พรศิริ เพ็ชรภักดิ์ : เจ้าของผลงานแปลเรื่อง ปราสาทอลเวง

พรศิริ เพ็ชรภักดิ์

กระแสวรรณกรรมเยาวชนแปลออกมาในช่วงปีที่ผ่านและปีนี้นั้น เป็นเพราะกระแสตอบรับจากนักอ่านบ้านเราค่อนข้างสูง จะเป็นเพราะกระแสหรือความต้องการอ่านอย่างแท้จริงหรือไม่นั้นอีกเรื่องหนึ่ง ท่ามกลางกระแสที่เชี่ยวกรากนั้นมีหนังสือวรรณกรรมแปลเล่มเล็กเล่มหนึ่งที่ได้รับการกล่าวขวัญจากผู้อ่านว่า สนุกสนานและเป็นเรื่องเสียดเย้ยพฤติกรรมของมนุษย์แบบหยิกแกมหยอก วันนี้เรามีโอกาสได้พบกันนักแปลหนังสือเล่มนั้น คือ คุณพรศิริ เพ็ชรภักดิ์ เจ้าของผลงานแปลเรื่อง ปราสาทอลเวง ที่ถ่ายทอดมาจากหนังสือเรื่อง The Castle Of Inside Out บทประพันธ์ของ David Henry Wilson

ช่วงแปลงานวรรณกรรมเล่มนี้สนุกหรือไม่ คิดว่าน่าจะสนุกนะเพราะคนอ่านยังสนุกเลย
จริงๆ แล้ววรรณกรรมเยาวชนเล่มนี้ค่อนข้างอ่านยาก เพราะมันเป็นเรื่องเสียดเย้ยวัฒนธรรมสังคมจารีตของประเทศอังกฤษ อาจจะเฉียดๆบ้านเรานิดหน่อยเอง ซึ่งหากทราบว่าตัวละครในหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนกำลังส่งนัยถึงใครหรืออะไร ดิฉันคิดว่าผู้อ่านคงอ่านสนุกกว่าเดิม ซึ่งตอนแรกที่อ่านหนังสือเล่มนี้แบบคร่าวๆ ไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่าอยากแปลหนังสือเล่มนี้ เพื่อว่าให้เพื่อนคนหนึ่งซึ่งเป็นนักเขียนวรรณกรรมเยาวชนอ่าน เพราะอยากให้เขาได้อ่านหนังสือที่มีเค้าโครงแตกต่างไปจากเดิมบ้างเท่านั้นเอง แต่เผอิญว่ามีคนสนิทแนะนำให้เขียนเรื่องย่อส่งไปที่สำนักพิมพ์ที่เขาทำงานอยู่ ก็เขียนไปโดยที่ไม่รู้ว่าทางสำนักพิมพ์ตกลงขอลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ และเมื่อทราบรู้สึกตื่นเต้นดีใจมาก ลงมือแปลอย่างเป็นจริงเป็นจังทันที และแล้วก็ทราบว่า หนังสือเล่มบางๆนี้ มันยากมาก เนื่องจากผู้เขียนเล่นกับคำและศัพท์ เหมือนภาษาไทยที่มีสมาส สนธิ วุ่นวายไปหมด บางคำก็มีการสร้างศัพท์ใหม่อีกด้วย ดังนั้นในตอนแรกที่ดีใจที่ได้ทำงานที่ตัวเองใฝ่ฝันมานานก็เริ่มท้อแท้ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะประเมินความสามารถตัวเองไว้สูงด้วย แต่เมื่อคิดว่างานนี้ไม่ใช่งานที่ทำคนเดียว การขอลิขสิทธิ์ก็เรียบร้อยไปแล้วก็ฮึดสู้ ทำใจสามสี่วันนั่งแปลอะไรที่คิดว่ายากให้ได้ ในที่สุดเมื่อแปลได้หนึ่งย่อหน้า ก็ภูมิใจมากเหลือเกิน รู้สึกสนุกขึ้น สนุกตรงที่มันท้าทายว่า ศัพท์คำนี้มีที่มามาจากคำอะไรผสมกับคำอะไร ผู้เขียนต้องการสื่ออะไร อ๋อ…อีกนิดหนึ่งจะบอกว่าหนังสือเล่มนี้ใช้เวลาแปลนานมาก ทั้งที่เล่มบางนิดเดียวเอง ซึ้งเลยล่ะค่ะว่าการแปลวรรณกรรมไม่ใช่อะไรที่จะเคี้ยวได้ง่ายๆ เลย

