รสนา โตสิตระกูล : ไม่สำคัญว่าเราจะไปถึงจุดหมายหรือไม่ แต่สิ่งที่สำคัญคือเราต้องขึ้นรถไฟขบวนที่ถูกต้อง

รสนา โตสิตระกูล

คุณรสนาได้ให้สัมภาษณ์ในหลากหลายมุมมองทั้งในด้านชีวิตส่วนตัว บทบาทความเป็นแม่ การเป็นนักเขียน นักแปลและการเป็นเอ็นจีโอที่สนใจในเรื่องสุขภาพ สมุนไพรและเกษตรธรรมชาติ หลากหลายความเป็นเธอที่เป็นทั้งผู้หญิงเก่ง ผู้หญิงที่ทำงานที่มีเชื่อมั่นในแนวทางพุทธศาสนาและแนวทางสันติวิธี

-ตอนนี้พี่รสนาทำอะไรอยู่บ้างคะ
พี่ทำงานตามปกติ เพราะสว.ตอนนี้ยังไม่มีการรับรองและพี่ยังไม่ได้ทำงานในสภา พี่ก็ทำงานของพี่ตามปกติ สำหรับในส่วนของมูลนิธิสุขภาพไทยที่พี่ทำงานอยู่ ก็มีกิจกรรมหลายอย่าง อย่างตอนนี้อยู่ในช่วงเริ่มต้นอีกครั้งหนึ่ง เพราะอยู่ในช่วงเข้าพรรษา ซึ่งเราจะมีโครงการที่เป็นหนึ่งในโครงการใหม่ที่เรียกว่า “จิตอาสา” ก็จะเป็นกิจกรรมที่อบรมอาสาสมัครเพื่อที่จะไปนวดเด็กที่บ้านปากเกร็ด ซึ่งบ้านปากเกร็ดเป็นสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า และมูลนิธิสุขภาพไทยของเรามีตัวความรู้ในเรื่องของการนวดเด็กเพื่อที่จะกระตุ้นพัฒนาการให้แก่เด็ก และจะทำให้เด็กที่อยู่ในบ้านปากเกร็ดซึ่งเค้าเป็นผู้ที่ขาดพ่อและแม่มีพัฒนาการที่ดีขึ้น ทางมูลนิธิก็จะรนณรงค์ให้คนที่เป็นคนเมืองที่เป็นผู้มีเวลา ให้เค้าสละกำลังและเวลา ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้นั้นเป็นการทำบุญที่ไม่ต้องใช้เงินโดยเป็นการไปนวดเด็ก และคนที่จะมานวดเด็กในขั้นแรกนั้นเราก็จะฝึกการนวดให้แก่เค้าและเราก็จะมีพันธสัญญาต่อกันเป็นเวลา 3เดือน โดยเค้าจะให้เวลาแก่เด็กอาทิตย์ละ1ครั้ง ครั้งละ 3ชม. โดยจะไปนวดที่บ้านปากเกร็ด คนที่ไปนวดก็จะมีเด็กให้เค้าดูแลเป็นระยะเวลา3เดือน แต่ใช้เวลานวดจริงๆแค่ประมาณ15 นาที หลังจากนั้นก็จะเป็นเวลาที่เค้าให้กับเด็ก เล่นกับเด็ก พาเด็กเดินเที่ยวในบริเวณ ซึ่งจริงๆแล้วโครงการนี้มูลนิธิดำเนินการมาแล้วเป็นเวลา1ปี ซึ่งก็จะพบว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์ค่อนข้างมากเพราะว่าเด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น จิตใจแจ่มใสมากขึ้น มีความร่าเริงมากขึ้น ตอนนี้พี่เลี้ยงในบ้านที่เค้าดูแลเด็ก เค้าก็อยากให้มีการนวดเด็กทุกวันเลย เพราะเวลานวดเด็กจะนอนหลับดีขึ้น เมื่อเด็กนอนหลับดีขึ้น เด็กก็จะไม่โยเย ไม่มีปัญหา ทำให้บรรดาแม่บ้านและพี่เลี้ยงเค้ามีเวลามากขึ้น

