เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย : เจ้าของผลงานเขียนกระตุ้นต่อมเดินทางอย่าง "เหยียบโลกเล่นไม่เห็นช้ำ"

เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย

'เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย' คือนามปากกาของนักเขียนสาวขยันเที่ยว เจ้าของผลงานเขียนกระตุ้นต่อมเดินทางอย่าง "เหยียบโลกเล่นไม่เห็นช้ำ" "เดินเล่นบนหลังคาโลก Seven Days in Tibet" และอื่นๆ อีกมากมาย รวมทั้งงานเขียนคอลัมน์และงานแปลอีกสามเล่ม ล่าสุดคือ "ลาก่อน ทซึกุมิ"

ไลฟ์สไตล์ของเพลงดาบแม่น้ำร้อยสายนั้นน่าอิจฉามาก เธอเป็นเหมือนนก ที่สามารถท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่างๆ ของโลกโดยเสรีอย่างที่ใจอยากจะไป และได้ทำงานอย่างที่ใจอยากจะทำ เธอเขียนเรื่องเล่าจากการเดินทางท่องเที่ยว เขียนคอลัมน์ ทำงานแปล และเขียนบทละครบ้างเป็นบางครั้ง

เป็นชีวิตอิสระของศิลปินแท้ๆ เลยนะคะ เราส่งอีเมลไปหาเธอ ถามเธอว่า พอจะมีเวลามาคุยนอกรอบกับเราบ้างไหม เธอโทรกลับมาเพื่อนัดวันเวลากับเรา

วันที่ 10 ตุลาคม เวลาบ่ายแก่ๆ เราเปิดประตูร้าน Rain Maker เดินเข้าไปด้วยสีหน้าเลิ่กลั่ก เพลงดาบแม่น้ำร้อยสายมาถึงก่อนเรานานแล้ว และกำลังขีดเขียนรูปลงบนสมุดเล่มเล็ก หลังจากที่ได้เอ่ยคำทักทายกันและกัน เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย (ซึ่งต่อไปนี้จะขอเรียกเธอว่า พี่เหว่า) ใจดีเอื้อเฟื้อกาแฟหอมกรุ่นให้เรา 1 แก้ว แล้วเราก็เริ่มการสนทนา…

พี่เหว่าเริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่เมื่อไหร่คะ
เริ่มมาตั้งแต่ปี 29 นะ ตั้งแต่เรียนมหาลัย แต่ไม่ได้เขียนติดต่อกันมาโดยตลอดหรอก มีเว้นพักไปใหญ่ช่วงที่ทำงานทีวี

นามปากกาพี่เก๋มาก ได้ยินครั้งแรกก็จำติดหูเลย
แต่บางคนไม่จำเลยนะ เขาว่ามันยาวไป ขี้เกียจจำ (หัวเราะ)

เพลงดาบแม่น้ำร้อยสายคืออะไรหรือคะ
นี่เป็นคำถามที่เจอบ่อยมากเลย มันมาจากละครตอนเด็กๆ นะ เป็นละครญี่ปุ่น ชื่อ "ซามูไรพ่อลูกอ่อน" เพลงดาบแม่น้ำร้อยสายเป็นชื่อท่าไม้ตายของพระเอกน่ะ ทำไมพี่เหว่าถึงชอบ

