ตามหาชั่วชีวิต : ตามหาวรรณกรรมสร้างสรรค์ที่เริ่มจางหายไปจากร้านหนังสือ

ตามหาชั่วชีวิต

ความหมายหรือขอบเขตของคำว่าวรรณกรรมสร้างสรรค์
โดยพยัญชนะแล้วคำว่าวรรณกรรม แปลว่าอะไรก็ได้ที่เป็นหนังสือ ส่วนคำว่าสร้างสรรค์ก็คือ งานที่รังสรรค์หรือริเริ่มทำอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา แต่การแปลโดยการตีความ คำว่า วรรณกรรมสร้างสรรค์ ที่เรากำลังพูดถึงกันก็คืองานวรรณกรรมเชิงวรรณศิลป์ คือค่อนข้างจะเป็นวรรณคดีร่วมสมัย ซึ่งก็คืองานเขียนซึ่งมีการบรรจงสร้างขึ้นมาอย่างมีศิลปะ มีความกลมกลืนทั้งเนื้อหา ภาษา และกลวิธีการนำเสนอ กลการประพันธ์ แต่ว่าร่วมสมัย แล้วกำกับด้วยคำว่าสร้างสรรค์ก็คือไม่ได้ลอกใครมา นี่ก็คือนิยามโดยอัตถะ ถ้าจะให้ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมมากกว่านี้ วรรณกรรมสร้างสรรค์ในที่นี้ก็คือวรรณกรรมที่เข้าประกวดซีไรท์ หรือได้รางวัลต่างๆ ประมาณนั้น ซึ่งวรรณกรรมเหล่านี้จะสะท้อนความลุ่มลึกของชีวิต และเป็นวรรณกรรมที่มีคุณค่าในตัวของมันเองมิใช่เพียงค่านิยม

แล้วที่ไม่สร้างสรรค์คืออะไร
สร้างสรรค์ตามความหมายที่นิยามมาแล้ว ก็คือไม่ได้ลอกใคร ถ้าจะให้พูดว่าเล่มไหนไม่สร้างสรรค์ก็คงจะพูดไม่ได้ แต่ที่เราพูดถึงกันนี้คือในแง่ของความมีศิลปะทางวรรณศิลป์และความมีคุณค่า แต่หนังสือที่วางขายในท้องตลาดปัจจุบันนี้ เราไม่ค่อยเจอหนังสือที่ใช้ภาษาวรรณศิลป์สวยงามมากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือของเด็กวัยรุ่น เป็นแนวรักคิกขุ แนวแฟนตาซี บางทีก็มีภาษาแปลกๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ ซึ่งคำที่จะนำมาใช้ในวรรณกรรมนั้นน่าจะเป็นคำที่มีอายุพอสมควร ไม่ใช่ว่าเกิดมาแล้วหายไปทันที เพราะวรรณกรรมเป็นหลักฐานที่แสดงความเจริญของวัฒนธรรม แล้วหนังสือมันก็จะอยู่กับเราไปอีกนาน สรุปแล้ววรรณกรรมที่ไม่ใช่วรรณกรรมสร้างสรรค์ก็คืองานที่มาจากค่านิยมแต่ไม่มีคุณค่าในระยะยาว