โดยปกติของเด็กทั่วไปสมมุตินะว่าเป็นลูก เด็ก1คน มีพี่เลี้ยงมีผู้ใหญ่หลายคนดูแล แต่เด็กบ้านปากเกร็ดอัตราการดูแลประมาร 1:6 คือแม่บ้าน1คน ดูแลเด็ก 6คน ซึ่งเป็นภาระที่มาก ตรงจุดนี้กิจกรรมที่เรารนณรงค์ก็คือให้คนเมืองที่มีเวลาได้ให้เวลาแก่เด็กที่นี่ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเวลา เราทำบุญเราก็มักที่จะบริจาค หรือผู้ใหญ่ที่สนใจเรื่องเด็กเค้าอาจจะมาให้สิ่งของ ไปเลี้ยงอาหารกลางวันแก่เด็ก แต่ว่าสิ่งที่เด็กเค้าขาดคือเรื่องความรักและเรื่องเวลา ซึ่งการให้เวลาเป็นเรื่องที่สำคัญนะ เพราะว่าเด็กเหล่านั้น เค้าเติบโตขึ้นมาโดยขาดความรักในวัยเริ่มแรกของชีวิตซึ่งมันเป็นอันตราย เยาวชนที่ก่อความรุนแรงต่อสังคมเราจะเห็นว่าอายุน้อยลงเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งพี่คิดว่ามันน่าจะมามาจากปัญหาว่าเด็กเค้าขาดความรัก บางทีเราสนใจว่าเด็กขาดอาหาร ซึ่งเรามีเครื่องชี้วัดที่ชัดเจน เครื่องชี้วัดที่ชี้ว่าเด็กขาดรัก อาจจะมองดูได้จากความรุนแรงในสังคมที่เพิ่มมากขึ้น ที่ก่อโดยเยาวชนซึ่งอาจเป็นเด็กที่ถูกทอดทิ้ง และเด็กที่ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ความรัก

-แล้วในส่วนของมูลนิธิสุขภาพไทยมีโครงการอะไรนอกเหนือจากโครงการ “จิตอาสา”บ้างคะ
เราก็จะมีสถานพยาบาล ซึ่งก็จะรักษาคนไข้ทั่วไปโดยใช้ยาสมุนไพรแล้วก็เรื่องนวด เราก็จะมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับเรื่องการเสนอแนวทางเลือกในเรื่องของการบริโภค มีสินค้าที่เป็นแนวสุขภาพให้กับผู้บริโภค ซึ่งทางเราเชื่อว่าจริงๆแล้วสุขภาพเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของชีวิต สุขภาพที่ดีของแต่ละบุคคลมันมีเงื่อนไขไม่ใช่เฉพาะตัวบุคคลสำหรับเค้าคนเดียว แต่สุขภาพในเวลานี้มันต้องมองมิติที่ด้าน กาย จิต สังคม และสิ่งแวดล้อมด้วย แล้วในแง่ของสิ่งแวดล้อมเราก็จะเห็นว่าสุขภาพของเราเดี๋ยวนี้มันมาจากอาหารการกินด้วย มาจากวิถีชีวิตของเราด้วย

แต่ว่าเราแต่ละคนก็จะไปแก้ปัญหานี้มันยาก ดังนั้นพี่มองในแง่ที่ว่าในฐานะที่เราเป็นผู้บริโภค ถ้าผู้บริโภคสามารถรวมกลุ่มกันในการที่จะเลือกหาสินค้าปลอดสารเคมี ตรงจุดนี้เป็นการกระตุ้นให้ผู้ผลิต ผลิตสินค้าตามที่ผู้ผลิตต้องการเหมือนกัน มันจะมีเรื่องข้าวปลอดสารเคมี ของชาวบ้านกุดชุม ซึ่งอันนี้เป็นส่วนหนึ่งว่าถ้าผู้บริโภคต้องการสินค้าที่ไม่มีสารเคมีเจือปน นอกจากนี้ยังมีการผลิตยาสมุนไพรที่มีอย.ออกมา เพื่อที่จะเป็นการกระจายแนวความคิดการพึ่งตัวเองในแง่ของการดูแลสุขภาพโดยยา ที่ควรจะเป็นยาที่มาจากวัตถุดิบภายในประเทศของเราเอง ซึ่งถ้าตรงจุดนี้เกิดขึ้นได้ มันสามารถที่จะพัฒนาซึ่งที่เราเรียกว่า low secter คือมันเป็นภาคการผลิตที่แท้จริง เพราะว่าถ้าหากความรู้ในเรื่องของภูมิปัญญาไทย ความรู้เรื่องสมุนไพรมีอยู่ แต่ไม่มีการใช้มันก็ไม่ยั่งยืน ถ้ามันมีการใช้มันก็จะมีการพัฒนาเกิดขึ้นมา ซึ่งก็ต้องมีประชาชนที่เห็นคุณค่า สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบที่พยายามสานต่อ

