War & Peace (สงครามและสันติภาพ) : วรรณกรรม คลาสสิคโลก ของ นีโอ ตอลสตอย

 War & Peace   (สงครามและสันติภาพ)

สงครามและสันติภาพ

วรรณกรรมชุด War & Peace หรือ สงครามและสันติภาพ ผลงานของ นีโอ ตอลสตอย เป็นงานวรรณกรรมคลาสสิคชิ้นเอกของโลกอีกชิ้นหนึ่ง ที่ได้รับการแปลเผยแพร่ไปทั่วโลก แปลเป็นภาษาไทยครั้งแรกตั้งแต่ พ.ศ.2473 โดยนายทหารที่ไปเรียนในรัสเซีย และแปลจากภาษารัสเซียโดยตรง แต่ฉบับนั้นเป็นฉบับที่แปลแบบตัดข้อความบางส่วนออกไป แต่สำหรับครั้งนี้ นับว่าเป็นการแปลฉบับที่สมบูรณ์ที่สุด และแปลจากหลากหลายสำนวนภาษา โดยคุณวิภาดา กิตติโกวิท เป็นผู้แปล และถ่ายทอดวรรณกรรมสุดคลาสสิคนี้สู่สายตาคนไทย

คุณเทพศิริ สุขโสภา เป็นผู้ที่มีโอกาสได้อ่านงานชิ้นนี้ตั้งแต่พิมพ์ครั้งแรก และติดตามเรื่อยมา จนได้มาเป็นผู้วาดภาพประกอบปกหนังสือวรรณกรรมชุดนี้ กล่าวว่า ผมเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือ และเรียนเรื่องวรรณกรรมกับศิลปะ ในการเรียนศิลปะนั้น เราจะต้องรู้ว่าในแต่ละยุค คนเขียนรูปเขียนอะไรและขณะนั้นนักประพันธ์เขาประพันธ์เรื่องอะไร ฉะนั้นผมจะเรียนเรื่องที่ตอลสตอยเขียน ดอคเคอเยสกี้เขียน ไล่ยุคกันมาเลยจนถึงปัจจุบัน ฉะนั้นเรื่องสงครามสันติภาพนี่ก็อยู่ในใจมาตลอด ซึ่งเขาบอกว่าเป็นสุดยอดวรรณกรรม เฮมมิงเวย์ บอกว่า “ถ้าฉันจะต้องสู้กับนักเขียนด้วยกันฉันไม่กลัว แต่ถ้าต้องสู้กับตอลสตรอย ฉันต้องน็อคยกแรกแน่ๆ” นั่นคือการให้เกียรติและยกย่องตอลสตอย ผมได้อ่านเรื่องสั้นๆ มาก่อน จนได้มีโอกาสมาอ่านฉบับแปลโดย หลวงยอดอาวุธ ผมอ่านแล้วรู้สึกจับใจมาก อะไรกัน เขียนแบบนี้ได้อย่างไร ตัวละครแต่ละตัวมีชีวิตชีวาโลดแล่นไปมาเห็นจริงเห็นจังมาก อ่านแล้วรู้สึกประทับใจ พออ่านอยู่ก็คอยพลิกดูปก ตาแก่ที่หนวดเครารุงรังนี่นะเหรอ ที่เขียนตัวละครผู้หญิง-ผู้ชายที่โลดแล่นอยู่ในวรรณกรรมเล่มนี้ แล้วตัวละครแต่ละตัวก็มีชีวิตชีวามาก อ่านแล้วมันรู้สึกรุกเร้า ตอนที่อ่านนั้นยังไม่รู้ว่าฉบับที่แปลนั้นมีการตัดทอนเนื้อหาบางส่วนออก เนื่องจากต้นฉบับเขาบรรยายอารมณ์ความรู้สึกยาวมาก ท่านก็เลยตัดออกไปบ้าง จนกระทั่งอาจารย์วิภาดา นำมาแปลครั้งนี้สะใจอย่างยิ่งเลย เพราะได้อ่านแบบเต็มๆ แต่มันก็จะได้อารมณ์และความรู้สึกคนละแบบกัน ฉบับหลวงยอดอาวุธ จะได้รสชาติของความเป็นทหาร ในการรบ ในสงคราม