จักรพันธ์ ห้วยเพชร : การ์ตูนไทยก้าวไกลระดับโลก

จักรพันธ์ ห้วยเพชร

ใครชอบอ่านการ์ตูนบ้างยกมือขึ้น ??

อ๊ะๆ ไม่ต้องทำเป็นเขิน ก็รู้ๆกันอยู่ ว่าการ์ตูนมีเสน่ห์เกินห้ามใจขนาดไหน เหมือนชายหนุ่มคนหนึ่ง ที่หลงรักภาพสวยๆเรื่องสนุกๆจากญี่ปุ่น จนตั้งใจไว้ว่าขอเอาดีทางนี้ละ(วะ) ถึงแม้จะรู้ดีว่า อาชีพนักเขียนการ์ตูนในประเทศนี้ โดยเฉพาะในงานที่เรียกว่า “มังงะ” (หนังสือการ์ตูนที่ดำเนินเรื่องแบบญี่ปุ่น โดยมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับความรัก มิตรภาพ และการเติบโต) อยู่ยากไม่ใช่เล่น และวันนี้ประวัติศาสตร์ก็ได้บันทึกเรื่องราวของเขา “จักรพันธ์ ห้วยเพชร” ในฐานะ “คนไทยคนแรก” ที่เอาชนะคู่แข่งจากทั่วโลก จนสามารถคว้า โกล์ด อะวอร์ด หรือรางวัลชนะเลิศการประกวดการ์ตูนนานาชาติ (International Manga Award) ครั้งที่ 3 มาไว้ในมือ จากเรื่อง “ซุปเปอร์ดังเกอร์” สตรีทบอลสะท้านฟ้า

“ตกใจครับ ไม่คิดว่าจะได้จริงๆ ขนาดตอนขึ้นไปรับรางวัลยังแอบถามตัวเองเลยว่าฝันไปรึเปล่า” หลังกรอบแว่นตาของเขา คือประกายระยิบระยับที่ส่งผ่านมาพร้อมเสียงหัวเราะ เมื่อมองย้อนกลับไป เส้นทางของนักเขียนการ์ตูนหนุ่ม ก็คงไม่ต่างกับเด็กผู้ชายส่วนใหญ่ที่ชอบอ่านการ์ตูน โดยเฉพาะเรื่องดราก้อนบอล ของ โทริยามะ อากิระ ที่เป็นสุดยอดไอดอลของเขา แต่สิ่งที่ต่างคือ เด็กชายจักรพันธ์ทั้งอ่านทั้งวาด “ถ้าเป็นครอบครัวอื่นอาจห้าม แต่ผมโชคดีที่พ่อแม่ปล่อยอิสระมาตลอด อยากทำอะไรทำไป แล้วเรารู้ตัวเร็วด้วยว่าอยากทำอะไร พอได้โควต้าเรียนด้านศิลปะ เลยไม่เรียนต่อม.ปลายเหมือนลูกบ้านอื่น”

ยิ่งเรียนสูงขึ้นก็ยิ่งมั่นใจในไอเดียบรรเจิดและฝีมือวาดการ์ตูนของตัวเอง ที่แอบนั่งวาดอยู่หลังห้องเรียน จนเริ่มจะมีลายเส้นเฉพาะตัว เพราะงั้นไม่น่าแปลกใจที่ตอนนั้นเขาจะรู้สึกราวกับว่าวที่เหลิงลม
“ช่วงผมเรียนปริญญาตรีปีสุดท้าย ก็เห็นผลงานของมังกร-สรพล ซึ่งเป็นรุ่นพี่เราสองปี แล้วทึ่งว่าเฮ้ยการ์ตูนไทยเขียนได้ขนาดนี้ เพราะงั้นสิ่งที่เราฝันตั้งแต่เด็กมีทางไปแน่ เพราะมีคนเบิกทางให้แล้ว มั่นใจเต็มเปี่ยมมาก ไฟลุกสุดๆ แล้วตอนนั้นบูมจัดประกวดปีแรก เราก็เอาวะเขียนให้เป็นเรื่องราว ครั้งแรกเลย ปรากฏว่าแพ้” เจ้าตัวว่าพลางหัวเราะเสียงดัง เพราะการแพ้ครั้งนั้น นำมาสู่การชนะในครั้งนี้