แล้วกิจกรรมอื่นๆของมูลนิธิก็คือการส่งเสริมและการสังเคราะห์ความรู้ต่างๆเรื่องของภูมิปัญญาไทย การเชื่อมโยงในหลายภูมิภาคที่จะเอาความรู้ต่างๆเหล่านี้มา และก็มองต่อไปในอนาคตว่าความรู้เหล่านั้นจะพัฒนาให้กลายเป็นระบบบริการได้อย่างไร ทางมูลนิธิของเราก็มีเวปไซต์ มีการอบรมเป็นครั้งคราวเพื่อที่จะให้ความรู้แก่ประชาชนในการใช้สมุนไพร ในการที่จะทำอะไรด้วยตัวเอง ในการนวดเด็กเนี่ยเราถือว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เราพึ่งตัวเองได้ เพราะว่าพ่อแม่ทุกคนสามารถนวดลูกได้ และก็เป็นการปูพื้นฐานเรื่องสุขภาพที่ดีที่สุด ไม่ต้องไปหวังพึ่งคนอื่น ซึ่งตอนแรกเราจัดฝึกอบรมให้กับชนชั้นกลางที่เค้ามีลูก แต่ช่วงสองปีนี้เราเห็นว่าเรามีเด็กที่เค้าขาดพ่อ แม่ ซึ่งสมควรที่จะกระตุ้นให้สังคมมาเป็น พ่อ แม่ให้กับเด็กเหล่านี้ เสมือนหนึ่งว่าเราสร้างคนที่มีจิตอาสาขึ้นมาเพื่อให้เค้าเมาช่วยในการดูแลสังคมให้มากขึ้น เพราะว่าคนเราเวลาทำความดีเนี่ยจะมีความสุขนะ เพียงแต่ว่าช่องทางในสังคมอาจจะน้อย ที่จะให้เค้ามีโอกาส ดังนั้นโครงการจิตอาสาจึงเกิดขึ้นเพื่อเสนอแนวความคิดใหม่ให้กับสังคมว่าการทำบุญมีหลากหลายรูปแบบ การทำบุญไม่ใช่แค่การให้เงินเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการให้เวลา ให้กำลังแรงงานหรือให้แนวความคิดต่างๆ

ดังนั้นกิจกรรมที่ทำขึ้นมาก็จะมีเยอะ เช่นการไปสร้างบ้านดิน การไปปลูกป่า การไปทำปะการังซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการ “จิตอาสา” ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการนำเสนอว่าคนเราสามารถทำความดีอย่างอื่นได้ ซึ่งสังคมต้องการคนจำนวนมากเลยที่ทำความดีโดยไม่มุ่งหวังสิ่งตอบแทน เพราะแต่ละคนคิดว่าการที่เราทำงานแล้วเราได้เงินมาเฉพาะตนเอง ซึ่งมันจะมีงานบางอย่างที่ที่ไม่มีค่าจ้างและไม่มีใครมาจ้างให้คุณทำ แต่ว่าอาจจะเป็นความจำเป็นต่อคน ต่อสังคม ตรงจุดนี้พี่คิดว่าการกระตุ้นให้สังคมเกิดความตระหนักรู้ก็เป็นสิ่งสำคัญ

-ถ้ามีคนสนใจสามารถติดต่อช่องทางใดได้บ้างคะ
ติดต่อที่มูลนิธิสุขภาพไทยได้โดยตรง คือว่าตอนนี้เรานวดเด็กทั้งหมด 4 วัน มีวันธรรมดาและวันเสาร์ อาทิตย์ แต่เราอยากได้คนลงวันธรรมดา วันเสาร์ อาทิตย์คนลงเยอะมาก คนที่จะมาก็พยายามผ่องถ่ายมาวันธรรมดา วันธรรมดาไม่มีคนมาเด็กเค้าก็จะไม่มีคนมาดูแลอย่างทั่วถึง แต่กิจกรรมนวดเด็กมันน่าสนใจนะ เพราะว่าคนที่ไปนวดแล้วตอนแรกเค้าคิดว่าเค้าอยู่กับเด็กเค้าให้ความสุขแก่เด็ก แต่พอไปแล้วเค้าคิดว่าตัวเค้าเองที่มีความสุข เด็กได้ให้ความสุขแก่เค้า บางคนบอกว่าเค้าเป็นไมเกรนเค้าบอกว่าเค้าไม่ชอบเด็กเลย สงสัยถ้าไปแล้วฟังเสียงเด็กคงปวดหัวแน่เลย ปีที่แล้วเค้าบอกว่าเค้าคงต้องพกยาทุกครั้งที่ไปบ้านปากเกร็ดแต่ตลอดระยะเวลา 3เดือนที่เค้าไปนวดเด็กที่บ้านปากเกร็ด เค้าไม่ต้องใช้ยาเลยแล้วอาการไมเกรนของเค้าก็หายไป ซึ่งเกิดจากการที่เขามีความสุข ซึ่งสิ่งเหล่านี้พี่คิดว่ามันน่าสนใจ เพราะว่าบางทีเราคิดว่าเราไปทำประโยชน์ ไปทำให้เด็กมีความสุข แต่ว่าความสุขที่ให้มันย้อนกลับมาหาตัวเราเองด้วย

