วงดำเลิง วงษ์สวรรค์ : หลังม่านฮอลลีวูด

วงดำเลิง วงษ์สวรรค์

วงดำเลิง วงษ์สวรรค์ บุตรชายคนโตของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ บินจากเมืองลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา มาร่วมงานของครอบครัว พร้อมกับถือโอกาสให้สัมภาษณ์ "จุดประกาย-เสาร์สวัสดี" ถึงหน้าที่การงานในวันนี้ ที่เขากำลังมุ่งมั่นตั้งใจกับงาน Visual Effect ในแวดวงภาพยนตร์ฮอลลีวูด หลังจากใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดนมานานกว่า 10 ปี

"จริงๆ ก็แทบทุกเรื่อง" วงดำเลิง ตอบทันที เมื่อถามที่ผลงานที่ภาคภูมิใจ "... เพราะเป็นสเต็ปของชีวิต แรกๆ ก็ทำงาน basic พอมาสักพักก็ได้ทำ Terminator ภาค 3 มีส่วนร่วมมากขึ้น อย่างงานรีทัชของอาร์โนลด์ (ชวากเซเนเกอร์) เราทำให้เขาดูเป็นนักเพาะกล้ามเหมือนแต่ก่อน มาอีกหน่อยก็ได้ทำ The Day After Tomorrow ได้ทำอะไรที่ยากและซับซ้อนมากขึ้น ที่ภูมิใจมากคือ X-Men ภาคสาม ที่ทำฉากแฟลชแบ็ค 15 นาทีแรกของหนัง ส่วน The Curious Case of Benjamin Button เราเป็นคนเซ็ทลุคของ แบรด พิทท์ ให้ออกมาแบบนี้ แล้วลูกค้าชอบ จนเราได้งานชิ้นใหญ่ๆ เรื่อยมาจนถึง Avatar" บทสัมภาษณ์นี้ มีขึ้นก่อนที่ Avatar จะได้รับรางวัลลูกโลกทองคำ ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

 

 

พูดถึงรายละเอียดของงานที่คุณทำที่ฮอลลีวูด
งานรวมๆ เขาเรียกว่า visual effect ภาษาไทยแปลว่าเทคนิคพิเศษทางภาพ คืองานทางด้านกราฟฟิคให้แก่หนัง มิวสิควิดีโอ และโฆษณา บางคนเข้าใจผิดว่า visual effect เป็นแอนิเมชั่น ซึ่งจริงๆ มันก็ใช่ส่วนหนึ่ง แต่ไม่ทุกส่วน อย่างการถ่ายทำในสตูดิโอ visual effect ที่รู้จักกันดี คือกรณีที่พระเอกนางเอกยืนอยู่หน้าบลูสกรีน แล้วเรามีหน้าที่ใส่แบ็คกราวด์เข้าไปด้านหลัง ใส่องค์ประกอบต่างๆ ของฉากนั้นๆ เช่น ใส่ควันไฟ ระเบิด แสงเลเซอร์ หรือจะคิดถึงงานในแง่ของ photoshop ที่มีหลายๆ เลเยอร์มาใส่ด้วยกัน

ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนามาถึงทุกวันนี้ คิดว่าวงการก้าวถึงจุดสูงสุดหรือยัง
เราไม่ใช่ developer เราตอบไม่ได้ 100 เปอร์เซนต์ แต่คิดว่าน่าจะไปต่อได้เรื่อยๆ ดูอย่างหนัง Avatar เมื่อ 5 ปีที่แล้วใครจะคิดถึงว่าเป็นไปได้ หรือย้อนกลับไปดูงานเก่าๆ ของ เจมส์ คาเมรอน เอฟเฟคท์ก็ยังไม่หวือหวาขนาดนี้ ถ้าดูอย่าง คนเหล็ก หรือ Alien ก็ถือว่าสมจริงแล้วสำหรับยุคนั้น เพราะมันไม่มีตัวเปรียบเทียบ

ทำไมถึงมาสนใจงานทางด้านนี้
แรกเริ่มเดิมที เราอยากเป็นนักตัดต่อ เพราะตอนเรียนในคลาส เราถูกสอนมาว่าการจะเป็นผู้กำกับที่ดี ต้องเป็นผู้ลำดับภาพที่ดีด้วย พวกการเล่าเรื่องโดยการลำดับภาพ พอไปดูคนที่มาทำงานเป็น editor จริง ๆ ส่วนมากเขาไม่ได้เล่าเรื่องราวสักไหร่ ก็มาตามลิสต์ editing list ที่ระบุมาแล้ว เลยรู้สึกว่างานนี้เป็นเหมือนคนขับเรือจ้าง (หัวเราะ) ขึ้นอยู่กับคนบอกว่าจะให้ไปทางไหน