ในการเป็นทหารต้องพูดแบบกระชับ สั้นๆ อย่างทหารเล่า อีกอย่างหนึ่งคือ ได้กลิ่นของภาษาไทยแบบเก่าๆ อย่างเช่นประโยคว่า “โคมลอยๆ” ซึ่งเดี๋ยวนี้เราอาจจะพูดว่า “เหลวไหลน่า” คืออ่านฉบับนั้นแล้วจะได้อารมณ์และความรู้สึกแบบเก่าๆ เมื่อผมจำเป็นต้องวาดภาพประกอบ ก็ต้องหาต้นฉบับภาพ ซึ่งหายากมาก ดูหนังที่ฮอลลีวู้ดนำมาสร้าง หนังของรัสเซียก็ดู และมีพิพิธภัณฑ์สงครามและสันติภาพ ผมก็ได้ไปดูมาแล้ว แต่ว่าหาต้นฉบับภาพยากมากจริงๆ เพราะเวลาที่จะวาดภาพประกอบ จะต้องนึกว่าพระเอกนางเอกหน้าตาเป็นอย่างไร เมื่อนึกภาพได้แล้วก็ต้องคิดอีกว่า ส่วนประกอบต่างๆ เช่น เสื้อผ้า เชื้อชาติ หรือของในยุคนั้นควรจะเป็นอย่างไร ผมก็เลยลดปัญหาของความละเอียดจุกจิกเหล่านั้น มานำเสนอด้วยภาพสงคราม มีการยิงกัน หรือใช้ปืนใหญ่ และทหารกลุ่มต่างๆ เราต้องทำให้ผู้อ่านได้กลิ่นของสงครามนั้น ได้เห็นภาพที่ชัดเจน และมีจุดพักสายตา เช่น ภาพทหารรัสเซียขี่ม้า ภาพตึกรามบ้านช่องในยุคนั้นเป็นอย่างไร แต่ไม่เขียนตัวละครพระเอกนางเอก กว่าที่จะเขียนออกมาแบบนี้ได้ต้องใช้เวลานานมาก แต่ก็รู้สึกดีใจที่ได้รับใช้หนังสือดีๆ และอยากให้คนอ่านได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เพราะเป็นหนังสือที่เยี่ยมเรื่องหนึ่ง เป็นสุดยอดวรรณกรรม สุดยอดนิยายของโลก และตอนที่ประพันธ์สาส์นพิมพ์ออกมาผมดีใจมาก และแสดงความยินดีด้วย กับทั้งผู้แปล และผู้อ่านทุกท่าน

คุณสันติสุข โสภณสิริ นักเขียนและนักอ่านที่ได้อ่านวรรณกรรมสำคัญๆ ของโลกมามาก และเป็นคนไทยจำนวนไม่มากนัก ที่ได้อ่านภาคภาษาอังกฤษจนจบ ในฐานะเป็นผู้เขียนคำนิยมให้กับวรรณกรรมแปลชุดนี้ คุณสันติสุขจะมาเล่าถึงความยิ่งใหญ่ของวรรณกรรมชุดนี้ว่ามีความยิ่งใหญ่อย่างไรบ้าง ความยิ่งใหญ่ของวรรณกรรมสุดคลาสสิคชุดนี้ เป็นความคลาสสิคที่ไม่ถึงกับโบราณมาก เพราะถ้าเป็นแบบโบราณจริงๆ จะต้องเป็นมหากาพย์ อย่างของกรีกหรือโรมเมอร์ ทีนี้ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ของเรา เมื่อเทียบกับวรรณกรรมระดับโลกแล้ว สงครามและสันติภาพ หรือ war & peace ถือเป็นวรรณกรรมที่เทียบเท่าได้กับวรรณกรรมคลาสสิคโบราณ ความยิ่งใหญ่ของวรรณกรรมชุดนี้ คือสิ่งที่ท่านตอลสตอยเขียนขึ้นมา ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ ไม่ใช่แม้กระทั่งนวนิยาย สิ่งที่ท่านเขียนเป็นเรื่องสมมติ ฉากประวัติศาสตร์ต่างๆ อิงประวัติศาสตร์จริง แต่ตัวละคร ท่านใช้ชื่อสมมติขึ้นมา เช่น เจ้าชาย อองเดร หรือเบซูฮอก ท่านคิดขึ้นมาเอง ซึ่งจริงๆ แล้วก็น่าจะเป็นนวนิยาย แต่สิ่งที่ท่านต้องการเขียนคือเรื่องชีวิตจิตใจของมนุษย์ ความต้องการของมนุษย์ คือเขียนสิ่งที่เป็นความจริงของมนุษย์ในทุกยุคทุกสมัย ความยิ่งใหญ่ก็คือ โดยปกติแล้วในการเขียนนวนิยายเราจะใช้ตัวละครไม่มากนัก หรือถ้ามากก็อาจจะทำให้บุคลิกของตัวละครเกิดการซ้ำกัน แต่สำหรับในเรื่องนี้แล้ว ท่านเขียนให้ตัวละครมีชีวิตโลดแล่นอยู่ได้ ไม่ต่ำกว่า 500 ชีวิต ตัวเด่นๆ ก็มีเป็นร้อย แต่ทั้งหมดนี้ท่านต้องการเขียนถึง ชีวิตจิตใจของมนุษย์ ที่มีทั้งความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอิจฉาริษยา ทั้งหมดอยู่ในเรื่องนี้ เป็นวรรณกรรมคลาสสิคที่ดี และถ้าเราย้อนประวัติถึง ท่านนีโอ ตอลสตอย ว่าทำไมท่านถึงเขียนไปถึงคนชั้นสูง เพราะเรื่องวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ของท่านตอลสตอยจะเป็นเรื่องของชนชั้นสูงทั้งนั้น ทั้งที่ท่านเป็นเองเป็นคนที่ลงไปสัมผัสกับคนยากคนจน และถือว่าเป็นนักสังคมนิยมที่ยิ่งใหญ่ ก่อนที่จะมีสังคมนิยมในยุคหลังๆ แล้วกลุ่มสังคมนิยมของท่าน เป็นกลุ่มที่เน้นเรื่องสันติ และท่านก็เป็นนักการศึกษาที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง ถึงแม้จะไม่เคยเรียนจบมหาวิทยาลัยมาก่อน ภูมิหลังของท่านสนใจในเรื่องของชีวิตมนุษย์นี้มาก คนชั้นสูงเขาจะมีกิเลสที่โลดแล่นมากกว่าชนธรรมดาสามัญ และท่านก็หยิบตัวละครแต่ละตัวมา ตัวละครเหล่านั้นเป็นชีวิตจริงๆ ถึงแม้ว่าจะเป็นชื่อตัวละครที่ท่านแต่งขึ้นก็ตาม ในช่วงเวลาท่านเขียนก็เป็นตอนที่ท่านมีความสุข เพราะเป็นช่วงฮันนีมูนเพิ่งมีชีวิตสมรส คือท่านเกิดในยุคสมัยรัชกาลที่ 3 แล้วเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา แต่ภายหลังต้องยอมรับว่า ตอนที่ท่านมีอายุมากขึ้นท่านเขียนมุ่งไปทางเรื่องศาสนาค่อนข้างมาก เพราะหลังจากฮันนีมูน 15 ปีท่านค้นพบความจริงของชีวิตมากขึ้น ทัศนคติของท่านจึงเปลี่ยนไปมาก และท่านก็จะเขียนทุกอย่างลงไปในงานของท่าน ซึ่งผมก็ตามอ่าน และทุกเรื่องของท่าน รายละเอียดทุกรายละเอียดทำให้จินตนาภาพเห็นภาพนั้นๆ เหมือนเราถูกดึงเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย ทั้งหมดนี้คือความยิ่งใหญ่ของนักประพันธ์ระดับนี้ ที่จะดึงให้เราเข้าไปยู่ในงานของเขา และเมื่อเราอ่านจบ เราหลุดออกมา ชีวิตเราก็เปลี่ยน ความคิดเราก็เปลี่ยน มันไม่ได้เปลี่ยนเพราะเขา แต่เขาชวนเราไปสัมผัสกับบางสิ่งบางอย่าง ที่เราอาจจะไม่รู้จักตัวเราเอง ความชั่ว ความชัง ความริษยาในตัวเรามี แต่เราอาจจะยังไม่ค้นพบ แต่ไอ้ตัวละครพวกนี้แหละที่สอนเรา ซึ่งเรานึกไม่ถึง ผมก็อยากให้คุณมาลองลิ้มรส ลองอ่าน อย่างน้อยเรามีคนแปลให้ และแปลจากหลายสำนวน รวมทั้งแปลจากภาษาจีนด้วย

คุณวิภาดา กิตติโกวิท ผู้แปลสงครามและสันติภาพ พูดถึงการแปลหนังสือชุดนี้ว่า เนื่องจากเป็นคนชอบอ่านหนังสือ แล้วก็เคยอ่านเรื่องสงครามและสันติภาพนี้อยู่แล้ว เคยอ่านเรื่องสมัยของคุณหลวงยอดอาวุธแปล แล้วก็ไม่แน่ใจว่ามันครบหรือเปล่า อ่านแล้วมันเหมือนสะดุด เลยเอาฉบับภาษาอังกฤษมาอ่าน พออ่านภาษาอังกฤษแล้วรู้ว่ามันไม่ครบ ซึ่งมันเป็นวรรณกรรมที่เหมือนกับคุณเทพศิริและคุณสันติสุขพูดไว้ว่า เป็นวรรณกรรมระดับโลก แล้วคนทั้งโลกจะอ่านกัน ก็เลยคิดว่าน่าจะให้คนไทยได้อ่านฉบับสมบูรณ์อันนี้ เป็นความตั้งใจมานาน พอดีไปเจอคุณอาทร เมื่อสัก 10 กว่าปีที่แล้ว ก็คุยกันว่า เรื่องนี้น่าจะแปลนะ คุณอาทรก็บอกว่า “ก็เอาสิ” ก็เลยเริ่มลงมือแปล ตอนแปลครั้งแรกจากฉบับของโรสแมรี่ มันเป็นภาษาคอนแทคที่ค่อนข้างยากมาก พอแปลแล้วก็ไม่ค่อยถูกใจ ตอนหลังเลยเอาอีกหลายๆ สำนวนมาเทียบกัน รวมทั้งภาษาจีนด้วย เพราะว่าบางครั้งภาษาอังกฤษ 3-4 สำนวนก็ไม่ตรงกัน ก็ไม่แน่ใจว่าอันไหนถูกและอันไหนไม่ถูก เพราะเราก็ไม่รู้ภาษารัสเซียเลยไม่สามารถแปลจากภาษารัสเซีย ก็เลยเทียบภาษาจีน เพราะภาษาจีนเขาจะแปลค่อนข้างประณีตและแปลละเอียด คือทางการจีนเขาจะส่งเสริมการแปลวรรณกรรมโลกให้คนจีนอ่าน ฉะนั้นการแปลของจีนก็จะละเอียดแล้วก็จะมีเชิงอรรถ ภาษาอังกฤษไม่มีเชิงอรรถ เราก็เลยไม่เข้าใจว่าตรงนั้นมันคืออะไร ก็เลยต้องใช้ภาษาจีน ตอนแปลก็เลยต้องใช้หลายๆ เล่ม อ่านทุกสำนวน มันยากเพราะมันเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ เราไม่รู้ประวัติศาสตร์ในช่วงนั้น ยิ่งคำบางคำที่เป็นภาษาทหาร เราไม่เข้าใจ พอไปหาพี่เทพศิริ ถามว่า “ใช้คำว่ากูได้ไหม” ถ้าใช้ไปเกรงว่าจะโดนเซนเซอร์ กลัวจะใช้คำหยาบมากไปในวรรณกรรม การแปลวรรณกรรมบางครั้งเรื่องของอารมณ์ เรื่องของน้ำหนักภาษาหาคำแปลยาก แล้วก็เรื่องสรรพนามอีก ของภาษาอังกฤษ เขามี I กับYou แต่ของไทยต้องใช้สรรพนามต่างๆ กัน มันเป็นการยาก บางคำ 3-4 เดือนก็ยังคิดไม่ออก แต่พอมันออกมาแล้ว มันก็อิ่มเอมใจว่าเราแปลออกมาได้ มีความสุขกับการแปลเล่มนี้ เพราะอยากจะให้คนไทยได้อ่านหนังสือดีๆ เหมือนกับชาวโลกเขา

