STIR the DOT ผลกระทบของนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับประเทศไทย : โดย ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

STIR the DOT ผลกระทบของนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับประเทศไทย

     เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566 ภายในงานครบรอบ 9 ปี นิตยสาร Elite+ ซึ่งเป็นนิตยสารราย 2 เดือน ในเครือสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ณ โรงแรมชาเทรียม ริเวอร์ไซด์

     ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กล่าวปาฐกถา เรื่อง STIR the DOT: ผลกระทบของนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับประเทศไทย

      ในฐานะพลเมืองโลกและประเทศไทยที่อยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เข้มข้นและรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และภาวะเศรษฐกิจที่ต้องบริหารจัดการในทุกระดับ โจทย์ของประเทศและสังคม จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องเข้าใจร่วมกัน และช่วยกันคนละไม้ละมือ ทั้งเพื่อแก้ปัญหาและร่วมกันพัฒนาในขั้นตอนต่อไป ในบรรดาเครื่องมือที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการนี้ นวัตกรรมด้านดิจิทัลมีอิทธิพลในการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงที่มีพลัง หากใช้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เช่นใน 5 ด้าน คือ สั่งสมประสบการณ์ (Experiences), การทำความเข้าใจเชิงลึก (Insights), การออกแบบฐานเทคโนโลยี (Platforms), การวางระบบเครือข่ายเชื่อมโยง (Connectivity), และความน่าเชื่อถือ (Integrity)

 

 

      โจทย์ประเทศมีหลากหลาย ซับซ้อน และต้องการการบูรณาการ ไม่ว่าจะเป็นการก้าวย่างเข้าสู่ภาวะ สูงวัยของสังคมไทย, ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ เชิงรายได้ และการศึกษา, โอกาสจากการลงทุน, โครงสร้างพื้นฐานระบบราง โทรคมนาคม ตลอดจนการพัฒนาด้านการเกษตรอาหาร และชนบท ไปถึงสภาพภูมิอากาศที่มีความเปลี่ยนแปลงรุนแรงต่อเนื่อง

      ตัวอย่างแนวคิดในปาฐกถาครั้งนี้ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ คือ โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของไทย (Digital Foundation), การประยุกต์ใช้ดิจิทัลรายสาขา (Digital of Things) และตัวอย่างการพัฒนาภูมิภาคอีสานเชิงระบบเพื่อสร้างจุดแข็งและเพื่อความยั่งยืน (Isan 2030)

      ในส่วนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ปัจจัยสำคัญคือ การ “ขยายผล” จากต้นทุนที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสายสื่อสารใยแก้วนำแสง อุทยานดิจิทัล กฎหมายดิจิทัล หรือการให้บริการแบบจุดเดียว (One Stop Service) ที่ใช้เครือข่ายดิจิทัลเชื่อมต่อหน่วยงานต่างๆของราชการ องค์กรใหม่ๆ ที่ท้าทายต่อการก้าวกระโดด เช่นสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Institute), โครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart City), กฎหมายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์, กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น

      สำหรับการประยุกต์ใช้ดิจิทัลรายสาขานั้น เป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศจะสร้างความสามารถในการแข่งขันพร้อมๆกับเตรียมภูมิคุ้มกันให้กับสังคมยุคดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการใช้ดิจิทัลทันสมัยเพื่อการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั้งทางบก เคเบิลใต้น้ำ และทางอากาศ การเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งมีส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก การใช้ Big Data เพื่อให้บริการประชาชนและธุรกิจ การใช้ 5G เพื่อการแพทย์และโลจิสติกส์ การใช้ระบบอัตโนมัติในวงการอุตสาหกรรมการผลิต หรือแม้แต่บทบาทของดิจิทัลในการลดภาวะโลกร้อน อย่างไรก็ตาม เมื่อเทคโนโลยีมีประโยชน์ก็ตามมาด้วยจุดอ่อนกับภัยอันตรายของเทคโนโลยีที่สังคมต้องช่วยกันดูแล

      ตัวอย่างที่ยกมาสุดท้ายคือ แนวคิดส่วนตัวเรื่องการพัฒนาอีสาน ซึ่งเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญ แต่ก็ต้องออกแบบวิธีคิดเชิงบูรณาการเพื่อประโยชน์สูงสุด ตามบริบทของพื้นที่ และความยั่งยืนในการพัฒนา

 

ในการนี้ ข้อเสนอ 3 ประการ ประกอบด้วย

     การมุ่งพัฒนา 19 จังหวัดในอีสานให้เติบโตด้วยอุตสาหกรรม และบริการด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ซึ่งสามารถปรับเข้ากับการพัฒนาด้านเกษตร อาหาร พลังงาน การแพทย์ ท่องเที่ยว และอื่นๆ

     ประการที่สองคือการสร้างความเข้มแข็งในพื้นที่ การค้าชายแดน และระเบียงเศรษฐกิจอีสาน โดยมาตรการส่งเสริมการลงทุน ห่วงโซ่การผลิตและบริการ การวิจัยและพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานทั้งทางกายภาพและกำลังคน

     ประการที่สาม คือการพัฒนาอีสานให้มีความก้าวหน้าทันสมัย โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นระบบเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) ระบบการผลิตอัตโนมัติ (Automation) และหุ่นยนต์ (Robotics) อุตสาหกรรมการพัฒนาชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรองรับศูนย์ข้อมูล (Data Center) การให้บริการคลาวด์ (Cloud Service) ตลอดจนส่งเสริมผู้ประกอบการ Startupในสาขาต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่ใช้ระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มทั้งสิ้น

     กล่าวโดยสรุป ประเทศไทยยังมีโอกาสในการก้าวไปข้างหน้า ให้หลุดพ้นความยากจน และกับดักรายได้ปานกลาง ดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญที่ต้องส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง เพื่อรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