-ในวัยเด็กที่บ้านเลี้ยงดูพี่รสนามายังไงบ้างคะ
ในวัยเด็กเหรอ จริงๆที่บ้านพี่เป็นบ้านคนจีน พ่อเป็นพ่อค้าเล็กๆ พี่เป็นลูกคนสุดท้องในบ้าน พี่จะห่างจากพี่ๆที่โตจากพี่ไปเยอะ โดยปกติแล้ว ที่บ้านก็เลี้ยงดูลูกแบบคนจีนสมัยก่อน บางทีเค้าก็ไม่ได้สนใจว่าพี่อยากจะเรียนสูงรึเปล่า เพียงแต่ว่าเราสนใจ อยากที่จะเรียนรู้ ตอนนั้นที่บ้านมองว่าผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเรียนสูงมั้ง จบมาก็ต้องทำงาน อีกหน่อยผู้หญิงก็ต้องแต่งงานออกไป ครอบครัวคนจีนสมัยก่อนก็จะคิดแบบนี้ แต่บังเอิญพี่เป็นคนที่สนใจการเมือง ที่บ้านก็ O.K.ให้เรียน พ่อพี่เป็นคนที่สนใจทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเค้าจะพูดบ่อยๆตอนที่เราเป็นเด็กว่า ทุกอย่างเมื่อถึงจุดๆหนึ่งแล้วมันก็จะว่างเปล่า มันไม่มีอะไรที่เราจะยึดถือเป็นแก่นสารได้ คือสิ่งนี้จะเป็นคำที่พ่อสอนเรามาตั้งแต่เด็กว่าอย่าไปยึดถืออะไรมาก เพราะสิ่งต่างๆมันไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้เรายึดถืออะไรได้

-พี่รสนาเป็นคนเดือนตุลารึเปล่าคะ
ก็น่าจะใช่

-อยากให้พี่ช่วยเล่าชีวิตของพี่ช่วงนั้นให้ฟังหน่อยค่ะ
พี่เข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หลัง 14 ตุลา พี่เข้าธรรมศาสตร์ตอนปี17 จริงๆพี่เป็นคนเรียนช้านะ เนื่องจากพี่ย้ายบ้าน ย้ายไปย้ายมาจริงๆพี่ควรที่จะเข้ามหาวิทยาลัยก่อนช่วง 14 ตุลา แต่เนื่องจากพี่ไปเสียเวลาย้ายโรงเรียน ดังนั้นพี่จึงเข้ามหาวิทยาลัยตอนปี 17 ซึ่งก็คือหลังจากเกิดเหตุการณ์14 ตุลาแล้ว ในช่วงนั้นเนี่ย แนวความคิดหรือการตื่นตัวของนักศึกษามีสูง มีแนวความคิดที่มุ่งไปในทางสังคมนิยม ในยุคนั้นนักศึกษาก็จะสนใจความเป็นธรรมของสังคม เพียงแต่นักศึกษาจะมองว่าความเป็นธรรมของสังคมจะเท่ากันได้โดยแนวทางแบบสังคมนิยม หรือแบบคอมมิวนิสต์ ซึ่งในยุคนั้นกิจกรรมนักศึกษาตื่นตัวพอสมควร

ตอนเข้าธรรมศาสตร์ตอนแรกพี่ก็อยู่ร่วมในขบวนการนักศึกษาฝ่ายซ้ายด้วยเหมือนกัน อยู่ในพรรคพลังธรรมซึ่งเป็นพรรคของนักศึกษา หลังจากนั้นพี่ก็เริ่มสนใจพระพุทธศาสนา อาจจะส่วนหนึ่งเพราะพี่รู้จักกับอาจารย์สุลักษณ์ แล้วก็ไปเจอหนังสือของอาจารย์พุทธทาส และพี่ก็อยู่ในทีมที่ทำหนังสือปาจารยสาร ทีมทำหนังสือปาจารยสารตอนนั้นก็จะเป็นกลุ่ม ถ้านักศึกษาที่สนใจแนวทางใหม่ๆแล้วก็จะมาทำหนังสือด้วย เช่นท่านไพศาล วิสาโล คุณวิสิทธ์ วังวิญญู พจนา จันทรสันติ แล้วก็สันติสุข โสภณสิริ ประชา หุตานุวัตร ทีมนี้ก็สนใจแนวความคิดที่เป็นอหิงสา สันติวิธี แนวทางศาสนา ตรงจุดนั้นทำให้พี่มีโอกาสอ่านหนังสืออย่างเช่นของมหาตมคานธี ซึ่งหนังสือเหล่านี้พี่เห็นว่ามีส่วนอย่างมากเลยในการที่จะกำหนดรูปฟอร์มความคิดแล้วก็วิถีชีวิตด้วย จากความเชื่อและความสนใจในเรื่องพระพุทธศาสนา หรือแนวความคิดของคานธีมันส่งผลต่อรูปแบบการดำเนินชีวิตของพี่ เช่นที่พี่มาทำเรื่องสมุนไพร ทำเรื่องสุขภาพ พี่หันมาสนใจแนวความคิดการพึ่งตัวเอง ตอนที่มาทำเรื่องสมุนไพรก็ตั้งชื่อโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตัวเอง อันนี้ก็เป็นจุดหนึ่งที่พี่เชื่อว่าหนังสือหรือวิถีชีวิตของคนรุ่นก่อนมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของเรา

