อิสรภาพของวาฬบรูด้า : ล่าบรูด้าที่บ่อนอก : โดย กมลวรรณ เเม้นทอง

อิสรภาพของวาฬบรูด้า : ล่าบรูด้าที่บ่อนอก

 

          “ล่าบรูด้าที่บ่อนอก” เป็นวรรณกรรมประเภทสารคดี ที่นำเสนอเรื่องราวให้ผู้อ่านเข้าใจลักษณะนิสัย พฤติกรรมและความเป็นอยู่ของวาฬบรูด้า ผ่านช่างภาพซึ่งเป็นตัวละครที่ถ่ายทอดเรื่องราวออกมาได้อย่างน่าสนใจ ให้ความรู้ทางวิชาการไปพร้อมกับอรรถรสเพลิดเพลิน ผู้เขียนได้เปิดเรื่องด้วยการบอกเล่าความรู้สึกนึกคิดของช่างภาพ โดยถือว่าเป็นผู้เล่าเรื่อง ตามด้วยบทสนทนาที่ว่า
 

          “เราจะเจอมันแน่ไหม?” “ก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะเราไม่ได้เลี้ยงมันไว้” ซึ่งเป็นการชวนให้ผู้อ่านรู้สึกขบคิดและติดตามว่าสารคดีเรื่องนี้จะมีการดำเนินเรื่องราวต่อไปอย่างไร ในส่วนของรูปแบบการเขียน ผู้เขียนได้สร้างให้ช่างถ่ายภาพมีบทบาทหลัก ซึ่งผู้อ่านสามารถเรื่องราวการถ่ายทอดเนื้อหาสาระผ่านปากของช่างถ่ายภาพ การดำเนินเรื่องของสารคดีมีความน่าสนใจ ชวนติดตาม ถึงแม้ว่าการปิดเรื่องอาจไม่ได้สมหวัง แต่ก็ทำให้ผู้อ่านเข้าใจความเป็นเหตุเป็นผลของเรื่องราวได้เป็นอย่างดี
 

          “วาฬบรูด้า” เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดใหญ่ ในประเทศไทยสามารถพบสัตว์ชนิดนี้ได้บริเวณพื้นที่ทะเลอ่าวไทย ซึ่งพื้นที่ที่พบวาฬบรูด้าต้องเป็นทะเลที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์น้ำชุกชุม การกินอาหารของมันจะอ้าปากโผล่บนผิวน้ำให้เหยื่อจับฝูงรวมกันจนพอใจ และจึงหุบปากขนาดใหญ่นั้น ดำดิ่งลงใต้ทะเล จากสารคดี “ล่าบรูด้าที่บ่อนอก” ผู้เขียนได้บรรยายให้เห็นถึงหมู่บ้านชายฝั่งทะเล “บ่อนอก” จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ สะท้อนความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่เอื้อต่อนิเวศธรรมชาติ จำทำให้บริเวณบ่อนอกพบวาฬบรูด้าได้บ่อยครั้ง
 

          ก่อนจะเริ่มการตีแผ่วิเคราะห์ความน่าสนใจในอิสรภาพของวาฬบรูด้าจากสารคดี เรื่อง “ล่าบรูด้าที่บ่อนอก” มีประเด็นที่มีความน่าสนใจ นำมากล่าวถึง นั่นคือ ผู้เขียนมีกลวิธีการตั้งชื่อเรื่องนี้น่าสนใจ กล่าวคือ ชื่อเรื่องมีความย้อนแย้งเป็นปฏิพากย์กับเนื้อหา ซึ่งคำว่า “ล่า” เป็นกริยาที่หมายถึง การติดตามอย่างกระชั้นชิดเพื่อจับ หรือ ฆ่า หากแต่ในสารคดีเรื่องนี้ ตัวช่างภาพซึ่งถือเป็นผู้ล่ากับมีจุดประสงค์เพื่อถ่ายภาพวาฬบรูด้าเท่านั้น
 