ส่วนงาน visual effect เราจับพลัดจับผลู เริ่มจากอยากเข้ามาในแอลเอ เดิมตอนนั้นไปเรียนที่เท็กซัส ก็อยากหาประสบการณ์ บังเอิญโชคดีได้ไปทำงานบริษัทหนึ่ง ซึ่งเจ้าของเป็นเพื่อนกับอีกบริษัทหนึ่งที่ผมทำงานอยู่ทุกวันนี้ ได้ไปเห็นว่าเขาทำอะไร ช่วงนั้นเขาเพิ่งทำ Titanic เสร็จ ทำมิวสิควิดีโอเยอะมาก พวกวงคอร์น, เจนนิเฟอร์ โลเปซ, บริทนีย์ สเปียร์ส เราได้ไปเห็นพอดี เลยรู้สึกว่า เจ๋ง งานที่ผมทำเรียกว่า composite คือเอาองค์ประกอบหลายๆ อย่างมารวมกัน มันทั้งศาสตร์ทั้งศิลป์ ไม่เหมือนพวกทำโมเดลลิง 3D รู้สึกว่าได้ใช้หัวเหมือนกัน ทั้งการจัดแสง ปรับสี วางคอมโพสิชั่น คิดดูในวงการนี้ มีอาชีพหนึ่งเรียกว่า colorist ใส่สีอย่างเดียว แต่งานของเรา ทำงานทางด้านสีด้วย ก็สนุกดี

งานแบบไหนบ้างที่มีความจำเป็นต้องใช้ visual effect
เดี๋ยวนี้ มันทั้งหมดแหละครับ หนังบางเรื่อง เราอาจจะไม่คิดว่ามี visual effect เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น บางเรื่อง (จำไม่ได้) ไปเห็นฉากตึกระฟ้าของนิวยอร์กซิตี บางทีมันเป็นฟิล์มสต็อก คือเขาถ่ายมานานแล้ว ดังนั้น จะเห็นตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ แต่หนังมันเป็นเนื้อเรื่องยุคนี้ เขาก็ไม่อยากให้เห็น มันสะเทือนใจ เราก็ต้องลบออก เวลาดูเราก็ลืมคิดไปเลยว่า ตรงนี้เคยมีตึกเวิลด์เทรด นี่คืองานลักษณะหนึ่ง เป็นงานที่ simple แต่เป็น essential พวกยากๆ ก็ Avatar พวก Narnia มันเป็น computer-generated แต่มันสมจริงสมจังมาก

ทำแต่หนังอย่างเดียว ?
บริษัทผมมีหลายแผนก แต่งานหนังเป็นงานหลัก เพราะทำรายได้สูงสุด รองลงมาก็คือมิวสิควิดีโอ ตามด้วยโฆษณา ก็คงจะเน้นหนังเป็นหลัก ถ้ามีใครให้ทำมิวสิควิดีโอ เราก็จะเลือกหน่อยว่าทำอะไร ที่ทำงานผม เป็นขนาด medium size ไม่ใช่บริษัทใหญ่ พูดง่ายๆ เราไปประมูลงาน เป็น sub-contracter กับบริษัทใหญ่อย่าง ฟ็อกซ์ , โซนี หรือ วอร์เนอร์ เวลาเขามีโปรเจ็คท์ เขาทำงานไม่ไหว เพราะดีเทลมันเยอะ ดูอย่าง avatar ทีมงาน visual effect อย่างเดียว มีเป็นร้อยเป็นพันคน แล้วใช้เวลาทำงานถึง 5 ปี ทำให้ต้องมีหลายๆ บริษัทด้วยกัน

งานที่ได้มา เขามีโจทย์กำหนดมาให้หรือไม่
ค่อนข้างเป็นอย่างนั้น งานที่ทำก็เหมือนปิดทองหลังพระ เพราะหนังจะออกมาจากความคิดฝันของผู้กำกับ ก็ต้องมาดูว่าตอนที่ถ่ายทำได้มั้ย ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องมาแก้ใน post อย่างเวลาถ่ายฉากกลางคืน ถ้าถ่ายไม่ได้ ก็ต้องถ่ายตอนกลางวัน แล้วมาปรับสีปรับแสงเป็นตอนกลางคืน ฉะนั้น ส่วนมากเราจะทำตามโจทย์ของเขา แต่บางทีเราอาจจะขายความคิดของเราไปด้วย เช่น แนะนำว่าน่าจะทำอย่างนี้ดีกว่า บางทีเราส่งซูเปอร์ไวเซอร์ไปตามกองถ่าย ดูว่าสิ่งที่เขาต้องการ จะทำได้หรือเปล่า