“แห้ว ติดแค่หนึ่งในสิบ ก็ไม่เข้าใจ ทำไมไม่ได้ เลยไปดูงานของที่หนึ่ง เป็นผู้หญิงด้วย เห็นปั๊บตกใจ โคตรเก่งเลย เข้าใจแล้วว่าทำไมแพ้
ผมคิดว่าผมเจ๋งมาตลอด ไม่ได้กระจอก มีพรสวรรค์เหนือชาวบ้านเขา เพราะสังคมรอบข้างมีผมวาดการ์ตูนคนเดียว แต่อย่างน้อยวันนั้นผมก็ได้ลงมือทำจริงๆแบบเป็นเรื่องเป็นราว แล้วได้รู้ศักยภาพตัวเองว่าเป็นแค่เม็ดก๋วยจี๊ เข้าใจแล้วว่าวงการนี้มันไม่ง่าย” ถือเป็นโชคดีที่แพ้ ณ เวลานั้น ถึงจะท้อเล็กๆ แต่สุดท้ายลูกฮึดก็กลับมา “โอเค คุณทำได้ เก่งมาก สักวันผมก็จะต้องทำได้ เพราะผมออกจากกะลาแล้ว” คงมีคำถามไม่น้อยระหว่างอนาคตของนักโฆษณาที่ดูฟู่ฟ่า กับนักเขียนการ์ตูนที่สังคมไทยมอบคำว่าไส้แห้งให้ แต่สำหรับเจ้าตัวประเด็นนี้ถูกตีตกไป “ถ้าชอบผมจะลุยเลย ถ้าไม่ชอบไม่มีมาฝืนวางท่า เพราะทำให้ตายก็ไม่ทีทางออกมาดีหรอก ถ้าใจไม่รัก และถึงออกมาดีเราก็ไม่มีความสุข”/p>

เมื่อตัดสินใจ เขาก็ก้าวมาเจอของจริงแบบเต็มตัว เพราะงั้นคอการ์ตูนหลายคนคงคุ้นลายเส้นของเขาอยู่ไม่น้อยกับ เดอะ ฟาร์เมอร์ แมน,เจ็ดประจันบาญภาค 2 จากค่ายวิบูลย์กิจ ก่อนที่เขาจะมาสร้าง ซุปเปอร์ดังเกอร์ ให้ดังบนเวทีระดับโลก
“ช่วงออกจากวิบูลย์กิจก็เคว้งคว้างอยู่ จนพี่ๆในแวดวงแนะนำมาทางบรรลือสาส์นเพราะทางพี่นก (โชติกา อุตสาหจิต รองประธานกลุ่มบริษัท บันลือกรุ๊ป) อยากจะหาตลาดใหม่ๆ แต่ว่ายังหานักเขียนไม่ได้เลย ผมก็ลองทำสไตล์ของตัวเอง ตอนนั้นคุยกันพี่นกบอกว่าอยากให้เขียนเป็นคอมมิคสไตล์เรา จะเอาลงมหาสนุก ก็คิดว่าเขาพูดเล่นเพราะมันเรื่องใหญ่เลยนะ เพราะมหาสนุกไม่มีแนวมังงะ-คอมมิคอย่างนี้ พี่นกบอกให้ลองไปคิดดู ผมก็คิดไม่ออก ตอนนั้นเหมือนเซ็งๆ หัวสมองกลวงๆ หยุดเขียนไปนาน โชคดีว่าผมได้พี่ๆช่วย อย่างพี่นกก็ว่าทำไมไม่ลองทำการ์ตูนกีฬาดู เพราะผมชอบบาสเก็ตบอล แต่ก็ยังลอยอยู่ในหัวว่าจะทำยังไงให้สนุก เพราะเรื่องราวสำคัญมากสำหรับการ์ตูน สำคัญกว่าลายเส้นสวยๆอีก คิดอยู่นาน อยู่ดีๆก็วาดรูปเกาะเล่นๆในกระดาษ พี่ๆก็บอกว่าเออ ทำเป็นแฟนตาซีสิให้เป็นเชิงจินตนาการ เรื่องเราก็ไหลมาเลย มีพ่อลูกอยู่บนเกาะ แล้วมีนักบาสเอ็นบีเอมาติดเกาะ เขาก็ช่วยฝึกเด็กคนนั้นจนมีอนาคต”

และอนาคตก็ไม่ได้มีแค่ โตโต้ เด็กชายผู้หลงรักบาสเก็ตบอลเท่านั้น แต่รวมถึงอนาคตของเขาด้วย
“ผมเชื่อเรื่องโอกาสว่ามันไม่ครั้งที่สอง อยู่ตรงหน้าต้องรีบคว้าไว้เลย” ช่วงเดินทางไปรับรางวัลที่ญี่ปุ่น ประเทศต้นฉบับของมังงะ จักรพันธ์เอ่ยยิ้มๆว่า ทุกเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามา ทำให้เขาเข้าใจเลยว่าทำไมการ์ตูนถึงจับใจคนทั่วโลก