น.พ.วิชัย โชควิวัฒน์ ผู้ดำเนินรายการเสวนาฯ กล่าวสรุปในฐานะนักอ่านตัวยงที่ติดตามผลงานวรรณกรรมชุดนี้มาอย่างต่อเนื่องว่า หนังสือชุดนี้เป็นวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่มากจริงๆ ความจริงสิ่งที่คุณเทพศิริได้เล่ามาทั้งหมดก็อยู่ในหนังสือเล่มนี้ คือความในใจของผู้วาดภาพประกอบ ส่วนคุณสันติสุขเป็นคนเขียนคำนิยม ความยาวไม่ถึง 5 หน้ากระดาษ แต่เท่าที่ผมอ่าน รู้สึกได้ว่าเป็นคำนิยมที่สั้น แต่เข้าถึงจิตวิญญาณ เข้าถึงคุณค่าอันสูงส่งของวรรณกรรมอย่างดีเลยทีเดียว รูปภาพปก ดูแล้วสะท้อนถึงภาพสงคราม ภาพของภูมิภาคต่างๆ วิวต่างๆ ในรัสเซีย คนไทยมีไม่มากที่จะมีโอกาสได้เห็นรัสเซีย ในยุคที่ว่ายังอยู่ในม่านเหล็ก แล้วคุณเทพศิริ เป็นคนหนึ่งซึ่งแหวกม่านเหล็กเข้าไป ซึ่งตอนนั้นจะไปรัสเซียนี่เป็นเรื่องยาก แต่เทพศิริก็ไป แล้วยังมีโอกาสได้ดูหนังที่รัสเซียเขาสร้าง ความยาวถึง 10 ชั่วโมง เขาฉายไปแล้ว แต่คุณเทพศิริก็ไปขอให้เขาฉายซ้ำ แล้วพาพวกเราเข้าไปดู ประทับใจมาก หนังสือเล่มนี้เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ มีคุณค่าสูง และมีความยาวมากถึง 1,179 หน้า ใน 3 เล่ม ส่วนทางด้านผู้แปล คือคุณวิภาดา เป็นนักแปลที่ผมชื่นชมมาก เพราะว่าพออ่านงานแปลของคุณ

วิภาดาเล่มหนึ่ง คือ "สัญญาประชาคม" แปลไว้ดีมาก เป็นนักแปลที่ทำการบ้านดีมาก และมีความอุตสาหะอย่างสูงในการแปล เพราะหนังสือเล่มนี้มีการแปลมาแล้ว สามารถเปรียบเทียบสำนวนได้ หนังสือชุดนี้ก็เช่นกัน แปลออกมาได้อย่างประณีตมากเลยทีเดียว

ผมเป็นหนอนหนังสือนะครับ แม้ผมจะมีเยอะมาก อ่านหนังสือพิมพ์วันละ 3-4 ฉบับ อ่านเอกสารราชการก็เยอะแยะ แต่ผมอ่านหนังสือวรรณกรรมแบบนี้เฉลี่ยวันละ 100 หน้า ปีที่แล้วผมอ่านไปประมาณ 100 กว่าเล่ม ฉะนั้น ผมบอกได้เลยว่า งานแปลชิ้นนี้ถือเป็นวรรณกรรมชิ้นเอกของประเทศไทย ถ้าจะเป็นรองก็แค่ กามนิต แต่ที่จริงแล้วคุณค่าก็เรียกว่าเทียบกันได้เลย เพราะว่าแปลอย่างประณีต โดยการแปลจากภาษาอังกฤษ ไม่ใช้ภาษารัสเซีย แต่คุณวิภาดามีข้อเด่นที่สำคัญคือเป็นผู้มีประสบการณ์ในการแปล