-หนังสือที่พี่รสรู้สึกว่าตั้งแต่ที่พี่รสแปลหรือเขียนมาแล้วรู้สึกว่าหลงรักหนังสือเล่มนี้มากที่สุด
ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียวก็ถือว่าเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อความคิดพี่ แล้วก็เป็นหนังสือที่ทำให้พี่มีความมั่นใจมากขึ้น อย่างเราสนใจพระพุทธศาสนา เราสนใจภูมิปัญญาของสังคมแต่เดิมที่ทำให้คนพึ่งตัวเอง ในอำนาจการตัดสินใจเรื่องการพึ่งตัวเอง พอพี่มาเจอหนังสือเรื่องปฎิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว แล้วรู้สึกว่ามันเป็นรูปธรรมที่น่าสนใจแล้วมันก็เป็นหนังสือที่ทำให้พี่เกิดความรู้สึกอยากไปดูไร่ฟูกูโอกะ ที่ญี่ปุ่น

แล้วพี่ก็ได้ไปและก็เกิดความสนใจแนวความคิดที่ทางพุทธศาสนาสะท้อนออกมาเป็นรูปธรรมในรูปแบบของเกษตร ธรรมชาติ อย่างแนวความคิดของฟูกูโอกะหรือหลักการในการทำเกษตรธรรมชาติ 4 เรื่องที่แกเน้นคือ 1.การไม่ไถพรวนดิน 2.การไม่ทำลายวัชพืช 3.การไม่จำกัดแมลง 4. การไม่ทำปุ๋ย แกพยายามที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดการอิงอาศัยช่วยเหลือกัน ซึ่งตรงจุดนี้ตอนแรกพี่ก็มองว่าจะนำมาประยุกต์ใช้ได้จริงรึเปล่า แนวความคิดแบบนี้จริงๆแล้วสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในพื้นที่แถบเขตร้อนแบบเรา

เพียงแต่ว่าคนที่จะกลับมาทำเรื่องนี้แบบจริงๆมันเป็นเรื่องของจิตสำนึก พี่คิดว่าแนวทางเกษตรธรรมชาติของฟูกูโอกะเป็นแนวความคิดที่เข้ากับยุคสมัยนะเพราะว่า อย่างเช่นการไม่ไถพรวนดิน ตอนที่พี่ไปเยอรมัน มหาวิทยาลัยบอร์นเค้าทดลองทำเรื่องนี้กันเยอะมากเพราะเค้าเห็นว่าการไถพรวนดินมันทำให้หน้าดินพังทลาย และเป็นต้นเหตุให้เกิดปัญหาทางการเกษตรในระยะยาว เพราะฉะนั้นเค้ายอมรับแนวความคิดนี้มากขึ้น จุดเริ่มต้นของเกษตรธรรมชาติของฟูกูโอกะเนี่ยแกบอกว่ามันเริ่มจากการที่แกป่วย แล้วอยู่ๆวันนึงแกก็เกิดอาการเหมือนประจักษ์แจ้งบางอย่างในชีวิตทำให้แกต้องการเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อแสดงว่ามนุษย์เราเนี่ยไม่รู้จักธรรมชาติ มนุษย์เนี่ยอหังกา ที่พยายามไปครอบงำธรรมชาติตลอดเวลา และแกต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่าถ้าเราเดินไปตามเส้นทางของธรรมชาติ มนุษย์ก็จะได้รับความไพบูลย์เป็นการตอบแทน แกมองว่าการทำเกษตรธรรมชาติไม่ใช่เป็นแค่การเพาะปลูกพืชผลเท่านั้น

แต่มันคือการบ่มเพาะความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตให้มากขึ้น อย่างแนวความคิดเรื่องการไม่ไถพรวนดินหลายคนที่เป็นนักคิด ที่เป็นนักเกษตรถือว่ามันคือการปฏิวัติ เพราะมนุษย์ในยุคแรกสุดก็ไม่ได้ไถพรวนดินเหมือนกัน ถ้าจะพูดถึงการเติบโตในภาคการเกษตรถ้าจะไถก็ไถแบบตื้นๆ แต่พอพื้นที่มีการพัฒนามีการปฏิวัติเขียวขึ้นมาเราก็จะใช้รถ แทรกเตอร์ในการไถพรวนดิน เพราะฉะนั้นการที่เราจะย้อนกลับไปไม่ไถพรวนดินนั้นมันไม่ใช่การย้อนกลับ แต่มันคือการก้าวข้ามไปข้างหน้าอีก step หนึ่ง เพราะว่าแนวความคิดการไม่ไถพรวนดินของฟูกูโอกะเนี่ยมันไม่ใช่การย้อนกลับไปหาอดีต แต่มันคือการก้าวไปข้างหน้า ซึ่งการก้าวไปข้างหน้าของการไม่ไถพรวนดินของแก จะต้องสร้างกระบวนการบางอย่างที่เกื้อกูลกัน เพื่อให้เกิดการไม่ไถพรวนดินเกิดขึ้น ซึ่งตรงจุดนี้หลายคนมองว่ามันคือการปฏิวัติ แต่ว่าในทางตะวันตก เค้าคิดเรื่องหลักการไม่ไถพรวนดินเนี่ย เค้าก็ไปคิดถึงการสร้างเครื่องมืออย่างที่ปักดำโดยไม่ต้องไถ

