มนุษย์ จิตวิญญาณแห่งอาคันตุกะ : บทวิจารณ์โดย ชินดนัย ชราชิต

มนุษย์ จิตวิญญาณแห่งอาคันตุกะ

“อาคันตุกะ มนุษย์ ผู้ซึ่งควรดำรงด้วยจิตวิญญาณของการเป็นแขกบ้านแขกเมืองที่พึงปฏิบัติ”

          อาคันตุกะ เป็นสารคดีเรื่องสั้นที่เล่าถึงความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและกัน ระหว่างมนุษย์และเขาใหญ่รวมถึงสัตว์ป่าด้วย ตลอดจนเนื้อเรื่องได้สะท้อนความเป็นอาคันตุกะที่ผิดปกติทั้งทางพฤตินัยและนิตินัยต่อกันและกัน ซึ่งนำมาสู่การเป็นสิ่งเตือนใจ พึงระลึกคิดต่อการเป็นอาคันตุกะที่ดีต่อเขาใหญ่ให้ยังคงมีความสมบูรณ์เชิงระบบนิเวศน์ที่งดงามและเป็นมรดกทางธรรมชาติต่อไป

          สารคดีอาคันตุกะ โดย คุณธีรภาพ โลหิตกุล “อาคันตุกะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2554) ได้นิยามว่า “แขกผู้มาหา” ซึ่งหากเรามองเผิน ๆ หรือโดยทั่วไปมักหมายถึงแขกบ้านแขกเมืองที่เข้ามาทำกิจในบ้านเรา แต่อาคันตุกะในหัวเรื่องของสารคดีดังกล่าว ได้ใช้ความหมายโดยนัยในการเปรียบเทียบอาคันตุกะที่ซึ่งแปลกไปจากปรกติ คือการนำมาเปรียบให้อาคันตุกะเป็นแขกผู้เข้าหาสิ่งแวดล้อมป่าใหญ่ เป็นการปฏิบัติต่อป่าใหญ่และสัตว์ป่ามากกว่าการปฏิบัติกิจตามความหมายโดยทั่วไป

          ถ้าหากสารคดีเรื่องนี้อยู่บนชั้นวางขายหนังสือที่กระจัดกระจายอาจจะได้รับความนิยมต่ำ เพราะเรื่องอาคันตุกะสามารถหาอ่าน หาซื้อได้ทั่วไป แต่กลับกันหากอาคันตุกะดังกล่าวอยู่ในหมวดหมู่หนังสือสิ่งแวดล้อม หนังสือสารคดีท่องโลก ย่อมได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง เนื่องจากการใช้หัวเรื่องที่น่าสนใจและชวนให้ติดตาม ทำให้เราเกิดคำถามต่าง ๆขึ้น อาทิ อาคันตุกะมาอยู่ในหมวดหมู่นี้ได้อย่างไร อะไรคือสิ่งที่ทำให้อาคันตุกะเปลี่ยนไปจากเดิม เป็นต้น แน่นอนว่าย่อมได้ระบความสนใจเป็นอย่างมาก

          จากการอ่านอาคันตุกะนั้นกระผมสามารถวิเคราะห์แยกออกเป็น 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การเปิดเรื่องที่น่าสนใจ, การใช้ภาษาและการเห็นภาพ ,การสะท้อนประเด็นทางสังคม และความเข้าใจข้อคิดสู่คนรุ่นหลัง

