การกดทับความเป็นสตรีใน “เมื่อลูกเป็นสุภาพบุรุษ” : โดย ทฤฑมน จันทร์ธนไพบูลย์

การกดทับความเป็นสตรีใน “เมื่อลูกเป็นสุภาพบุรุษ”

           “เมื่อลูกเป็นสุภาพบุรุษ” เรื่องสั้นโดยชมัยพร แสงกระจ่าง เล่าถึงครอบครัวหนึ่ง โดยมีแม่เป็นผู้เขียนถึงลูกชายของตนเป็นการเล่าย้อนอดีต เริ่มตั้งแต่เหตุการณ์ในวันแต่งงานของพ่อกับแม่ วันที่แม่เจ็บท้องคลอดลูก จนถึงเหตุการณ์ที่ลูกชายเติบโตเป็นหนุ่ม แม่ปลูกฝังลูกชายคนเดียวของแม่เสมอมาว่าลูกต้องเป็นสุภาพบุรุษ แม่มีนักเขียนในดวงใจอย่าง “ศรีบูรพา” ผู้ที่ทำให้แม่รู้จักซาบซึ้งกับคำว่า “สุภาพบุรุษ”
 

            ตลอดทั้งเรื่องจะเห็นบทบาทและทัศนคติของผู้เป็นแม่ แม่กล่าวตั้งแต่เริ่มเรื่องถึงความเจ็บปวดของผู้หญิงเวลาคลอดลูก “แม่เจ็บปวดทุกข์ทรมานปานว่าจะขาดใจตาย...แม่กัดฟันแน่น...ก็คือจิกมือยายจนห้อเลือด” แม่ได้บรรยายถึง “ความเจ็บปวด” ของ “ผู้หญิง” ในการให้กำเนิดบุตรในอีกทางหนึ่งแม่กำลังพยายามยกตัวอย่างให้เห็นถึงความเสียสละอันยิ่งใหญ่ของตนที่ผู้ชายไม่สามารถทำแทนได้เป็นหน้าที่ของผู้หญิงเท่านั้น
 

            แม่ยังยกตัวอย่างเหตุการณ์ในวันแต่งงานกับพ่ออยู่ ๆ ก็มีผู้หญิงท้องโย้พร้อมกับแม่ของเขาเดินเข้ามาในงานแต่งและแสดงตัวว่าเธอกำลังอุ้มลูกในท้องของ อรรณพ หรือพ่อของลูกนั่นเองผู้หญิงที่ท้องโย้อยู่นั้นเธอเดินเข้ามาบอกว่า “ฉันท้องแก้ใกล้คลอดแล้วนะ เด็กในท้องนี่ก็ลูกของเขา เธอยังจะแต่งกับเขาอีกหรือ” แม่ตัดสินใจว่าจะยกเลิกงานแต่งงาน แม่บรรยายต่อว่าเธอรู้สึกเหมือนตนเองกำลังยืนอยู่บนโต๊ะ ส่วนพ่อยืนอยู่บนพื้นดินจะเห็นว่าแม่รู้สึกเหนือกว่าพ่อชัดเจน แม่ไม่ต้องการผู้ชายเพื่อมาเป็นพ่อของลูก เป็นผู้หญิงก็สามารถเลี้ยงลูกเพียงคนเดียวได้เหมือนกัน
 

            หากมองชนมุมของแม่ แม่ไม่เคยเล่าถึงพ่อของตนเองเลยแม่เล่าแค่ว่าอยู่กับยายตอนคลอดก็มียายมาอยู่เป็นเพื่อน อาจช่วยแสดงให้เห็นชัดมากขึ้นว่าถ้าแม่อยู่กับยายมาเพียงแค่สองคนจริง ๆ และแม่ก็เติบโตมาได้อย่างไม่มีปัญหาอะไร แม่ก็เลยมั่นใจว่าผู้หญิงที่เป็นแม่ก็สามารถเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีได้ โดยไม่ต้องการพ่อเช่นเดียวกัน
 

            จากในเรื่องดิฉันมองว่าผู้เป็นแม่พยายามยกตนเหนือผู้หญิงคนอื่นในเรื่องและพยายามมองบทน่าสงสารให้ผู้หญิงเหล่านั้นมองว่าผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอ อย่างที่ได้ยกตัวอย่างไปแล้วว่ามีผู้หญิงท้องโย้คนหนึ่งมาที่งานแต่ง แม่ก็ยกเลิกงานแต่งงานให้เลย ในอีกทางหนึ่งเรามองว่ามีน้ำใจจัง เป็นคนดียอมเสียสละสามี/พ่อของลูกตนให้ผู้หญิงอีกคน ซึ่งจริง ๆ ไม่ต้องทำก็ได้ เพราะยังไงแม่กับพ่อก็กำลังจะได้เข้าพิธีแต่งงานกันอยู่แล้ว แต่แม่ก็ยกเลิกให้เหมือนมองว่าไม่เป็นไรฉันอยู่ได้โดยไม่ต้องมีผู้ชายฉันยกผู้ชายให้เธอก็ได้ เพราะเธอมันน่าสงสารต้องตามร้องไห้อ้อนวอนมาขอผู้ชายคืนถึงที่ในงานแต่งงานของเขากับฉัน เหมือนแม่มองว่ามีแค่ฉันเท่านั้นแหละที่เป็นผู้หญิงแกร่งและเข้มแข็ง
 

