่าไหร่ เพราะว่าคนดึงเอาไปน้อย เรื่องสุดท้ายที่เขียนก็ไปเห็นผู้ชายคนหนึ่ง เป็นคนที่น่าเกลียดมาก ก็เลยจับบุคลิกมาเขียน แม้แต่เมียตายแล้วก็ยังด่าว่า แค่ตายมึงจะหนีกูพ้นหรอ พอเห็นอะไรที่ไม่ดีมาก ๆ ก็เอามาใช้ใน ‘สนุกนึก : วรรณกรรมแตกกิ่ง’ คนที่จะแตกกิ่งต่อก็แค่ดึงอะไรก็ได้ในเรื่องของป้าแล้วไปเขียนต่อ เช่น ดึงตัวละครหรือฉาก เป็นต้น ‘ศรีดาวเรือง’ นักเขียนกรรมกร “เศรษฐีจึงเห็นคุณค่า ว่าแรงงานนั้นหนา มีค่ามากกว่าเงิน”

All : ปัจจุบันยังเขียนงานอยู่หรือเปล่า
ศรีดาวเรือง : เขียนน้อยลง บางทีเขียนค้างไว้แล้วลืมว่าตัวเองเอาไปไว้ตรงไหน รู้สึกว่าตัวเองเริ่มแย่แล้วแหละ (หัวเราะ) ก็มีงานที่รอเป็นรูปเล่มอยู่ 3 เรื่อง อยู่ที่คุณเวียง (วชิระ บัวสนธ์) เล่มหนึ่งเป็นเรื่องสั้น เขาเก็บเอาไป 100 เรื่องคาดว่าจะใช้ชื่อ ‘บรรพสตรี’ แล้วก็สารคดีจากที่ไปเที่ยวมา 6 ประเทศ ก็เล่าประสบการณ์ที่ได้ไปพบเจอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคน ว่าเรามองเขาอย่างไร อะไรที่แตกต่างจากของเรา เช่น คนเกาหลีเป็นคนประหยัดมัธยัสถ์ เห็นคุณค่าของทุกสิ่ง สารคดี 6 ประเทศที่เขียนขึ้นมานั้นมาจากคำบอกเล่าที่เป็นความจริงของประเทศนั้น ๆ

All : เรียนรู้ภาษาอังกฤษอย่างไร จนสามารถแปลงานเขียนของต่างประเทศได้
ศรีดาวเรือง : เริ่มต้นก็เรียนรู้เอง อ่านจากหนังสือเรียนภาษาอังกฤษ 75 ชั่วโมง แล้วก็ไปเรียนแถวสะพานควายจะมีโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษของคนเขมร มันยากมากสำหรับคนที่ไปหาเรียนเอง เพราะไม่มีครูคอยจี้ แค่ A ตัวเดียวยังเขียนตั้งหลายหน กว่าจะเขียนได้ กว่าจะเข้าใจ แต่พอมาอยู่ดอนเมืองกับคุณสุชาติ ก็สั่งตำราเรียนเอง เขาเรียกเรียนแบบธรรมชาติ แล้วในตำราเรียนก็จะมีเรื่องสั้นให้อ่านด้วย ตอนหลังตำราที่เรียนก็หายไปบ้าง ก็เลยไปเรียนกับของเนชั่นอิงลิชฟอร์ยูก็ได้ฟังเพลงด้วย ชวนให้อยากเรียนมากยิ่งขึ้น

