ปิยะพร -ประชาคม -ครูสลา คว้าศิลปินแห่งชาติ : ประจำปี 2564

ปิยะพร -ประชาคม -ครูสลา คว้าศิลปินแห่งชาติ

“ปิยะพร -ประชาคม-ครูสลา” คว้าศิลปินแห่งชาติ ปี 2564 ครูสลา โดย...นันทพร ไวศยะสุวรรณ์

 

กวช.แถลงผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๔เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๖๕ ณ ศูนย์ประชุมชั้น ๘ กระทรวงวัฒนธรรม ภายหลังการประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๔/๒๕๖๕ โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นประธานฯ ผ่านระบบซูม

 

ในการนี้ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รองประธานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้แถลงผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๔ ผ่าน Facebook Live Fan Page กรมส่งเสริมวัฒนธรรม

ซึ่งมีบุคคลที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ จำนวน ๑๒ คน ดังนี้ ๑.สาขาทัศนศิลป์ จำนวน ๔ คน ได้แก่

๑.๑ นางวรรณี ชัชวาลทิพากร (ภาพถ่าย)

๑.๒ ศาสตราจารย์ถาวร โกอุดมวิทย์ (ภาพพิมพ์)

๑.๓ ศาสตราจารย์เกียรติคุณอรศิริ ปาณินท์ (สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น)

๑.๔ นายมีชัย แต้สุจริยา (ทอผ้า)

 

๒.สาขาวรรณศิลป์ จำนวน ๒ คน ได้แก่

๒.๑ นางนันทพร ศานติเกษม (นามปากกา ปิยะพร ศักดิ์เกษม)

๒.๒ นายวิชชา ลุนาชัย (นามปากกา ประชาคม ลุนาชัย)

 

๓.สาขาศิลปะการแสดง จำนวน ๖ คน ได้แก่

๓.๑ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ (โนรา)

๓.๒ นายกำปั่น นิธิวรไพบูลย์ (เพลงโคราช)

๓.๓ นายไพฑูรย์ เข้มแข็ง (นาฏศิลป์ไทย - โขน ละคร)

๓.๔ ศาสตราจารย์ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร (ดนตรีสากล - ประพันธ์เพลงคลาสสิก)

๓.๕ นายสลา คุณวุฒิ (ดนตรีไทยสากล - ประพันธ์เพลงไทยลูกทุ่ง) ๓.๖ นายนพพล โกมารชุน (ภาพยนตร์และละคร)

 

นายอิทธิพล กล่าวต่อว่า ผู้ที่ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ จะได้รับสวัสดิการประกอบด้วย ค่าตอบแทนรายเดือนๆ ละ ๒๕,๐๐๐ บาท (สองหมื่นห้าพันบาทถ้วน) ตลอดระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่ ค่ารักษาพยาบาลตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลโดยอนุโลม เว้นแต่มีสิทธิเบิกจากหน่วยงานอื่น ให้เบิกจากหน่วยงานนั้นก่อน ถ้าเบิกจากหน่วยงานนั้นได้ต่ำกว่าสิทธิตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ให้มีสิทธิเบิกในส่วนที่ยังขาดอยู่ได้อีกภายในวงเงินไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ต่อปีงบประมาณ เงินช่วยเหลือเมื่อประสบสาธารณภัย รายละไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท ต่อครั้ง ค่าของเยี่ยมในยามเจ็บป่วยหรือในโอกาสสำคัญเท่าที่จ่ายจริง รายละไม่เกิน ๓,๐๐๐ บาท ต่อครั้ง และกรณีเสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือบำเพ็ญกุศลศพ รายละ ๒๐,๐๐๐ บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริง รายละไม่เกิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท เป็นต้น

ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทาน พระบรมราชวโรกาสนำศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๔ ทั้ง ๑๒ คน เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานโล่และเข็ม เชิดชูเกียรติ ในวัน เวลา ตามแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ในการนี้ นายอิทธิพล คุณปลื้ม ยังได้เปิดเผยถึงเกณฑ์การคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ประกอบด้วย ๓ หลักเกณฑ์ใหญ่ คือ