เมื่อหลายปีที่แล้ว เราทำเรื่อง The Curious Case of Benjamin Button ต้องบอกว่า 75 เปอร์เซนต์ของแบรด พิทท์ ต้องทำเป็นดูแก่ หรือเป็นเบบี๋ทารก ซึ่งเขาก็สงสัยว่า เราสามารถทำหน้าตาของแบรด พิทท์ ให้ดูแก่ลง หรือเด็กขึ้น โดยไม่ใช้ cgi (Computer-generated imagery) ได้หรือเปล่า พูดง่ายๆ ว่าเป็น 2D ล้วนๆ เจ้านายก็โยนงานมาให้ เพราะเห็นว่าเราถนัดด้านงานรีทัช เพราะเมื่อก่อนทำมิวสิควิดีโอเยอะ เราก็ลองเทสต์ส่งไป ทำให้เขาหนุ่มขึ้น 20 ปี อายุ 20 แทนที่จะเป็น 40 เหมือนทุกวันนี้ ปรากฏว่าผู้กำกับชอบ เพราะมันประหยัดงบประมาณ และใช้เวลาน้อยกว่า cgi ด้วย เขาเลยให้บริษัทเราทำจ๊อบนี้ ประมาณ 1 ใน 3 ของจ๊อบทั้งหมด

เช่นเดียวกับวงการอื่นๆ ที่นี่ต้องใช้ทั้งฝีมือและคอนเนคชันในการนำไปสู่ความสำเร็จ ?
ถ้าในสเกลของบริษัท บริษัทก็ต้องมี reputation ว่าเราเก่งด้านไหน เมื่อเราได้ทำงานกับบริษัทใหญ่อย่าง FOX เขาพอใจงานของเรา เราก็เริ่มมีคอนเนคชั่น ต่อไปเมื่อเขามีโปรเจ็คท์ถัดมา เขาก็อาจจะมาถามว่าเราทำได้มั้ย มันเป็นส่วนผสมของทั้งสองอย่าง ทั้งฝีมือและคอนเนคชัน

ส่วนเรื่องการแข่งขันถือว่าสูงครับ บางทีมีการประมูลงาน มีตัดราคากัน บางทีเราเสียงานไปเพราะราคาเราสูงกว่าก็มี แต่ลูกค้าที่รู้ฝีมือเรา ก็ยังพอยืดหยุ่นให้บ้าง เรื่องค่าใช้จ่ายในหนังเรื่องหนึ่ง (กับสัดส่วนต้นทุนของ visual effect) ผมไม่คอนเฟิร์มนะ แต่น่าจะมากขึ้นเรื่อยๆ สมัยก่อน 20-25 เปอร์เซนต์ สมัยนี้อาจจะ 50 เปอร์เซนต์ก็ว่าได้ ดูอย่าง Avatar ซึ่งใช้ทุนสร้างสูงสุดในประวัติศาสตร์ฮอลลีวูด เขาบอกว่า ใช้เงิน 300 กว่าล้าน (เหรียญสหรัฐ) แต่เท่าที่ได้ยินมาจากวงใน ว่ากันว่า อาจจะ 400 กว่าด้วยซ้ำไป ซึ่งค่าใช้กราฟฟิคน่าจะเกินครึ่ง

งานหนักขนาดไหน
เคยเข้างาน สมมติวันจันทร์ เข้า 9 โมงเช้า เดินออกมาอีกที บ่าย 3 ของวันอังคาร จริงๆ ก็เป็นแบบนี้เกือบทุกโปรเจ็คท์ โดยเฉพาะช่วงเดดไลน์ ซึ่งคนอังกฤษไม่เป็นนะ แต่ที่อเมริกา ก็ workaholic พอสมควร อย่าง Avatar ออกมาสองทุ่ม กลับมาถึงบ้านยังไม่ทันหย่อนก้นลงโซฟาเลย เขาโทร.มา “เลิงกลับมาแก้งานหน่อย ลูกค้าเปลี่ยนใจ” ก็ต้องกลับไปยิงยาวถึงตี 3ของวันรุ่งขึ้น มันก็หนัก แล้วการนั่งหน้าจอมันก็ไม่ดีกับสุขภาพหรอก

