ขจรฤทธิ์ รักษา : ความเข้มแข็งของ “ลมใต้ปีก”

ขจรฤทธิ์ รักษา

ชื่อของ “ขจรฤทธิ์ รักษา” ไม่ใช่ชื่อใหม่หมาด หรือไร้ความเคยคุ้นในวงการวรรณกรรมไทย เพราะนอกจากในสถานะนักเขียนมีชื่อแล้ว ผู้ชายคนนี้ยังเป็นหนึ่งในบรรดาลมใต้ปีกคนสำคัญ ที่คอยผลักดันวรรณกรรมดีๆ ให้พอมีที่อยู่ที่ยืนในสังคมไทยอยู่บ้าง และนั่นเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ขจรฤทธิ์ได้รับพระราชทานรางวัลศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์ เมื่อปี พ.ศ.2551 แต่รางวัลใดๆ ก็คงไม่สำคัญและมีคุณค่าเท่าตัวตนและผลงาน ที่เดินทางข้ามผ่านกาลเวลาได้อย่างน่าภาคภูมิใจ จากหนุ่มน้อยนักอ่านชาวตรัง เดินทางก้าวสู่เมืองหลวงด้วยใจมุ่งมั่นเพื่อก้าวสู่เส้นทางนักเขียน หลังจากเขียนหนังสือได้ในระดับหนึ่ง อีกหนึ่งความฝันก็บรรเจิดขึ้น

“อยากทำหนังสือ”ขจรฤทธิ์กล่าวยิ้มๆ “ผมเอาเรื่องสั้นสิบกว่าเรื่องไปสมัครงานที่บริษัทจีเอ็ม อยู่ที่นั่นปีกว่า รุ่นพี่ทุกคนให้ความรู้เรื่องการทำหนังสือแก่ผมซึ่งผมยังระลึกถึงจนทุกวันนี้ ต่อมาก็เปิดสำนักพิมพ์บ้านหนังสือเป็นของตัวเองเมื่อปี 2534 พร้อมกับเปิดตัวนิตยสารไรเตอร์ แต่ทำได้สี่ปีเหนื่อยก็เลยเลิก แล้วทางกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ก็เข้ามารับช่วงไปทำต่ออีกหนึ่งปี”เขาอธิบาย ขจรฤทธิ์เป็นอีกคนที่สามารถผสาน 2 บทบาทที่แตกต่างได้อย่างลงตัว ทั้งนักเขียนและบรรณาธิการ ซึ่งในบางมุมมองอาจคิดว่าเหลื่อมล้ำกัน แต่เจ้าตัวนั้นยืนยันว่าไม่เคยทับซ้อนเพราะมีกฎที่ยึดไว้ประจำใจเสมอ

“ตอนทำไรเตอร์ ผมยึดหลักที่สำคัญอยู่อย่างหนึ่งก็คือ ต้องส่งเสริมคนอื่น ให้เกียรติคนอื่น ไม่ทำหนังสือเพื่อโปรโมตตนเองโดยเด็ดขาด มีอะไรที่ไม่รู้ ก็จะหารือกับผู้ใหญ่หลายท่าน ส่วนการเขียนซึ่งมาเอาจริงหลังจากเลิกทำไรเตอร์ ก็มีกฎอยู่ว่าจงเริ่มต้นเขียนในสิ่งที่ตัวเองรู้ ถ้าไม่รู้ก็ต้องไปค้นคว้ามา ไม่มีนักอ่านคนไหนชอบนักเขียนขี้โม้” แล้วกับคำที่หลายคนเคยเปรียบเปรยว่า บรรณาธิการเปรียบเสมือนลมใต้ปีกที่หนุนเนื่องให้นักเขียนทะยานได้อย่างอิสระเล่า เขาคิดอย่างไร....