นักเขียนนักแปลมักจะเป็นหนอนหนังสือตัวยงกันมาก่อนทั้งนั้น ไม่ทราบว่าคุณพรศิริอยู่ในประเภทเดียวกันหรือเปล่าสำหรับประสบการณ์การอ่าน ?
ประสบการณ์การอ่านเหรอ สมัยประถม เริ่มจากอ่านหนังสือพิมพ์หัวสีที่พ่อรับทุกวัน อ่านเพราะเวลาครูถามอะไร เราตอบได้ รู้สึกเก่งกว่าคนอื่น พอโตอีกหน่อยหนึ่งก็เริ่มอ่านอะไรก็ได้ที่อยู่ในบ้าน คือที่บ้านเป็นครอบครัวใหญ่หนังสือเลยหลากหลาย พี่สาวอ่านนิตยสาร ดิฉัน, นะคะ, ลลนา เราก็อ่าน แม่อ่านชีวิตรัก ชีวิตจริง ภาพยนตร์บันเทิง คู่สร้างคู่สม ศาลาคนเศร้า บงกช ชีวิตรักนักศึกษา เราก็อ่าน พี่สาวพี่ชายมีหนังสือนอกเวลาเราก็อ่าน เวลาเราจะเลื่อนชั้นประถมใหม่เราได้หนังสือก่อนคนอื่นเราก็อ่าน อ่านไปหมด ชัยพฤษ์การ์ตูน หนังสือการ์ตูนเล่มละบาทอ่านหมดเลย พอมัธยม เริ่มซื้อหนังสือเอง สมัยนั้นก็มีวัยหวาน วันน่ารัก อะไรพวกนี้ แล้วก็อ่านหนังสือฝันๆ โรแมนติค พระเอกเป็นปลัดอำเภอนางเอกลูกสาวกำนัน เป็นหนังสือเล่มที่เช่ามาจากร้าน จากนั้นประมาณ ม.2 เริ่มรู้จักห้องสมุดโรงเรียน ห้องสมุดประชาชน ก็ได้อ่านหนังสือวรรณกรรมเยาวชนแปล จำได้ว่าชอบหนังสือเล่มหนึ่งมาก ชื่อหนูน้อยฟันนี่โน้ต ตอนนี้รู้สึกว่าสำนักพิมพ์ผีเสื้อนำมาพิมพ์ใหม่ชื่อสมุดพกคุณแม่ หรืออะไรสักอย่างนี้แหละค่ะ ครั้นพอมาถึงมัธยมปลายเริ่มอ่านหนังสือยอมนิยมของนักอ่านบ้านเราทั่วไป เช่น บ้านเล็กในป่าใหญ่ โต๊ะโตะจัง เจ้าชายน้อย เทือกนี้แหละค่ะ แต่เริ่มที่จะมีแนวโน้มชอบหนังสืออะไรที่สอนเรื่องจิตใจ เรื่องลึกๆในจิตใจ เพิ่งมารู้ทีหลังนี่เองว่าหนังสือพวกนี้เป็นหนังสือแนวปรัชญาและจิตวิทยา