การเขียนหนังสือ
ตอนแรกที่เริ่มเขียนไม่ได้รู้ตัวว่าชอบหรือว่าอยากเป็นนักเขียนนะคะ คือการถ่ายทอดความคิดความรู้สึกมันสามารถทำได้หลายอย่าง แต่ในบางภาวะ การเขียนมันทำให้เราได้เรียบเรียงความคิดน่ะ เหมือนกับช่วงวัยรุ่นที่เราได้เขียนกลอน บทรำพึงรำพันเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกของเราออกมาเป็นตัวหนังสือ ตอนนั้นก็เด็กๆ นะ ม.4 - ม.5 ก็เขียนโดยไม่ได้มีจุดมุ่งหมายอะไร นอกจากเป็นการแสดงความคิดความรู้สึกตามอารมณ์ ตามประสาวัยรุ่น
แต่มาชอบการเขียนจริงๆ ตอนเรียนที่ ม.ช. ตอนที่ได้เขียนลงในไปยาลใหญ่แล้ว เพราะเรารู้สึกว่าตอนที่เราเขียนมันได้อยู่กับกระดาษ ปากกา แล้วก็เล่าเรื่องไป และเราเล่าด้วยความอยาก มีความอยากที่จะเล่า สนุกที่จะเล่า คำว่าสนุกนี่ไม่ใช่ว่ามันขบขันโปกฮานะคะ แต่มันสนุกที่ได้เล่า อยากเล่า ระหว่างที่เขียนมันก็เลยเป็นความสนุก
ในช่วงแรกที่เขียนหนังสือเราจะรู้สึกว่า เมื่อไรที่เราได้นั่งลงแล้วก็เล่าเรื่องลงบนกระดาษ มันจะสนุก เท่านั้นเอง ตรงนี้คือสิ่งที่ทำให้เราชอบการเขียน แล้วพอมันได้รับการยอมรับ ผ่านการพิจารณาจากบ.ก.ให้ตีพิมพ์ มันก็จะเกิดความสุขใจขึ้นอีกแบบหนึ่ง คือสุขกับผลพวงที่ตามมา เออ มีคนอ่านแล้วเขาชอบ ได้ตีพิมพ์อะไรอย่างนี้นะคะ ก็เป็นความสุขที่ตามมาอีกทีนึง

ในการทำงานเขียนของพี่ ตอนไหนที่มีความสุขที่สุดคะ ตอนนั่งเขียน ตอนที่บ.ก.บอกว่ามันจะได้กลายเป็นเล่ม หรือตอนที่ได้รับเสียงตอบรับจากคนอ่าน
สุขที่สุดตอนที่เขียนเสร็จ ทุกวันนี้ตอนที่เขียนงานเสร็จแล้วรู้สึกว่าเราเขียนได้อย่างที่อยากเขียน มันจะเป็นความสุขที่สุดแล้ว ณ ตรงนั้น ส่วนมันจะได้ตีพิมพ์หรือเปล่านั้นมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง มันไม่เกี่ยวข้องกัน พี่คิดว่านะ แต่เมื่อไหร่ที่เราเขียนเสร็จแล้วรู้สึกว่าได้อย่างที่อยากเขียนนะ สุขที่สุด

แล้วเคยเขียนเท่าไหร่ๆ ก็ไม่ได้อย่างที่อยากเขียนไหมคะ
ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ต้องแก้ แก้ไปเรื่อยๆ คือมันก็มีบ้าง แต่ก็ต้องแก้เอาจนได้น่ะ

ไม่มีเรื่องของเวลามาจำกัดเหรอคะ อย่างเรื่องการเขียนคอลัมน์ มันมีกำหนดส่งนี่คะ
ใช่ คอลัมน์ประจำมันมีเรื่องเวลา แต่ทีนี้พอเรารู้ว่ามีเรื่องเวลานี่ก็ต้องมีการแก้ปัญหา อย่างตอนนี้ที่เขียนคอลัมน์ฉากรักให้มติชน ซึ่งมันจะมีภาพสีน้ำด้วย เราก็จะรู้ว่าเราต้องเขียนทุกอาทิตย์ เราก็จะรู้ว่าเราต้องวาดรูปวันไหน เขียนเรื่องวันไหน ส่งงานวันไหน และพี่จะสต๊อกไว้ก่อน สมมติว่าจะเปิดคอลัมน์ฉากรักขึ้นมา พี่ก็ต้องมีอยู่แล้วอย่างน้อย 15-20 ตอน ไม่ใช่เขียนเสร็จนะคะ แต่ต้องมีลิสต์เอาไว้ ว่ามีเรื่องนี้ๆๆ ถ้าพี่ไม่เห็นอนาคต พี่จะเขียนคอลัมน์ไม่ได้นะเพราะว่าพี่เป็นคนทำงานช้า คือไม่มีทางทำทันทุกอาทิตย์หรอกถ้าไม่คิดไว้ก่อน ก็ต้องคิดพล็อตเป็นโครงไว้ แล้วระหว่างที่เราเขียนหากินกับ 15-20 พล็อตที่เก็บไว้ เราก็ต้องคิดล่วงหน้าเพิ่มไปเรื่อยๆ ให้ได้ 5 ตอนล่วงหน้า 10 ตอนล่วงหน้า แล้วเก็บไว้ พอถึงเวลาที่ต้องทำจริงๆ มันจะใช้เวลาไม่มาก เพราะว่างานเขียนมันจะช้าตอนคิด คือถ้าคิดได้แล้วเนี่ยลงมือเขียนมันก็จะใช้เวลาไม่นานนะ