          ประการแรก การเปิดเรื่อง การเกริ่นเข้าสู่เรื่องที่มีความน่าสนใจ ชวนติดตามอย่างน่าแปลกใจ กล่าวคือ “...โปรดระลึกว่า อุทยานแห่งชาติเป็นสถานรักษาพันธุ์ไม้และสัตว์ที่ดำรงชีวิตอยู่ที่นี่ ส่วนท่านเป็นอาคันตุกะ จึงควรปฏิบัติตนอย่างอาคันตุกะผู้หนึ่ง คือเคารพสิทธิของอาคันตุกะอื่นๆ และเคารพระเบียบข้อบังคับของอุทยานและชีวิตสัตว์ที่อยู่ในที่นั้น ถ้าท่านปฏิบัติตนได้ดังนี้ ท่านจะได้รับความชื่นบานและจะจากอุทยานฯไปด้วยความรู้ประจักษ์ว่า เขาใหญ่นี้เป็นสถานที่ดีวิเศษเสียนี่กระไร...” ข้อความดังกล่าว ถือเป็นด่านแรกที่สร้างความน่าสนใจของเนื้อหา เป็นการตะเตือนให้ผู้อ่านให้ย้ำคิดเกี่ยวกับเรื่องที่จะกล่าวในส่วนถัดไป ซึ่งการปฏิบัติต่อการเป็นอาคันตุกะมีหลากหลายรูปแบบวิธี เราไม่สามารถรับรู้ได้ว่าเนื้อหาถัดไป เขาต้องการที่จะสื่อถึงการปฏิบัติในรูปแบบไหน  ระเบียบข้อบังคับอุทยานมีหลายประการ อาจจะสื่อการลักลอบฆ่าสัตว์ หรืออื่น ๆ ก็เป็นได้ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่เราไม่ทราบล่วงหน้าได้

          ประการที่สอง การใช้ภาษาและการเห็นภาพ กล่าวคือ ผู้แต่งเขียนภาษาและคำที่เข้าใจง่าย สละสลวย เรียงลำดับก่อน-หลัง อย่างชัดเจน สามารถจินตนาการภาพตามเนื้อเรื่องอย่างเข้าใจ มีการใช้การพรรณนาเข้ามาช่วยให้เรื่องดำเนินเป็นไปอย่างนุ่มนวล ตลอดจนการใช้การอุปมาอุปมัยเพื่อสร้างความเข้าใจอย่างลึกซึ้งอีกด้วย

          ตัวอย่างของการใช้คำ คือ คำว่าหล่อนที่แทนกวางสองแม่ลูก “กวางสองแม่ลูกมาชะเง้อดูข้าพเจ้าในระยะใกล้พอที่จะใช้เลนส์ ๒๐๐ มิล จับภาพไว้ได้ หล่อนมิได้มีทีท่าตกอกตกใจอะไรนัก” ซึ่งส่วนตัวมองว่า มันทำให้สารคดีเรื่องนี้มีความสนุกมากยิ่งขึ้น ซึ่งโดยปกติเราสามารถเลือกใช้คำอื่นแทนได้ อาจใช้คำว่า กวางทั้งสองตัวมิได้มีทีท่าตกอกตกใจ หรือ มันทั้งสองตัวมิได้มีทีท่าตกอกตกใจ แต่ผู้แต่งกลับใช้คำว่า หล่อน ซึ่งมันทำให้การอ่านได้อรรถรสของความสนุกและรอยยิ้มมากยิ่งขึ้น

          ตัวอย่างของการพรรณนา คือ “เธออวดโชว์ผลงานสานใยไว้ดักเหยื่อ ที่ยามเมื่อมีน้ำค้างเกาะแล้วกระทบแสงแดดอุ่นยามเช้า ได้กลายเป็นผลงานศิลปะที่หาดูไม่ได้ในงานแสดงตามห้างสรรพสินค้า หรือในแกลเลอรี่หรูใจกลางเมืองหลวง” ข้อความดังกล่าวมันทำให้เราสามารถมองภาพตามได้อย่างชัดเจน สามารถจินตภาพได้ขณะอ่าน ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสารคดี เพราะสารคดีมีความใกล้เคียงกับภาพยนตร์หรือหนังตามที่อาจารย์ได้กล่าวไว้ การที่อาคันตุกะเรื่องนี้ทำให้เรามองเห็นภาพตามไปด้วยถือว่าเป็นสารคดีที่น่าสนใจ