วรรณกรรมสร้างสรรค์หายไปไหน
ยกตัวอย่างแบบง่ายๆ ตอนนี้ก็มี 9 เล่มซีไรท์ที่เข้ารอบ หลายคนพยายามหาอ่านให้ครบทั้ง 9 เล่ม แต่หาซื้ออ่านตามร้านหนังสือทั่วไปไม่ได้แล้ว แม้แต่ร้านเครือข่ายหนังสือใหญ่ๆ ก็ยังหายาก นี่ยังไม่รวมถึงหนังสือดีๆ อีกหลายเล่มทำไมจึงเริ่มจางหายไปจากร้านหนังสือ ที่อยากจะพูดเรื่องนี้เนื่องจากในแง่สำนักพิมพ์มีความอึดอัดใจ เพราะเวลาเราพิมพ์หนังสือขึ้นมา นักเขียนมักสะท้อนกลับมาบ่อยๆ ว่าหาหนังสือของเขาในร้านไม่เจอ ซึ่งเราเองก็จัดงานประชาสัมพันธ์ทางการตลาดบ่อยมาก ไม่ใช่ว่าหนังสือเล่มหนึ่งเสร็จมาแล้วก็ปล่อยหายไปกับสายลม นอกจากนี้ก็พยายามประสานงานกับร้านหนังสือ วางแผนการประชาสัมพันธ์ต่างๆ ให้สอดคล้องกับร้านหนังสือที่วาง แต่กระนั้นก็ดีปัญหาก็คือว่า มีการส่งหนังสือคืนเร็วมาก เหมือนกับที่หลายๆ สำนักพิมพ์หรือสายส่งเจอปัญหากับร้านหนังสือ คือถ้าหนังสือเล่มไหนไม่เดินเขาจะตีคืนกลับมาทันที ซึ่งเป็นสาเหตุให้หนังสือดีๆมีเวลาวางขายน้อยมาก ซึ่งนี่เกิดจากวิธีคิด แนวคิดของร้านหนังสือสมัยใหม่ที่เป็นแบบโมเดิร์นเทรดหรือร้านหนังสือขึ้นห้าง เขาจะคิดในเรื่องของยอดขายเป็นหลัก เพราะพื้นที่บนห้างนั้นค่าเช่าแพงเขาต้องบริหารพื้นที่วางหนังสือ เพราะฉะนั้นถ้าเล่มไหนไม่เดินก็จะโดนเก็บคืนเพื่อให้เล่มอื่นได้มาวางต่อ อย่างสมัยก่อนพูดถึงหนังสือซีไรท์ มาได้รางวัลมาหนังสือที่ได้ที่ 1 จะขายดีมาก แล้วอายุการขายของหนังสือรางวัลในสมัยก่อนนั้นไม่น้อยกว่าสิบปี แต่ปัจจุบันนี้ หนังสือซีไรท์เล่มที่ได้รางวัลมีอายุการขายบนชั้นหนังสือ ประมาณ 3 ปีโดยเฉลี่ย ชี้ให้เห็นว่าแนวคิดในปัจจุบันที่เห็นว่าหนังสือกลายเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นแนวคิดที่บิดเบือน เพราะจริงๆ แล้วหนังสือคืออาหารสมองและเป็นเรื่องของรสนิยม หรือก็คือสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางปัญญา ซึ่งมันจะมีการบริโภคที่ต่างจากสินค้าในชีวิตประจำวันหรือแม้แต่ไปเทียบกับหนังสือพิมพ์ก็ไม่เหมือนกัน พอเราไปตีความตรงนี้ผิดแล้วมาจัดการกับหนังสือด้วยวิธีการเดียวกับที่จัดการสินค้าอุปโภคบริโภค ผลก็คือ หนังสือเป็นสินค้าที่ต้องใช้เวลาในการวางขายพอสมควร ไม่ใช่ไม่กี่วันก็เอาลงจากชั้นวางโชว์ปกหนังสือแล้ว พอเอาลงแล้วเอาไปเสียบสันไว้ก็ยังดี แต่บางทีก็ส่งคืนสำนักพิมพ์เลย จึงทำให้หนังสือดีๆ ที่เราว่า มีอายุน้อยมากในร้านหนังสือ และนี่ก็คือเหตุผลหลักที่วรรณกรรมสร้างสรรค์กำลังจางหายไปจากร้านหนังสือ แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกร้านจะเป็นแบบนั้นหมด คนที่ยังคิดในแนวเดิมก็ยังมีอยู่ แต่ก็เริ่มน้อยลงทุกทีแล้ว