แล้วถ้าพี่เกิดอาการคิดพล็อตใหม่ไม่ออก แล้วของเก่าก็ค่อยๆ งวดลงๆ ล่ะคะ จะทำยังไง
ตอนนั้นเราก็จะรู้แล้วว่าคอลัมน์เราจะปิดเมื่อไหร่ อย่างสมมติที่พี่เขียนเด็ดดอกไม้ริมทางในแพรวสุดสัปดาห์ พี่ก็จะวางไว้แล้วว่าพี่จะเขียน 24 ตอน เท่ากับเขียนปีหนึ่ง อย่างฉากรักพี่ก็วางไว้ 30 ตอน คือพี่จะทำงานเป็นซีรีส์นะ เป็นชุดแล้วจบ พี่จะไม่สามารถเขียนไปโดย ไปเรื่อยๆ แบบ สี่ปี ห้าปี หกปี ทำไม่ได้ (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นงานที่ออกมาก็จะเป็นชุดของมัน อย่างบุคคลไม่สำคัญของโลกนี่ก็จะเท่านี้จบ พอหมดคนแล้ว ก็ไม่มีแล้ว ปิดคอลัมน์

ไม่มีต่อภาคสองเหรอคะ
อืม สำหรับบุคคลไม่สำคัญของโลกนี่ไม่มี คืออย่างสมมติจบเด็ดดอกไม้ริมทางซึ่งเป็นเรื่องเที่ยวไปแล้ว ฉากรักนี่ก็จะเปลี่ยนคอนเซปต์แล้ว ไม่ทำเหมือนเดิม การที่จะเขียนคอลัมน์ขึ้น

มาแต่ละชุดนี่ พี่เหว่ามีวิธีการทำงานอย่างไรบ้างคะ
เราเป็นคนคิด แล้วก็เอาไปเสนอกองบรรณาธิการ เราก็คิดว่าเราจะทำคอลัมน์แบบนี้นะ มีคอนเซปต์แบบนี้ เนื้อหาอย่างนี้ เค้าจะเอาไหม ถ้าเค้าเอาก็ทำ แต่นอกจากคุยแล้วเนี่ย เราก็จะมีตัวอย่างไปให้เค้าอ่านด้วยนะ อย่างคอลัมน์เอนหลังอ่าน ในแพรวสุดสัปดาห์เนี่ย พี่เขียนไปเลย 3 เรื่อง ให้ บ.ก. พิจารณาว่า บทความของเราจะออกมาในแนวนี้ เป็นเรื่องประมาณนี้นะ สนใจไหม ถ้าเค้าโอเค สนใจ ก็เขียน อย่างคอลัมน์เด็ดดอกไม้ริมทาง ซึ่งเป็นคอลัมน์ท่องเที่ยว พี่เอาไปเสนอที่แพรวสุดสัปดาห์ ซึ่งเดิมในแพรวสุดสัปดาห์เค้าจะมีคอลัมน์ท่องเที่ยวอยู่แล้ว ชื่อ เที่ยวสุดสัปดาห์ เราก็รู้ว่าเขามีอยู่แล้วนะ แต่เราจะเขียนเรื่องท่องเที่ยวอีกก็ต้องคิดว่าทำยังไงจะเสนอผ่าน จะให้เค้าเห็นว่ามันไม่เหมือนกับที่เค้าทำอยู่ยังไง มันจะไม่ซ้ำกันได้ยังไง แล้วเราก็เขียนเรื่องออกมา ทำอาร์ตเวิร์คใส่รูปประกอบไปให้เค้าดูเลยว่าคอลัมน์เราจะเป็นอย่างนี้ คือนอกจากเห็นว่าเนื้อหาแล้วก็ให้เห็นหน้าตาเลย ว่ามันจะเป็นอย่างนี้ เพื่อความสะดวกของคนพิจารณา ถ้าเค้าได้เห็นของตัวอย่างมันจะไม่ต้องนึกอะไรมาก ดีกว่าเราไปพูดๆ แล้วเค้าก็ฟังๆ แต่อาจจะนึกภาพไม่ตรงกับเราอะไรอย่างนี้นะ ก็ทำให้เสร็จก่อนแล้วค่อยเอาไปให้เค้าดู ทีนี้เค้าจะมีความเห็นว่ายังไง จะแก้ยังไง ชอบตรงไหน ไม่ชอบตรงไหนก็จะดูจากตัวอย่าง คุยกันจากตรงนั้น ลักษณะการทำงานพี่จะเป็นแบบนี้