แล้วเค้าก็มองว่าการปักดำโดยไม่ไถดินมันทำให้หน้าดินอุดมสมบูรณ์ขึ้น ทำให้พืชพรรณต่างๆเติบโตมากขึ้น และให้ผลผลิตมากขึ้น 3 ข้อของฟูกูทางต่างประเทศเค้ายังมองแค่เรื่องเดียวคือเรื่องการไถพรวนดิน แต่แนวความคิดเรื่องการไถพรวนดินมันเริ่มเกิดขึ้นในตะวันตก แต่อาจจะยังไม่ได้ออกมาในภาพที่มันชัดเจน ซึ่งในแง่ของฟูกูโอกะแกจะมองโดยการจัดการตามหลัก 4 ข้อของแก ซึ่งพี่คิดว่าน่าสนใจมาก อย่างแกต้องการที่จะกำจัดวัชพืช แกก็จะไม่ใช้ความรุนแรง แทนที่จะใช้ยาฆ่าหญ้าอย่างที่เราทำ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดการต่อต้านของพืช เมื่อเราต้องใช้ยาฆ่าแมลงหรือยาฆ่าหญ้าเหล่านี้ หญ้ามันจะแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆแล้วเราก็จะต้องใช้ยาที่แรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในการที่จะกำจัดมัน ในแง่นี้มันน่าสนใจในแง่ที่ว่ามันเป็นสันติวิธี อย่างที่พี่สนใจตั้งแต่แรกเกี่ยวกับสันติวิธีในทางสังคม แต่เราเพิ่งมาเห็นว่าสันติวิธีในเส้นทางของธรรมชาติมันเป็นสิ่งที่มีชัยชนะจริงๆ เพราะว่าอย่างฟูกูโอกะแกไม่ไถพรวนดิน แล้วก็ไม่จำกัดวัชพืชแต่แกใช้วิธีการปลูกพืชบางชนิดเพื่อเป็นการยึดพื้นที่ พืชที่ยึดพื้นที่เป็นพืชที่อ่อนแอมากเลยอย่างเช่นพืชตระกูลถั่ว แกเชื่อว่าพืชอะไรก็ตามที่ปลูกและยึดพื้นที่ได้แล้วชนิดอื่นมันจะไม่กลับมาอีก อย่างเช่นหญ้าที่ร้ายๆมันก็จะไม่กลับมาอีก แกบอกว่าพื้นดินมันต้องการเสื้อผ้าเหมือนมนุษย์

คุณจะปล่อยให้พื้นดินมันเปลือยเปล่าไม่ได้ เพราะถ้ามันเปลือยเปล่า สิ่งร้ายๆมันจะเกิดขึ้น และถ้าดินมันถูกทำลาย มันก็จะเป็นกลไกทางธรรมชาติของการป้องกันตัวเอง เค้าบอกว่าดินที่เลวมากที่สุดเท่าไหร่หญ้าหรือวัชพืชมันก็จะมากขึ้นเท่านั้น ถ้าดินยิ่งอุดมสมบูรณ์มากเท่าไหร่ความร้ายกาจของหญ้าเหล่านี้ก็จะน้อยลง มันเป็นสัจธรรมและมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในธรรมชาติจริงๆ เพราะฉะนั้นเวลาจะปลูกพืชคลุมดิน เมื่อมันยึดพื้นที่ได้ หญ้าร้ายๆมันก็จะขึ้นมาไม่ได้ การที่เราไม่ปลูกพืชชนิดเดียวและปลูกพืชที่หลากหลาย เพราะว่าพืชแต่ละชนิดมันเป็นอาหารของแมลง แต่ถ้าเราปลูกพืชชนิดเดียว มันก็จะมีแมลงมารบกวน แมลงชนิดอื่นก็จะตายหมด เพราะฉะนั้น แมลงตัวนั้นก็จะเข้มแข็งและก็จะไม่มีอะไรมากำจัดมันได้ แต่โดยธรรมชาติเนี่ยทุกอย่างมันกำจัดและควบคุมซึ่งกันและกัน กลไกของธรรมชาติจะควบคุมไม่ให้สัตว์ชนิดหนึ่งมีมากเกินไป ถ้ามันมีมากจนเกินไปจะทำให้วงจรของมันเสียสมดุล ตรงจุดนี้พี่ว่าถ้าเรามองย้อนกลับมาหาชีวิตของเรามันคล้ายคลึงกันนะ ในทางพุทธศาสนาเราบอกว่าเวลาเรามีความโกรธขึ้นมาเราจะเอาความโกรธโยนทิ้งไปไม่ได้ แต่คุณต้องเจริญสิ่งที่เป็นคู่ตรงข้ามกันขึ้นมา หรือการทำให้จิตใจเรามีเมตตา เมื่อเรามีความเมตตาความโกรธก็จะหายไปเอง เปรียบเสมือนกับความมืด ความมืดเนี่ยเราไม่สามารถเอาความมืดโยนทิ้งไปได้ แต่เมื่อเราจุดตะเกียงหรือจุดเทียนความมืดนั้นก็จะหายไป ฉันใดก็ฉันนั้นนะพี่ว่าแนวความคิดที่เป็นสันติวิธีเป็นแนวคิดหลักของพุทธศาสนา แล้วเวลาที่เราพูดถึงสันติวิธีในทางสังคม

