จรูญพร ปรปักษ์ประลัย : งานวิจารณ์ มันไม่ใช่การหยิบหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมาด่า

จรูญพร ปรปักษ์ประลัย

      วงการวรรณกรรมเมืองไทยที่ใครว่าแคบ หากแต่ยิ่งลงลึกไปถึงงานวิจารณ์วรรณกรรมด้วยแล้ว ส่วนของการวิจารณ์วรรณกรรมเทียบกับจำนวนชิ้นงานวรรณกรรมทั้งหลายที่ออกมา มันช่างน้อยนัก และในปัจจุบัน ดูเหมือนบรรยากาศแห่งการวิจารณ์วรรณกรรมดูจะไม่คึกคักและเข้มข้นเหมือนดั่งเช่นเก่าก่อน ‘จรูญพร ปรปักษ์ประลัย’ หนุ่มนักวิจารณ์ ผู้ถือคติ ‘คิดให้มากกว่าที่เขียน เขียนให้อ่านง่ายกว่าที่คิด’ เป็นนักวิจารณ์อีกผู้หนึ่งที่ทำงานวิจารณ์วรรณกรรมอย่างต่อเนื่อง เขาเลือกวิธีการสื่อสารกับคนอ่านด้วยภาษาที่อ่านง่าย ไม่ยึดติดกับภาษาทางวิชาการมากเกินไปจนทำให้ผู้อ่านเบื่อไม่อยากอ่านงานวิจารณ์ และเมื่อ ปีที่ผ่านมาเขาเพิ่งจะคว้ารางวัล มล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณเป็นคำรบที่สอง

- รู้มาว่างานหลักๆ ของคุณคือทำแอนิเมชั่น ?
ครับ ผมทำแอนิเมชั่น ก็ทำทั้งหนังใหญ่ทั้งซีรี่ส์ ตอนนี้มุ่งหนังใหญ่อยู่ หน้าที่ที่ทำก็จะเป็นงานทางด้านครีเอทีพ คิดเรื่องเขียนบททำนองนี้ล่ะครับ


- เริ่มเข้ามาในวงการวรรณกรรมตั้งแต่เมื่อไหร่ ?
ก่อนที่จะมีงานมีทั้งงานวิจารณ์และงานเขียนอื่นๆ ตอนนั้นยังเรียนอยู่ที่คณะวารสาร ธรรมศาสตร์ พอดีมีเพื่อนอยากทำหนังสือ ในเชิงแนะนำหนังสือ เป็นหนังสือที่ชื่อว่า “บุ๊ครีวิว” มีธีระ บุญโสภีเป็นบก. อ.มาลา คำจันทร์เป็นที่ปรึกษา ก็ทำได้พักหนึ่ง และในขณะเดียวกันเริ่มเขียนงานแนะนำกึ่งๆวิจารณ์หนังสือส่งไปที่อื่นด้วย เริ่มจากที่สีสัน งานชิ้นแรกเป็นของพี่จำลอง ชื่อเรื่อง “รอยยำระบำฝุ่น” หลังจากนั้น เมื่อสีสันลงให้ ก็เลยเขียนส่งเค้าเรื่อยๆ จนกลายเป็นกิจวัตรประจำวัน จนสักพักหนึ่งเราเริ่มมีตัวตนในแง่งานวิจารณ์ ก็มีสนามอื่นๆ เพิ่มเข้ามา อย่างฐานฯ ก็จะมีเรื่องสั้นอะไรอยู่ มีโลกนวนิยาย สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ในจุดประกาย มีอีกหลายๆเล่ม ซึ่งในยุคเเรกๆ จะเป็นงานเชิงวิจารณ์และการศึกษางานของคนอื่นๆ ถ้านับเวลาเริ่มเขียนก็ประมาณปี 2534-2535 ช่วงนั้นเรียนปีสุดท้าย และเริ่มเข้ามาเขียนอะไรพวกนี้จริงจัง


- เรียนที่ธรรมศาสตร์ปีใกล้ๆกัน เคยเจอกกับภาคย์ จินตนมัย บ้างหรือเปล่า?
กับภาคย์ เคยจับกลุ่มกัน ถ้านับรุ่นจริงๆภาคย์เป็นน้องแต่อายุเขาเยอะกว่า เป็นกลุ่มวรรณศิลป์ กับเพื่อนอีก 2-3 คน มีอ.ธเนศ เวศร์ภาดา เป็นที่ปรึกษาของกลุ่ม ตั้งชื่อกันเล่นๆว่า “บ่อนวรรณกรรมแสงตะวัน” พี่ตี๋-ดับเบิ้ลนาย ก็อยู่ด้วย ตอนนั้นเป็นเหมือนช่วงของการเติบโต


