โฉมหน้าใหม่นักเขียนไทย : ในสิทธิประโยชน์ที่มีมากกว่าตัวอักษร

โฉมหน้าใหม่นักเขียนไทย

 

     เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม 2562 ณ หอศิลปแห่งกรุงเทพมหานคร ทางสมาคมนักเขียน ชวนผู้รู้ทั้งด้านไอที ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างคาแร็กเตอร์ รวมทั้งตัวแทนจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ มาให้ความรู้แก่นักเขียนและผู้ที่สนใจ ในงานเสวนา “ โฉมหน้าใหม่นักเขียนไทย ในสิทธิประโยชน์ที่มีมากกว่าตัวอักษร “

     งานเขียนหามีมูลค่าเพียงแค่เรื่องราวได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ ที่แท้แล้ว ในงานเขียนยังมีมูลค่าอีกมากมายที่จะสร้างประโยชน์แก่คนเขียนงาน

     ปัจจุบันเมื่อไอทีเข้ามา มันเกิดอะไรขึ้นหลายๆ อย่างต่อการสร้างสรรค์งาน โดยเฉพาะงานวรรณกรรม ถ้าจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้นักเขียนไทยต้องมีการปรับตัว แท้ที่จริงสิทธิประโยชน์ของนักเขียนไม่ได้มีแค่ในตัวอักษร แต่ยังมีอื่นๆ อีกที่บางทีนักเขียนอาจจะลืม หรือไม่ทันสังเกตว่ามันมี บางคนอาจจะนำมาใช้ประโยชน์กับตัวเองแล้ว แต่บางคนยัง บางท่านก็ยังมองไม่เห็นหรือนึกไม่ออก เพราะในงานวรรณกรรม สิ่งที่ตามมาคือ ตัวละคร ตัวคาแรคเตอร์ ถ้านึกไม่ออกให้นึกถึงแฮร์รี่ พอตเตอร์ นึกถึงมาร์เวล ทำไม เจ.เค. โรว์ลิงทำนิยายออกมาเรื่องหนึ่ง แต่สามารถขายทุกอย่างในนั้น โดยเฉพาะคาแรคเตอร์ เอามาทำเป็นสินค้าที่มีมูลค่ามากกว่าตัวอักษรเสียอีก เราต้องกลับมานึกว่าแล้วเราจะทำได้มั้ย ทำอย่างไรเราจะขายได้อย่างเขาบ้าง

     “ผลงานจากความคิด” นอกจากลิขสิทธิ์จะครอบคลุมผลงานวรรณกรรมแล้ว ยังครอบคลุมถึงงาน ดนตรี ภาพยนตร์ งานศิลปะ งานประติมากรรม และงานถ่ายภาพ ความหมายที่ถูกต้องของคำว่า “ผลงานวรรณกรรม” (Literary work) อาจแตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับความจำกัด ความที่เฉพาะเจาะจงตามกฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์ในประเทศนั้นๆ  

     คุณปฐม อินทโรดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เออาร์ไอพี ในฐานะผู้สันทัดกรณีด้านเทคโนโลยีไอที กล่าวว่า ในปัจจุบันสื่อโซเชียลมีเดีย มีอิทธิพลต่อเราทุกคน ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่เราสามารถใช้เทคโนโลยี ในการทำให้ตัวเราเป็นที่รู้จักได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในสมัยก่อนถือว่าอยากมากในการที่นักเขียน 1 คนจะสร้างชื่อเสียงในระยะเวลาที่ไม่นาน เช่น เราสามารถสร้างเพจ บอกเล่าเรื่องราวรอบตัวเรา ความชอบความเชียวชาญ หรือสิ่งที่เราอยากถ่ายทอดผ่านโลกโซเชียล ในปัจจุบันเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็สามารถทำได้  และสามารถต่อยอดสร้างเป็นหนังสือ และการ์ตูนคาแรคเตอร์ได้  เมื่อเพจหรือช่องทางของเรามีผู้ติดตามมากขึ้น ผลิตภัณฑ์ หรือแบรนด์สินค้าต่างๆ  หันมาอาศัย Influencer  บุคคลที่มีอิทธิพลทางความคิดในสังคมออนไลน์ บนโลกดิจิทัล เพื่อช่วยสื่อสารสินค้า หรือบริการไปยังผู้ซื้อได้อย่างแนบเนียน