          “อิสรภาพของวาฬบรูด้า” เป็นประเด็นที่ผู้วิจารณ์มองว่าสารคดีเรื่อง ล่าบรูด้าที่บ่อนอก สะท้อนให้เห็นลักษณะนิสัย การดำรงชีวิตของวาฬบรูด้าที่เป็นไปอย่างอิสระ กล่าวคือ สารคดีได้ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านตัวละครที่เล่าถึงสิ่งที่ตนเองมุ่งมั่นตั้งใจ ด้วยการออกทะเลเพื่อไปถ่ายภาพวาฬบรูด้า แต่มีประโยคหนึ่งที่ได้บั่นทอนความมั่นใจของช่างภาพ คือ “เราไม่ได้เลี้ยงมันไว้” แสดงให้เห็นว่าวาฬบรูด้าเป็นสัตว์ที่มีอิสรภาพในการดำรงชีวิต เอาแน่เอานอนไม่ได้ การที่ช่างภาพจะได้เจอกับวาฬบรูด้าอย่างสมหวังจึงไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ท้องทะเลที่กว้างใหญ่ก็เปรียบได้กับความเป็นอิสรภาพของวาฬบรูด้าที่จะสามารถแหวกว่ายไปที่ไหน ๆ ตามใจตัวเองก็ได้ ทว่าด้วยลักษณะนิสัยและกิจวัตรที่ผู้สังเกตพบเห็น จึงเป็นหลักในการคาดเดาว่าวาฬบรูด้าจะปรากฏตัวขึ้นในช่วงใด ช่างภาพเป็นตัวละครที่สะท้อนมุมมองของผู้เล่าที่แตกต่างไป หากคำว่า “ล่า” นั้น ผู้อ่านอาจจะเข้าใจว่า การนำเสนอเรื่องราวอาจเป็นการล่าวาฬเพื่อทำร้ายหรือทำอันตราย แต่ผู้เขียนได้เปิดทัศนะของคำว่า “ล่า” ที่แตกต่างไปจากเดิม โดยมีอาวุธที่ใช้ล่าเป็นเพียงกล้องถ่ายรูปที่ไม่ได้ทำอันตรายใด ๆ แก่วาฬบรูด้าเลย การดำเนินเรื่องราวของการล่าวาฬบรูด้า เหมือนเรือลอยลำอยู่กลางทะเลที่ได้แต่ภาวนาให้วาฬบรูด้าปรากฏตัวขึ้นในทะเลที่กว้างใหญ่ ผู้เขียนยังสอดแทรกที่พบวาฬบรูด้า แต่สุดท้ายช่างภาพก็ต้องพบกับความผิดหวัง โดยผู้เขียนได้ให้เหตุผลทางธรรมชาติที่มีความสอดคล้องเหมาะสม ทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ถึงเรื่องราวของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดนี้ที่มีอิสระและดำเนินชีวิตอย่างมีอิสรภาพตามธรรมชาติ และสัญชาตญาณของตัวมันเอง
 

          สารคดีเรื่อง “ล่าบรูด้าที่บ่อนอก” ถือเป็นวรรณกรรมที่ให้ข้อมูลความรู้ด้วยการสอดแทรกอธิบายสาระความรู้ ผนวกกับกลวิธีการนำเสนอที่สร้างสรรค์ ผู้เขียนถ่ายทอดบอกเล่าเรื่องราวได้อย่างน่าสนใจและชวนติดตามอยู่ตลอด ทำให้สารคดีนี้มีเสน่ห์และคุณค่าด้านวรรณกรรมทำให้ผู้อ่านได้รับความรู้และความเพลิดเพลิน   

     

 

อิสรภาพของวาฬบรูด้า : ล่าบรูด้าที่บ่อนอก
บทวิจารณ์ "ล่าบรูด้าที่บ่อนอก"

โดย กมลวรรณ เเม้นทอง
โครงการ “อ่าน  เขียน  เรียนรู้  สู่งานวิจารณ์ ” ปีที่ 5 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