- งานด้านวรรณกรรมในช่วงนี้
หลักๆก็ยังเหมือนเดิมคือจะเป็นการเขียนงานวิจารณ์วรรณกรรม มีลงประจำที่สีสัน อีกที่ก็คือโพสทูเดย์ เขียนเสาร์เว้นเสาร์ เป็นแนะนำหนังสือกับวิจารณ์ แต่จะสั้นหน่อย เพราะเนื้อที่มันน้อย ก็พยายามทำงานวิจารณ์เรื่อยๆ เพราะอยากให้มีบรรยากาศแบบนี้ แล้วก็จะมีงานเรื่องสั้นทยอยลงที่ต่างๆ มีช่วงหนึ่งได้เขียนงานเรื่องสั้น คาดว่าปีนี้จะมีรวมเล่มเรื่องสั้นเล่มแรก และยังมีเขียนบทวิจารณ์ภาพยนต์ สารพัดที่จะเขียนล่ะครับเรียกว่าเขียนหลากหลายเหมือนกัน


- รวมเล่มเรื่องสั้นทำไปถึงไหนเเล้ว?
คุยกับกุดจี่-พรชัย แสนยะมูล ทางไม้ยมกไว้ ส่วนหนึ่งเพราะเขียนให้เขาอยู่ จากเล่มที่รวมจากหลายๆนักเขียน และที่เคยร่วมทำงานกับเขาก็แฮปปี้ เขาตั้งใจทำหนังสือ ทำออกมาสวย เลยเสนอให้เค้าเป็นที่แรก ช่วงนี้ก็กำลังทบทวนครั้งสุดท้าย


- เป็นเรื่องสั้นแนวไหน?
เป็นเรื่องเกี่ยวกับความรัก แต่จะไม่ใช่หวานแหวว มีภาพฉากของสังคมเมือง มันสะท้อนแง่มุมความรักในปัจจุบันที่มันมีปัญหาเข้ามาด้วย


- แล้วงานรวมเล่มวิจารณ์ล่ะ?
งานร่วมบทความที่เขียนลงในจุดประกายวรรณกรรม “พลังที่พุงผ่านชีวิต” เราตั้งโจทย์กับตัวเองว่า สำหรับคนที่ใฝ่ฝันจะเป็นนักเขียน เขาต้องเจออะไรบ้าง ต้องใช้ชีวิตอย่างไรถึงจะอยู่กับอาชีพที่ตัวเองรักได้ แล้วก็เอามาเขียนเป็นคอลัมน์ พอเป็นกลุ่มเป็นก้อนก็เอามารวมเล่ม


- ยังมีงานเขียนอะไรอีกบ้าง
ก็จะมีเล่ม “Animation Says Hi!” เขียนเกี่ยวกับ ความรู้เรื่องแอนิเมชั่น


- จะถนัดงานเขียนวิจารณ์มากกว่าเรื่องสั้นใช่ไหม?
คือวิจารณ์มันชำนาญ เพราะนับถึงตอนนี้เขียนมา14 ปีแล้ว ก็จะเขียนมาตลอด แทบจะบอกว่าเป็นคนวิจารณ์ที่ทำงานต่อเนื่องที่สุดก็ว่าได้ ไม่เคยเว้นระยะเลย แล้วก็มีสนามหลายที่ อย่างน้อยจะมีในสีสัน ถ้ามีพลังหรือเวลา หรือมีคนที่อยากได้งานของเรา ผมก็จะเขียนให้ที่อื่นด้วย อยากให้มีบรรยากาศของการวิจารณ์ยังมีอยู่ ถ้าทำต่อไปได้ก็ยังอยากทำต่อไป


- กับรางวัลหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ?
รางวัลหม่อมฯ ผม ได้รางวัลดีเด่น เมื่อปี 2538 ตอนนั้นเราก็ยังเป็นคนหนุ่มไฟแรง ส่วนกระแสที่ตอบมาตอนนั้น คือมีคนบอกเราเขียนไม่เหมือนนักวิชาการเขียน เราเขียนในแบบสำนวนที่สื่อสารกับคนทั่วไปมากกว่า ผมจะใช้ทฤษฎีจากสื่อสารมวลชนเพราะผมเรียนมา ก็เน้นว่าวรรณกรรมชิ้นนี้ต้องการสื่อสารอะไรกับเรา และเรารู้สึกสั่นสะเทือนไปกับสิ่งที่ผู้เขียนให้มากขนาดไหนจนกระทั่งเมื่อปีที่แล้ว คือผ่านมาได้ 10 ปี เราคิดว่าเราควรตรวจสอบตัวเองว่ามีพัฒนาการหรือเปล่า เลยลองส่งอีกที ครั้งนี้ก็ได้รางวัลอีกเป็นครั้งที่ 2


- รู้สึกอย่างไรกับเวทีวิจารณ์ที่มีน้อย?
รู้สึกเหมือนกัน คือไม่อยากพูดว่าเวทีวิจารณ์มีน้อย แต่จริงๆแล้วเวทีวรรณกรรมมันก็น้อยด้วย สนามเรื่องสั้น สนามกวีก็น้อยมันน้อยไปหมด บรรยากาศมันค่อนข้างนิ่ง ไม่เหมือนช่วงที่มียุคโลกหนังสือ ถนนหนังสือ ไรท์เตอร์ มันมีบรรยากาศบางอย่างที่มันสนุกสนานกว่านี้ มีการวิพากษ์วิจารณ์ที่เข้มข้นกว่านี้ ถ้าเรากลับไปดู จะเห็นว่ามันเข้มขั้นมากๆ มีคนจากหลายสายเข้ามา ทั้งในเชิงจิตวิทยา ภาษาวรรณศิลป์ ประวัติศาสตร์ มันมีตัวเลือกให้กับคนอ่านหลายๆมุม ผมว่ามันน่าสนใจกว่า เพราะอย่างผมเองก็เเค่มุมหนึ่ง ถ้ามีคนอื่นมาด้วยมันจะดีมากเลย แล้วถ้าจะเปรียบเทียบกับจำนวนหนังสือที่ออกมาตอนนี้ สัดส่วนมันน้อยมากๆ มันออกหลายเล่มหลายปก เทียบกับที่วิจารณ์มันน้อยมาก อย่างผม ผมก็เลือกมาได้ไม่มาก ปีหนึ่งก็แค่ประมาณ 40 เล่มได้ ก็ยังอยากเขียนให้ได้มากกว่านี้


- สำหรับนักเขียน คุณคิดว่าการวิจารณ์จำเป็นไหม?
ที่ทำมาตลอดก็เพราะคิดว่ามันจำเป็น คืองานเขียนทุกชิ้น ถ้าไม่ถูกพูดถึงมันจะกลืนหายไปจากการรับรู้ของสังคม แต่ถ้ามีคนพูด ในมุมไหนก็ตามมันทำให้หนังสือนั้นจะถูกจับตามองขึ้นมา อาจจะบอกว่ามันเป็นการเพิ่มคุณค่าให้หนังสือเล่มนั้นด้วยซ้ำ หนังสือเล่มหนึ่งมันมีหลายแง่หลายมุมอยู่ในนั้น ถ้ามีคนพูดถึงมันหลายๆมุม จะน่าสนใจขึ้นมามากๆเลย อย่างตอนที่อ.ธเนศ เวศร์ภาดาทำเรื่องประชุมไรสักอย่างหนึ่งนี่ล่ะ ผมไม่แน่ใจ ที่พูดถึงเรื่องของอาจารย์มาลา คำจันทร์ ‘พระธาตุอินทร์เเขวน’ ก็รวบรวมงานวิจารณ์จากหลายๆคน เล่มนั้นจะมีบทวิจารณ์จากหลายมุมมอง ทำให้รู้สึกว่าหนังสือเล่มหนึ่งสามารถแตกออกไปได้ขนาดนั้นเลย นี่คือถึงว่าการวิจารณ์มันเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งถ้าเขียนๆแต่ไม่มีคนวิจารณ์ ผมคิดว่านักเขียนอาจหงอยก็ได้