พี่เหว่าบอกว่าเคยหยุดทำงานเขียนไปพักหนึ่ง
ตอนที่ทำรายการทีวีก็เขียนบทรายการทีวีน่ะ ไม่ได้เขียนหนังสือ แต่ที่จริงช่วงเวลามันก็ควบคู่กันไป เพราะตอนที่มาเขียนคอลัมน์ให้แพรวสุดสัปดาห์ ตอนนั้นก็ยังทำอยู่ที่เจเอสแอล ที่เลิกทำงานทีวีเพราะช่วงหลังจากที่เราทำงานไปเรื่อยๆ มันจะเริ่มแน่ใจว่าเราอยากทำอะไร ไม่อยากทำอะไร พี่ก็รู้ว่าเราไม่อยากทำงานโปรดักชั่น อยากเขียนอย่างเดียว ก็เลยลาออกมาเขียนอย่างเดียว ไม่ต้องไปกำกับ ไปตัดต่อ ไปบรีฟ ไม่ต้องไปตามตากล้องอะไรอย่างนี้แล้ว ก็เขียนบทรายการกับเขียนคอลัมน์ แล้วก็มีเขียนบทละครกับเพื่อนๆ ใช้ชื่อ กลุ่มกระดาษพ่อ ดินสอแม่ ก็จะมีคุณบัวไร ปราย'พันแสง พี่จิก ประภาส ชลศรานนท์ ตอนนั้นเขียนให้เทเลไฟว์

ระหว่างละคร เรื่องสั้น บทความ พี่เหว่าสนุกกับงานเขียนแบบไหนมากที่สุดคะ
อืม..(คิดนานมาก) มันคนละแบบนะ ละครมันก็สนุกแบบนึง ไม่เหมือนคอลัมน์ มันเป็นคนละอย่างกัน ไม่เหมือนกันนะ ไม่รู้จะบอกยังไง มันไม่เหมือนกันไม่รู้จะเทียบกันยังไงได้ แต่ถ้าเป็นความถนัด ก็จะถนัดเขียนเรื่องของเรานะ พวกคอลัมน์ บทความนะ

ทราบว่านอกจากเป็นนักเขียน พี่เหว่ายังเป็นนักแปลด้วย ตอนนี้มีผลงานแปลกี่เล่มแล้วคะ
มีคิทเช่น หลับ แล้วก็ ลาก่อน ทซึกุมิ เป็นเล่มล่าสุดค่ะ

ถ้าให้เปรียบเทียบการทำงานระหว่างการเขียนกับการแปล
งานเขียนกับงานแปลเป็นคนละศาสตร์กันโดยสิ้นเชิง คนละอย่างกันเลยนะ งานแปลมันมีการเรียบเรียงก็จริง แต่มันเป็นการเรียบเรียงจากความคิดคนอื่นนะ ไม่ใช่ความคิดของเรา

อะไรคืออุปสรรคในการทำงานของพี่เหว่าคะ
ความขี้เกียจ เป็นอุปสรรคที่ร้ายแรงที่สุดในการทำงาน เพราะว่าพี่เป็นคนเรื่อยเฉื่อย ไม่ใช่คนแอคทีฟ เวลาทำงานมันไม่ใช่ไม่อยากทำนะ อยากทำ รู้แล้วว่าจะเขียนเรื่องอะไร แต่บางทีมันขี้เกียจเขียน มันก็ต้องเข็นตัวเองนะคะ ที่จริงถ้าแอคทีฟกว่านี้ก็น่าจะได้งานเยอะกว่านี้ อาจจะเห็นว่างานของพี่มีเยอะ แต่กว่าจะได้งานมากเท่านี้มันต้องใช้เวลาเป็นสิบปีนะ ซึ่งถ้าเป็นคนอื่นในเวลาที่เท่ากัน เขามีงานมากกว่าเราเป็นสองเท่าสามเท่า