ผลกระทบที่เกิดขึ้น
ผลกระทบก็คือ สำนักพิมพ์ต้องเจอปัญหาหลายๆ ด้าน ต้องตั้งรับกับสต็อกที่กลับมาไวมาก เพราะร้านหนังสือเขาจะบอกว่าเขาไม่มีพื้นที่สำหรับสต็อกสินค้าโดยเฉพาะสินค้าที่ขายช้า สำนักพิมพ์ไม่เคยเจอปัญหาการตีกลับคืนสต็อกเร็วขนาดนี้ก็ต้องเจอ นี่ก็คือด้านหนึ่งที่สำนักพิมพ์ต้องปรับตัว ส่วนอีกด้านหนึ่งก็คือนักเขียนและสำนักพิมพ์ที่ตั้งอกตั้งใจสร้างงานดีๆ เพื่อสร้างสาระบันเทิงให้ผู้เสพก็ต้องมานั่งคิดดูแล้วว่า ทำอย่างไรให้หนังสือเราได้วางอยู่บนชั้นวางโชว์ปกหนังสือให้นานที่สุด เราจะต้องเพิ่มการประชาสัมพันธ์ มีการต่อรองกันกับร้านหนังสือต่างๆ นานา เพื่อขอพื้นที่การวางขาย ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปจะต้องเปลี่ยนแนวการผลิตหรือการเขียนไปเป็นแบบที่ตามกระแสด้วยอย่างนั้นหรือ ผลสุดท้ายวรรณกรรมสร้างสรรค์เหล่านี้ก็อาจจะต้องกลายเป็นหนังสือทำมือ หรือค่อยๆ ถูกกลืนหายไปเหมือนหนังสือประเภทกวี ซึ่งตอนนี้ก็กำลังลุกลามมาถึงหนังสือประเภทเรื่องสั้นและนวนิยายสร้างสรรค์แล้วด้วย และที่ร้ายแรงที่สุดต่อไปคนไทยจะหาหนังสือดีๆ อ่านไม่ได้ จะมีแต่หนังสือประเภทขายเร็ว หนังสือตามกระแสตามค่านิยม แล้วเยาวชนก็เหมือนถูกบังคับทางอ้อม ให้อ่านหนังสือแบบนั้นไปโดยไม่มีทางเลือก