พอช่วงเข้าธรรมศาสตร์ จนกระทั่งจบออกมาทำงานแล้ว การอ่านเป็นอย่างไรบ้าง?
การอ่านตอนที่เรียนมหาวิทยาลัย ถือว่าเป็นการอ่านหนังสือที่เยอะที่สุด เนื่องจากว่าได้เจอเพื่อนเยอะขึ้น ประกอบกับเราอยู่ในชมรมวรรณศิลป์ เหมือนกับมีห้องสมุดส่วนตัวเลยนะ อ่านหนังสือหลากหลายมาก อ่านเยอะเล่มจนมีความรู้สึกว่าช่วงนี้อ่านเอาปริมาณมากว่าคุณภาพ คือไม่ได้แข่งกับใครนะ แต่เหมือนกับว่า ใครแนะนำหนังสือเล่มไหนเราก็ต้องอ่านหมดเลย ทั้งภาษาอังกฤษ หนังสือแปล หนังสือภาษาไทย วรรณกรรมไทยชอบของคุณอัศศิริ ธรรมโชติ มากติดตามทุกเล่ม ส่วนเล่มอื่นๆที่อ่านช่วงนี้ไม่สามารถบอกได้เลยว่าชอบเรื่องไหนเป็นพิเศษ อ๋อ มีเรื่องหนึ่ง ชื่อ "ชีวิตคือวัยวันที่ผ่านพ้น" หรืออะไรนี่แหละ ของคุณอัศศิริ เป็นหนังสือที่อยากแนะนำให้คนอื่นอ่านนะเล่มนี้

สำหรับสมัยที่เป็นนักข่าวฝึกหัด ไม่ค่อยอ่านหนังสืออะไรมากนัก เพราะต้องอ่านหนังสือพิมพ์ทุกฉบับลุกมาอ่านตั้งแต่ตีสี่ครึ่ง แล้วก็อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับงานข่าวที่จะเป็นทำ เช่นตำราการเงิน เศรษฐศาสตร์ ต้องมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง เพราะทำข่าวเกี่ยวกับหุ้น การเงิน หลังจากออกจากอาชีพนักข่าวแล้วถึงได้กลับมาอ่านหนังสือแบบที่เราชอบอีกครั้ง ซึ่งก็เป็นหนังสือที่เราซื้อไว้สมัยที่ที่ทำงานข่าวแล้วไม่ได้อ่านนั้นค่ะ ส่วนมากเป็นหนังสือในแนวสารคดี -มานุษยวิทยา แนวเดียวกับเรื่อง "อนาคตอันเก่าแก่" ที่แปลโดย พจนา จันทรสันติ แล้วก็กลับไปอ่านหนังสือวรรณกรรมเยาวชนอีกครั้งหนึ่ง

ปัจจุบันมีกระแสงานแปลออกมามากมาย คิดว่าเป็นอย่างไรบ้าง ดีหรือเปล่า มีนักแปลในดวงใจบ้างหรือไม่?
ความคิดเห็นเกี่ยวกับงานแปลปัจจุบันคือ ออกมาเยอะมาก มากจนเวลาไปร้านหนังสือนี้ตกใจเลยนะ แล้วก็มีงานแปลมาจากหลากหลายประเทศ ซึ่งดูเหมือนว่าแต่สำนักพิมพ์จับกลุ่มงานแปลของแต่ละประเทศ และแนวงานเอาไว้เป็นโลโก้สำนักพิมพ์ไปเลย ส่วนเรื่องคุณภาพไม่สามารถให้ความเห็นได้เพราะตอนนี้มีลิขสิทธิ์ใช่ใหมค่ะ เราเลยไม่มีสำนวนอื่นออกมาให้เปรียบเทียบ สำหรับในอนาคตคิดว่างานแปลยังคงมีการแข่งขันกันรุนแรงอยู่ เพราะยังมีช่องว่างการตลาดอีกมาก โดยเฉพาะตลาดต่างจังหวัด ซึ่งรับกระแสไปจากส่วนกลางอย่างเต็มๆ และผู้ที่อยู่ได้ในตลาดงานแปลคือ สำนักพิมพ์ที่มีความไวในเรื่องวรรณกรรมต่างประเทศใหม่ๆ เพราะลูกค้ากลุ่มใหญ่คือคนสมัยใหม่ ต้องการข้อมูลใหม่ๆ เรื่องราวใหม่ๆ ถ้าคุณซื้อลิขสิทธิ์ไม่ทัน ก็จบกัน แต่มีเรื่องน่าคิดนิดหนึ่งคือสำหรับสำนักพิมพ์ที่เร่งออกงานมามาก โดยจับกระแสการตลาดไม่เป็นก็อาจจะเจ็บตัวได้เหมือนกัน ซึ่งตรงข้ามกับสำนักพิมพ์ที่แม่นเรื่องการตลาด ซึ่งเราจะเห็นว่าออกมาเล่มเดี่ยว หรือชุดเดียวกินกันได้นานเลยค่ะ