ตั้งแต่ทำงานเขียนมา พี่เหว่าเคยเกิดความรู้สึกเหนื่อย หรือเบื่อบ้างไหมคะ
ไม่ พี่ไม่เคยเบื่อการเขียนนะ แต่เบื่อที่จะเขียนคอนเซปต์เดิมๆ มากกว่า อย่างเช่นเราเคยเขียนเรื่องเที่ยวในลักษณะนี้ ยกตัวอย่าง เขียนเด็ดดอกไม้ริมทาง เขียนมา 24 ตอนนี่ ก็จะรู้สึกแล้วว่าไม่เอาแล้ว เปลี่ยนดีกว่า คิดใหม่ หาคอนเซปต์แบบอื่น แม้จะไม่พลิกผันไปโดยสิ้นเชิงก็ตาม แต่ว่ามันก็มีการเปลี่ยนหลักยึด เปลี่ยนกรอบในการเขียนใหม่ งานก็จะน่าทำมากขึ้นนะ จะเป็นลักษณะนี้มากกว่า

ตอนนี้พี่เหว่าทำงานเขียนอย่างเดียว
ใช่ค่ะ

การเป็นนักเขียนอย่างเดียวมันอยู่ยากไหมคะพี่ เพราะว่าบ้านเรานี่คนอ่านหนังสือน้อยนะ จำนวนพิมพ์แต่ละครั้งก็น้อย
เอาประเด็นที่ว่าคนอ่านน้อย การพิมพ์หนังสือน้อยก่อนนะ พี่เคยคุยกับคนที่ทำสำนักพิมพ์ชาติอื่นๆ ในเอเชียนะ มีญี่ปุ่น สิงคโปร อินโดนีเซีย มาเลเซีย ที่ไม่ใช่เอเชียก็มีออสเตรเลียนะ พี่ก็ถามเค้าว่าหนังสือเค้าพิมพ์ครั้งละกี่เล่ม ปรากฎว่าเค้าก็พิมพ์เท่าเรานะ คือพิมพ์ทีละ 3,000 - 4,000 เล่ม อย่างออสเตรเลียนี่พิมพ์วรรณกรรมทีละ 3,000 เล่มเหมือนกัน เราก็ตกใจ เพราะเราว่าเราน้อยแล้วนะ แต่อินโดก็พิมพ์เท่านี้ มาเลเซียก็เท่านี้ นี่เทียบในภูมิภาคเดียวกันนะ แต่เราไม่พูดถึงเบสท์เซลเลอร์นะ อันนั้นมันเป็นข้อยกเว้น พิมพ์ทีเป็นแสนเล่ม หนังสือของคุณหมอพรทิพย์ก็เป็นแสนเหมือนกันนะ

ถ้าอย่างนั้น แล้วการเขียนหนังสืออย่างเดียวโดยที่ไม่มีอาชีพอื่นรองรับ มันจะอยู่ได้หรือคะ
อยู่ได้นะ แต่ว่าต้องมีเงื่อนไขในการอยู่ เราไม่พูดถึงเบสเซลเลอร์นะ พูดถึงนักเขียนธรรมดาอย่างเรานี่ละ สมมติมีงานเฉลี่ยออกมาปีละเล่ม มันต้องอาศัยระยะเวลาหนึ่ง เช่น สักสิบปีเราก็จะมีหนังสือสิบเล่ม แล้วในช่วงสิบปีนี่เราก็มีเรื่องใหม่ออกมาเรื่อยๆ ในขณะที่เล่มเก่าก็ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำเป็นระยะ ดังนั้นพอผ่านสักระยะเวลาหนึ่ง งานมันก็จะมีมากพอ ก็จะตีพิมพ์หมุนวนอยู่เสมอๆ ก็จะมีรายได้เข้ามาเรื่อยๆ อย่างพี่ธีรภาพ โลหิตกุล หนังสือก็ขายได้เรื่อยๆ ดูสิว่าแกมีตั้งกี่เล่ม พี่เขาก็เลี้ยงครอบครัวได้ด้วยการเขียนหนังสือนะ แปลว่าจะ