“จริงครับ”ขจรฤทธิ์พยักหน้าเห็นด้วย “ผมท่องไว้เสมอ ต้องยกย่องและให้เกียรติคนอื่น มองไปที่คนอื่น ไม่ลังเลที่จะลงเรื่องที่ดีที่สุด ไม่ว่านักเขียนคนนั้นจะเป็นใคร ในหนังสือ “โรงเรียนวิชาหนังสือ” ของคุณมกุฏบอกไว้ตอนหนึ่งว่า บรรณาธิการที่ดีต้องไม่อ้างความดีใส่ตนในการทำงานตรวจแก้ต้นฉบับ ไม่เปิดเผยการตรวจแก้ต้นฉบับต่อสาธารณะ ไม่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่บุคคลและสิ่งที่เกี่ยวข้อง ส่วนคุณสมบัติของบรรณาธิการก็มีอยู่หลายข้อเช่น เชื่อมั่นความสามารถของตนเอง ไม่ถือความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่ มีความตระหนักรู้ มีความเฉลียวฉลาด มีทักษะในการเจรจา หนังสือเล่มนี้มีประโยชน์สำหรับบรรณาธิการทุกคน

พูดตามตรง เมื่อผมเขียนหนังสือจบ สิ่งที่ผมต้องการมาก ก็คือบรรณาธิการที่เก่งๆ เพื่ออ่านผลงานให้ผมอย่างละเอียด ตัดในส่วนที่เกิน เติมในสิ่งที่ขาด และคอยชี้ให้เห็นถึงความบกพร่องต่างๆ ที่อยู่ในงานเขียน บรรณาธิการมืออาชีพจะเห็นสิ่งเหล่านี้ นักเขียนทุกคนต้องมีบรรณาธิการ” แต่ในปัจจุบัน ความสำคัญของบรรณาธิการดูจะน้อยลงทุกที โดยเฉพาะกับนักเขียนหน้าใหม่ๆ ที่มีผลงานในโลกไซเบอร์

ขจรฤทธิ์ก็อธิบายว่า งานในอินเตอร์เน็ตนั้นเป็นงานแบบเร่งร้อน ไม่ต้องการความพิถีพิถัน คนอ่านก็อ่านด้วยความรวดเร็ว ไม่ต้องละเมียดเหมือนที่เราอ่านวรรณกรรมระดับโลกอย่างหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ของมาเกซในสมัยก่อน หรือแม้กระทั่งงานร่วมยุคอย่าง ขุนเขาแห่งจิตวิญญาณของเกาสิงเจี้ยน หรือเด็กเก็บว่าวของฮาเหล็ด โฮเซนี่ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่รูปแบบการอ่านและการเขียนจะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย จะให้ตัวละครนั่งคิดกันทีละสองหน้าสามหน้าเหมือนอย่างงานของดอสโตเยฟสกี้ก็คงเป็นไม่ได้อีก แต่เขาก็ยังมั่นใจว่า

“นักอ่านส่วนหนึ่งก็ยังอยากเสพงานเขียนที่มีความคลาสสิกอยู่ ผมคิดว่าทางใครก็ทางมันนะครับ โลกนี้มีทางให้เลือกเดินหลากหลาย” ถึงทางเลือกจะมากมาย แต่แวดวงวรรณกรรมไทยเลือกทางเดินใดกัน “น่าเป็นห่วง เราถูกนักอ่านปฏิเสธแทบจะเรียกว่าโดยสิ้นเชิง ไม่รู้ว่าเกิดมาจากสาเหตุอะไรกันแน่ ถ้าไม่ได้รางวัลซีไรต์ไม่มีผลงานเล่มไหนที่มียอดขายเกินหมื่นเล่ม ไม่ว่าผลงานนั้นจะดีเลิศแค่ไหนอย่างไร

ผมเองติดตามงานเขียนของนักเขียนไทยจะเรียกได้ว่าเกือบทุกคน เงากระจกของอุทิศ เหมะมูล เขาเขียนเรื่องความรักของเพศเดียวกันได้เนียนและน่าประทับใจมาก งานของปริทรรศน์ หุตางกูรก็น่าสนใจ งานเรื่องสั้นของพี่จำลอง ฝั่งชลจิตร เขียนได้เหนือกว่านักเขียนฝรั่งหลายๆ คน แต่ก็ยังไม่เป็นที่ต้องการของคนอ่านอยู่ดี บนแผงหนังสือเห็นแต่หนังสือที่แปลมาจากต่างประเทศ ดีหรือไม่ดีไม่รู้ แต่ก็พร้อมจะอุดหนุน หลงลืมไปว่าประเทศของเรามีนักเขียนเก่งๆ อยู่ตั้งหลายคนคิดอยู่เสมอว่า

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