บางครั้งบางคนไม่ค่อยเชื่อว่าว่าสันติวิธีมันมีพลัง แต่ในทางธรรมชาติเนี่ยเราเห็นว่า วิธีการทำเกษตรธรรมชาติแบบฟูกูโอกะมันคือการทำการเกษตรแบบสันติวิธี แล้วมันเป็นสันติวิธีที่ทำให้สิ่งต่างๆในธรรมชาติถูกควบคุมซึ่งกันและกันและอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลกันด้วย โดยไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน พี่ว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นการจำลองอย่างหนึ่งในสังคม เพียงแต่ว่าในทางสังคมอาจจะทำยาก เพราะว่าการบ่มเพาะสันติวิธีในจิตใจของเรามันเป็น keyที่สำคัญที่สุด ถ้าหากว่าจิตใจของเรามันไม่ถูกขัดเกลามากพอ เราไม่มีทางที่จะใช้สันติวิธีได้ เพราะว่ามนุษย์เราไม่สามารถก้าวพ้นจากอคติของความกลัว ความรัก ความโกรธ ความหลง เรายากที่จะไปสู่เส้นทางที่ถูกต้องได้ เพราะฉะนั้นพอเรากลัวเราก็พร้อมที่จะทำร้ายผู้อื่นได้ และการที่เราใช้ความรุนแรงก็เพราะว่าเรามีความกลัว เราไม่มีหนทางที่จะจัดการ ยกตัวอย่างเช่น การที่แม่ตีลูก เพราะเรามีความรู้สึกว่าเราหมดปัญญาที่จะจัดการ และข้อที่2ก็คือเราต้องการความรวดเร็วในการจัดการ เพราะฉะนั้นเรามักจะจัดการกับปัญหาที่ปลายเหตุเสมอ แนวความคิดทางพุทธศาสนานั้นพี่คิดว่ามันทำให้สังคมอยู่ได้อย่างสันติสุข มันเป็นสังคมที่อยู่โดยการเกื้อกูลกัน และมันจะเกื้อกูลกันได้ก็ต่อเมื่อมนุษย์เรามีความคิดที่ถูกต้องและมีพฤติกรรมที่ถูกต้อง