ต้องมีช่วงสร้างฐานก่อน
ใช่ๆ ต้องมีช่วงนั้น แล้วนอกจากนั้นก็มีเรื่องการใช้จ่ายของเราด้วย ถ้ามีร้อย ใช้ร้อยสิบยังไงมันก็ไม่พอ ถ้ามีร้อยใช้สักแปดสิบ มันก็อยู่ได้ หรือถ้ารู้ตัวว่ามีภาระที่ต้องใช้เงินมาก มีกิจกรรมในชีวิตที่ต้องใช้ตังค์เยอะ ก็ต้องขยันเขียนให้ได้เยอะๆ คือถ้าไม่ลดรายจ่ายนะ ก็ต้องขยันทำงานให้มากถึงจะอยู่ได้ ไม่งั้นก็ต้องหาจ๊อบอื่นนะ อย่างพี่ก็เขียนบทรายการทีวี เขียนบทละครอะไรไป เพราะการเขียนบทมันได้เงินเยอะกว่างานวรรณกรรม ก็เก็บตรงนี้ไว้ใช้สำหรับการเดินทางท่องเที่ยว แต่ว่าการเขียนบทมันได้เงินเยอะกว่าก็จริง แต่ลิขสิทธิ์ไม่เป็นของเรานะ อย่างเรื่องสั้นนี่ถ้าเราเขียนให้มันอ่านได้นานๆ ไม่เขียนทิ้งเขียนขว้างน่ะนะ พอเอามารวมเล่มมันก็จะมีค่าลิขสิทธิ์ ซึ่งมันจะอยู่กับเราไปตลอดชีวิต แต่การเขียนบทนี่ไม่ใช่ เราก็จะได้ตังเยอะๆ ครั้งเดียว

พี่เหว่ามีความคิดหรือทัศนคติต่ออาชีพนักเขียนยังไงบ้าง
พี่พยายามไม่คิดว่านักเขียนเป็นอาชีพที่พิเศษกว่าอาชีพอื่นนะ ไม่ได้คิดว่ามันพิเศษหรือจะต้องทำได้ยากกว่าอาชีพอื่น หรือว่าต้องมีพรสวรรค์ แต่สิ่งที่ทำให้รู้สึกมันมาจากสิ่งที่เราเห็น เพราะเราก็รู้กันนะว่าอาชีพนักเขียนมันไม่ใช่อาชีพทำเงินนะ แต่ทำไมคนที่เขามีชื่อเสียงอยู่แล้ว มีฐานะอยู่แล้วหลายๆ คนถึงอยากเป็นนักเขียน สมมติคุณเป็นนักร้องนักแสดง นักอะไรต่อนักอะไร แต่คุณก็ยังอยากได้คำว่าเป็นนักเขียนด้วย เราก็คิดว่า ไอ้อาชีพนี้มันต้องมีอะไรสักอย่าง คนถึงได้อยากเป็น มันคงมีเสน่ห์อะไรสำหรับเขานะ แต่สำหรับเรา เราไม่รู้ เพราะเราเขียนหนังสือโดยที่ไม่ได้คิดเรื่องนั้น ไม่ได้คิดว่าอยากได้ชื่อว่าเป็นนักเขียน

มันเป็นเพราะคนส่วนมากรู้สึกว่าการจะเป็นนักเขียนได้ต้องมีพรสวรรค์ ต้องฉลาดหรือเปล่า
ไม่หรอก นักเขียนไม่ได้ฉลาดกว่าคนอ่านหรอก และเราก็ไม่เคยคิดด้วยว่า นักเขียนจะฉลาดไปกว่าคนอ่าน มันไม่จำเป็นหรอก เพียงแต่เราอาจมีประสบการณ์คนละอย่างกันมากกว่า

วงการนักเขียนตอนนี้กับเมื่อสิบปีก่อนมีความแตกต่างกันมากไหมคะ
ถ้าเป็นเรื่องการใช้ชีวิตนี่พี่ไม่ค่อยรู้นะ เพราะพี่ไม่ได้ใกล้ชิดนักเขียน หมายถึงคนที่เขาเขียนหนังสือจริงๆ อย่างเดียวนะ แต่ถ้าจะพูดถึงหนังสือละก็ ตอนนี้เราก็เห็นว่าหนังสือมันขายได้มากขึ้น ดีขึ้น และก็มีหลากหลายมากขึ้น ก็น่าจะอนุมานได้ว่า คนที่อยู่ในแวดวงนี้น่าจะมีรายได้มากขึ้นนะ