-งานวิจารณ์หรือแนะนำหนังสือเดี๋ยวนี้เกือบจะกลายเป็นคอลัมน์ยอวรรณกรรมไปแล้ว...ว่ามั้ย?
แล้วแต่คน แล้วแต่ชิ้นงาน อย่างผม ผมพยายามหาจุดดีของแต่ละชิ้นงาน และในขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งจุดที่น่าจะบอกว่าสามารถพัฒนาไปได้อีก ถ้าจะถามว่ามันเป็นการมานั่งชมกันหรือเปล่า อันนี้อยู่ที่การทำงานของนักวิจารณ์แต่ละคน แต่ต้องมองตรงนี้ด้วยว่า การวิจารณ์ไม่ใช่การหยิบหนังสือขึ้นมาด่า มันคือต้องวิเคราะห์ว่าเราเห็นด้วยไม่เห็นด้วยกับเขามากกว่า


-มีหลักที่ใช้ในการวิจารณ์ไหม?
ผมใช้หลักกว้างๆอย่างแรก ผมเลือกหนังสือที่ผมสนใจ ในขณะเวลานั้นๆ ในแต่ละเดือน ผมก็สนใจต่างกันไป หยิบขึ้นมาอ่านรอบหนึ่งก่อน เเล้วดูว่าเราจะวิจารณ์ด้วยเครื่องมืออะไร เหมือนกับช่างนะครับ ที่ต้องหยิบประเเจให้มันถูกกับตัวน็อตหรือหยิบเครื่องมือให้เหมาะกับงาน ผมจะไม่ใช่นักวิจารณ์ที่มีทฤษฎีที่ชัดเจน ที่มันต้องเข้ามาในอยู่ในกรอบนี้หมด อย่างบางเรื่องเด่นในภาษามากๆ ก็วิจารณ์ตรงนั้น อย่างบางเล่มภาษาอาจขรุขระแต่เนื้อเรื่องดีมากๆแก่นลึกซึ้งก็จะวิจารณ์ในจุดนี้ แล้วแต่ว่าแต่ละเล่มดียังไง หลักอีกอย่างที่ผมว่าสำคัญและทำมาตลอดคือ การที่จะให้งานวิจารณ์มันสื่อสารด้วยตัวเองได้ อย่างผมอ่านงานที่วิชาการมากๆก็ไม่ชอบเหมือนกัน หรือการอ้างอิงวิชาการมากไป ภาษาอังกฤษเยอะมาก ผมว่ามันขัดขวางความเข้าใจของคนอ่าน ผมจะพยายามเลี่ยง วิธีการของผม ผมพยายามสื่อสารกับคนอ่านให้ได้ง่ายที่สุด แต่เราต้องคิดให้ลึกกว่าที่เขียน นึกให้ได้เท่าที่จะนึกได้ แล้วถ่ายทอดออกมาให้ง่ายที่สุด


-นักเขียนบางท่านหลีกหนีผู้คนเพื่อที่จะได้ทำงานอย่างเงียบๆ แล้วจรูญพรล่ะ?
เป็นเฉพาะบุคคลจริงๆเลย คืออย่างหลายๆคนสามารถทำงานในสภาพแวดล้อมวุ่นวายได้ อย่างอ.คึกฤทธิ์ อยู่ในสำนักงานหนังสือพิมพ์ คนเดินพลุกพล่านไปหมด แกก็นั่งทำงานได้ แต่บางคนต้องเงียบ ต้องอยู่เงียบๆคนเดียวในทุ่งในนาในสวน ในอะไรก็แล้วแต่ แต่โดยหลักการ การเป็นนักเขียนมันจำเป็นจะต้องอยู่กับคนเจอคน ต้องพูดคุยกับคน เวลาที่ทำงานเขียนเราต้องสื่อสารจากตัวเราไปสู่บุคคลต่างๆ แต่นักเขียนที่ไม่ค่อยเจอผู้เจอคนเหมือนคุยกับตัวเอง บางที่อาจมีปัญหาในการสื่อสาร คนอ่านรับได้ลำบาก สำหรับผม ผมชอบอยู่กับคนมากกว่า ผมว่ามันเป็นประโยชน์สำหรับคนที่ทำงานเขียน


-แบ่งเวลากับงานเขียนอย่างไร?
ก็แล้วแต่ล่ะครับ ผมต้องทำงานประจำตามหน้าที่หลักๆของบริษัท ก็รับผิดชอบงานไป งานเขียนนั้น ว่างก็เขียน ไม่ได้ฟิก เป๊ะๆว่าต้องเป็นวันไหนตอนไหนขนาดนั้น