เกณฑ์ที่ ๑. คุณสมบัติของศิลปินแห่งชาติ ได้แก่ เป็นผู้มีสัญชาติไทยและยังมีชีวิตอยู่ในวันประกาศ ยกย่อง เป็นผู้มีคุณธรรม มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับของวงการศิลปะในสาขานั้น เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะในสาขาที่ได้รับการประกาศยกย่อง เป็นผู้ผดุง ถ่ายทอด เผยแพร่ หรือเป็นต้นแบบศิลปะในสาขาที่ได้รับการประกาศยกย่อง เป็นผู้ทุ่มเทอุทิศตนเพื่องานศิลปะ และมีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ไม่มีความประพฤติเสื่อมเสีย และไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือ ความผิดลหุโทษ

เกณฑ์ที่ ๒. คุณค่ามาตรฐานผลงานศิลปะของศิลปินแห่งชาติ ผลงานต้องสื่อให้เห็นถึงคุณค่าในความดี ความจริง ความงาม อารมณ์ และคุณค่าทางจิตวิญญาณ แสดงออกถึงแนวคิด สร้างพลังความรู้และพัฒนาสติปัญญาแก่มนุษยชาติ ก่อให้เกิดความรู้สึกสะเทือนอารมณ์ และส่งเสริมจินตนาการ และเป็นผลงานสร้างสรรค์มีเอกลักษณ์ มีทักษะสูงส่ง มีกลวิธีเชิงสร้างสรรค์ ไม่แสดงเจตนาหรือจงใจคัดลอกหรือเลียนแบบผลงานของผู้อื่นทั้งเปิดเผยและแอบแฝง

เกณฑ์ที่ ๓. การเผยแพร่และการยอมรับคุณค่าผลงานของศิลปินแห่งชาติ ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นศิลปินแห่งชาติ จะต้องมีการเผยแพร่ผลงานและได้รับการยอมรับ คุณค่าในผลงาน ดังนี้ เป็นผลงานที่ได้รับการจัดแสดง ถ่ายทอดหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง มีหลักฐาน อ้างอิง โดยเป็นผลงานที่แสดงให้เห็นถึงแนวคิด พัฒนาการทางงานศิลปะอย่างเด่นชัด และเป็นผลงานได้รับรางวัล หรือเกียรติคุณระดับภูมิภาค ระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ ซึ่งมีกระบวนการพิจารณาที่มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ

อนึ่ง การคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ จะทำการคัดเลือกใน ๓ สาขา ได้แก่

๑. สาขาทัศนศิลป์ หมายถึง ศิลปะที่มองเห็นได้ด้วยตา แบ่งเป็น วิจิตรศิลป์ ประยุกต์ศิลป์ การออกแบบและประณีตศิลป์ วิจิตรศิลป์ ได้แก่ จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ สื่อผสม ภาพถ่าย ประยุกต์ศิลป์ ได้แก่ สถาปัตยกรรมไทย - ร่วมสมัย ภูมิสถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมผังเมือง มัณฑนศิลป์ ส่วนศิลปะการออกแบบและประณีตศิลป์ ได้แก่ ออกแบบแฟชั่น ออกแบบอุตสาหกรรม หัตถศิลป์ ช่างสิบหมู่ หัตถกรรมพื้นบ้าน เป็นต้น

๒. สาขาวรรณศิลป์ หมายถึง บทประพันธ์ที่แต่งอย่างมีศิลปะทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง มีองค์ประกอบที่สำคัญคือ ความรู้สึกสะเทือนใจ ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการและกลวิธีเสนออย่างมีชั้นเชิง

๓. สาขาศิลปะการแสดง หมายถึง ศิลปะที่สื่อสารผ่านการแสดงเพื่อสร้างความบันเทิงและจรรโลงใจให้ผู้คนและสังคม ทั่งแบบไทยประเพณี ประยุกต์ สากล และแบบพื้นบ้าน ประกอบด้วย

    ๑.ดนตรีไทย นาฏศิลป์ไทยและศิลปะการแสดงพื้นบ้าน

     ๒.ดนตรีสากลและนาฏศิลป์สากล

     ๓.ภาพยนตร์และละคร

 

นับตั้งแต่เริ่มโครงการศิลปินแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗ มีศิลปินแห่งชาติ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๘ - ๒๕๖๓ แล้วจำนวน ๓๓๑ คน และในปี พ.ศ. ๒๕๖๔ จำนวน ๑๒ คน รวมทั้งสิ้น ๓๔๓ คน ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ๑๖๙ คน โดยยังมีชีวิตอยู่ ๑๗๔ คน

 

สำหรับเยาวชนและประชาชนผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติเพิ่มเติมได้ที่ www.culture.go.th หรือ www.facebook.com/DCP.culture และ line@วัฒนธรรม

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