          ตัวอย่างของการเปรียบเทียบ คือ การสร้างบ้านแบบหย่าเวือนหรือบ้านสวนของเมืองเว้ ประเทศเวียดนาม นำมาเปรียบเทียบกับเขาใหญ่ โดยเทียบสิ่งต่าง ๆ ให้เราสามารถคิด วิเคราะห์เห็นภาพตามได้ เปรียบลับแลที่เป็นไม้ประดับประเภทชบาให้เป็นป่าเบญจพรรณสองข้างถนนที่เขาใหญ่ และสามารถทำให้เราเห็นพ้องต้องกันอย่างชัดเจนว่า การมีลับและของชาวเมืองเว้ เวียดนาม ก็เปรียบเสมือนการคัดอาคันตุกะที่จะเข้าไปเป็นแขกของป่านั้น ๆ ได้

          ประการที่สาม การสะท้อนปัญหาประเด็นทางสังคม ประเด็นของสัตว์ที่ตายด้วยฝีมือมนุษย์ กล่าวคือ จุ๋มจิ๋ม ลูกกระทิงป่าที่ถูกพรากจากแม่ แต่ถูกผู้ใจบุญนำกลับมาเลี้ยงในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้ตายในปี 2517 ด้วยกระเพาะอาหารอุดตัน กระเพาะอาหารของจุ๋มจิ๋มนั้นเต็มไปด้วยถุงพลาสติก เศษแก้ว ตลอดจนอื่น ๆ ที่สัตว์ไม่สามารถย่อยสลายเองได้ นั้นเป็นการสะท้อนปัญหาทางสังคมเกี่ยวกับพฤติกรรมเดิมของมนุษย์ในสังคมที่ยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นจนถึงปัจจุบัน เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 สำนักข่าว Thai PBS ได้รายงานว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Chananya Kanchanasaka ได้เผยแพร่ภาพกวางป่าที่ตาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทำการผ่าท้องและพบว่ามีขยะและพลาสติกสะสมอยู่ในกระเพาะของกวางจำนวนมาก

           ประเด็นของจุ๋มจิ๋มและประเด็นของกวางป่าที่ตายมีความเหมือนกัน คือ พลาสติกสะสมและของที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ แต่ต่างกันตรงปีที่เกิดเหตุการณ์นั้น ๆ เหตุการณ์ของจุ๋มจิ๋มล่วงเวลามาจนเหตุการณ์ปัจจุบันเกือบจะ 50 ปี แต่ความคิดและพฤติกรรมมนุษย์ยังไม่เกิดความก้าวหน้า มนุษย์ที่ทระนงว่าตนเองเป็นสัตว์ประเสริฐ กลับกันยังคงเป็นอาคันตุกะที่ใช้พฤติกรรมแบบเดิมที่เห็นข้อบังคับอุทยานเป็นเพียงตัวหนังสือ ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ แน่นอนว่ายิ่งจะทำให้เกิดผลเสียต่อระบบนิเวศน์ของป่าต่อไปได้

          ประการที่สี่ ความเข้าใจและข้อคิดสู่คนรุ่นหลัง กล่าวคือ ความเข้าใจในที่นี้หมายถึง มนุษย์ที่ควรเข้าใจแก่พฤติกรรมของสัตว์ป่า ดังตัวอย่างในสารคดีช่วงหนึ่งที่กล่าวถึง พฤติกรรมของลิงกังที่มักจะรออาหารจากมนุษย์เป็นประจำทำให้ลิงกังละสัญชาตญาณของตนเกี่ยวกับการหาอาหารเอง เพราะเมื่อลิงกังได้ยินเสียงจากท้องถนนมักจะออกมาเพื่อรออาหารจากมนุษย์ ซึ่งมันทำให้ลิงกังมีอัตราการเสี่ยงตายสูงมากจากการถูกรถชนหรือการตายอื่น ๆ ยิ่งต้องสร้างความตระหนักแก่คนในสังคมเกี่ยวกับการเรียนรู้พฤติกรรมของสัตว์ป่าด้วย