ทางออกของวรรณกรรมสร้างสรรค์
ก่อนอื่นต้องถามว่าทุกคนเห็นด้วยตามที่พูดมาหรือเปล่า ถ้าเป็นพ้องต้องกันตามนี้จริงมันก็ไม่ยาก เพราะทางออกจริงๆ แล้วมันต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นสมาคมนักอ่าน สมาคมผู้จัดพิมพ์ สมาคมนักเขียน ชมรมผู้จัดจำหน่าย รวมถึงผู้อ่านทุกๆ คน ก็ต้องให้ความสำคัญกับการอ่านหนังสือที่มีคุณค่ามากขึ้น แต่ถ้าทุกคนไม่ได้เห็นด้วยตามที่ว่ามาก็ปล่อยให้หนังสือมันตายไปตามกาลเวลากลไกตลาด ซึ่งเราก็ไม่ต้องมานั่งพูดถึงทางออก แต่ถ้านักอ่านเห็นด้วยว่าควรจะมีที่อยู่ที่ยืนให้กับวรรณกรรมสร้างสรรค์มากกว่านี้ สิ่งนี้แหละที่เราจะต้องไปบอกพวกที่เขามีวิธีคิดบริหารจัดการแบบโมเดิร์นเทรดว่า จะต้องเพิ่มอายุบนชั้นวางให้หนังสือพวกนี้มากขึ้น เท่ากับว่าร้านคุณไม่ได้คิดเรื่องค้าขายอย่างเดียว แต่คิดที่จะสนับสนุนอาหารที่เรียกว่าปลอดสารพิษด้วย เหมือนกับซุปเปอร์มาเก็ตที่คุณต้องเปิดพื้นที่กว้างให้กับทั้งอาหารที่มีสารพิษและอาหารที่ปลอดสารพิษเท่าๆ กัน แล้วปล่อยให้ผู้บริโภคเขาเป็นคนเลือกเองเรียกว่าเป็นการศึกษาตามอัธยาศัย ที่ถูกต้องคือ การเพิ่มพื้นที่สำหรับการโชว์ปกหนังสือ หรือเริ่มมีให้เลือกอย่างหลากหลายกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ส่วนทางออกอีกทางหนึ่งก็คือต้องมีแฟนคลับหรือบุ๊คคลับหนังสือประเภทนี้ แล้วก็ใช้ช่องทางจำหน่ายอื่นนอกจากร้านหนังสือ ซึ่งสำนักพิมพ์เองที่ต้องเหนื่อยมากขึ้น ต้องเพิ่มการบริการ เช่น ส่งถึงบ้าน สามารถสั่งซื้อได้ทางเว็บไซต์ ทางอีเมลล์ นั่นก็คือเพิ่มโอกาสในการขายให้มากขึ้น หรือช่องทางอื่นๆ เช่นที่ต่างประเทศทำก็คือ จัดเป็นวรรณกรรมสัญจรสู่ร้านหนังสือตามร้านเป้าหมายที่วางแบบไว้ พานักเขียนไปพบปะกับผู้อ่าน แต่ทีนี้แต่ละสำนักพิมพ์มีกำลังไม่เท่ากันเราก็ต้องมารวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนเป็นเครือข่ายเพื่อร่วมกันสร้างตรงนี้ขึ้นมา แต่สิ่งที่พูดมาทั้งหมดก็คือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น ถ้าเอาที่ต้นเหตุจริงๆ แล้ว ก็คงต้องมาปูพื้นฐานการอ่านกันใหม่หมด ซึ่งก็มีการรณรงค์ทำกันบ้างแล้ว คือต้องถูกปูพื้นฐานมาตั้งแต่เด็กๆ โตขึ้นมาถึงจะอ่านหนังสือแบบมีคุณภาพได้ ตรงนี้ต้องฝากไว้โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่เป็นตัวแปรสำคัญในการปลูกฝังการอ่านหนังสือดีๆ ให้กับเด็ก ไม่เช่นนั้นต่อให้เรามีประชากรเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ แต่ศักยภาพทางความคิดก็คงสู้ใครไม่ได้เลยเพราะเรามีรากฐานการอ่านที่ไม่แข็งแรง

สรุป
แน่นอนว่าอาหารที่ภายนอกหวานอร่อยอาจจะเคลือบด้วยยาพิษอยู่ข้างใน ส่วนอาหารดีๆ มีคุณค่าอาจจะมีรสชาติฝืดเฝื่อนหรือขมไปหน่อย แต่ว่ากินเข้าไปแล้วมันดีต่อร่างกายเฉกเช่นหนังสือ หนังสือที่อ่านแล้วสนุกสนาน มัน เฮฮา สะใจ อาจจะแฝงไปด้วยสิ่งที่ทำให้สภาพสังคมและจิตใจเสื่อมโทรมโดยไม่รู้ตัว แต่กลับกันหนังสือที่อ่านยาก ภาษาซับซ้อน อ่านแล้วต้องคิดมากๆ มันคือยาที่จะบำรุงรักษาสมองของเราให้คิดเป็นระบบระเบียบมากขึ้น แล้วคุณก็จะเรียนรู้มากขึ้น หากเราปล่อยให้เด็กและเยาวชนเลือกเสพแต่สิ่งฉาบฉวย อ่านแต่หนังสือรักหวานแหวว อ่านแต่ฮาวทูประเภททายใจ หรือเล่นแต่เกมอ่านแต่การ์ตูน เขาเหล่านั้นจะไม่สามารถเผชิญกับปัญหาเลวร้ายในชีวิตได้เลยแม้แต่นิดเดียว ตัวอย่างก็มีให้เห็นบ่อยๆ ที่เด็กเรียนเก่งแต่แค่สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ติดก็ฆ่าตัวตาย หรืออกหักความรักไม่เป็นดั่งหวังก็ฆ่าตัวตาย หรือไม่ก็ฆ่ากันให้ตายไปเลยข้างหนึ่ง เป็นเพราะพวกเขาไม่เคยเรียนรู้ชีวิตจากหนังสือสร้างสรรค์อันทรงคุณค่า

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