            ประเด็นนี้ยังเห็นได้จากการที่แม่เล่าเรื่องของเด็กหญิงที่ชื่อฟ้าใส ฟ้าใสเป็นเด็กต่างจังหวัดเรียนจบ ป.6 ก็ต้องมาทำงานหาเงินที่กรุงเทพ พ่อแม่ไม่ได้ส่งเสียให้เรียนต่อ ฟ้าใสได้บังเอิญมาทำงานที่เดียวกับดิน (ลูกชายของแม่) และก็เกิดตั้งท้องขึ้น แต่ตัวของฟ้าใสเอง เธอยังไม่แน่ใจเท่าไรว่าเป็นลูกของดินหรือลูกของบอย ฟ้าใสมาบอกแม่ของดินว่าเธอน่าจะตั้งท้องกับดินหรือบอยนี่แหละเธอยังไม่แน่ใจ “ไอ้บอยมันไม่ยอมรับหรอก เพราะมันร้ายขืนไปบอกมันมันได้ตบกระโหลกเบี้ยว หนูว่าไอ้ดินนี่แหละมันดีที่สุดเท่าที่หนูเคยเจอมา” แม่อาจกำลังมองว่าลูกของตนนั้นดีกว่าลูกของคนอื่นอีกมีความเป็นสุภาพบุรุษ และสิ่งนี้ที่แม่คิดได้รับการยืนยันจากปากของคนอื่นแล้วด้วย คือนอกจากแม่เองจะมองว่าตนดีกว่าคนอื่นแล้ว สิ่งที่แม่ปลูกฝัง,อบรบสั่งสอนให้ลูกชายของเธอประพฤติตนนั้นได้ทำสำเร็จผลแล้ว
 

            อย่างที่เคยได้กล่าวไปว่าแม่นั้นมองว่าเธอคล้าย ๆ เป็น “Savior” ในมุมหนึ่งเราอาจจะมองว่าเธอเป็นคนดีจังมีน้ำใจ แต่อีกทางหนึ่งเหมือนเธอกำลังกดทับผู้หญิงด้วยกันเอง แต่เธอยกตัวเองขึ้นมาสูงกว่าผู้หญิงพวกนั้น
 

            เราจะเห็นตัวอย่างได้จากฟ้าใสอย่างที่เด็กกล่าวไปแล้วว่าเธอเป็นเด็กที่มาจากต่างจังหวัดต้องมาทำงานที่กรุงเทพเลย เรียนต่อไม่ได้แม่ของดินเกิดความสงสารขึ้นมา เธอบอกกับฟ้าใสว่า “ถ้าเด็กนั่นเป็นลูกของดินหนูได้เรียนแน่” ในฉากนี้แม่ได้ทำตัวเป็น Savior ในการที่จะเป็นผู้มอบการศึกษา ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตให้แก่ฟ้าใส แม่มองว่าเด็กผู้หญิงคนนี้น่าสงสาร และในตอนท้ายของเรื่องแม้เด็กในท้องของฟ้าใสจะไม่ใช่ลูกของดินจริง ๆ แม่ก็ยังจะช่วยฟ้าใสให้ได้เรียนหนังสือรวมถึงช่วยเลี้ยงลูกของฟ้าใสอีกด้วยนะ
 

            การที่แม่มองว่าผู้หญิงน่าสงสาร/ด้อยค่ากว่าผู้ชายนั้นอีกสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนเลยคือคำว่า “สุภาพบุรุษ” ที่แม่บอกว่ามาจากนักเขียนในดวงใจอย่าง “ศรีบูรพา” ซึ่งศรีบูรพาเองก็เคยแต่งเรื่อง “ลูกผู้ชาย” โดยมีแก่นว่าลูกผู้ชายไม่จำเป็นต้องมาจากยศถาบรรดาศักดิ์ที่สูงส่ง แต่เป็นเพราะการประพฤติตนให้ดีงามมีความมานะบากบั่นเพียรพยายาม มีคุณธรรม และในเรื่องนี้ศรีบูรพาได้บอกว่าการศึกษาและคุณธรรมจะเป็นอุปกรณ์สำคัญในการทำให้ผู้ชายเป็น “สุภาพบุรุษ”
 

            ด้วยความชื่นชอบนักเขียนคนโปรดนี้เอง อาจผนวกกับความไม่ดีของพ่อที่ไม่ซื่อสัตย์ไม่มีความเป็นลูกผู้ชายตามที่แม่คาดหวังไว้ แม่เลยนำแนวคิด “สุภาพบุรุษ” นี้มาฝากฝังให้ดินลูกชายคนเดียวของตนแทน
 