สำหรับนักแปลที่ชื่นชมเหรอค่ะ ตอบยากมาก เพราะเวลาอ่านหนังสือไม่ได้ดูว่าใครแปล เอาที่อ่านแล้วทึ่ง เช่นคุณ แอนน์ (สด กูรมะโรหิต) ที่แปลชู้รักเลดี้แชตเตอร์เลย์ แล้วก็ ดร.กิ่งแก้ว อัตถากร และ คุณภัควดี วีระภาสพงษ์ คือสองท่านหลังนี้ทึ่งเรื่องการใช้ภาษานะค่ะ สำหรับดร.กิ่งแก้วภาษาสวยแบบบทกวี ส่วนภควดีนั้นภาษาของเธออลังการเหลือเกิน คล้ายๆกับงานแปลของคุณ สุริยฉัตร ชัยมงคล อย่างไงอย่างนั้น

ค่าตอบแทนของนักแปลบ้านเราพอเรียกว่าเป็นอาชีพได้หรือไม่?
ถามเรื่องค่าตอบแทนสำหรับการแปลหนังสือว่าอยู่ได้หรือเปล่า คือ ถ้าคุณเป็นคนร่ำรวย แล้วมีความสามารถทางด้านภาษาทั้งต้นทางและปลายทาง คุณอยู่ได้แน่นอนค่ะ แต่สำหรับอย่างดิฉัน บอกตรงๆว่าอยู่ไม่ได้ ต้องมีงานอื่นที่ใกล้เคียงและต่อเนื่องกันมาช่วย เช่นแปลเอกสาร บทความ รับงานวิจัย อย่างไรก็ตามการอยู่ได้หรือไม่ได้ของคนแปลวรรณกรรมขึ้นอยู่กับโชคด้วยนะคะ หากคุณแปลออกไปแล้ว ตลาดตอบรับอย่างไม่คาดคิดมาก่อน ถ้าดิฉันเป็นคนแปลหนังสือเล่มนั้น ดิฉันอยู่ได้แน่นอนค่ะ เพราะไม่ใช่คนที่ต้องการอะไรในชีวิตที่มันนอกเหนือจากปัจจัยสี่มากนัก คืออยากจะบอกว่าในความรู้สึกแล้วการแปลหนังสืออยู่ได้หรือไม่ได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างที่อยู่รอบตัวคนแปล ไม่สามารถฟันธงได้หรอกค่ะว่าอยู่ได้หรือไม่ได้

ปัจจุบันทำอะไรอยู่บ้าง
ปัจจุบันนั่งแปลหนังสืออยู่เล่มหนึ่ง ซึ่งก็ยากอยู่เหมือนกัน เป็นเรื่องเกี่ยวกับดินแดนอันสงบสุขที่นักเดินทางต่างใฝ่ฝันที่จะไปเยือน คิดว่าอีกไม่นานคงจบแล้ว แปลเรื่องสั้นบ้างและเขียนบทความเชิงเศรษฐกิจให้นิตยสาร ซึ่งนานๆครั้งจะเขียน เป็นรายการที่คุณขอมา เขียนวรรณกรรมเยาวชนค้างไว้อยู่เรื่องหนึ่ง แล้วก็มีโครงเรื่องของเรื่องสั้น นวนิยายอยู่ แต่ยังไม่มีเวลาสะสางออกมาเลย

ผู้แปลหนังสือเป็นเหมือนดังสะพานที่ทอดเชื่อมระหว่างสองโลกเข้าด้วยกัน เพื่อให้ผู้อ่านได้ก้าวผ่านเข้าไปในดินแดนมหัศจรรย์ เชื่อว่าผู้อ่านหลายคนนั้นคงมีความสุขกับการได้ผ่านข้ามไปมา เพื่อไปสู่สวนอักษรที่งดงามและสนุกสนานนี้

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