การที่คนคนหนึ่งจะมาเป็นนักเขียนได้ พี่เหว่าว่ามันยากไหม?
พี่ว่ามันไม่ได้ยากเย็นอะไรมากนะ ถ้ามีความตั้งใจจริงและเขียนงานใช้ได้ มีคนอ่าน พอขายได้ ก็ใช้ได้แล้วนะ เพราะเมืองไทยนี่การแข่งขันไม่สูงนะ ถ้าเราเขียนได้จริงๆ จะมีคนชอบมาถามว่า เนี่ย หนูจะเขียนเรื่องไปลงที่นี่ คิวยาวไหม พี่จะตอบว่า ต้นฉบับที่ดีไม่มีคิว คือถ้างานคุณดีจริงน่ะ ส่งไป เค้าเอาลงเลย ไม่มีคิวหรอก ให้มันดีจริงเท่านั้นเอง

เดี๋ยวนี้เห็นคนอยากเป็นนักเขียนกันเยอะมาก แล้วก็จะกลัว จะไม่รู้ว่า จะต้องคิดยังไง ทำยังไง เริ่มยังไง
จะพูดยังไงดีล่ะ นี่อาจจะเป็นการคิดจากตัวเองนะ คือพี่ไม่เคยถามใครเลยว่ามันต้องคิดยังไง เริ่มยังไง ทำยังไง เพราะเวลาเราอยากเขียน เราก็นั่งแล้วลงมือเขียนเลย ไม่มัวมาตั้งคำถามแบบนั้น มันมาจากความอยากข้างใน มันมีแรงกระตุ้น คือถ้าเราอยากเขียนจริงๆ ต่อให้เราไม่รู้อะไรเลย เราก็จะเขียนน่ะ ส่วนเรื่องถามนั้น พอเขียนจบก็ค่อยให้คนอื่นช่วยอ่าน แล้วค่อยมาตั้งคำถามว่าเป็นยังไง สนุกไม่สนุก แล้วก็ค่อยว่ากันอีกที อย่างคนที่ถามว่า จะเริ่มยังไงนี่ คือเรื่องคิดอย่างไรนี่มันบอกไม่ได้อยู่แล้วนะ บางคนบอกพี่ว่า หนูอยากเขียนๆๆ เราก็บอก เอาเลย เขียนสิ เค้าก็บอกว่าไม่รู้จะเขียนเรื่องอะไร ตอนนี้ก็ต้องกลับไปที่ศูนย์ใหม่ คือมันต้องเริ่มมาจากมีสิ่งอยากจะเขียนก่อนนะ แล้วก็เขียนให้เสร็จก่อนค่อยเอามาถามคนอื่นดีกว่าว่ามันอ่อนด้อยตรงไหน มันมีข้อบกพร่องตรงไหน

แล้วตอนนี้พี่เหว่ามีโครงการจะเขียนอะไรใหม่ๆ อีกไหมคะ
มี คิดอยู่นะ แต่ยังไม่ลงตัว แล้วก็ยังคิดไม่ทะลุค่ะ เลยไม่รู้จะบอกยังไง คือพี่เป็นคนที่ทำงานแล้วต้องมีหลัก เรียงลำดับความคิดให้ได้ก่อน แล้วจึงจะทำออกมานะ ไม่งั้นมันไม่รู้ว่าจะทำยังไงต่อไป

สุดท้ายแล้วค่ะ พี่เหว่ามีอะไรจะฝากถึงนักอยากเขียนทั้งหลายบ้างไหมคะ
ก็อยากบอกว่า ให้ทำก่อนค่ะ เขียนออกมาก่อนแล้วค่อยถามดีกว่า ลองเขียนออกมาก่อน อย่าเพิ่งสงสัยอะไรมากในชั้นต้น นี่สำหรับคนที่ยังไม่เคยเขียนอะไรเลยนะคะ เอาล่ะ นัก(อยาก)เขียนทั้งหลาย ได้คำแนะนำดีๆ จากนักเขียนมืออาชีพอย่างเพลงดาบแม่น้ำร้อยสายแล้ว ก็เลิกตั้งคำถามได้แล้วนะคะ เริ่มลงมือเขียนกันเสียที เผื่อว่า สักวันจะได้ใช้ชีวิตอย่างเธอบ้างไงคะ

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