            ที่จริงแล้วจากแนวคิด,คำนิยามคำว่าสุภาพบุรุษจากศรีบูรพานักเขียนที่แม่ชื่นชอบนั้น การเป็นสุภาพบุรุษไม่จำเป็นต้องเป็นเพียง “บุรุษ” เท่านั้น แต่คุณสมบัติที่กล่าวมา “สตรี” หรือผู้หญิงเองก็สามารถทำได้เช่นกัน การที่แม่เอาแต่ปลูกฝังความเป็นสุภาพบุรุษให้ดินมันเหมือนทำให้ความเป็นผู้หญิงดูเป็นเพศที่ต้องรับอยู่ฝ่ายเดียวดูเป็นเพศที่อ่อนแอ ทำอะไรไม่ได้ด้วยตนเองยกตัวอย่างเหตุการณ์ตอนที่ดินโตเป็นหนุ่มเข้ามหาวิทยาลัยเขาขอแม่ออกไปทำงานพิเศษนอกบ้าน โดยดินได้บอกกับแม่และยายว่า “ผมโตแล้วครับขอให้ผมได้ทำหน้าที่ของลูกผู้ชายประจำบ้านหน่อยแม่กับยายอย่าห้ามผมเลย ผมรับรองว่าจะเรียนจบให้เร็วที่สุด” จากตัวอย่างของข้อความที่ยกมาอาจทำให้ผู้อ่านฉุกคิดได้ว่า การเป็นลูกผู้ชายคือต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัวส่วนผู้หญิงนั้นไม่จำเป็นต้องออกไปทำงานนอกบ้านก็ได้รอให้ผู้ชายทำหน้าที่ “ลูกผู้ชาย” ก็เพียงพอแล้วอย่างนี้หรือเปล่า?  แม้แต่ตัวแม่เองก็ยังมีความคิดคล้าย ๆ กันแม่บอกว่า “ลูกของแม่โตแล้ว โตเป็นสุภาพบุรุษคนหนึ่งของบ้านและกำลังขอทำหน้าที่สำคัญของสุภาพบุรุษแล้ว แม่จะไปห้ามลูกชายของแม่ได้อย่างไร” จะเห็นได้ว่าเหมือนแม่คิดว่าค่านิยม,สิ่งที่ผู้ชายออกไปทำงานนอกบ้านคือความเป็นสุภาพบุรุษแล้วบทบาทของผู้หญิงล่ะ? การที่แม่บอกว่าผู้ชายทำงานนอกบ้านคือ “หน้าที่” ของสุภาพบุรุษ เหมือนแม่ได้ผลักให้ผู้หญิงตกไป การทำงานนอกบ้านไม่ใช่คุณสมบัติของผู้หญิง
 

            นอกจากนั้นตอนที่ฟ้าใสมาหาและเล่าถึงความลำบากในชีวิตของตนให้แม่ฟัง แม่บอกว่า “แม่รู้สึกว่าหัวใจข้างในของแม่สั่นไหวอย่างรุนแรง ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมรู้แต่ว่าถ้าดินเป็นลูกสาวแม่จะไม่ปล่อยลูกสาวของแม่ต้องลำบากขนาดนี้” ข้อความนี้ก็ทำให้ผู้อ่านเห็นถึงกรอบ,บทบาท,ค่านิยม ของผู้หญิงที่แม่มี ว่าจะไม่ปล่อยให้มาทำงานลำบากลำบนอย่างนี้หรอกทั้ง ๆ ที่พอดินเป็นลูกชายจะไปทำงานแม่กลับมองว่ามันเป็น “หน้าที่ของสุภาพบุรุษ”
 

            โดยสรุปแล้วจากเรื่อง “เมื่อลูกเป็นสุภาพบุรุษ” ประเด็นที่ดิฉันเห็นว่าน่าสนใจคือการกดทับความเป็นผู้หญิง การมองว่าเพศหญิงเป็นเพศที่อ่อนแอและด้อยค่ากว่าเพศชายทั้ง ๆ ที่งานส่วนใหญ่ที่ผู้ชายทำผู้หญิงก็สามารถทำได้เช่นกัน การมองว่าเพศหญิงเป็นเพศที่อ่อนแอและด้อยค่ากว่าเพศชายนั้นจะเห็นได้จากคำพูด/ความคิดทั้งของแม่และลูกชายตลอดเรื่อง แม้ว่ามันจะเป็นเพียงการวางกรอบความคิดว่าผู้ชายมีหน้าที่ดังต่อไปนี้ก็ตามที มันก็เหมือนเป็นการบอกไปโดยปริยายแล้วว่ามันเป็นหน้าที่ของผู้ชายไม่ใช่ของผู้หญิง อีกทั้งตัวแม่เองก็พยายามทำให้ตนเป็นเหมือน “Savior” ที่ทำให้ผู้หญิงด้วยกันเองดูด้อยและอ่อนแอกว่าตน

 

 

การกดทับความเป็นสตรีใน “เมื่อลูกเป็นสุภาพบุรุษ”
บทวิจารณ์โดย นางสาวทฤฑมน จันทร์ธนไพบูลย์
โครงการ “อ่าน  เขียน  เรียนรู้  สู่งานวิจารณ์ ” ปีที่ 5 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