All : มุมมองของ ‘ศรีดาวเรือง’ งานแปลช่วยส่งเสริมวรรณกรรมอย่างไรบ้าง
ศรีดาวเรือง : ช่วยในการเผยแพร่ผลงานในต่างประเทศ แม้แต่ในมหาวิทยาลัยเขาก็เอาไปศึกษา ฉบับภาษาอังกฤษเอาไปให้เด็กอ่าน ตอนที่เขียนช่วงแรก ๆ คิดว่าคนที่ชอบอ่านต้องเป็นคนยาก คนจน คนใช้แรงงาน แต่กลับไม่ใช่ เพราะมันไม่สนุก ทำไมไม่เขียนเรื่องบาร์เบียร์ เรื่องชนชั้นสูง หรือเรื่องบู๊ เราเขียนไม่ได้เพราะไม่รู้จักสังคมแบบนั้น แต่คนที่อ่านงานของเรา กลับเป็นพวกอาจารย์ หรือนักศึกษาที่อาจารย์บอกให้ไปอ่าน เพื่อนำมาวิเคราะห์ในหลากหลายมุมมอง หลักการแปลก็ผสมกัน ถ้าแปลตรงตัวก็คงอ่านไม่รู้เรื่อง อย่างเรื่อง ‘ชุดชาวยักษ์’ ที่ฝรั่งเขาเอาไปแปล มีคนบอกว่า ใช้ได้เลย แสดงว่าฝรั่งที่แปลงานของเราเขารู้จักบริบทของสังคมไทย

All : ทราบมาว่า สุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นบรรณาธิการในการตรวจต้นฉบับให้ ‘ศรีดาวเรือง’ มีคำแนะนำอะไรไหมที่บรรณาธิการใหญ่ฝากไว้ในการเขียนหนังสือ
ศรีดาวเรือง : ช่วงแรก ๆ ก็จะเน้นตรงเรื่องคำเชื่อม เวลาเป็นภาษาพูดเรามักจะใช้ฟุ่มเฟือย เช่น ที่ ซึ่ง จึง ก็ อะไรประมาณนี้ มันซ้ำกันบ่อย หลังจากนั้นก็ไม่ให้คุณสุชาติ ดูแล้ว ปีกกล้า ขาแข็งแล้ว (หัวเราะ) ก็ไม่ต้องขอคำแนะนำแล้ว สำนวนภาษาต้องเป็นของเราเอง ถ้าให้คุณสุชาติตรวจหมดก็จะเป็นเขาทั้งหมด ก็จะไม่ใช่สำนวนศรีดาวเรืองแล้ว การตรวจต้นฉบับ ถ้ามีคนช่วยอ่านก็ดี แต่การตัดสินใจต้องเป็นตัวเราเอง เพราะเป็นงานของเรา

All : รู้สึกอย่างไรเมื่อได้รับรางวัล ‘ศรีบูรพา’
ศรีดาวเรือง : คุณประยอม ซองทอง โทรมาแจ้งก็รู้สึกประหลาดใจ คณะกรรมการเห็นพ้องต้องกัน และได้ฝากความระลึกถึงทายาทของ ‘ศรีบูรพา’ ทุกท่านที่ดีกับ ‘ศรีดาวเรือง’ ภรรยาของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ (ชนิด สายประดิษฐ์) ท่านเมตตากับเรามาก ๆ เหมือนว่าฝันไป เราเป็นแค่กรรมกร แต่ได้รู้จักกับลูก ๆ ของศรีบูรพาก็ถือเป็นความประทับใจมาก ๆ ผลงานของ ‘กรรมกรวรรณกรรม’ วรรณา สวัสดิ์ศรี มีนามปากกาว่า ‘ศรีดาวเรือง’ ผลงานเขียนเรื่องแรกชื่อว่า ‘แก้วหยดเดียว’ ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ และปี 2521 เรื่องสั้น ‘คนดายหญ้า’ ได้รับรางวัล ว.ณ ประมวลมารค,เรื่องสั้น ‘มันมากับการเลือกตั้ง’ ได้รับรางวัลช่อการะเกด จากนิตยสารโลกหนังสือ และผลงานแปลอีกมากมาย เช่น การผจญภัยของลุงป๋วย, หนังสือปกเขียว (โรเบิร์ต เกรฟ), ดอนกีโฮเต้ (เล่าใหม่โดย แฟรงค์ ซี.ปาเป) นิทานแอนเดอร์สัน (6 เรื่อง) และสารคดีสี่แผ่นดินอื่น

 

ขอบคุณที่มา : http://www.all-magazine.com

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