แล้วใช้สำนวนภาษาอังกฤษถึง 4 เล่ม และเมื่อแปลเสร็จแล้วยังเทียบกับสำนวนภาษาจีนอีกด้วย คุณวิภาดาจบครุศาสตร์ เอกภาษาฝรั่งเศส ในนวนิยายเรื่อง"สงคราม สันติภาพ" ตอลสตอย เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสมากพอสมควร และคนรัสเซียที่เป็นคนชั้นสูงยุคนั้นก็จะพูดภาษาฝรั่งเศสเช่นกัน จึงทำให้แปลผลงานชิ้นนี้ได้เป็นภาษาที่ใกล้เคียงกับภาษาที่เป็นต้นฉบับมาก แล้วยังใช้เวลาปรับปรุงแก้ไขอยู่ถึง 5 ปี เต็ม โดยให้คุณเทพศิริ และใครต่อใครอีกหลายคนช่วย จนกระทั่งเกลาสำนวนต่างๆ ออกมาได้ประณีตมาก และใกล้เคียงต้นฉบับจริงมากที่สุด ผมเป็นคนที่อ่านหนังสือแล้วก็เหมือนตรวจคำผิดไปด้วย เล่มหนึ่งมี 576 หน้า รวมกับคำนำ คำนิยมก็ 600 กว่าหน้า มีคำผิดไม่เกิน 4 คำ แล้วที่สำคัญ หนังสือแปลจะไม่มี จุดfoll stop(.) ไม่มีเครื่องหมาย Comma(,) ตรงนี้ทำให้การอ่านยากมากเพราะแบ่งประโยคไม่ถูก แต่หนังสือเล่มนี้ ใช้การแบ่งวรรคตอนที่ประณีตมาก ถือว่าต้องชื่นชมเลยนะครับ ถ้าหากว่ามีการประกวดการพิมพ์หนังสือ แล้วผมเป็นกรรมการ ผมก็จะเชียร์ให้ชุดนี้ได้รางวัล เพราะว่าทีมงานที่ทำนั้น เป็นทีมงานที่ประณีตมาก มีคำผิดอยู่บ้างบางคำ แต่หลุดออกไปเพียงเล็กน้อยมาก แล้วก็มีตัวอักษรที่คอมพิวเตอร์มันหลุดบ้างเท่านั้นเอง ตรงนี้ต้องชื่นชมอาจารย์วิภาดาอย่างมาก งานเขียนของตอลสตอย เป็นงานเขียนที่ประณีตทุกเล่ม เป็นงานที่เขียนอย่างตัวเองเป็นนายของภาษาจริง บรรยายฉากที่อังเดรพบรักกับนาตาชา บรรยายได้งดงามชนิดที่ว่าเห็นภาพตามไปด้วยเลย นวนิยายเล่มนี้ถ้าเปรียบเทียบกับไททานิค ไททานิคจะมีฉากเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงทั้งหมด ส่วนตัวละครแจ๊คกับโรสเป็นตัวละครที่สร้างขึ้นมา เพื่อที่จะจับความสนใจของผู้คนเข้าไปสู่เหตุการณ์ ความขัดแย้ง และเรื่องราวต่างๆ ในเรื่อง ส่วนเรื่องสงครามและสันติภาพ ฉากเหตุการณ์ต่างๆ เป็นเรื่องจริง คือ ชื่อเรื่องสงครามและสันติภาพ แต่ฉากสงครามจริงๆ มีไม่ถึง 1 ใน 5 หรอก นอกนั้นเป็นฉากตัวละครทั้งสิ้นเลย ความรู้สึก จิตใจ ความคิด ปรัชญา ทุกอย่างยิ่งใหญ่มาก นี่คือ ตอลสตอย หนังสือชุดนี้ มี 3 เล่ม ความยาว 1,779 หน้า เป็นวรรณกรรมที่มีคุณค่ายิ่ง เหมาะที่คนไทยจะได้อ่านไปพร้อมกับคนทั่วโลก

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