      คุณณภัทร พรหมพฤกษ์  ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ กลุ่มบริษัทในเครือ MAFIA Factory ประกอบด้วย บริษัท มังคี แอนด์ เฟรนด์ จำกัด และบริษัท เอ็กเปอร์ไทซ์ พาร์ทเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด ผู้สร้างสรรค์ และผลิตของเล่นครีเอทีฟอาร์ตสัญชาติไทย “CE Toy” (Creative Enhancement Toy) กล่าวว่า ในทั่วโลกเรามีการจำแนกลิขสิทธิ์ ของศิลปะเป็นประเภทต่างๆ มูลค่าที่สูงที่สุดในการสร้างรายได้ คือการ์ตูนคาแรคเตอร์ ประโยชน์ของการ์ตูนคาแรคเตอร์ สามารถสร้างออกมาเป็นการ์ตูน ,เกมแอนิเมชั่น , Platform Toy , ของขวัญ, เครื่องเขียน ฯลฯ สามารถนำคาแรคเตอร์ไปหยิบใส่ ในสิ่งต่างๆ ได้ เรียกได้ว่าคาแรคเตอร์ เป็นสิ่งที่มีพลังสิ่งหนึ่ง

      อำนาจในการควบคุมที่เกิดจากการมีลิขสิทธิ์นั้นมีผลทั้งทางด้านบวก และลบการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานช่วยให้ผู้เป็นเจ้าของสามารถให้ความยินยอมแก่ผู้อื่นในการ นำงานไปใช้ในรูปแบบที่ตกลงได้ ซึ่งมักจะเป็นการอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ในงานนั้น (Licensing) การนำไปใช้จะต้องระบุชื่อผู้ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างชัดเจน การละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยการนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตถือเป็นความผิดที่มี บทลงโทษ ซึ่งอาจจะเป็นคดีแพ่งหรืออาญาขึ้นอยู่กับลักษณะของการละเมิด และกฎหมายในประเทศ ที่เกี่ยวข้อง


      ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพทั้งระบบ ที่เอื้อต่อการเป็นศูนย์กลางธุรกิจและอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์ หากแต่มีปัจจัยที่ทำให้ไม่สามารถเป็นไปได้ คือ

  1. ไม่มีหลักสูตร สาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง
  2. ไม่มีความมือ ระหว่างผู้ผลิต ผู้พัฒนาต่อยอด และผู้ทำการตลาด
  3. ไม่มีการส่งเสริมเพื่อพัฒนาธุรกิจ และบริหารจัดการทั้งระบบ
  4. ไม่มีสถานที่จัดแสดงผลงานและจำหน่ายอย่างจริงจัง
  5. ไม่มีความร่วมมืออย่างเพียง ระหว่างเจ้าของลิขสิทธิ์และตัวแทนจำหน่าย
  6. ไม่มีการจัดงานแสดงสินค้าลิขสิทธิ์ ในภูมิภาคอาเซียน
  7. ไม่มีความเชื่อมั่นอย่างเพียงพอในผลงานลิขสิทธิ์จากประเทศไทย

     จึงก่อให้เกิดสมาคมการค้าลิขสิทธิ์ และของที่ระลึกจากคาแรคเตอร์ดีไซน์ ของเล่น และผลงานศิลป์ร่วมสมัยไทย เกิดจากการผลักดันมาประมาณ10 ปี เผื่อประสานงานความร่วมมือระหว่าง  7 กลุ่ม เพื่อพัฒนาผลงานลิขสิทธิ์อย่างเป็นระบบ คือกลุ่มสถาบันการศึกษา กลุ่มผู้สร้างสรรค์ผลงาน กลุ่มผู้พัฒนาต่อยอด กลุ่มสถานที่จัดแสดงและจำหน่าย กลุ่มตัวแทนลิขสิทธิ์ กลุ่มผู้ทำการตลาด กลุ่มผู้ผลิตจากภาพอุตสาหกรรม