“ญี่ปุ่นมองว่าการ์ตูนเป็นวัฒนธรรมไม่ใช่เรื่องกะโหลกกะลา ซึ่งมีส่วนอย่างมากในการส่งเสริมการอ่านและจินตนาการของเขาให้เข้มแข็ง
รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของเขา อายุ60 แล้วก็ยังอ่านการ์ตูน วันที่เจอกันเขายังโชว์เนคไทลายโดราเอมอนให้ผมดูแล้วบอกว่าในห้องของเขามีโดราเอมอนด้วเขาไม่อาย เพราะนี่คือแรงบันดาลใจของเขาเป็นศิลปวัฒนธรรมแล้วในญี่ปุ่นมีการแบ่งเรตการ์ตูน ว่านี่เป็นของเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้หญิง ผู้ชาย ซึ่งยิ่งทำให้การอ่านของเขาแพร่หลาย เพราะไม่มีใครมาปิดกั้นจินตนาการ หรือมองว่าโตแล้วยังอ่าน กลายเป็นตัวตลก”

ซึ่งนี่เป็นส่วนที่แตกต่างกับวัฒนธรรมไทยอย่างสิ้นเชิง
“ผู้ใหญ่บ้านเรามองว่าการ์ตูนเป็นเรื่องของเด็ก มีแต่เด็กเท่านั้นที่มีสิทธิ์อ่าน ถ้าผู้ใหญ่หยิบมาอ่านจะมีคำถามตามมาว่าโตแล้วยังอ่านอีกหรอ ทั้งที่แต่ละวัยจะมีการ์ตูนของเขา มุมมองแบบนี้ปิดกั้นการสร้างวัฒนธรรมการอ่านและจินตนาการที่จะเกิดขึ้น” และไม่ได้มีผลแค่คนอ่านเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงคนทำอย่างแรงด้วย “อย่างผมยังโชคดีไป เพราะงานผมเป็นเชิงตลกเฮฮาที่ผมชอบและถูกใจคนอ่านส่วนหนึ่งอยู่แล้ว แต่ถ้ามองให้กว้าง มุมมองแบบนี้จะทำให้วงการการ์ตูนไทยแคบ เขียนได้แต่แนวที่สังคมขีดไว้ว่าดีและเหมาะสมสำหรับเด็ก มันไม่หลากหลายแนว เหมือนจำกัดคน จำกัดความคิด บ่อนเซาะทั้งคนอ่านคนเขียน คนอ่านก็อยากอ่านงานแรงๆในวุฒิภาวะที่เขารับได้แล้ว นักเขียนเองก็ไม่สามารถถ่ายทอดจินตนาการที่ตัวเองมีได้อย่างเต็มที่ เสียของกันไป เพราะกำแพงที่ผู้ใหญ่รุ่นเก่าสร้างขึ้นมา เลยเกิดการ์ตูนใต้ดินขึ้น”

ส่วนการแบ่งเรตการ์ตูนที่หลายฝ่ายพยายามทำกันอยู่นั้น จักรพันธ์มองว่า ถ้ามีอยู่บนพื้นฐานที่ดังกล่าว ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น
“ต้องทำให้ชัดเจนว่านี่คือการ์ตูนของใครบ้าง ทุกวันนี้นักเขียนทำอะไรไม่ได้ ไม่งั้นจะถูกวิจารณ์ว่าแรง ไม่เหมาะกับเด็ก เราถึงมีแต่การ์ตูนประวัติศาสตร์ นิทานพื้นบ้าน หรือแอนิเมชั่นก้านกล้วย ซึ่งผมชอบนะ ไม่ใช่ไม่ชอบ แต่ในแง่หนึ่งคือการปิดกั้น เพราะตลาดต้องมีแต่แนวนี้เท่านั้น นักเขียนหลายคนฝีมือสุดยอดเลยนะ แต่ต้องมาเขียนตามใบสั่งเพื่อความอยู่รอด แล้วเป็นความอยู่รอดที่เกิดจากกรอบความเชื่อของสังคม ทำไมหนังถึงมีหลายแนวโหด รัก ตลก แล้วมีเรตแบ่ง การ์ตูนก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่งเหมือนกัน ประเทศเราไม่สร้างค่านิยมให้มองเป็นเรื่องที่หลากหลาย”

ถึงจะยอมรับว่าสถานการณ์ตอนนี้ดีกว่าที่ผ่านมา แต่จักรพันธ์ก็มองว่าคงต้องอาศัยเวลาอีกระยะหนึ่ง เพื่อให้อีกเจเนเรชั่นหนึ่งที่มีความคิดต่างโตขึ้นมาละลายความคิดเดิมให้หายไป ส่วนตอนนี้นั้นเขาขอแค่ว่า
“เลิกมองว่าการ์ตูนเป็นเรื่องของเด็ก และไม่ต้องมาตีกรอบให้วงการนี้”เขาและเพื่อนๆในแวดวงการ์ตูนไทย ก็ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูง

 

โดย....สิ'นัน

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