การที่มนุษย์จะมีความคิดที่ถูกต้องได้ จิตใจคุณต้องถูกบ่มเพาะมา เพราะฉะนั้นสิ่งที่ฟูกูโอกะพูดว่าการทำเกษตรธรรมชาติ ไม่ใช่เพียงแค่การเพาะปลูกพืชผล แต่คือการบ่มเพาะความสมบูรณ์แห่งความเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นการบ่มเพาะความสมบูรณ์แห่งความเป็นมนุษย์มันเกิดขึ้นได้ มันเหมือนกับการปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้นคุณต้องดูสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในจิตใจของคุณ สิ่งเหล่านี้มันไม่คงอยู่และเที่ยงแท้ แต่มันแปรเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ถ้าเราสามารถมองเห็นสิ่งนี้ได้อย่างแจ่มชัด ซึ่งฟูกูโอกะเชื่อว่าคนที่ทำเกษตรแล้วเฝ้าสังเกตกระบวนการธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง คุณจะได้เรียนรู้ชีวิตอย่างแท้จริง และคุณจะสามารถดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องได้ มีสิ่งหนึ่งที่ฟูกูโอกะพูดกับพี่แล้วพี่ประทับใจมากคือครั้งนึงเรากำลังจะเดินทางไปต่างเมืองแล้วเรากำลังนั่งรอรถไฟด้วยกัน คำที่ฟูกุโอกะพูดกับพี่ที่บอกว่ามัน “ไม่สำคัญหรอกว่าเราจะไปถึงจุดหมายหรือไม่ แต่สิ่งที่สำคัญคือเราต้องขึ้นรถไฟขบวนที่ถูกต้องเสียก่อน เมื่อเราขึ้นรถไฟที่ถูกต้องแล้วเราย่อมคาดหวังเป้าหมายที่ถูกต้องได้” พี่ว่ามันจริงนะ เป้าหมายทางพุทธศาสนาเนี่ย วิธีการกับเป้าหมายเป็นเรื่องเดียวกัน มีความสำคัญเท่ากัน แต่เดี๋ยวนี้เราสามารถเห็นความเป็นไปในสังคมว่า ถ้าเราอยากได้สิ่งที่คาดหวังจะใช้วิธีการอะไรก็ได้ ใช้วิธีการชั่วร้ายยังไงก็ได้ เพราะฉะนั้นมรรควิธีนั้นสำคัญเท่าๆกับเป้าหมาย คือคุณไม่ต้องเป็นห่วงเลยสำหรับเป้าหมายที่คุณจะไปถึง แต่ขอให้คุณเลือกรถไฟที่ถูกต้อง เมื่อคุณเดินไปบนเส้นทางที่ถูกต้องคุณย่อมหาเป้าหมายที่ถูกต้องได้ ไม่ว่ามันจะช้าหรือมันจะเร็ว

 

รสนา โตสิตระกูล

 

-แล้วรถไฟที่ถูกต้องในชีวิตของพี่รสนาคืออะไรคะ ที่พี่รสเลือก
ในทางพระพุทธศาสนาที่พี่เชื่อคือ สิ่งที่คุณทำต้องไม่ใช่เรื่องประโยชน์ตนเพียงอย่างเดียว การหาความถูกต้องระหว่างประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านเป็นสิ่งที่สำคัญ ในทางพุทธศาสนาพี่เชื่อว่าการคุ้มครองผู้อื่นเท่ากับการคุ้มครองตนเอง และการคุ้มครองตนเองเท่ากับการคุ้มครองผู้อื่น ก็มีคนถามว่าการคุ้มครองตนเองคืออะไร การคุ้มครองตนเองก็คือการที่เราสามารถคุ้มครองตนเองโดยการมีสติ ว่าสิ่งนี้มันจะไปกระทบต่อสิ่งอื่นรึเปล่า การที่เราเฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง ถ้าเราไม่มีสติในการเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงเราก็จะไม่มีวันเข้าใจ อย่างเวลาที่เราเพ่งพินิจดูอะไรวักอย่าง การดูบางทีก็ไม่ได้ใช้ความคิดแต่ต้องใช้สตินะ เช่นการดูเส้นลายต่างๆของดอกไม้ ดูสีสันดูอะไรต่างๆ การดูสิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องใช้ความคิด แต่อาศัยการมองสิ่งที่มีอยู่จริง ซึ่งการมองนี้ทางพุทธศาสนาคือสติ แต่ถ้าเรามองมันอย่างแจ่มชัดจริงๆโดยไม่ใช้ความคิด คุณจะเข้าใจในธรรมชาติ เพราะฉะนั้นถ้าเรามีสติ สติจะเป็นตัวคุ้มครองเราเพราะเราจะไม่ทำชั่ว เราจะไม่ทำสิ่งที่ผิด ถ้าเรามีสติ การมีสติคือการที่เราเป็นอิสระจากอคติ เพราะฉะนั้นความโลภ ความโกรธ ความหลง บางทีเราอยากได้อะไรนั่นแสดงว่าเราไม่มีสติ หรือเวลานี้เด็กวัยรุ่นอยากได้มือถือ อยากได้กระเป๋าแบรนด์เนม คือถ้ามันอยากได้แต่มันไม่มีทางจะได้ ก็ไปขายตัว ขายยาบ้าเพื่อที่จะได้สิ่งเหล่านี้ เพราะฉะนั้นคุณต้องปราศจากในสิ่งที่คุณอยากได้ ซึ่งคนเราไม่สามารถที่จะอยู่บนเส้นทางที่เป็นข้อเท็จจริงเพราะเราไม่มีสติ อย่างเช่นบางครั้งเราไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ผิด ไม่เข้าไปแก้ไขเพราะเรากลัว กลัวเราจะเดือดร้อน คนไทยมีภาษิตเยอะแยะที่ไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยว เช่น อย่าแกว่งเท้าหาเสี้ยน อย่าเอามือซุกหีบ ถึงแม้สิ่งเหล่านี้จะเป็นของที่ถูกต้องแต่เรากลัว เพราะฉะนั้นสิ่งที่พี่บอกเนี่ยก็คือถ้าเรามีสติ

 

โดย...มีนาภา

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