จากชั่วโมงเรียนที่เท็กซัส จนถึงชีวิตที่แอลเอ คุณเรียนรู้จากการทำงานอย่างไร เรื่องของซอฟท์แวร์ คือคอมพิวเตอร์ ผมเรียนจากที่ทำงาน เพราะคอมพิวเตอร์อัพเดททุกปี ที่เรียนไม่มีใช้ แล้วซอฟท์แวร์ก็มีราคาแพง สถาบันเรียนไม่มีแพร่หลาย แล้วมันก็ต้องอาศัยการฝึกไปด้วย เหมือนเราเล่นกีตาร์ กีตาร์ดีก็อย่างหนึ่ง แต่อยู่ที่คนเล่นด้วย อยู่ที่คุณจะฝึกซ้อมอย่างไร คนเข้าวงการนี้เลยต้องเก่ง ต้องเฮง ต้องขยันด้วย ผมว่าก็คงเหมือนทุกๆ วงการ เพราะอย่างผมก็ไม่ได้มีแบ็คกราวนด์ทางด้านอาร์ต เมื่อก่อน ก็อยากเรียนนิเทศศาสตร์ อยากทำโฆษณา มันก็ไม่ใกล้เคียงนะ ตอนนี้กลายเป็นว่าเรามาทำงานเบื้องหลัง

ความเป็นคนไทยในฮอลลีวูดช่วยอะไรบ้างมั้ย
สังคมฮอลลีวูดก็โลกมายา มันก็มีแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น ความเป็นคนไทย ดีตรงที่เราหนักเอาเบาสู้ เป็นมิตรกับทุกคน บางที เราทำงานเสร็จแล้ว เราก็ออฟเฟอร์ไปช่วยงาน ฝรั่งมันก็ชอบ การที่เราแสดงน้ำใจ มันก็ช่วยได้ตรงนี้

ผ่านมา 10 ปี ทุกวันนี้ชีวิตยังสนุกกับงาน ?
ยังสนุกกับงาน เหมือนนักดนตรี คุณคิดจะรีไทร์จากงานเหรอ เคยมีคนถามว่า ทำไมไม่มาเปิดบริษัทที่เมืองไทย คือเราไม่ได้มุ่งหมายที่จะร่ำรวย แต่เราภูมิใจว่าอยู่ตรงนั้น ได้ทำงานกับ big budjet เป็นมดงานตัวเล็กๆ เราก็แฮปปี้แล้ว แต่คนเราก็อยากเปลี่ยนอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ ในอนาคตข้างหน้า ถ้าเราไปเจออะไรสนุก อาจจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับ visual effect เราก็สนใจ

ทุกวันนี้สนุก เพราะกลับไปที่นั่น ก็มีหนังรอตั้ง 8 เรื่อง ไม่รวมมิวสิควิดีโอ อย่างเราอยู่ๆ นั่งเช็คงานกับลูกค้า มี เจมส์ คาเมรอน เดินเข้ามา เป็นใครบ้างไม่ดีใจ ก็พยายามทำต่อไปเรื่อยๆ แต่ก็คงไม่อยากให้งานครอบงำชีวิตเรา เราก็อยากมาอยู่สวนทูนอิน ฟังเพลงแจ๊สแทนพ่อ นอนอ่านหนังสือ ให้หายคิดถึงพ่อ ทุกวันนี้กลับเมืองไทยปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 3 อาทิตย์ หรือเกือบเดือน ก็น่าจะแฮปปี้นะชีวิต ใครจะหยุดงานได้ปีละเกือบ 2 เดือนเหมือนเรา อีกอย่างโลกก็เล็กลง อเมริกา-กรุงเทพ ไม่ใช่ว่าไกล บางคนอยู่เชียงใหม่ แต่ไปทำงานกรุงเทพ ปีหนึ่งจะได้กลับมาเชียงใหม่กี่ครั้ง ก็คงทำงานที่นั่นไปก่อน

เกิดเป็นลูกของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ นี่ กดดันมั้ย
ไม่เคยเลย เกิดมาไม่เคยโดนกดดันจากพ่อเลย ผมเองก็ไม่เคย force ตัวเองนะ อาจจะมีบ้างตอนไปเมืองนอก ว่าต้องเรียนให้จบ พ่อแม่จะได้ไม่ผิดหวัง เพราะเราเป็นลูกคนโต ด้านหนึ่งคงเป็นเพราะจิตสำนึกของเราเองว่า ควรทำเพื่อพ่อแม่ บางทีเราเหนื่อยๆ มา ก็ไม่เป็นไร พ่อเรายังทำงานจนอายุ 60-70 เราเป็นเด็กแล้วเราจะไปบ่นทำไม พ่อเป็นไอดอลของผม เป็นตัวอย่างที่ดี เป็นกำลังใจ ดังนั้น ทำงานหนักแค่ไหนก็อย่าไปบ่น อย่างที่พ่อพูดกับคนอื่นๆ เสมอว่า “เป็นคนหนุ่มต้องทำงานหนักเข้าไว้”

 

ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