     คุณศักดา แซ่เอียว  อุปนายกสมาคมการ์ตูนไทย กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา สมาคมการ์ตูนไทย ได้ร่วมมือกับคุณณภัทร ผลักดันสมาคมการค้าลิขสิทธิ์ฯ และจัดทำโครงการเพื่อสาธารณประโยชน์ในรูปแบบการอบรมการ์ตูนกับหน่วยงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังที่จะเป็นตัวกลางในการเสริมสร้างองค์ความรู้ สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาฝีมือ และส่งเสริมความร่วมมือกับทั้งภาครัฐ และภาคธุรกิจ เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้ทั้งนักสร้างสรรค์การ์ตูนคาแรคเตอร์ รวมถึงนักธุรกิจเจ้าของสินค้า และบริการ

     คุณปรัชญา ไพโรจน์กุลมณี   นิติกรชำนาญการ สำนักกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของ ข้อดีจดแจ้งลิขสิทธิ์ เจ้าของลิขสิทธิ์ ไม่ควรละเลยกฏหมายลิขสิทธิ์ ทรัพย์สินทางปัญญา ควรศึกษา เรียนรู้และตระหนักถึงเรื่องนี้ว่าสิทธิ์นั้นปกป้องท่านในเรื่องใดบ้าง ซึ่งสิทธิ์นั้นอาจขึ้นอยู่กับข้อตกลง  เช่น นักเขียนทำข้อตกลงกับทางสำนักพิมพ์ ในเรื่องลิสิทธิของการแปล สิทธิการขายเป็นละครโทรทัศน์ สิทธิของการทำหนังสืออีบุ๊ค ควรแยกการทำสัญญาเป็นงานแต่ละชิ้นแต่ละประเภท

     ข้อดีของการจดแจ้งลิขสิทธิ์

     เนื่องจากการจดแจ้งลิขสิทธิ์เป็นการถือครองสิทธิผลงานการสร้างสรรค์ที่ตัวเองคิดค้นขึ้นมาเองโดยไม่ได้ลอกเลียนแบบผู้อื่น ดังนั้น เจ้าของลิขสิทธิ์จึงได้รับเกียรติว่าเป็นเจ้าของผลงานและสามารถใช้ผลงานดังกล่าวหาผลประโยชน์ทางการค้าได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งเจ้าของลิขสิทธิ์ก็สามารถนำผลงานดังกล่าวไปปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ทำซ้ำหรือเผยแพร่สู่สาธารณะชนโดยจะได้รับผลตอบแทนอย่างเป็นธรรม และกฎหมายลิขสิทธิ์ยังเป็นตัวกระตุ้นให้หลายคนอยากสร้างสรรค์ผลงานที่มีประโยชน์ออกสู่สังคม เพราะนอกจากจะได้รับสิทธิคุ้มครองที่เป็นธรรมแล้วยังสามารถสร้างรายได้จากผลงานลิขสิทธิ์ของตนเองอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้การจดแจ้งลิขสิทธิ์ยังเป็นการคุ้มครองผลงานข้ามประเทศและก่อให้เกิดรายได้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์เองรวมไปถึงเป็นรายได้แก่ประเทศชาติอีกด้วย ถึงแม้ว่าผู้สร้างสรรค์ผลงานจะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์นั้นๆ ตั้งแต่เริ่มสร้างผลงานขึ้นมาแต่อย่างไรก็ตาม เจ้าของผลงานก็ควรจะไปจดแจ้งลิขสิทธิ์ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งถ้าหากมีผู้ต้องการใช้ผลงานหรือซื้อลิขสิทธิ์นั้นๆ ก็จะสามารถติดต่อขอข้อมูลได้อย่างง่ายดาย

     คุณสกุล บุญยทัต เลขาธิการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย กล่าวว่าคอนเทนต์ในปัจจุบันต้องสร้างคอนเทนต์ที่มีค่า แตกต่าง เข้าใจง่าย ผู้เขียนต้องรู้จักสิ่งนั้นเป็นอย่างดี มีไอเดียใหม่ มีความจริงใจ และก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ

 

     กล่าวโดยสรุปว่าผู้สร้างสรรค์ผลงานต้องคิดให้ครบ ว่าผลงานของเราสามารถดัดแปลง ครอบคลุมไปถึงสิ่งใดบ้าง คิดให้จริงจังต่อเนื่อง และคิดให้แตกต่าง หาทางเพิ่มคุณค่า และตะหนักถึงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและรักษามูลค่าผลงานของเราไว้ได้

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