-เเล้วต้องรอให้มีอารมณ์ในการที่จะเขียนงานด้วยหรือเปล่า?
เรื่องสร้างอารมณ์ก็มีบ้าง แต่ส่วนใหญ่ถ้าคิดจนจบแล้วมันไม่ต้องอาศัยอะไรมาก คือมันจะลื่นออกไปสิ่งที่ทำในขณะเขียนคือ สำนวนให้มันสละสลวย มีพลังในการสื่อสารได้อย่างที่เราอยากสื่อสาร แต่ถ้าคิดไม่ออกว่าข้างหน้ามันจะเป็นอย่างไร อาจต้องมีอารมณ์มีสมาธิเยอะๆเหมือนกัน


-เรื่องสั้นที่ดีๆ ต้องมีอะไรเด่น?
ต้องมองรวมๆงานวรรณกรรมทุกอย่างต้องมองรวมๆ มองอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ทุกอย่างต้องสื่อไปในทางเดียวกัน ทั้งเนื้อเรื่องทั้งตัวรูปแบบตัวภาษา อย่างนักเขียนแต่ละคน จะเด่นไปคนละแบบ บางคนเรื่องเด่น รูปแบบบดี แต่เราต้องดูรวมๆว่า รูปแบบมันรองรับเนื้อหาขนาดไหน บางที่เด่นแต่แค่ทำรูปแบบให้ดูแปลกตาเท่านั้นเองก็ยังถือว่าเป็นงานเขียนที่ยังไม่ดีเท่าไหร่ แต่ในขณะที่บางเรื่องเล่าเรื่องปกติตามสูตรเรื่องสั้น ก็อาจเป็นเรื่องสั้นที่ดีได้ แต่สำคัญก็ภาษา คือเป็นเบสิก ภาษาไม่ผ่านอย่างอื่นก็ยากแล้วล่ะ


-เวลาที่เลือกงานมาวิจารณ์ ถ้ารู้จักเป็นส่วนตัว มันจะมีผลในการวิจารณ์งานด้วยไหม?
ผมเองก็คงมีบ้างเหมือนกัน คือแบบนี้ครับเวลาเราทำงาน ถ้าเราโกหกคนอื่น เขาก็จะจับได้ ถ้าเขาจับได้มันก็ไม่มีผลดีกับคนเขียนเท่าไหร่ ผมก็เขียนแบบนี้ล่ะ กลางๆพยายามถอยออกมามอง พยายามเขียนตามความรู้สึกจริงๆจากตัวหนังสือ โดยไม่ได้คิดว่าคนนี้สนิทกับเรา


-แล้วกรณีการตัดสินรางวัลวรรณกรรมล่ะ?
การตัดสินจะต่างจากวิจารณ์หน่อย อย่างผมทำงานวิจารณ์นี่ บางเล่มอาจดีมากเลยนะแต่ผมไม่มีมุมจะเขียนถึงผมก็ไม่เขียน แต่เวลาตัดสินต้องเอาหนังสือทุกเล่มมาเทียบกันดู ทุกแง่ทุกมุม ทั้งเนื้อเรื่อง ภาษา การนำเสนอ ความสมบูรณ์ของเล่ม เราต้องดูทั้งหมด แล้วตัดสินออกมาจากตรงนั้น เวลาตัดสินยิ่งไม่ต้องห่วงเพราะมีกรรมการหลายคน ไม่มีใครว่าแน่ว่าเราไม่เอางานเขา เราเอาตามเกณฑ์ที่เราว่ามาตรฐานที่สุด และก็ความเห็นกรรมการที่ลงความเห็นร่วมกัน


-มีปัญหาในการเขียนงานวิจารณ์ ไหม อย่างเสียงตอบกลับกับงานที่เขียนออกไป?
ก็มีบ้าง แต่ก็ไม่รู้สึกว่าต้องไปแก้อะไร เพราะคิดว่ามันก็เป็นความเห็นหนึ่ง แต่การที่มีนักเขียนหรือใครก็ตามโต้แย้งมาก็ช่วยเราเหมือนกัน เพราะนักวิจารณ์ก็พลาดได้ เรามองอะไรพลาดไปได้ เราต้องยอมรับตรงนั้นด้วย