          อาคันตุกะ ได้ให้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์เป็นอย่างมาก คือ การสะท้อนประเด็นทางสังคมเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์ที่แม้นผ่านช่วงเวลามานับ 4 ทศวรรษ แต่การกระทำที่ยังคงเดิม ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบทำให้สัตว์ป่าย่อมมีอัตราการตายสูงมากขึ้น และ “ค่าปรับตามกฎหมายเพียง ๑,๐๐๐ บาท มันช่างน้อยนิดเหลือเกินสำหรับชีวิตสัตว์ป่าที่สูญเสียไปแม้เพียงตัวเดียว และหากคนขับรถทุกคนมีสำนึกว่าตนเองเป็นเพียงอาคันตุกะ มิใช่เจ้าของบ้าน เจ้าของถนน เหตุการณ์อันน่าสลดใจเช่นนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น” ซึ่งนำมาจากช่วงหนึ่งของเรื่อง คือ เงิน ก็ไม่สามารถที่จะเทียบค่ากับสัตว์ที่สูญเสียไปได้ เพราะถ้าหากยิ่งเป็นสัตว์ป่าหายาก หรือ สัตว์สงวนที่ใกล้สูญพันธุ์ หากคน ๆ หนึ่งได้ฆ่าชีวิตสัตว์นั้นไปแล้วทั้งอุบัติเหตุและไม่เป็นอุบัติเหตุ มันยากมากที่จะนำสิ่งไหนมาทดแทนมนุษย์ “อาคันตุกะ ผู้ซึ่งควรดำรงด้วยจิตวิญญาณของการเป็นแขกบ้านแขกเมืองที่พึงปฏิบัติ” ซึ่งกระผมได้ถอดข้อความดังกล่าว จากบรรทัดปิดเรื่องของเรื่องดังกล่าว ความว่า “ท่านเป็นอาคันตุกะ จึงควรปฏิบัติตนอย่างอาคันตุกะผู้หนึ่งเท่านั้น” ซึ่งการปิดเรื่องสร้างความน่าคิดตามให้เราพึงปฏิบัติตนอย่างไรเมื่ออยู่ในสถานที่นั้น ๆ

          กล่าวโดยสรุป อาคันตุกะ ถือเป็นอีกหนึ่งสารคดีที่อยากจะแนะนำให้ทุกท่านได้ลองสัมผัสถึงความน่าหลงใหลในการใช้คำ การเปรียบเทียบ การพรรณนา นอกจากที่จะให้ความเพลิดเพลินในการอ่านแล้วนั้น ยังช่วยสร้างข้อคิดสิ่งเตือนใจแก่มนุษย์เราที่ซึ่งเห็นควรแก่การปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด การพึงปฏิบัติต่อป่าใหญ่รวมไปถึงสัตว์ป่า อยากให้สารคดีเรื่องนี้เป็นสื่อกลางสร้างความเข้าใจใหม่หรือการสร้างความเข้าใจเพิ่มเติมว่า ป่าให้อะไรกับเรา แล้วเราควรปฏิบัติต่อป่าใหญ่อย่างไร เพื่อความยั่งยืนของระบบนิเวศน์ไทยต่อไปในอนาคต “หากชนชาติไทยไม่พึงปฏิบัติดีต่อกฏระเบียบอุทยานไทย แล้วจะให้ชนชาติไหนมาทำแทน” อนาคตระบบนิเวศน์ขึ้นอยู่กับพวกเรา

          สื่อที่เป็นกระบอกเสียงของอาคันตุกะ (ธีรภาพ โลหิตกุล) หากเราไม่ใช่ผู้สื่อสารออกไป คุณจะให้ใครสื่อสารแทน เพราะสัตว์เหล่านั้นไม่สามารถที่จะสื่อสารได้ดีกว่ามนุษย์สื่อสารด้วยกันเอง มนุษย์ผู้ซึ่งเป็นสัตว์ประเสริฐ ก็เห็นควรแก่การกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์สุขต่อเพื่อนสัตว์โลกร่วมกัน

 

 

มนุษย์ จิตวิญญาณแห่งอาคันตุกะ...
บทวิจารณ์โดย ชินดนัย ชราชิต

โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่ งานวิจารณ์ ปีที่ 6

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