-ทำงานมานาน มีงานวิจารณ์ชิ้นที่ภาคภูมิใจบ้างหรือเปล่า?
มีหลายชิ้นนะครับ ช่วงหลังๆมี 2-3 ชิ้นที่ทำกับอาจารย์เจตนา นาควัชระโครงการพลังการวิจารณ์วรรณศิลป์ แล้วก็ยังมีอีกหลายๆชิ้น อย่างที่เขียนถึงแผลเก่า บ้านทรายทอง ชิ้นที่เขียนถึงคุณศรีดาวเรืองคือเรื่องที่เพิ่งได้รางวัล และก็ของคุณสุชาติ เป็นชิ้นเล็กๆ แต่รู้สึกว่าเราโตพอที่อ่านงานเขาเข้าใจเเล้ว อ่านรู้เรื่องก็พอใจตรงนี้ ก็จะแนวๆนี้ ที่ตั้งใจจะเอามารวมเล่มเป็นงานวิจารณ์ของเราเอง


-อ่านงานเขียนมามากมองงานของนักเขียนยุคนี้เป็นอย่างไร?
เท่าที่อ่านมา ผมรู้สึกว่า งานเขียนรุ่นใหม่ๆ มีบุคลิกที่ต่างออกไปจากนักเขียนยุคก่อนๆอย่างย้อนหลังไป1 0 ปี ก็ไม่เหมือนกันเเล้ว มันเป็นเรื่องของยุคสมัยด้วยที่มันเปลี่ยนไป ไม่อยากตัดสินว่างานยุคไหนดีกว่ากัน มันเป็นเรื่องของความชอบ ของแต่ละคนมากกว่า แต่รู้สึกเท่าที่ได้อ่านงานของคนรุ่นใหม่ ผมว่ามันมีความใจร้อน เร่งรีบ และก็ไม่ประณีตในการนำเสนอเรื่องราว ผมว่าจุดนี้ที่ต้องปรับ นักเขียนบางคน พอทำงานได้รู้สึกว่าตัวเองมีพลังในการทำ คือพลังที่จะออกมามันมี แต่ความละเอียดของงานมันมีน้อย งานมันไม่กระทบกระแทกใจเรา ไม่เหมือนรุ่นก่อนๆที่เรื่องราวที่เขาเอามาพูดถึงมันเข้าถึงเรามากกว่า อาจจะเป็นเพราะการเขียนที่เป็นเชิงปัจเจกชนนิยมมากๆด้วย เราก็ไม่เข้าใจว่ามันจะต้องเป็นเรื่องของคนอื่นทำไม มันอาจจะทำให้เราเห็นแง่มุมบางอย่างในสังคม แต่ใช่เรื่องที่คนอื่นจะรู้สึกร่วมไปด้วยสักเท่าไหร่นัก


-เป็นกรณีเดียวกับที่เคยพูดไว้ในงานวรรณกรรมในมือคนรุ่นใหม่ว่า.. ‘นักเขียนรุ่นใหม่เขียนเอาแต่เท่ห์’?
ส่วนหนึ่งก็ใช่ รู้สึกอย่างนั้นเหมือนกัน บางครั้งถูกคลุมด้วยเปลือกของรูปแบบมากเกินไป พอกระเทาะเปลือกเข้าไป มันกลวง ต้องคิดเยอะๆ แล้วก็อีกจุดหนึ่งที่สำคัญคือการอ่าน อ่านเยอะๆ เเล้วจะเห็นว่ามันมีงานดีๆที่มันยังล้ำยุคอยู่ อย่างของรงค์ วงสวรรค์ หรือนักเขียนหญิงอย่าง ระยงค์ เวนุนรักษ์ อ่านตอนนี้ก็ยังเก๋จังเลย เขียนได้ดีจังเลย อย่างนักเขียนรุ่นใหม่บางคนประกาศตัวเป็นเจ้าแม่อีโรติค แต่พอไปเทียบกับยุคก่อน มันน้อยมากเลย เป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็กๆ ...อย่างสุวรรณี สุคนธาไม่มีโป๊เปลือย แต่อ่านแล้วเราได้อารมณ์โรแมนติก อีโรติกในตรงนั้น มันสวยงาม


โดย...เจ้าอื่นน้อย

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